หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือแมวไทยสูญพันธ์ไปแล้ว 13 สายพันธ์ ในปัจจุบันคงเหลือเพียง 4 สายพันธ์ หากพวกเราไม่เริ่มที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่แน่ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะเหลือแมวไทยเพียงกี่สายพันธ์



วันที่ 30 ธันวาคม 2550 เกือบจะเย็นแล้ว หลังจากผมและครอบครัวกำลังเดินทางกลับจากตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ได้เห็นป้ายศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ตอนเลยวัดบางแคใหญ่มานิดเดียว ผมและครอบครัวจึงตัดสินใจแวะเข้าไปเยี่ยมชมดู

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ นี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดบางแคใหญ่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมี กำนันปรีชา พุคคะบุตร ในฐานะเป็นวิทยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเจ้าของดูแลอยู่ เมื่อผมแวะเข้าไปรู้สึกว่าศูนย์แห่งนี้กำลังเริ่มก่อสร้างอยู่ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงแลดูไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าใดนัก แต่พอได้พูดคุยกับท่านกำนันปรีชาฯ จึงทราบว่า ได้จัดตั้งมานานแล้ว โดยทางราชการเห็นว่าท่านกำนันปรีชาฯ เป็นคนรักแมว จึงขอร้องให้เปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์ฯ โดยแรกเริ่มเดิมทีเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ” โดยการสนับสนุนของ กศน.อ.อัมพวา และ กศน.จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาทางผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสงคราม ขอให้ยกระดับจัดตั้งขึ้นเป็น “ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ” จนกระทั่งปัจจุบัน



ภายในบริเวณศูนย์ฯ สังเกตดูแล้วต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากอยู่ ปัจจุบันมีแมวที่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมยี่สิบกว่าตัว แต่ที่เห็นยังอยู่กรงอีกหลายตัว ที่ยังไม่สามารถนำออกมาแสดงได้ วางเรียงรายรวมกันอยู่ภายในเรือนไม้หลังบ้าน

ผมได้พูดคุยกับท่านกำนันปรีชาฯ ว่าทางราชการมาให้การสนับสนุนช่วยเหลืออะไรบ้าง กำนันปรีชาฯ ก็เงียบๆ ก่อนที่จะบอกว่าไม่เคยให้การสนับสนุนอะไรเลย ให้ผมจัดตั้งศูนย์ฯ มากระทำพิธีเปิดแล้วก็เงียบหายไป ผมใช้เงินส่วนตัวในการสร้างศูนย์ และปัจจุบันภาระที่สำคัญก็คือ ค่าอาหารแมว และคนดูแลแมว เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้ ไม่มีเงินสนับสนุน ไม่เก็บเงินค่าเข้าชม เงินที่ได้ก็คือ เงินที่ผู้เข้าชมบริจาค ซึ่งพูดได้ว่าไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงศูนย์แห่งนี้ฯ ให้ดำรงคงอยู่อย่างถาวรได้แน่นอน อนาคตก็ไม่รู้ว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นอย่างไร

ผมจึงเริ่มเข้าใจแล้วว่า เหตุที่ศูนย์ฯ ดูเหมือนกับกำลังสร้างอยู่ยังดำเนินไม่เสร็จ ก็เพราะเหตุที่ไม่มีเงินมาสนับสนุนนี้เอง กำนันปรีชาบอกต่ออีกว่า ตอนนี้กำลังจะจัดตั้งเป็น สมาคมอนุรักษ์แมวไทย(แห่งประเทศไทย) ซึ่งมีอยู่กันหลายสาขาทั่วประเทศไทยก็ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ ประชุมกันมาหลายครั้งแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า

น่าสงสาร ระบบราชการของประเทศไทย สิ่งที่ควรสนับสนุนกลับไม่ทำ ที่ทำมักทำแบบฉาบฉวย ไม่ถาวรจริงจัง ทำเพื่อเอาผลงาน...พอย้ายไปคนใหม่ก็ไม่สานต่อ...

กำนันปรีชา บอกว่า จากหลักฐาน แมวไทยมีด้วยกัน 23 ชนิด เป็นแมวให้โทษ 6 ชนิด คือ ทุพพลเพศ พรรณพยัคฆ์ (หรือลายเสือ) ปีศาจ หินโทษ กอบเพลิง เหน็บเสนียด ส่วนแมวให้คุณหรือแมวมงคล มีอยู่ 17 ชนิด คือ นิลจักณ แซมเสวตร รัตนกำพล มุสิลา กรอบแว่น ปัคเสวต การเวก จตุบท โสหเสพย กระจอก โกญจา เก้าแต้ม นิลรัตน์ วิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ วิลาศ

ปัจจุบันแมวให้คุณ สูญพันธ์ไปแล้ว 13 ชนิด คงเหลือให้คนในรุ่นปัจจุบันชื่นชมเพียง 4 ชนิด คือ แมววิเชียรมาศ แมวสีสวาดหรือแมวโคราช แมวศุภลักษณ์ แมวโกญจาหรือแมวดำปลอด ส่วนแมวที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ใน 17 ชนิด อีกพันธ์หนึ่งก็คือ แมวขาวปลอดหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมวขาวมณี


นี่เป็นเพียงความรู้เรื่องแมวเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่ผมนำมาฝาก หากท่านผู้อ่านต้องการทราบเรื่องราวโดยละเอียดก็สามารถขับรถไปชมได้ตลอดเวลา สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แมวไทยสูญพันธ์ไปแล้ว 13 สายพันธ์ ในปัจจุบันคงเหลือเพียง 4 สายพันธ์ หากพวกเราไม่เริ่มที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่แน่ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะเหลือแมวไทยเพียงกี่สายพันธ์

รายละเอียด : กำนันปรีชา พุคคะบุตร ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โทร. 034-733-284

ตลาดน้ำยามเย็น..อัมพวา

และอีกไม่นาน..ผมคิดว่า ตลาดน้ำดำเนินสะดวก คงกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน....





วันนี้ ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ผู้คนแน่นมาก เนื่องจากเป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ การจราจรก็ติดขัด กว่าผมจะขับรถเข้าไปหาที่จอดได้ ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง เวลาเดินชมตลาดน้ำ ผมแทบไม่ได้ชื่นชมบรรยากาศใดๆ เลย เพราะต้องไหลไปตามกระแสคลื่นของนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาย

ตลาดน้ำยามเย็นที่นี่ บรรยากาศเหมือนตลาดน้ำทั่วๆ ไป แต่ที่น่าจะเป็นจุดเด่น คือ อาคาร บ้านเรือนที่ยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณร่วมสมัยอยู่ ประกอบกับวิถีชีวิตเก่าๆ ทั้งของคนจีนและคนไทยที่ทำมาค้าขายอยู่ริมสองฝั่งคลองอัมพวายังค่อนข้างเหมือนสมัยเดิมๆ เสริมให้ตลาดน้ำอัมพวาดูมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้นยังมีอาหารไทย ขนมไทย ในสมัยโบราณ ที่หายาก วางขายอยู่ทั้งบนบกและลอยเรืออยู่ในน้ำ นักท่องเที่ยวหลายคนรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็น และก็ไม่ลืมที่จะควักเงินจ่ายเพื่อลองลิ้มชิมรสของอาหารเหล่านี้

ผมขอชื่นชม ผู้บริหารในระดับต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่สามารถสร้างตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เกิดผลทางเศรษฐกิจมากมายต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องคอยหมั่นกำกับดูแลให้ดี เมื่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น เรื่องราวก็มากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องเพิ่มจำนวนตามไปด้วย ที่จอดรถที่ยังไม่เพียงพอ สภาพการจราจรที่ติดขัด ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องมีความยุติธรรมต่อนักท่องเที่ยว อย่าถือโอกาส สิ่งที่สำคัญที่ลืมไม้ได้ก็คือ ห้องน้ำ ห้องส้วมที่ต้องสะอาดและเพียงพอต่อการให้บริการ
อย่าปล่อยให้เป็นเหมือนตลาดน้ำดำเนินสะดวก (คลองต้นเข้ม) ที่ไม่สามารถควบคุมและพัฒนาสิ่งใดได้แล้ว แม้กระทั่ง ผู้บริหารของ จ.ราชบุรี ยังต้องหันไปสร้างและพัฒนาตลาดน้ำขึ้นมาใหม่ทดแทนการพัฒนาคลองต้นเข้ม คือ คลองลัดพลี แต่ถามว่าตลาดน้ำคลองลัดพลีประสบผลสำเร็จหรือไม่ ในส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า ไม่สำเร็จ เนื่องเพราะสาเหตุที่สำคัญ คือ ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา แยกตำแหน่งทางการตลาดไปหมดเรียบร้อยแล้ว
และอีกไม่นาน..ผมคิดว่า ตลาดน้ำดำเนินสะดวก คงกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน....


เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2550 ผมและครอบครัวได้พากันไปสวัสดีปีใหม่ญาติพี่น้องของภรรยาที่ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ช่วงบ่ายพอมีเวลาว่างจึงชวนกันไปเที่ยวตลาดน้ำยามเย็น ที่ อ.อัมพวา ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่ทาง จ.สมุทรสงคราม สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อเสริมข้อจำกัดของตลาดน้ำ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ที่ต้องเที่ยวในเฉพาะช่วงเช้า ระหว่างเวลา 07.00 – 10.00 น. ซึ่งหากนักท่องเที่ยวไปเที่ยวนอกเหนือเวลานี้ ก็จะไม่ได้เห็นบรรยากาศของตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ตลาดวาย”

แนวคิดดังกล่าวได้ผล นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มไม่ต้องทนทรมานตื่นแต่เช้า อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไปก่อน แล้วค่อยมาแวะตลาดน้ำได้ในตอนเย็น ประกอบกับ อ.อัมพวา ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และเป็นจุดที่สามารถดักนักท่องเที่ยวที่กลับขึ้นมาจากการท่องเที่ยวทางภาคใต้ ได้ดีกว่าตลาดน้ำดำเนินสะดวก เพราะเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเข้ามาจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เพียงนิดเดียวก่อนจะกลับกรุงเทพฯ

สำหรับพวกที่ชอบท่องเที่ยววันเดียวก็สามารถขับรถมาไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน จ.สมุทรสงคราม ที่มีอยู่มากมาย แวะเที่ยวสวนผลไม้ต่างๆ สุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ ก็แวะซื้อของที่ตลาดน้ำยามเย็นได้เช่นกัน

จุดเด่นอีกหลายประการของตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา คือ การนั่งเรือชมหิ่งห้อย การท่องเที่ยวในสถานที่ที่สำคัญ อาทิ อุทยานรัชกาลที่ 2 ค่ายบางกุ้ง รวมทั้งวัดวาอารามที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง

กลยุทธ์หลายอย่างลงตัว จึงทำให้ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากตลาดน้ำดำเนินสะดวก (คลองต้นเข้ม) ที่นับวันจะถดถอยลง ทางจังหวัดราชบุรี รับทราบปัญหานี้ดี จึงพยายามที่จะสร้างตลาดน้ำยามเย็นขึ้นใหม่ที่คลองลัดพลี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถสู้ตลาดยามเย็นอัมพวาได้ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางการท่องเที่ยวที่ไม่ลงตัวหลายประการ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ในใจของผม



วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่พวกเราคนไทยทุกคนล้วนจดจำได้ดี คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ในหลวงของเรา แต่ในปี พ.ศ.2550 นี้ถือเป็นปีพิเศษ ที่ในหลวงของเราทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 80 พรรษา ซึ่งพวกเราคนไทยทั้งชาติ ต่างช่วยกันจัดงาน จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลอง เฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลอย่างยิ่งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ...มาตลอดทั้งปี...

วันที่ 5 ธันวาคม ปีนี้ ตรงกับวันพุธ ผมและครอบครัว ตัดสินใจที่จะไปร่วมพิธีถวายราชสักการะและจุดเทียนชัยถวายพระพรที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ซึ่งผมจำได้ว่า ผมได้เข้าร่วมพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2526) ตอนศึกษาปีสุดท้ายอยู่ในกรุงเทพฯ...



ผมเริ่มออกเดินทางตอนสายๆ พร้อมกับภรรยาและลูกสาว แวะไปรับลูกชายที่เลิกจากเรียนพิเศษในกรุงเทพฯ แล้วเดินทางไปยัง Impact เมืองทองธานี เพื่อชมนิทรรศการในหลวงของเรา ที่ Hall 9 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดแสดง พวกเราทั้งหมดรู้สึกปลาบปลื้มและภาคภูมิใจมากเมื่อได้ชมนิทรรศการต่างๆ โดยเฉพาะในส่วน 8 ทศวรรษ ที่จัดแสดงเป็นตอนๆ ละ 10 ปี..เดินชมนิทรรศการอยู่นาน ระหว่างเดินชม บางช่วงบางเวลา หน่วยงานต่างๆ ก็จัดให้มีการร่วมกิจกรรมแล้วแจกหนังสือ แจกของที่ระลึกเกี่ยวกับพระองค์ท่าน พวกเราก็รุมกันเข้าไปร่วมทำกิจกรรม เข้าคิว เข้าแถว ตอบคำถาม หวังจะได้รับของแจก เพื่อที่จะนำมาเผยแพร่กันต่อๆ ไป....ซึ่งก็ได้หนังสือดี หายาก เกี่ยวกับในหลวงของเรา มาแจกเพื่อนฝูง จำนวนมากอยู่..

เวลา 17 นาฬิกากว่าๆ พวกเรารีบขับรถออกเดินทางมาจาก Impact ขึ้นทางด่วนเพื่อมาลงแถวยมราช เข้าสู่ถนนราชดำเนิน และตรงไปยังท้องสนามหลวงเพื่อตั้งใจร่วมพิธีถวายราชสักการะและจุดเทียนชัยถวายพระพร เมื่อเริ่มผ่านทำเนียบรัฐบาลเข้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านถนนราชดำเนิน เด็กๆ รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับไฟ แสงสี ที่ประดับตามต้นไม้ หน้าอาคารสองข้างถนน และซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เรียงรายอยู่เป็นระยะ ซึ่งผมก็รู้สึกมีความรู้สึกตามเด็กๆ ไปด้วย ย้อนไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ที่ผมคิดว่าสวยแล้ว แต่มาวันนี้ รู้สึกสวยมากกว่านัก..





พวกเราขับรถไปเรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่ปิดถนน ผู้คนใส่เสื้อเหลืองมากมายนั่งรออยู่บริเวณสองข้างทาง เพื่อรอรับเสด็จในหลวงเสด็จกลับวังสวนจิตรลดา หลังจากเสร็จสิ้นพิธีในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม...ผมรู้สึกขนลุกทันทีที่เห็นผู้คนมากมายเหล่านี้ ทุกคนพร้อมใจกันใส่เสื้อเหลือง มือถือธงตราสัญลักษณ์ 80 พรรษาและธงชาติไทย รอรับเสด็จ..สอบถามได้ความว่าบางคนมาจองที่นั่งริมถนนเพื่อรอรับเสด็จตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว....

รถของพวกเราวิ่งมาเรื่อยเรื่อย และมาติดแบบนิ่งสนิทจริงๆ ตอนก่อนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย...เวลาประมาณ 18.00 น. กว่าๆ ขยับไปไหนไม่ได้เลย ผู้คนเดินเท้าใส่เสื้อเหลือง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างเดินทางมุ่งหน้าไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง บ้างก็แวะถ่ายรูปความสวยงามต่างๆ เป็นระยะๆ มีทั้งใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล และกล้องวีดีโอ แตกต่างกันไป

เวลาหนึ่งทุ่มกว่าๆ ตำรวจเริ่มเคลียร์รถ ถนนฝั่งตรงข้ามเพื่อเปิดเส้นทางขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชวงศ์ ผู้คนใส่เสื้อเหลืองเริ่มล้นหลามมากยิ่งขึ้นนั่งอยู่สองข้างทางตั้งแต่บริเวณท้องสนามหลวงเรื่อยไปจนถึงพระราชวังสวนจิตรลดา รถฝั่งที่เราจอดอยู่นิ่งสนิทหลายคันดับเครื่องไปแล้ว รวมทั้งรถของผมด้วย ภรรยาและเด็กๆ เริ่มลงจากรถไปเดินถ่ายรูปกัน



ไม่นานนักกะเวลาได้ประมาณหนึ่งทุ่มๆ กว่า ขบวนเสด็จเริ่มเสด็จ พวกเราทั้งหมดจึงถือว่าโชคดีเป็นอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสยืนรับเสด็จพระองค์ท่านด้วย รถขบวนวิ่งช้าๆ ไฟภายในรถเปิด เพื่อให้ประชาชนทั้งสองข้างทางได้ชื่นชมพระบารมี เมื่อขบวนเสด็จผ่าน ณ ที่แห่งได้ก็ได้ยินเสียงประชาชนสองข้างทางตะโกนขึ้นอย่างพร้อมเพรียงว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งรวมทั้งผมและครอบครัวก็ร่วมตะโกนด้วย เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง ผมรู้สึกขนลุกและน้ำตาซึม รู้สึกดีใจและภูมิใจในความจงรักภักดีที่ประชาชนคนไทยมีต่อในหลวงของเรา

ในวันนั้น ผมและครอบครัวได้ชื่นชมพระบารมี ในหลวง พระราชินี และพระบรมราชวงศ์เกือบทุกพระองค์ ถึงแม้จะเป็นแค่ชั่วเวลาที่รถวิ่งผ่าน ก็รู้สึกดีใจ ปลื้มใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่เคยได้เห็นพระองค์จริง....

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ...

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

สังคมไซเบอร์กำลังแย่งเด็กจากพวกเราไป

หากพวกเราไม่หาวิธีการหรือเครื่องมือใดๆ มาต่อสู้ หรือหยุดภาพเหล่านี้ไว้ วันหนึ่ง...เราอาจจะเสียเด็กและเยาวชนของเราไป และเสียประเทศไทยในที่สุด...

ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ติดเกมคอมพิวเตอร์ กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองกำลังให้ความสนใจและแก้ปัญหา คงหมายร่วมถึงผู้ปกครองอีกหลายท่านที่กำลังปวดหัวกับการแก้ปัญหาเรื่องลูกติดเกม

ผมได้อ่านหนังสือรู้ทันเกมคอมพิวเตอร์ (ยืน ภู่วรวรรณ และณัช ภู่วรวรรณ. 2550 : 88) เขียนไว้น่าสนใจมากว่า “เกมคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงเด็กในปัจจุบัน สังคมไซเบอร์กำลังแทรกซึมความคิดของเด็ก เกมออนไลน์หลายเกมสร้างสังคมเสมือนจริง (Visual Real Society) ที่ดึงเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้าไปในไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) วิถีชีวิตในไซเบอร์สเปซคงจะเป็นบทบาทที่สำคัญในอนาคตอย่างมาก การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในอนาคตอาจคล้ายกับการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กในปัจจุบันนี้ก็ได้”

ในวันที่ผมเข้าร่วมประชุมวิชาการ เรื่อง ICT เพื่อการศึกษาไทย เมื่อ 7 พ.ย.2550 ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ผมได้พยายามสรุปประเด็นต่างๆ ที่บรรดาคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ ได้บรรยายให้ฟัง เกี่ยวกับสาเหตุที่เด็กและเยาวชนติดเกม ซึ่งพอที่จะสรุปได้ในทัศนะของผม ดังนี้

1.เด็กสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ ตามที่อยากเป็นในโลกของไซเบอร์ เช่น นักต่อสู้ นักผจญภัย ทหาร ตำรวจ นักสืบ นักบิน นักร้อง นักดนตรี นักเต้น ฯลฯ ผิดกับชีวิตจริงที่ต้องถูกบังคับอย่างไร้สาระ ทั้งระบบการเรียนที่สับสน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการอยากจะให้เขาเป็น
2.โลกของไซเบอร์เป็นโลกแห่งความจริงไม่หลอกหลวง หากเด็กสามารถทำอะไรได้ตามที่เกมกำหนด ก็จะมีพลังอำนาจ เครื่องไม้ เครื่องมือ อาวุธ (ITEM) เพิ่มขึ้นได้จริง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเรามักจะบอกเด็กให้ทำโน่น ทำนี่ แต่ไม่เคยเกิดผลที่เป็นจริงต่อตัวเขาเหมือนในเกม
3.ในเกม เด็กสามารถกำหนดสภาวะแวดล้อมได้ตามที่ใจต้องการ ในเกมบางเกมสามารถกำหนดได้ว่า เด็กอยากจะเป็นอะไร มีนิสัยใจคอและลักษณะอย่างไร หล่อหรือไม่หล่อ สวยหรือไม่สวย อยากจะแต่งตัวแบบใด อยากมีบ้านมีเมือง มีอาชีพอย่างไร อยากจะไปอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ หรือแม้แต่นอกโลก ก็ไปได้ ผิดกับโลกแห่งความเป็นจริงที่เด็กต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แสนลำบากยากเข็ญ
4.เด็กได้รับเกียรติและการยกย่องเมื่อเขาทำสำเร็จ ในเกมออนไลน์จะมีการจัดอันดับของผู้กล้าและผู้เก่ง ทำให้เด็กใฝ่ฝันและพยายามเล่นเกมเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะในสังคมของเขา เมื่อเขาชนะ เขาจะได้รับการยกย่อง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่เมื่อเขากลับสู่ในโลกแห่งความเป็นจริงกลับมีแต่คนที่ดูถูก และไม่รู้จักความสำคัญหรือความเก่งในตัวของเขา

ในปัจจุบันนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เงินที่เด็กนักเรียนได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง (เฉพาะเด็กที่ติดเกม) ส่วนใหญ่จะใช้ไปในการเล่นเกม ตามร้านเกมที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งหาได้ไม่ยากในสังคมที่เรียกว่าเจริญ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมืองก็รู้อยู่เต็มอก แต่เหมือนกับน้ำท่วมปาก เพราะร้านเกมที่ผิดกฎหมายหลายแห่ง หากสืบสาวราวเรื่องแล้วก็ไม่พ้นไปเกี่ยวพันกับผู้หลักผู้ใหญ่นั่นเอง....

เด็กและเยาวชนเดี๋ยวนี้ โลกไซเบอร์กำลังแย่งเขา จากพวกเราไป หากแย่งไปได้ดี ก็ดีไป แต่หากแย่งไปแล้วทำให้เขายิ่งลืมตัวลืมตน และลืมชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่เป็นอย่างในเกม เมื่อเขากลับออกมาจากโลกไซเบอร์ เขาคงจะยอมรับไม่ได้....แล้วอนาคตสังคมไทยจะเป็นอย่างไร...

ผมลองมาทบทวน ภาพของเด็กและเยาวชนที่ผมเห็น ในยุคที่ประเทศไทยบอกว่า มีการจัดการศึกษาที่มีมาตรฐาน...มีคนคอยประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง โครงการร้อยแปดพันเก้าโครงการ ถูกนำลงมาสู่โรงเรียน...แล้วลองมามองภาพเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไรบ้าง (เฉพาะที่ผมเห็นนะครับ..ขอโทษเด็กดีๆ ด้วย)

-ชอบแต่งตัว ทำผม ทำหน้าทำตา ทำนิสัย ทำพฤติกรรม เป็นเด็กเกาหลี ญี่ปุ่น...
-ชอบขับขี่และนั่งรถมอเตอร์ไซด์ที่ตกแต่งแบบ จ๊าบๆ เสียงดังๆ เวลาขี่ต้องโฉบเฉี่ยว สวีตสวาด ชี่ช้าไม่เป็น ไม่เกรงใจคนใช้รถใช้ถนนรอบข้าง แหกกฎจราจรได้ เป็นเรื่องเท่ห์...ดึกๆ ตำรวจนอน มาหาถนนแข่งขันกัน....
-พูดคุยเรื่องเกม เรื่องนักร้อง เรื่องดาราดังๆ ถือเป็นคนทันสมัย..(หากพูดเรื่องเรียน ..เรื่องทำการบ้าน...หงี่เหง่า..)
-พกโทรศัพท์มือถือรุ่นจ๊าบ ดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายรูป... (ทำตัวว่าข้ามีเทคโนโลยี..หารู้ไม่ว่า แค่เป็นขี้ข้าเทคโนโลยี)
-ใครไม่เล่นเอ็ม..เล่นแช็ท..พูดภาษาแอ็บแบ๊ว..เชยแหลก..
-หนีบ้านมาเช่าหอ อิสระดี...ชอบเรียนไกลบ้าน ได้ไม่ต้องฟังเสียงพ่อแม่ด่า...หาแฟนมาอยู่เป็นเพื่อนด้วย พอเบื่อก็เปลี่ยนคน...
-แต่งตัวตามแฟชั่น กางเกงขาสั้น สายเดี่ยว...(บางคนไม่เคยดูสารรูปตัวเอง)
-หนีโรงเรียนได้ สะใจ...ข้าเก่ง...เรื่องเรียนข้าไม่สนใจ..เดี๋ยวโรงเรียนก็ให้จบเอง...ตกดึก ออกเที่ยว ดูคอนเสิร์ต ฟังเพลง ดิ้น เม้าท์แตก...เงินหมดขอแม่...แม่ไม่ให้ก็หากิน....

นี่ละครับภาพที่พวกเรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำ แต่อย่าเพิ่งท้อแท้ใจ ...ภาพที่เห็นยังเป็นเพียงแค่บางส่วน ซึ่งยังถือเป็นส่วนน้อยในสังคมไทย แต่หากพวกเราไม่หาวิธีการหรือเครื่องมือใดๆ มาต่อสู้ หรือหยุดภาพเหล่านี้ไว้ วันหนึ่ง...เราอาจจะเสียเด็กและเยาวชนของเราไป และเสียประเทศไทยในที่สุด...

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเมืองเพชร

วันนี้ (2 ธ.ค.2550) ผ่าน อ.เมืองเพชรบุรี เห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติในหลวงฯ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ดูแล้วยิ่งใหญ่อลังการมากตั้งเรียงรายอยู่กลางถนนฯ หน้าศูนย์ราชการฯ เลยแวะเก็บภาพมาฝาก (อาจจะไม่ชัดนักเพราะบางภาพฯ ตอนถ่ายมันย้อนแสง แฟลชก็ไม่มี เพราะใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ)