หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้าราชการเลว 25 ประเภท

ผมรู้สึกหดหู่ เพราะได้ยินเรื่องราวต่างๆ ของข้าราชการไทย (ที่ไม่ค่อยดีนัก) จากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ  และในฐานะที่ผมก็เป็นข้าราชการคนหนึ่ง รู้สึกอาย... พอดีได้ไปอ่านเรื่องราวของข้าราชการเลว 25 ประเภท เลยเอามาเขียนดู เผื่อจะได้สบายใจบ้าง
  1. นั่งไม่ติดเก้าอี้
  2. ออกท้องที่เป็นประจำ
  3. งานไม่ทำเอาแต่คุย
  4. หน้ามุ่ยตลอดวัน
  5. ฟาดฟันเพื่อนร่วมงาน
  6. หย่อนยานเป็นพ่อพระ
  7. เอาชนะระราน
  8. ชอบซุกงานตลอด
  9. บ่นออดจูู้จี้
  10. หลบหนีผู้คน
  11. สนใจแต่ความชอบ
  12. ไม่มอบแบ่งงาน
  13. ตั้งตัวการแบ่งพวก
  14. งานลวกปล่อยปละ
  15. คอยจังหวะคอรัปชั่น
  16. ประพฤติพาลจอมกระล่อน
  17. หย่อนยานศีลธรรม
  18. ชอบนำเผด็จการ
  19. อภิบาลพวกพ้อง
  20. พี่น้องก้าวกาย
  21. ไม่สบายตลอดปี
  22. เป็นหนี้เกินตัว
  23. ขาดตัวประสานงาน
  24. วิทยาการล้าหลัง
  25. หวังกำลังใจ
ข้อมูลนี้เอามาจากหนังสือบันทึกศรีทอง เล่ม 2 ของนายแพทย์พนัส พฤกษ์สุนันท์ ซึ่งท่านพิมพ์แจกจ่ายตอนท่านเกษียณอายุราชการ เมื่อปี พ.ศ.2553 นี้เอง

จริงจริง...แล้ว ผมว่ามีมากกว่า 25 ประเภทนะ..ลองเขียนเพิ่มเติมดูก็ได้

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ (Cyber Knowledge Management-CKM)

บทความนี้ เขียนขึ้นตามความคิดและความเข้าใจของผมเอง 

ที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/lostinspace/2008/08/17/entry-1
ในสังคมปัจจุบันทุกคนคงต้องยอมรับว่า "โลกไซเบอร์" เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำงาน  การติดต่อสื่อสาร  การส่งผ่านข้อมูล  การค้นหาข้อมูล การเผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมความรู้ การเชื่อมโยงผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ ทางด้านการเงิน การพาณิชย์ และธุรกิจการค้า มีข้อมูลความรู้จำนวนมากมายมหาศาลปลิวว่อนอยู่ในโลกไซเบอร์ ทั้งลับเฉพาะบุคคล ลับเฉพาะองค์กร หรือเป็นสาธารณะ 

การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ (Cyber Knowledge Management) ของปัจเจกบุคคล  องค์กร และหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ที่จะสามารถนำไปสู่การแข่งขัน และนำไปสู่ความสำเร็จ ตามคำนิยามที่ว่า "ความรู้คืออำนาจ"  (Knowledge is Power)  

พลเมืองในโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน  หากต้องการหาข้อมูลใดๆ เพื่อมาตอบโจทย์หรือคำถามของตนเอง คงหนีไม่พ้น การใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ (Search Engine) เช่น Google, MSN, Yahoo, Bing, Ask เป็นต้น จนกระทั่งเกิดคำกล่าวที่ว่า "หากค้นหาใน Google ไม่พบ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่มีในโลกนี้"

ปัจจุบัน การจัดการความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ (Tacit Knowledge) นักจัดการความรู้ก็พยายามแปลงมันให้ออกมาเป็นความรู้ที่แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ในรูปแบบของหนังสือ นิตยสาร วารสาร แผ่นพับ สิ่งตีพิมพ์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ สื่อมัลติมีเดีย เว็บไซต์ Blog ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ บางรูปแบบไม่สามารถนำไปใช้ในโลกไซเบอร์ได้ ดังนั้น กระบวนการในนำรูปแบบเหล่านี้ไปเผยแพร่ในโลกไซเบอร์ ผมจึงเข้าใจว่ามันคือ "การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์"  (Cyber Knowledge Management-CKM) นั่นเอง ดังนั้นกระบวนการก็น่าจะเป็นดังนี้

Tacit Knowledge ---> Explicit Knowledge ----> Cyber Knowledge

ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าพิมพ์หนังสือฉบับหนึ่ง จำนวน 1,000 เล่ม แล้วแจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่างๆ ความรู้ในหนังสือฉบับนั้นก็คงมีอยู่ 1,000 แห่งเท่านั้น  แต่ถ้าเราสามารถจัดการความรู้ในหนังสือเล่มนั้นให้อยู่ในรูปแบบของ Cyber Knowledge เช่น ทำเป็น E-book หรือ จัดทำเป็นรูปแบบ PDF, Word  แล้วดำเนินการเผยแพร่ไปในเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์แล้ว ความรู้ในหนังสือฉบับนั้นก็จะสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้คนได้อย่างมหาศาล

ปัจจุบัน การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ หรือการพยายามที่จะสร้างความรู้ในรูปของ Cyber Knowledge ของคนไทย ในความคิดเห็นของผม คิดว่ามีจำนวนน้อยมาก เท่าที่สังเกตเป็นการส่วนตัวพบว่าอาจจะมาจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้
  • คนไทยชอบถ่ายทอดความรู้แบบเล่าต่อๆ กันมา ไม่ค่อยชอบเขียน ไม่ค่อยชอบบันทึก
  • คนไทยไม่กล้าเขียน กลัวจะอายในสำนวน ถ้อยคำ และชอบคิดว่า "ตัวเองไม่มีภูมิปัญญาพอที่จะเขียน"
  • คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบันทึกต่างๆ ในโลกของไซเบอร์ และยังกลัวที่จะเรียนรู้มันอีกด้วย
  • ฯลฯ
เครื่องมือในโลกไซเบอร์ทุกวันนี้ มันทันสมัยมากและมันติดตัวอยู่กับคนตลอดเวลา อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถทำได้สารพัดเรื่อง เช่น รับ-ส่งอีเมล์ ข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายคลิบวีดีโอ เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) จัดการสื่อต่างๆ (Social Media) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากเรามองในสังคมส่วนใหญ่ของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่บรรดา เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และวัยรุ่น  แล้ว ลองสังเกตว่าข้อมูลที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ ส่วนใหญ่ เด็กเหล่านั้นนำความรู้มาใช้ หรือ นำความไร้สาระมาใช้ และ ใครจะตอบได้ว่า ความรู้ที่ปลิวว่อนอยู่ในโลกไซเบอร์นั้น มีความรู้หรือความไร้สาระมากกว่ากัน ดังนั้น การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะสร้างความรู้ให้มากกว่าความไร้สาระ 

"ทำอย่างไรจะให้เด็กและเยาวชนของเรา รู้จักไช้  FaceBook , Hi5, Twitter, MSN  อย่างมีสาระมากกว่าความไร้สาระ" นี่ก็คือส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะมีการจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ (Cyber Knowledge Management-CKM) แต่จะทำอย่างไรนั้น...ก็คงต้องคิดกันต่อไปละครับ...

จุฑาคเชน
19 ต.ค.2553

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 378 ประจำเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 หน้า 3


วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและอบรม

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "บันทึกศรีทอง"  เล่ม 2 ของนายแพทย์พนัส  พฤกษ์สุนันท์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ซึ่งท่านพิมพ์แจกในโอกาสเกษียณอายุราชการ  ท่านได้เขียนคำจำกัดความของศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและอบรม ไว้สั้นๆ เข้าใจง่าย ผมจึงถือโอกาสคัดลอกนำมาไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเผยแพร่ต่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย ลองอ่านดูนะครับ

คำระบุกรอบแนวคิดการประชุม (Words emphasize concept of meeting)
  1. Assembly  หมายถึง กลุ่มคน ชมรม สมัชชา หรือสมาคม ที่มาร่วมประชุมกันเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องเดียวเท่านั้น เช่น การฟังบรรยายเฉพาะประเด็นจากผู้เชียวชาญ (Speaker) การประชุมเรื่องสุขภาพแห่งชาติเป็นต้น
  2. Caucus หมายถึง การประชุมของสภาผู้แทน หรือพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการท้องถิ่นระดับหัวหน้า เพื่อกำหนดนโยบายหรือคัดเลือกผู้สมัครแข่งขัน คำนี้ใช้เฉพาะกับการเมืองและเป็นการประชุมปิดเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
  3. Congress หมายถึงการประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้แทนองค์กรต่างๆ เช่น การประชุมองค์กรแพทย์นานาชาติ ซึ่งอาจมีการประชุมหลายครั้งต่อเนื่องกันไป และคำนี้ยังใช้กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของชาติด้วย
  4. Conferrence หมายถึง การประชุมที่มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง หรือประสบการณ์เป็นหลัก ไม่เน้นทฤษฎี ผู้เข้าร่วมประชุมมีได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึงหลายพันคน โดยมีประเด็นที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน รวมถึงการประชุมปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเพื่อเตรียมจัดประชุมที่เป็นทางการ
  5. Convention หมายถึง การประชุมของกลุ่มวิชาชีพเดี่ยวกันเท่านั้นคนอื่นไม่เกี่ยว (A conferrence of members of profession.) หรือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของนักการเมือง (A large formal assembly ; "political convention".) และยังหมายถึงข้อตกลงทางการทูตระหว่างประเทศ (An international diplomacy agreement)
  6. Summit หมายถึง การประชุมระหว่างผู้นำประเทศ หรือระหว่างผู้บริหารขององค์กรตั้งแต่ 2 ประเทศ หรือ 2 องค์กรขึ้นไป

Conferrence
ที่มาของภาพ
http://www.devoxx.com/display/JV08/Conference
 คำที่ระบุประเด็นในการเรียนรู้ (Words emphasize the idea of learning)
  1. Course หรือ ชุดการเรียน หมายถึง ชุดการบรรยายหรือบทเรียนที่มีความต่อเนื่อง
  2. Consortium หมายถึง การประชุมเฉพาะกิจ ชั่วครั้งชั่วคราว ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมมีหลายวิชาชีพ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ มาพูดคุยกัน และยังหมายถึงการรวมตัวของหน่วยงานเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างเป็นการเฉพาะ
  3. Seminar หมายถึง การประชุมกลุ่มเล็กๆ เพื่ออภิปรายในประเด็นเฉพาะ ทั้งนี้ต้องมีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมการประชุมและนำผลการประชุมไปใช้ เช่น การประชุมของนักศึกษาร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานหรือวิทยานิพนธ์ เป็นต้น
  4. Training หมายถึง กระบวนการเตรียมคนเข้าสู่งาน หรือสร้างพฤติกรรม หรือทักษะที่ต้องการตามมาตรฐาน โดยการสั่งสอน การฝึกปฏิบัติ และการประเมินผล
  5. Tutorial หมายถึง การสอนงานอย่างเข้มข้นให้กับบุคคลหรือนักศึกษา 1-2 คน หรือกลุ่มเล็กๆ ในห้วงเวลาหนึ่ง
  6. Workshop หมายถึง การอภิปรายและฝึกปฏิบัติในหัวเรื่องเฉพาะ หรือ สมาชิกกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเจตคติต่อหัวเรื่องนั้นๆ หรือการประชุมที่สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างเข้มข้นและเน้นการแก้ปัญหา

Seminar
ที่มาของภาพ
http://www.ccagr.com/content/view/56/143/

คำที่ระบุรูปแบบของการแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้ (Words emphasize the style of information exchange)
  1. Forum หมายถึง การประชุม การเสวนา หรือบรรยายที่ผู้ฟังมีส่วนร่วม กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 20 คน แต่บางครั้งอาจมีจำนวนมาก รวมถึงเวทีสาธารณะที่เปิดสำหรับคนทั่วไปเข้าร่วมอภิปราย
  2. Panel หมายถึง กลุ่มของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ให้มาอภิปรายต่อหน้าผู้ฟัง ผู้ฟังไม่มีส่วนร่วม จนกว่าผู้อภิปรายทุกคนจะได้พูดหมดแล้ว จึงเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามหรือร่วมอภิปราย นอกจากนั้นยังหมายถึงกลุ่มคณะกรรมการตัดสินการประกวด
  3. Symposium หมายถึง กลุ่มของผู้รู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เสนอมุมมองในหัวข้อที่กำหนดหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้องตามลำดับทีละคน โดยทั่วไปมักเกี่ยวกับการวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในงานวิจัยที่ผู้วิจัยนำเสนอ
  4. Focus group discussion หมายถึง การอภิปรายกลุ่มเล็กๆ 6-8 คน มักใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัย มีเกณฑ์การเลือกคนเข้ากลุ่ม ใช้คำถามเป็นแนวทางอภิปราย โดยมี Moderator เป็นผู้ยิงคำถาม มีเทคนิคให้กลุ่มออกความเห็น มีคนบันทึกเทป หรือจดบันทึก อาจมีการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม อาหารว่าง ของชำร่วย

Symposium
ที่มาของภาพ
http://web.sma.nus.edu.sg/smaconnect/issue0401/Symposium%20Extravaganza.asp
ที่มาข้อมูล
พนัส  พฤกษ์สุนันท์. (2553). บันทึกศรีทอง เล่ม 2 : ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี. แจกจ่ายเมื่อ 9 ก.ย.2553 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ. (หน้า 28-30)

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิ่งเก่าๆ ที่ไร้ประโยชน์ต้องเปลี่ยนสักที

วันนี้ ผมรู้สึกเบื่อหน่ายมากที่วันๆ หนึ่ง ทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ชอบเอาเรื่องราวที่เป็นขยะสังคม มาทำข่าวจนมากเกินไป นอกจากนั้น ยังมีเรื่องราวของการเมืองน้ำเน่า การทะเลาะเบาะแวงแย่งชิงอำนาจ ภัยพิบัติซ้ำซากที่ไม่เคยได้ปรับปรุงแก้ไข พอวัวหายก็ล้อมคอกกันทีหนึ่ง ถ้าปวดหัวก็ให้ยากินกันไป แต่ไม่หาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้ปวดหัว ลองฟังเรื่องราวบางส่วนดูนะครับ ว่ามันน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน
  • พรรคการเมือง เอาแต่เรื่องของผลประโยชน์ของพรรค เรื่องอำนาจ เรื่องโควต้ารัฐมนตรี ลืมเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ข้าวก็ยาก หมากก็แพง หนี้สิ้นท่วมท้น   
  • เดินสายปรองดอง ให้ทุกฝ่ายหันมายกโทษ อภัยให้กัน ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครเผาบ้านเผาเมือง เข่นฆ่าคนไทยเมื่อ 19 พ.ค.2553 ที่ผ่านมา
  • นักการเมืองคนนี้ก็ออกมาว่า คนนั้น นักการเมืองคนนั้นก็ว่าคนนี้ บางทีก็โต้ตอบกันไปมา ทะเลาะเบาะแว้งกัน แกนนำเสื้อแดง ก็สาวไส้ แฉกันเอง ศึกวันแดงเดือด
  • ระเบิดป่วนเมือง เป็นรายวัน เดี๋ยวที่โน่น เดี๋ยวที่นี่..ไม่เคยจับได้สักกะที เมื่อจับไม่ได้ แน่นอนมันก็จะระเบิดอีก เพราะมันรู้แล้วว่าไม่มีทางจับมันได้...เกียรติ์ตำรวจของไทย..
  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยก็ทำงานกันไป ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ จบแล้วจะมีใครทำตามหรือปล่าวก็ไม่รู้ น่าเสียดายเวลาและเงินที่ต้องเสียไป
  • พรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่ หากยุบ ใครเล่าจะมาเป็นนายกตัวสำรอง มีการปีนเกลียวกันเอง อยากเป็นนายกกันทั้งนั้น  ขนาดรองนายกฯ ยังต้องลงไปเลือกตั้ง เป็น ส.ส.เลย
  • การโยกย้ายข้าราชการประจำอย่างไม่เป็นธรรม  เพื่อเอาพรรคพวกตัวเองมาเป็น มาเพื่อสร้างและปกป้องผลประโยชน์ให้ตนเอง
  • การคอรับชั่นในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
  • สินบน 100 ล้าน ที่ลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ น่าอายจริงๆ
  • พวกข้าราชการชอบเขียนโครงการร้อยแปด พันเก้าโครงการ เพื่อผลาญเงินเล่น บางโครงการก็ไร้ค่าแทบหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  "โครงการเยี่ยม ปฏิบัติแย่" ก็มี "โครงการแย่  จัดฉากเยี่ยม" ก็มี และ "โครงการแย่ ปฏิบัติก็แย่" ก็มี
  • ดารานักร้อง ไร้จริยธรรม ไร้ศีลธรรม มั่วเซ็กส์  แล้วออกมาเรียกร้องให้สังคมเห็นใจ แทนที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม
  • น้ำท่วม ดินถล่ม ก็โทษว่าดันไปตัดไม้ทำลายป่ากัน ทุกคนก็รู้แล้วว่า มันมีคนตัด แต่ไม่ทำอะไร ชอบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เดี๋ยวภัยหนาวก็จะมาเยือนอีกแล้ว ก็คงต้องหาผ้าห่มไปแจกกันอีก
  • ชาวบ้านบุกรุกที่ดินของหลวง  บุกแล้วก็มาเรียกร้องขอสิทธิ์ทำกิน ให้ทุกคนเห็นใจ...ก็รู้แล้วเป็นที่ของหลวง แล้วไปบุกรุกทำไม หลวงก็รู้แต่ทำไมไม่ห้ามตั้งแต่แรก ปล่อยปะละเลยให้เขาทำกิน พอลงหลักปักฐานแล้ว ใครเขาจะยอมออกไป
  • ประเทศไทยน่ากลัวมาก เพราะมีนักรบที่ถูกฝึกพิเศษ  มาเตรียมก่อวินาศกรรมในประเทศไทย  บางคนก็บอกว่าเรื่องจริง บางคนก็บอกว่าเรื่องไม่จริง แล้วอะไรคือ ความจริง
  • บรรดานักการเมือง ตั้งแต่ระดับบน ถึงล่าง เอาแต่เงินมาสร้างถนน สร้างตึก เพราะเห็นเม็ดเงินค่าหัวคิวชัดเจนเป็นกอบเป็นกำ มีตั้งแต่ 10% ถึง 30%   แต่หากเอาเงินมาสร้างคุณภาพคนแล้ว ไม่เห็นอะไรเพราะต้องใช้เวลา...คนไทยถึงได้โง่อยู่อย่างนี้..และก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป...
  • รัฐบาลก็เอาแต่จะสร้างอุตสาหกรรม จนลืมผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น มาบตาพุด โครงการเซาน์เทิร์นซีบอร์ด แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ปล่อยสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ฯลฯ
  • นโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี ทำให้โรงเรียนยอดนิยมร่ำรวยขึ้น เพราะเห็นเม็ดเงินจากหัวของเด็กกันชัดๆ ขยายห้องเรียนกันเป็นว่าเล่น (ทั้งๆ ที่ไม่มีครูจะสอน เพราะลาออกก่อนเกษียณกันหมด)  โรงเรียนเล็กๆ กลับค่อยๆ ตายไปทีละนิด เพราะเด็กลดลง ย้ายไปอยู่โรงเรียนยอดนิยมดีกว่า   
  • ประเทศไทยกำลังปฏิรูปการศึกษารอบสอง แต่เด็กๆ กลับยังมั่วที่จะสอบ GAT/PAT เสียเงินสอบกันไม่รู้กี่ครั้ง เสียเงินเรียนพิเศษ กวดวิชา เพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยยอดนิยม แล้วเด็กที่ไม่มีเงินจะทำอย่างไร
  • เด็กคนนี้เรียนสายสามัญไม่ไหว ต้องเรียนสายอาชีพ สายอาชีวะ แต่พอจบมาแล้วทำงานไม่เป็น ไม่มีบริษัทฯ ห้างร้านไหน เขาจ้าง เขารับ  จะไปเป็นเด็กปั๊มน้ำมันก็อาย (เด็กปั็มเดี๋ยวนี้จึงมีแต่พม่าและกะเหรี่ยง)  จะเปิดร้านทำธุรกิจเองก็เองก็ทำไม่ได้ เพราะคิดไม่เป็น ฝีมือก็ไม่ถึง  
  • ฯลฯ    
ยังมีเรื่องราวของประเทศไทยอีกหลายเรื่องที่ผมรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะโทษใครดี..แต่ผมคิดว่า การกระทำแบบเดิมๆ แบบเก่าๆ ที่มันไร้ประโยชน์ ควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงมันสักที...ไม่อย่างนั้น ประเทศไทยก็จะได้ชื่อว่าเป็น "ประเทศที่กำลังพัฒนา" ตลอดไป แล้วเมื่อไหร่เราจะเป็น "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" เสียที
  
สิ่งเก่าๆ ที่ไร้ประโยชน์ต้องเปลี่ยนสักที

เขียนโดย จุฑาคเชน 14 ต.ค.2553