หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทเรียนแห่งความไม่ใส่ใจ@อย่าทำอย่างผม

วันนี้ (31 พ.ค.2559) ผมไปยังสรรพากรเขตพื้นที่ราชบุรี เพื่อให้ช่วยคำนวณภาษีให้ ซึ่งเลยกำหนดเวลายื่นภาษีเงินได้มาแล้ว 2 เดือน หากไม่ไปติดต่อจะถูกหมายเรียก ขึ้นโรงขึ้นศาล ผลปรากฎว่าผมต้องหาเงินมาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) เพิ่มเติมอีกจำนวน 251,241.69 บาท  มันรู้สึกหนักเอาการอยู่ครับ โดยต้องไปติดต่อชำระเงินที่สรรพากร อ.เมืองราชบุรี ภายในวันที่ 3 มิ.ย.2559 ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 วันเท่านั้น...

รู้สึกแย่จัง แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างผม จะไปหาเงินที่ไหน....
ยังคิดไม่ตกเลย?



เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผมต้องเสียภาษีฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2558 ซึ่งผมไม่เคยยื่นภาษีเลย ปล่อยให้เจ้าหน้าที่การเงินหักภาษีจากเงินเดือนๆ ละ 2,400 บาทมาโดยตลอด ปีหนึ่งภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายก็ประมาณ 28,800 บาท รวมแล้วน่าจะพอ ที่ไหนได้ อ่วมอรทัยเลยครับ  

รายละเอียดก็มี ดังนี้ ครับ
  • ปี 2558 ภาษีที่ต้องเสีย 78,542.36 บาท หักไว้ 28,800 บาท ต้องชำระเพิ่ม 49,742.36 บาท
  • ปี 2557 ภาษีที่ต้องเสีย 87,160.00 บาท หักไว้ 28,800 บาท ต้องชำระเพิ่ม 58,306.00 บาท 
  • ปี 2556 ภาษีที่ต้องเสีย 68,392.28 บาท หักไว้ 28,800 บาท ต้องชำระเพิ่ม 39,592.28 บาท  
  • ปี 2555 ภาษีที่ต้องเสีย 74,357.60 บาท หักไว้ 28,800 บาท ต้องชำระเพิ่ม 45,557.60 บาท
รวมแล้วที่ต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 193,198.24 บาท รวมค่าเงินเพิ่ม (ค่าดอกเบี้ยย้อนหลังนั่นแหละครับ แต่สรรพากร เรียกว่าเงินเพิ่ม) อีกจำนวน 58,043.45 บาท เบ็ดเสร็จจึงรวมเป็น 251,241.69 บาท

ทำอย่างไรละที่นี้
เงินเดือนแต่ละเดือนที่เหลือ (หลังจากหักภาษีแล้ว) ก็มีแผนรายจ่ายทั้งหมด  รวมทั้งหนี้สิ้นที่เคยก่อเอาไว้ก็มากมาย ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บเลย ทางสรรพากรแจ้งให้ผมทราบว่า สามารถผ่อนชำระภาษีได้แต่เงินเพิ่ม(ดอกเบี้ย) ทางสรรพากรก็ต้องคิดไปเรื่อยๆ เช่นกัน อาจจะขอผ่อนได้ 10-12 เดือน หากเป็นเช่นนั้น ผมก็ต้องผ่อนเดือนละ 20,000-25,000 บาท (คิดแบบยังไม่มีดอกเบี้ยนะครับ)

ตายละที่นี้ ผมจะลดค่าใช้จ่ายอะไรดี เพื่อไปผ่อนชำระภาษี


บทเรียนที่ได้รับ
  1. ต้องติดต่อชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี  ไม่เช่นนั้นจะเป็นดินพอกหางหมูแบบผม
  2. ปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากรและเจ้าหน้าที่การเงินของหน่วย (สำหรับมนุษย์เงินเดือน) ว่าภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายควรหักเดือนละเท่าใด ควรให้เพียงพอต่อการคำนวณภาษีเงินได้ทั้งปี อย่างน้อยให้มากกว่าดีกว่าน้อยไป เพราะมากกว่ายังขอคืนภาษีได้ หากน้อยไปจะลำบากในการหาเงินก้อนมาเสียภาษีเพิ่มเติม (ดังเช่น ผมนี้แหละ เป็นตัวอย่าง)
  3. พวกรายการลดหย่อน เช่น เงินประกันชีวิตเตนเอง บิดา มารดา ผู้พิการ เงินสะสมกองทุนสำหรับเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุน เงินบริจาคการกุศลทำบุญวัดวาอารามและการศึกษา ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสร้างหรือซื้อบ้านที่อยู่อาศัย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ฯลฯ รายการเหล่านี้ ต้องเก็บหลักฐานไว้เพราะสามารถใช้ลดหย่อนได้ (ดูรายละเอียดในวิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในแต่ละปี ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน)
  4. พวกที่มีลูกน้องเยอะๆ ให้ช่วยคำนวณให้ และยื่นแบบให้ อย่าเลยครับ ลองคิดเอง คำนวณเอง แล้วยื่นเอง จริงๆ แล้วไม่ซับซ้อนอะไรมากมายนัก เพียงแต่คำอธิบายวิธีการกรอกมันอ่านยาก ไม่ค่อยเข้าใจ 
บทเรียนแห่งความไม่ใส่ใจ ที่เล่าให้ฟังนี้  อาจทำให้ผมต้องเป็นหนี้ไปหลายปี ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าสรรพากร อ.เมืองราชบุรี จะให้ผมผ่อนชำระภาษีได้กี่เดือน มีคนเขาบอกว่า สรรพากรคิดดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคาร ไม่รู้จริงหรือปล่าว หากจำเป็นให้กู้ธนาคารมาผ่อนชำระภาษี ดีกว่าผ่อนกับสรรพากร




ผมยินดีเสียภาษีครับ 
จากข้อมูลปี 2557 ในภาพ ผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 10.3 ล้านคน ผมคงจะอยู่ในจำนวน 4 ล้านคนของประเทศไทยที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนอีก 6.3 ล้านคนได้รับการยกเว้นภาษีเพราะรายได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาท/ปี  แต่ผมก็ยินดีเสียภาษีครับ

แต่อยากจะขอให้รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ใช้เงินจากภาษีอากรต่างๆ ให้คุ้มค่า อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ลงทุนแบบสูญปล่าว ขาดการพัฒนาที่ยั่งยืน ยิ่งนำเงินภาษีของรัฐไปทำประชานิยม หรือประชารัฐ อะไรก็แล้วแต่จะเรียก ให้เลิกเถอะครับ ลองคิดใหม่ดู และอีกประการทีสำคัญ ควบคุมการทุจริตคอรัปชั่นของภาคราชการให้ดี มีให้เห็นครบถ้วนทุกกระทรวงทบวงกรม

ปีนี้ ผมต้องให้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนของผม
....น่าตกใจ????...เดือนละประมาณ 8,800 บาท 
คิดว่าน่าจะพอตอนคำนวณภาษีปลายปี 

แต่ตอนนี้ ผมต้องหาเงินจำนวน 2 แสนกว่าบาท มาชำระภาษี ให้ได้ก่อน เหลืออีก 3 วันเท่านั้น
หากผมหาไม่ได้ หรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระ 
ผมคงต้องถูกดำเนินคดีจากกรมสรรพากรแน่เลยครับ!

#รู้สึกแย่จัง

*************************
จุฑาคเชน : 31 พ.ค.2559

อ่านต่อ รวบรวมเงินได้ 6,000 บาทไปเสียภาษี