หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

เปิดใจฟัง : โรงเรียนคือฆาตกร

เช้าวันนี้ (29 ก.ย.2559) ผมเปิดดูเฟสบุ๊คของผมตามปกติ ได้พบกับคลิบวิดีโอเรื่องการศึกษาที่น่าสนใจมาก ซึ่งสร้างขึ้นโดย "Prince EA" (ดูรายละเอียด)  นักความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก คลิบวิดีโอนี้เป็นสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการฟ้องร้องระบบโรงเรียนที่เกิดขึ้นในศาล โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการศึกษาเป็นจำเลย มีชื่อเรื่องว่า "THE PEOPLE VS. THE SCHOOL SYSTEM" (ดูต้นฉบับ) ซึ่งคลิบวิดีโอนี้ถูกแปลภาษาไทยและจัดทำซับไตเติ้ลโดย Life  University แชร์ผ่านทางเฟสบุ๊ค : Life Uni  มาให้ชมตามคลิบวิดีโอด้านล้างนี้  (ดูที่มา)



สอนให้ปลาปีนต้นไม้
คุณ Prince EA เริ่มเปิดคดี "ฟ้องร้องระบบโรงเรียน" ด้วยคำกล่าวสำคัญของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า "ทุกคนเป็นอัจฉริยะ...แต่ถ้าคุณตัดสินปลา ด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ มันจะใช้ทั้งชีวิตของมันโดยเชื่อว่า มันช่างโง่เขลา.."

ความหมายก็คือเด็กๆ มีความถนัดกันคนละทาง แต่โรงเรียนกำลังสร้างเด็กๆ นับล้านคนให้เป็นหุ่นยนต์ ให้เป็นปลาที่ต้องปีนต้นไม้ ระบบการศึกษาปัจจุบันสร้างให้เด็กๆ เรียนอย่างหนัก แต่ไม่พบพรสวรค์ของตัวเอง จนเด็กๆ ได้แต่คิดว่าตัวเองโง่ และเป็นคนไร้ค่า  เหตุเพียงแค่ไม่สามารถปีนต้นไม้ได้ตามที่ระบบต้องการ 


โรงเรียนคือฆาตกร
Prince กล่าวฟ้องว่า "โรงเรียนเป็นฆาตกรฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก  ทำลายเอกลักษณ์และเหยียดหยามทางความคิด"  เขายกตัวอย่างนวัตกรรมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เช่น โทรศัพท์ รถยนต์ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือห้องเรียน เขาถามจำเลยว่าจะเตรียมความพร้อมนักเรียนในอนาคตหรือในอดีต ระบบการศึกษาในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นเพื่อฝึกคนให้ไปทำงานในโรงงาน บังคับให้นักเรียนนั่งเป็นแถวให้เรียบร้อย นั่งเฉยๆ อยากพูดค่อยยกมือ ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวันเพื่อบอกนักเรียนว่า "เธอต้องคิดอะไร" เสร็จแล้วให้เขาแข่งขันกันด้วยเกรดด้วยคะแนน  หากได้คะแนนดี เกรด A คือสินค้าคุณภาพ 

ในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความริ่เริ่ม เอาจริงเอาจัง พึ่งพาตนเองได้ มีความสามารถในการเชื่อมโยง เราไม่ต้องการหุ่นยนต์ผีดิบอีกแล้ว





ไม่มีสมองคู่ไหนเหมือนกัน
Prince บอกว่า ไม่มีสมองคู่ไหนที่เหมือนกัน ซึ่งพ่อแม่ที่มีลูกสองคน น่าจะช่วยยืนยันและอธิบายได้ แล้วทำไมการศึกษาถึงต้องกำกับนักเรียนเหมือนแม่พิมพ์ขนม หรือหมวกแก๊ปที่ปรับขนาดได้ สอนสิ่งห่วยๆ ให้เด็กทุกคนในแบบเดียวกัน (คำว่าห่วยๆ นี้ ศาลเตือนให้ระวังคำพูดหน่อย) 

ครูที่ควรได้รับการยกย่องแต่กลับถูกใส่ร้าย
Prince กล่าวถึงครูว่า ครู 1 คนสอนเด็ก 20 คน ทั้งๆ ที่เด็กแต่ละคนมีจุดแข็ง ความต้องการ พรสวรรค์ และความฝันที่แตกต่างกัน แต่ครูกลับสอนในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ซึ่งครูเองก็รู้ แต่เมื่อการศึกษาล้มเหลว ครูจึงมักจะถูกใส่ร้ายเสมอ  แต่พวกครูไม่ใช่ปัญหา ที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือระบบการศึกษาและหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาจากจำเลย (คนในกระทรวง) คนที่ไม่เคยสอนใครเลยในชีวิต เอาแต่หมกหมุ่นกับการวัดผล

ครูควรได้เงินมากเท่าหมอ
อาชีพ "ครู" มีหน้าที่สำคัญที่สุดบนโลกนี้ แต่กลับมีรายได้ "แค่พอกิน" จึงไม่แปลกใจที่ครูไม่ให้ความเต็มที่กับเด็ก ครูควรได้เงินเดือนมากเหมือนหมอ ถึงแม้จะมีนักเรียนเพียง 20% ของประชากร แต่พวกเขาก็คือ 100% ของอนาคต

หากคุณหมอสามารถผ่าตัดหัวใจช่วยชีวิตเด็กได้
ครูที่ดีก็สามารถเข้าถึงหัวใจของเด็กและชี้แนะเด็กให้ใช้ชีวิตที่แท้จริงได้ เช่นกัน

การวัดผล
Prince กล่าวฟ้องต่อว่า แนวคิดว่าการกาข้อสอบของเด็ก จะเป็นตัววัดความสำเร็จ ซึ่งมันไม่เกี่ยวข้องกันเลย ความจริงคือ การสอบแบบนี้มันใช้ไม่ได้ ตามที่ J.Kelly ซึ่งเป็นคนค้นคิดมาตรฐานการสอบบอกว่า "การสอบแบบนี้ มันยากเกินกว่าจะเอาไปใช้" และต้องถูกแบน จริงอยู่ วิชาคณิตศาสตร์อาจสำคัญแต่ไม่ได้สำคัญไปกว่าวิชาศิลปะ หรือการเต้น ควรให้ทุกๆ พรสวรรค์มีโอกาสเท่าเทียมกัน

การศึกษาต้องสามารถดึงจิตวิญญาณจากเด็ก
การศึกษาต้องสามารถปรับแต่งได้ เพื่อการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง การศึกษาจะต้องสามารถดึงจิตวิญญาณจากเด็กนักเรียนแต่ละคนออกมาได้ ต้องเข้าถึงหัวใจของเด็กๆ ทุกคน  

Prince กล่าวต่อว่า มันอาจจะดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน แต่มันกำลังเกิดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ พวกเขามีชั่วโมงเรียนน้อยลง ครูมีรายได้ที่มากพอ เด็กไม่มีการบ้าน พวกเขาเน้นความร่วมมือ แทนที่จะแข่งขัน การศึกษาของพวกเขาทิ้งประเทศอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น ประเทศอย่างสิงคโปร์ก็พัฒนาการศึกษาอย่างรวดเร็ว 

การศึกษาไม่ได้มีทางออกแค่ทางเดียว
"โลกของปลา ที่ไม่ต้องต้องถูกบังคับให้ปีนต้นไม้อีกต่อไป"

สุดท้าย Prince EA ขอบคุณทุกท่านที่ชมวิดีโอนี้ และเขาอยากให้ทุกคนช่วยแสดงความคิดเห็นว่า จะสามารถสร้างอนาคตด้านการศึกษาที่ดีได้อย่างไร ทาง https://www.neste.com/preorderthefuture/



6 นาที อาจเปลี่ยนความคิดคุณได้ 
คลิบวิดีโอนี้ มีความความยาวเพียง 6 นาที แต่เป็น 6 นาทีที่อาจเปลี่ยนความคิดเรื่องระบบการศึกษาของคุณได้ ที่ผมสรุปมาเป็นเพียงบางช่วงบางตอน หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถคลิกชมได้ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่างนี้  

****************************
รวมรวมโดย 
ชาติชยา ศึกษิต : 29 ก.ย.2559

ที่มาข้อมูล

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)

ผมได้เห็นนโยบายใหม่ที่จะมีการเสนอให้เริ่มต้นใช้ในปีการศึกษา 2560 คือ ส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เป็นผู้เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่ และเป็นการฝึกสมาธิ ให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์


วิธีคิดดังกล่าวข้างต้น ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอันใด เพียงแต่สงสารเด็กนักเรียนไทยที่ต้องถูกบังคับให้ทำ โดยความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาที่แท้จริง  ปัจจุบันนโยบาย "โลกสวยทางการศึกษา" หลายเรื่องที่ถูกกำหนดมาให้เด็กและครูต้องปฏิบัติ เช่น STEM ศึกษา การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การเรียนภาษาอังกฤษวันละ 1 ชม. การเรียนรู้แนวประชารัฐ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างภาระอันหนักอึ้งให้แก่เด็กๆ ของเรา รวมทั้งครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนอีกด้วย 

นโยบายดี แต่ควรเปลี่ยนวิธีทำ
ตามทฤษฎีพหุปัญญาแล้ว มนุษย์มีความสามารถทางปัญญาอยู่ 8 ด้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีความชอบและความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เด็กหลายคนอาจชอบภาษา หลายคนอาจชอบคณิตศาสตร์ หลายคนอาจชอบดนตรี และหลายคนอาจชอบด้านอื่นๆ 

ปัญหาระบบการศึกษาของเรา คือ สนใจความอัจฉริยภาพของเด็กเพียงไม่กี่ด้าน  ออกแบบมาเพื่อสอนเด็กบางคนเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนเด็กทุกคน

ดูแต่การสอบ O-net ที่รัฐจัดให้มีการสอบทุกปี มันแค่เป็นตัวชี้วัดพหุปัญญาหรืออัจฉริยภาพของเด็กบางคนและบางด้านเท่านั้น มันไม่สามารถวัดอัจฉริภาพของเด็กในแต่ละด้านได้ทุกคน  การสอบวัดมาตรฐานที่รัฐจัดให้มีขึ้นกลับทำให้เด็กๆ ของเราต้องเครียด  ผู้ปกครองก็เครียด ผู้บริหารโรงเรียนก็เครียด โรงเรียนหลายแห่งพยายาม "สอนให้เด็กสอบ" มากกว่าจะสอน "ให้เด็กค้นหาตัวเองให้พบและเรียนรู้ตามที่ตัวเองถนัด" 


ที่มาของภาพ http://www.mindecodetd.com/multi-th/index.php




นโยบายส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยให้เป็นคนละ 1 ชนิด ภายใน 5 ปี นั้น
ดีเชิงนโยบาย แต่ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ   
การเล่นดนตรีไทย  จึงควรจะเป็นทางเลือกมากกว่า  

ถนนที่ไม่ได้เลือก (The Road not taken)
ปัจจุบันการจัดการศึกษาของไทยมีลักษณะของถนนที่เด็กไม่ได้เลือกเอง ผู้กุมนโยบายด้านการศึกษามักชอบยัดเหยียดให้แก่เด็กๆ ว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ นู้น..นี่..นั่น ทำให้การเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ อันที่จริงพวกเขาควรมีเสรีภาพในการเลือกมากกว่านี้ การศึกษาต้องพยายามดึงเอาความเป็นอัจฉริยะของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้ และต่อยอด หาทางส่งเสริมเขาในด้านนั้นๆ 

เมื่อ 15 ปีที่แล้วผมอ่านหนังสือเรื่อง "พ่อรวยสอนลูก" ที่เขียนโดยโรเบิร์ต คิโยซากิ มีคำพูดน่าคิดเกี่ยวกับการศึกษาของผู้มีชื่อเสียง ดังนี้

วินสตัน เชอร์ชิล 
"ผมพร้อมที่จะเรียนเสมอ แต่ผมไม่ชอบถูกสอน"

จอห์น อัพไดค์
"เมื่อพ่อแม่ทั้งหลายพบว่าเด็กเป็นภาระอันหนักอึ้ง เขาจึงส่งเด็กไปอยู่ในคุกที่เรียกว่าโรงเรียน และใช้การศึกษาเป็นเครื่องทรมาน"   

นอร์มัน ดักลาส
"การศึกษา คือ โรงงานผลิตเสียงสะท้อนที่ควบคุมโดยรัฐ"

เอช. แอล. แม็คเค็น
"ชีวิตในโรงเรียน เป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขที่สุด"

กาลิเลโอ
"ไม่มีใครสอนใครได้ อย่างมากที่ทำได้คือ ช่วยให้เขาค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง"

มาร์ค ทเวน
"ฉันไม่เคยให้โรงเรียนเข้ามายุ่งกับการศึกษาของฉัน"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
"การศึกษามีมากเกินไป โดยเฉพาะในโรงเรียนอเมริกัน"

นอกจากนั้น โรเบิร์ตฯ ยังกล่าวถึงทัศนะของระบบการศึกษาในอเมริกาสมัยนั้นไว้ว่า เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับความเปลี่ยนแปลง มันถูกออกแบบให้คงอยู่อย่างถาวร นักจัดการศึกษามักบอกว่า "ลูกคุณมีปัญหาในการเรียนรู้" มากกว่าจะบอกว่า "ระบบของเรามีปัญหาในการสอน" สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านผู้หนึ่งจากเว็บไซต์ www.livebox.me/ajwiriyah ที่กล่าวถึงระบบการศึกษาไทย ไว้อย่างน่าคิดว่า 

"เราไม่มีทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ถ้ายังคิดว่าเด็กเราโง่ และไม่รับผิดชอบ 
ที่โง่นะ คือ ระบบการศึกษา และที่ไม่รับผิดชอบ คือ ผู้มีอำนาจ"

เพราะถนนที่เด็กๆ ไม่ได้เลือกเอง (The Road not taken) ปัจจุบันจึงเป็นปัญหาของผู้จบการศึกษาของไทย เด็กๆ หลายคนต้องตกหล่นระหว่างการเรียน และหลายคนก็สามารถตะเกียกตะกายเรียนได้ถึงปริญญาตรี ปริญญาโท แต่กลับตกงาน หรือทำงานไม่ตรงตามที่เรียน และอีกหลายคนก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ถึงเวลาที่นักจัดการศึกษาทั้งหลายของไทยต้องหันกลับมานั่งคิดกันอย่างจริงจังเสียที เพราะโลกของการศึกษาในที่ทำงาน ในห้องประชุม จากแบบวัด แบบประเมิน จากผลการสอบ และสถิติทั้งหลายที่พวกท่านรวบรวมไว้ มันแตกต่างจากสภาพความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

โลกการศึกษาไม่ได้สวยงามอย่างที่ท่านคิด 
อย่าคิดอะไรได้แว๊บๆ แล้วจะกลายเป็นนโยบายไปเสียทั้งหมด
การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ก็เพราะ
มันเป็นไฟไหม้ฟาง มันมอดเร็ว หุ้งข้าวไม่สุกเสียที   


***********************************
ที่มาข้อมูล
  • รักครู. (2559). เตรียมดีเดย์ใหเด็กไทยทุกคนเล่นดนตรีไทยเป็น 1 ชนิดเริ่มปีการศึกษา 60. [Online]. Available :http://www.xn--12cg5gc1e7b.com/6343. [2559 กันยายน 1 ]
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 3 : สอนลูกให้รวย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก # 2 : เงินสี่ด้าน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
  • คิโยซากิ, โรเบิร์ต ที. (2544). พ่อรวยสอนลูก. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.