หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

ญี่ปุ่นปี ค.ศ.2017 ที่ผมเห็น

เมื่อวันที่ 21-26 มีนาคม 2560 ผมได้มีโอกาสไปเที่ยว จ.โอซากา, จ.นารา, จ.เกียวโต ในภูมิภาคคันไซและเมืองนาโกย่า จ.ไอชิ ภูมิภาคชูบุ ประเทศญี่ปุ่น ห้วงเวลาที่ผมไปนี้ อุณหภูมิอยู่ประมาณ 4-15 องศาเซลเซียล กำลังเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ เลยไม่มีโอกาสได้เห็นดอกซากุระบาน เห็นว่าประมาณสัปดาห์หน้าก็จะบานแล้ว น่าเสียดายจัง!! เขาเล่ากันว่าห้วงดอกซากุระบานนี้ จะเป็นห้วงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด

ผมขอนำเรื่องราวบางเรื่อง ที่ผมได้พบเห็นในประเทศญี่ปุ่น เฉพาะเมืองที่ผมไปเที่ยว มาเล่าสู่กันฟังเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เผื่อจะมีประโยชน์หรือได้ข้อคิดอะไรที่ดีดีบ้าง 

 
ด้านหลังคือต้นซากุระ อีก 1 อาทิตย์จึงจะบาน

บ้านเมืองสะอาดจัง!
ทุกเมืองที่ผมไปล้วนสะอาด ไม่สกปรกเลอะเทอะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แลดูรู้สึกสบายตา รถยนต์ส่วนตัวมีน้อยมาก ที่เห็นวิ่งบนถนน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถเมล์และรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซต์แทบหาไม่เจอ ในเขตเมืองมีแต่คนเดินเท้าเสียส่วนใหญ่ ที่เห็นพอมีจอดอยู่บ้างก็คือ รถจักรยานสองล้อ ที่ญี่ปุ่นนี้เขาให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของคนเดินเท้ามากกว่าคนขับรถยนต์ส่วนตัว บนทางเดินเท้าห้ามนำสิ่งของใดๆ มาวางกีดขวางเป็นอันขาด สัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนมีเกือบทุกสี่แยกและในจุดสำคัญ รถทุกคันต้องหยุดให้คนข้ามถนนเมื่อเห็นสัญญาณไฟ และที่น่าสังเกตคือ ผมไม่เคยเห็นสะพานลอยสำหรับคนข้ามถนนเลย       

TAXI ที่ญี่ปุ่น เป็นรถรุ่น TOYOTA CROWN ทั้งหมด (ผลิตตัวถังใหม่)
ซึ่งญี่ปุ่นพยายามอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ 
เส้นจราจรบนท้องถนน ทางเท้า ป้ายแจ้งเตือนต่างๆ  ทางม้าลาย สีสันสดใสชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง สีซีดเลอะเลือนเหมือนบ้านเรา  ไม่มีร้านหาบเร่แผงลอยข้างทางให้ซื้อ ไม่มีร้านค้าใดนำสิ่งของออกมาวางนอกร้านให้เกะกะทางเท้า ไม่มีกรวยยางหรือเก้าอี้พลาสติกมาวางข้างถนนเพื่อกันไม่ให้รถจอด ไม่มีซุ้มขายเครื่องดื่มประเภทเป๊บซี่ โคล่าฯลฯ ไม่มีป้อมตำรวจมาตั้งให้รกตาอยู่ตามสี่แยก ผมไม่เห็นตำรวจแม้แต่คนเดียว (ไม่เหมือนบ้านเราครับ เห็นตำรวจยืนอยู่ทุกที่ พร้อมถือใบสั่งอยู่ในมือ) และที่สำคัญผมหาถังขยะไม่เจอ บางครั้งต้องถือขยะติดตัวไว้นานมาก นานๆ จึงจะพบถังขยะสักที

ที่นี่แต่ละบ้านจะต้องแยกขยะ และใส่ถุงให้เรียบร้อยมาวางไว้ในจุดที่กำหนดและจะมีรถมาเก็บตามเวลา


ตู้หยอดเหรียญเครื่องดื่มประเภทต่างๆ มีอยู่ตามรายทางเป็นระยะๆ 

ส้วมไฮเทค-มีความสุขเมื่อใช้
ผมนอนโรงแรมใน จ.โอซากา 2 คืน และ จ.เกียวโต 1 คืน ในห้องน้ำ จะมีส้วมไฮเทค เหมือนกันทั้งสองโรงแรม ไม่มีสายฉีดน้ำชำระก้นเหมือนบ้านเรา แต่ใช้กดปุ่มแทน ซึ่งอยู่ข้างๆ ส้วม ดังภาพ

ส้วมไฮเทค มีปุ่มสำหรับกดชำระอยู่ที่คอนโซลด้านขวา 

คอนโซลปุ่มกดเพื่อชำระ

ที่คอนโซลปุ่มกดเพื่อชำระด้วยการฉีดน้ำ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ปุ่ม SRAY (สำหรับผู้ชาย)  ปุ่ม BIDET (สำหรับผู้หญิง) ปุ่มเพิ่มแรงฉีดน้ำ (WATER PRESSURE) แล้วแต่ผู้ปลดทุกข์จะชอบแรงหรือเบา ปุ่ม STANDBY และปุ่มเพิ่มความอุ่นให้ที่นั่ง (WARM SEAT) เพราะที่นั้นอากาศหนาว เมื่อหย่อนก้นนั่งแล้วจะทำให้ก้นอุ่นไม่เย็น ส้วมบางรุ่นมีปุ่มกำจัดกลิ่นให้ด้วย (DEODORIZER) ส่วนปุ่ม STOP ใช้หยุดเมื่อฉีดน้ำชำระพอแล้ว หากผู้ปลดทุกข์คิดว่าการฉีดชำระไม่ทั่วถึง ผู้ปลดทุกข์ต้องส่ายก้นเอาเอง คนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "เวลาเข้าส้วมที่ญี่ปุ่นนี้ มีความสุขที่สุด" 

ข้อแนะนำที่ติดอยู่ในห้องส้วม ส่วนใหญ่จะแนะนำว่าผู้ใช้ควรจะใช้กระดาษชำระเช็ดก่อน จึงค่อยใช้ปุ่มกดชำระด้วยน้ำตาม ดังนั้นกระดาษชำระที่อยู่ห้องส้วมในประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่จะไม่ปล่อยให้หมด อย่างน้อยแต่ละส้วมจะมีถึง 2 ม้วนเป็นอย่างต่ำ

ส้วมไฮเทคนี้ ไม่ใช่มีบริการเฉพาะในโรงแรมเท่านั้น ในที่สาธารณะ ที่พักรถบนทางด่วน ในห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานีขนส่ง และในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีเช่นกัน

ใครที่ไปญี่ปุ่น ไม่ต้องห่วงเรื่องห้องน้ำห้องส้วมเลยครับ มีเกือบทุกสถานที่และสะอาดด้วย 

กระดาษชำระอย่างน้อย 2 ม้วน
นอกจากนั้น ในห้องน้ำที่เป็นสาธารณะ จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเสริมขึ้นอีก เช่น ห้องน้ำสำหรับเด็กเล็ก (ผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชายก็เข้าได้เพื่อจะได้ดูแลเด็ก) ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ที่อาบน้ำสำหรับเด็กทารก ครีมล้างมือที่อ่างล้างหน้า การเปิดปิดน้ำส่วนใหญ่เป็นอัตโนมัติไม่ใช่ก๊อก

ที่อาบน้ำสำหรับเด็กเล็ก
ไม่ต้องยืนรอคิว
ตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆ จะมีผู้คนและนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก ร้านอาหารต่างๆ จึงปรุงไม่ค่อยทัน หลังจากเราตัดสินใจเลือกร้านอาหารได้แล้ว ก็เดินเข้าไปสั่งจ่ายเงินให้เรียบร้อย ต่อจากนั้นเจ้าของร้านจะให้ใบเสร็จพร้อมกับเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมคล้ายๆ รีโมท มีหมายเลขกำกับมาให้เรา จากนั้นเราก็ไปนั่งรอที่โต๊ะ หรือจะไปซื้ออาหารอย่างอื่นเพิ่มเติมก็ได้ ไม่ต้องยืนรอคิว


รอเมื่อร้านค้าปรุงอาหารของเราเสร็จแล้ว ก็จะมีเสียง "ปี๊บ" ดังขึ้นพร้อมไฟสีเขียวที่กล่อง ซึ่งส่งมาจากทางร้าน เป็นสัญญาณแจ้งว่า อาหารที่เราสั่งเสร็จแล้ว เราจึงเดินกลับไปที่ร้านเอากล่องไปยื่นคืน เพื่อรับอาหารที่เราสั่งไว้

นวัตกรรมง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย แต่มันทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปยืนรอคิว ที่ประเทศไทยอาจจะมีแล้วนะครับ แต่ผมยังไม่เคยเห็น 

ที่นี่จะมีวัฒนธรรมวางอาหารทุกชามไว้ในถาดสี่เหลี่ยม ไม่ยกลงมาวางบนโต๊ะโดยตรง
หลังจากรับประทานเสร็จแล้ว ต้องนำไปถาด พร้อมถ้วยชาม และเศษอาหาร
ไปวางไว้ในที่ที่ทางศูนย์อาหารฯ จัดเตรียมไว้ให้ ไม่มีพนักงานมาเดินเก็บเหมือนบ้านเรา 

TAX FREE สำหรับนักช๊อป
พวกนักช๊อบฯ ที่ชอบซื้อของคราวละมากๆ ควรพยายามมองหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ "TAX FREE SHOP" ซึ่งหากซื้อของที่ร้านนี้ สินค้าที่พวกเราซื้อจะได้รับการงดเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 8%



ป้ายแสดงราคาสินค้าในญี่ปุ่น

ตามภาพด้านบน ราคาสินค้าที่เขียนตัวใหญ่ ว่า 2,400 เยน คือ ราคาที่ไม่รวมภาษี  แต่จะมีตัวเล็กๆ เขียนกำกับไว้ด้านล่างใกล้ๆ กันว่า 2,592 เยน นั่นหมายถึงเวลาจ่ายจริงต้องรวมภาษีอีก 8% รวมเป็นราคา 2,592 เยน  แต่ถ้าหากเราใช้บริการ TAX FREE เราจะจ่ายในราคาไม่รวมภาษี คือ 2,400 เยน แต่ต้องซื้อสินค้าในร้านนั้นรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,400 เยนนะครับ (ประมาณ 1,800 บาท) หากซื้อน้อยกว่านี้ ไม่สามารถใช้บริการ TAX FREE ได้

ในร้านที่เข้าร่วม TAX FREE จะมีเคาน์เตอร์สำหรับจ่ายเงินทั่วไป กับเคาน์เตอร์จ่ายเงินสำหรับ TAX FREE หลังจากเราช๊อปเสร็จก็นำสินค้าไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ TAX FREE ได้เลย แต่ต้องยื่นหนังสือเดินทาง (PASSPORT) ของเราประกอบด้วย  หลังจากนั้นพนักงานจะแพ๊คสินค้าที่เราซื้อเป็นถุงใสปิดผนึกแน่นหนา พร้อมให้เราโหลดขึ้นเครื่องได้เลย

แค่นี้ เราก็สามารถซื้อสินค้าญี่ปุ่นได้ในราคาปลอดภาษี 

อย่าลืม การใช้บริการ TAX FREE จะมีใบกำกับใบหนึ่งจากร้านที่เราซื้อ ให้เรานำไปใส่กล่อง TAX FREE ที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่อง (ไม่ใส่ก็ได้ครับ ไม่ใช่สาระสำคัญ) เหตุที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นให้ทำเช่นนี้ ก็เพื่อไว้ตรวจสอบภาษีและจำนวนยอดขายกับร้านค้า TAX FREE ที่เราซื้อต่อไป


ร้าน 7-11 ร้านนี้ก็มี TAX FREE แต่ต้องซื้ออย่างน้อย 5,400 เยนขึ้นไป
ถึงจะใช้บริการได้
โครงการ TAX FREE SHOP นี้ ผมว่าญี่ปุ่นเขาฉลาดนะครับ สามารถดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น แถมผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ก็ขายสินค้าได้มากขึ้นเช่นกัน 
ทำไม? ประเทศไทยเราไม่คิดอย่างเขาบ้าง 

เรื่องง่ายๆ แค่ตีเส้นคู่
ตามสถานที่จอดรถต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ ฯลฯ  ส่วนมากจะตีเส้นสำหรับจอดรถยนต์แต่ละคันเพียงเส้นเดียว เวลาจอดรถหากมือไม่ถึงก็เบียดกันจนเกินไป เปิดประตูลงรถขึ้นรถก็แสนจะยาก แต่ผมเห็นที่ญี่ปุ่นนี้ "ตีเส้นคู่เลยครับ" เพื่อให้รถแต่ละคันจอดไม่เบียดกันเกินไป  เวลาเปิดประตูลงจากรถหรือขึ้นรถก็ง่าย ไม่ต้องกลัวว่าประตูรถจะไปกระแทกกับรถคันข้างๆ ทรัพย์สินก็ไม่เสียหาย  





เรื่องตีเส้นคู่นี้ ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไรเลย 
ทำไม? ประเทศไทยเราคิดไม่ได้  

วิธีการเข้าคิว
การเข้าคิวจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้า ร้านค้า หรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่ญี่ปุ่นนี้ ไม่เหมือนบ้านเรา ทุกคนต้องยืนต่อคิวแถวเดียวกันทุกคน เมื่อเคาน์เตอร์แคชเชียร์ช่องใดช่องหนึ่งว่างลงจึงค่อยเดินเข้าไปจ่าย แต่บ้านเราแต่ละคนจะเข้าคิวเคาน์เตอร์แคชเชียร์ช่องใดก็ได้ ที่เห็นว่าว่างหรือคนน้อย เขียนอธิบายยากครับ ลองดูภาพด้านล่างประกอบจะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น



วิธีการเข้าคิวนี้ ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่ลองพิจารณาลึกๆ แล้วของญี่ปุ่นจะมีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากกว่าบ้านเรานะครับ ลองคิดดูดีดี ใครจะเอาวิธีเข้าคิวของญี่ปุ่นไปปรับใช้บ้างก็ลองดูนะครับ อาจจะดีกว่าเดิม 

ใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ต้องเข้าคิววิธีของเขานะครับ

เรื่องราวของประเทศญี่ปุ่น มีคนเขียนเอาไว้เยอะ ลองค้นหาและอ่านดู ส่วนเรื่องราวที่ผมเขียนนี้เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผมเห็นมาเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น  ซึ่งอาจไม่ใช่ภาพรวมของญี่ปุ่นทั้งประเทศ 

ไว้คราวหน้าหากมีโอกาส จะลองไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ของญี่ปุ่นดูบ้าง

*********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 30 มี.ค.2560