หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

นิสิต "สองแผ่นดิน"

พระบรมฉายาลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์
เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อ วันที่ 17-18 กรกฏาคม 2541

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.2560)  ผมมีโอกาสได้ไป "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อีกครั้ง ซึ่งจำได้ว่า ครั้งสุดท้ายไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบุตรชาย แต่วันนี้ เป็นของบุตรสาว ทั้งสองคนล้วนจบจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ถือเป็นบุญของพวกเขา และยังเป็นความภาคภูมิใจแก่ พ่อ แม่ ญาติพี่น้องและวงศ์ตระกูล อีกด้วย  

วันรับปริญญาไม่ใช่ "ตอนจบ"
ในคราวรับปริญญาของบุตรชาย ผมเคยเขียนบทความเพื่อเตือนสติลูกชายในครั้งนั้นว่า ให้มีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา หาเลี้ยงชีวิตของตนเองให้ได้ เพราะชีวิตหลังรับปริญญา คือ การเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่แท้จริงบนโลกใบนี้  อย่าให้ใครดูถูกเราได้ว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

นิสิต "สองแผ่นดิน"
การรับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ บรรยากาศเรียบง่าย ไม่มีเสียงร้องเพลง เสียงเล่นกิจกรรม เสียงแสดงความยินดีจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ดังเซ็งแซ่เหมือนอย่างเคย ช่อดอกไม้และของขวัญที่ระลึกส่วนใหญ่ใช้โทนสีขาวดำ เทา หรือสีเรียบๆ ไม่ฉูดฉาด เนื่องจากกำลังอยู่ในห้วงไว้ทุกข์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จสวรรคตจากพวกเราไปเมื่อปีที่แล้ว และอีกไม่กี่วันก็จะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีนี้  จึงถือได้ว่าเป็น "นิสิตสองแผ่นดิน" เพราะเรียนในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 และรับพระราชทานปริญญาบัตรในแผ่นดินรัชกาลที่ 10  




ทุกคนกำลังเฝ้าดู
ผมขอชื่นชมที่ คณะกรรมการบัณฑิตฯ ในปีนี้  ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครัั้งสุดท้าย ที่ทรงเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ.2541 พร้อมนำพระปฐมบรมราโชวาทฯ ที่เคยพระราชทานแก่บัณทิตของจุฬาฯ เมื่อ วันที่ 21 พ.ค.2493 มาจัดพิมพ์ไว้ด้านหลังของภาพด้วย ความว่า

".....  แต่ขอให้นึกเสมอว่า เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่เอาใจใส่เฝ้าดู การกระทำของท่านอยู่ต่อไป ใครทำดีก็ได้รับคำชมเชยและสรรเสริญ ใครไม่ทำดีเขาก็จะพากันติ และพลอยติชมถึงสถานศึกษาของท่านด้วย 

ชื่อมหาวิทยาลัยของท่านคือ "จุฬาลงกรณ์" จะติดตัวท่านไปด้วยเสมอไม่ว่าจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว ฉะนั้นทุกๆ ครั้งที่ท่านกระทำสิ่งใดลงไป จงคิดแล้วคิดอีก ทบทวนดูทั้งทางได้ทางเสียให้แน่ชัดเสียก่อน

"จุฬาลงกรณ์" หาได้เป็นแต่เพียงชื่อของมหาวิทยาลัยนี้เท่านั้นไม่ ยังเป็นนามของผู้พระราชทานกำเนิดของสถานที่แห่งนี้ด้วย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้...." 

ผมอ่านแล้ว รู้สึกปลื้มปิติแทนลูกชาย ลูกสาว และผู้ที่เคยเป็นนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน  ขอให้ลูกๆ ทั้งสองของพ่อ จงจดจำ "พระปฐมบรมราโชวาทฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9"  ที่ทรงให้ไว้แก่บัณฑิตเอาไว้ให้แม่น อย่าได้ลืมเลือนเป็นอันขาด 




เพราะชื่อ "จุฬาลงกรณ์ "จะติดตัวลูกไปเสมอ
จะทำการสิ่งใด จงคิดไตร่ตรองให้ดี 

********************************
ขอแสดงความยินดีกับลูกสาวของพ่อ "จุฑามาศ จันทรวงศ์"
จาก พ่อของลูก พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์



วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ก็ "ว่างงาน" ใช่ไหม ปลาก็กำลังจะได้กินฟรี หัดตอบแทนสังคมบ้างก็ดี

ภาพจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สอนให้ลูกจับปลา ไม่ใช่หาปลาให้ลูกกิน
คำกล่าวนี้ ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายความใดๆ ทุกท่านก็คงเข้าใจ  มีบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวที่อดีตพระราชาของเราได้เคยทรงทำให้เราดู 

แต่ผู้ปกครองของประเทศไทย ที่ชอบอ้างว่าเดินทางตามรอยพ่อ กลับไม่เดินจริง  ยังชอบ "หาปลาให้ลูกกิน" เสมอ เพราะมันเป็นวิธีการที่เร็วและง่ายที่จะทำให้คนชื่นชมยกย่อง ที่เรียกว่าเพื่อให้ "ประชานิยม" นั่นเอง 


ผมไม่เห็นด้วยกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ใครจะว่าผมไม่มีจิตคิดเมตตากรุณา ผมก็ยอม เพราะผมเห็นว่า นโยบายที่รัฐจะมอบสวัสดิการให้กับคนมีรายได้น้อย (คนจน) มันไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืน แต่มันจะกลับกลายเป็นยาพิษทำลายคนเหล่านั้นแทน รัฐควรพยามยามสร้างให้เขาทำมาหากินเป็น ไม่ใช่การแบมือขอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไป 

ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนผมเสียภาษีให้ประเทศชาติเดือนละ 8,000 บาทเศษ แต่ผมก็ต้องการให้ภาษีของผมนำไปพัฒนาด้านสวัสดิการเพื่อคนส่วนรวม หรือเพื่อนำไปใช้ลงทุนในกิจการต่างๆ ของรัฐเพื่อให้ประเทศชาติมีรายได้  "ไม่ใช่นำไปแจกคน 11.4 ล้านคนที่รัฐเรียกว่าเป็น "คนจน" เพื่อใช้ในเรื่องส่วนตัว"   

หากจะให้จริง ก็ควรแลกด้วยสิ่งตอบแทนบ้าง
จนป่านนี้แล้ว คงแก้ไขอะไรไม่ได้ก็คงต้องให้มันเป็นไปตามนั้น คนจำนวน 11.4 ล้านคน กำลังจะได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เดือนละ 200 บาทบ้าง 300 บาทบ้างตามรายได้ที่มีต่อปี แถมยังมีค่าเดินทางรถโดยสารรถเมล์รถไฟอีกเดือนละ 1,500 บาท และลดหย่อนค่าก๊าซหุงต้มอีก 45 บาท/คน/3 เดือน รวมแล้วรัฐต้องใช้เงินแบบให้ฟรีแก่คนจน เฉลี่ยประมาณเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท น่าเสียดายนะครับ รู้ไหมเงินเหล่านี้ ก็คือเงินอัดฉีดให้นายทุนและกิจการของรัฐ ที่รัฐชอบเรียกว่า "ระบบเศรษฐกิจ" นั่นเอง  
  • สินค้ายี่ห้อ A ไม่ว่าจะขายในห้างสรรพสินค้า หรือในร้านธงฟ้าประชารัฐ ก็ล้วนเจ้าของเดียวกัน ซึ่งสินค้ายี่ห้อ A ก็จะขายได้มากขึ้น ไม่มีใครขายของขาดทุนหรอกครับ มีแต่กำไรน้อยกำไรมากเท่านั้น 
  • กิจการรถโดยสาร รถเมล์ และรถไฟก็ล้วนเป็นกิจการของรัฐ ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของสัมปทานและกำลังขาดทุน
  • ก็าซหุงต้ม ก็รู้ๆ อยู่ว่าใครเล่าที่เป็นเจ้าของผูกขาด 
เห็นไหมว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกตั้งหลายตัว"  

"ว่างงาน" ก็หัดตอบแทนสังคมบ้าง ก็ได้   
ผมข้อเสนอแนะว่า คนจน 11.4 ล้านคน ที่กำลังจะได้รับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งรัฐต้องเจียดจ่ายจากเงินภาษีให้ท่านเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท จากคุณสมบัติแล้ว ท่านมีอายุมากกว่า 18 ปี และท่านเป็น  "ผู้ว่างงาน" ดังนั้น ท่านน่าจะมีจิตสำนึกในการตอบแทนแก่สังคมบ้างก็ดี  เช่น ยามว่างหรือเสาร์-อาทิตย์ ลองไปช่วยงานอาสาสมัครหรือจิตอาสาเพื่อสาธารณะประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง ซึ่งงานอาสามีรอให้ช่วยทำมากมาย หรือไม่ก็ไปช่วยกวาดลานวัด กวาดโรงเรียนบ้างก็ได้ ไม่ใช่นั่งรับเงินโดยไม่ทำอะไรตอบแทนแก่สังคมบ้างเลย    


ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์  การคิดที่จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพนั้น ผมว่าไม่ยาก เพียงแต่ว่าระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐสร้างขึ้นควรเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสทำมาหากินจริงๆ  ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะนักลงทุนอย่างเดียว ความยุ่งยากความหยุมยิมของกฏหมาย และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ล้วนไม่เอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้ทำมาหากินเท่าใดนัก หรือหากคิดทางลบก็คือ คนพวกนี้ เป็นคนจำพวกขี้เกียจทำมาหากิน จึงไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือใดๆ    

รัฐควรมีนโยบายพยายาม "สอนให้เขาจับปลา" ซิครับ 
ดีกว่า "หาปลาให้เขากิน" มากมายนัก      

*******************************
ชาติชาย คเชนชล 25 ก.ย.2560

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

"วันบุรฉัตร" เป็นวันที่หน่วยงานทั้งหลายต้องคิดทบทวน


พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระราชโอรส องค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 กันยายน 2479 ขณะพระชนมายุเพียง 55 ปี วันนี้ทางราชการจึงกำหนดให้เป็น "วันบุรฉัตร" ผมขอสรุปประวัติของพระองค์ฯ พอสังเขปเพื่อทราบดังนี้ 
  • พระชนมายุ 20 ปี เป็นร้อยตรี เหล่าทหารช่าง หลังจากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ
  • พระชนมายุ 23 ปี กลับมาเป็นพันตรีเหล่าทหารช่าง
  • พระชนมายุ 27 ปี ดำรงตำแหน่งจเรทหารช่าง (พระองค์แรก)
  • พระชนมายุ 36 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น "ผู้บัญชาการรถไฟ" อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหาร พระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่ เข้ามาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า  " พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ "  
  • พระชนมายุ 41 ปี ทรงขอพระบรมราชานุญาตในการออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ และทางหลวง พุทธศักราช  2465 เพื่อเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศให้มีระเบียบยิ่งขึ้น
  • พระชนมายุ 45 ปี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมและเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์
  • พระชนมายุ 49 ปี ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดการกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยามมีการส่งเทเลวิชั่น (วิทยุโทรทัศน์) ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475
  • พระชนมายุ 49 ปี ทรงก่อตั้งสโมสรโรตารีแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" 
  • พระชนมายุ 50 ปี  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 
  • พระชนมายุ 52 ปี ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัว (น่าจะเป็นผลพวงมาจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร)          
  • พระชนมายุ  55 ปี  ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในประเทศสิงค์โปร์
พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากรฯ นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณและทรงวางรากฐานในกิจการด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และการบินทหารบก

(ท่านใดต้องการอ่านพระราชประวัติโดยละเอียด สามารถค้นหาได้จากอินเตอร์เน็ต)



น่าเสียดายเวลาที่เสียไป
นับตั้งแต่วันที่ พระองค์ท่านและครอบครัว ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยและทรงสิ้นพระชนม์ที่ประเทศสิงค์โปร์ ถึงปัจจุบันแล้วเป็นเวลา 81 ปี แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มและวางรากฐานไว้ หลายกิจการไม่ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น ดังเช่น กิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ดังนั้น "วันบุรฉัตร" จึงควรเป็นวันที่หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาพิจารณาทบทวนดูว่า "สิ่งใดที่ขาดหายไป" จึงทำให้เจตนารมย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5,6 และ 7 ที่ทรงรับสั่งผ่านทางพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรฯ จึงไม่ประสบความสำเร็จ


มีคนกล่าวว่า "ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา" แต่
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ได้แค่นี้"  
คำกล่าวนี้ เห็นท่าจะจริง....           



********************************
ชาติชาย คเชนชล : 14 ก.ย.2560