วันที่ 22พ.ค.2551 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ พร้อมตัวแทนองค์กรแนวร่วมได้ประชุมที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อหารือและประเมินสถานการณ์ทางการเมืองหลังที่ ส.ส.และ ส.ว.ได้เข้าชื่อกันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อประธานรัฐสภา หลังจากนั้น เวลาประมาณ 12.30 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ ดังนี้
แถลงการณ์ฉบับที่ 9/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง ชุมนุมใหญ่ต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
ตามที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน จำนวน 117 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 5 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 4 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 2 คน พรรคประชาราช 1 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวน 21 คน รวมกันทั้งสิ้น 150 คน ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2551 เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ทั้งฉบับที่มาจากการลงประชามติของคนส่วนใหญ่ในประเทศ 14 ล้าน 7 แสนเสียงนั้น
จากเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ได้ดำเนินการเป็นอันตรายต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนประชาชนอย่างชัดเจนดังต่อไปนี้ สำหรับอันตรายต่อสถาบันชาตินั้นได้ปรากฏในการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า กระทำไปเพื่อลบล้างความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือนักการเมืองให้หลบหนีคดียุบพรรคการเมืองจากกรณีกรรมการบริหารพรรคได้กระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจตุลาการกำลังถูกทำลายด้วยฝ่ายนิติบัญญัติที่ไร้จริยธรรม สมคบกับฝ่ายบริหาร ตลอดจนดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองอ่อนแอลง องค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การคัดสรรจากอิทธิพลทางการเมืองจนไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้ และจะนำไปสู่ความล่มจมของชาติดังที่เคยได้เกิดขึ้นมาแล้วในระบอบทักษิณจากการใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เมื่อรวมกับพฤติกรรมก่อนหน้านี้ของรัฐบาลหุ่นเชิด ที่บริหารบ้านเมืองจนเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยของชาติ
กรณีพื้นที่รอบเขาพระวิหารเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของนักการเมืองขายชาติในระบอบทักษิณ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ปล่อยให้คนไม่ดีมาบริหารปกครองบ้านเมือง โอบอุ้มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมอันพาล โยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม ตัดตอนและลดทอนอำนาจในกระบวนการยุติธรรม และวางแผนเฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและพวกพ้องอย่างไร้ยางอาย ย่อมเป็นการพิสูจน์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำพาชาติไปสู่วิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
สำหรับอันตรายต่อสถาบันศาสนานั้น คณะผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญจงใจใช้วิธีสกปรกนำพุทธศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร้จริยธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกของศาสนิกชนของคนในชาติอย่างกว้างขวาง สำหรับอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น รัฐบาลและรัฐสภาชุดนี้ที่มีพรรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ มิได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นนับตั้งแต่เริ่มมีกระบวนการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง ที่มาในหลายรูปแบบ เช่น เว็บไซต์จำนวนมาก สื่อสิ่งพิมพ์ ซีดี แผ่นปลิว ฯลฯ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีในรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้ยังไปบรรยายและพูดจาในที่ต่างๆ ต่างกรรมต่างวาระทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นเนื้อหาจงใจแสดงทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การกระทำต่างๆ เหล่านี้มีมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว และหนักข้อ เหิมเกริมยิ่งขึ้นในช่วงรัฐบาลชุดนี้ โดยที่รัฐบาลไม่ใส่ใจทั้งสิ้น อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 175 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” การล้มล้างรัฐธรรมนูญอย่างฉ้อฉลครั้งนี้ได้สำเร็จเมื่อใด ก็ย่อมเป็นการพิสูจน์ว่าฝ่ายการเมืองได้แสดงแสนยานุภาพของระบอบเผด็จการรัฐสภาที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อใดก็ได้
สำหรับอันตรายต่อประชาชน นอกจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่คนไทยทั้งชาติต้องประสบกับปัญหาข้าวยากหมากแพงภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ จนทำให้เกิดการชุมนุมของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อยที่เดือดร้อนไปอย่างกว้างขวาง รัฐบาลหุ่นเชิดกลับดำเนินการล้มล้างแนวนโนยายพื้นฐานแห่งรัฐที่จะช่วยเหลือสร้างให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ ลบล้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกจากรัฐธรรมนูญ และลดอำนาจประชาชนในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง วิกฤตต่อสถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ดังที่ปรากฏข้างต้นนั้น เป็นเพราะรัฐบาลหุ่นเชิดมุ่งแต่จะหาทางล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดของตัวเองและพวกพ้องโดยไม่สนใจต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะกลับลำให้ประธานรัฐสภาชะลอการบรรจุวาระในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าจะดำเนินการขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆ ที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน สามารถสั่งให้ลูกพรรคพลังประชาชนถอนญัตติการล้มล้างรัฐธรรมนูญให้ออกกจากวาระการประชุมได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ แสดงให้เห็นว่านี่คือเล่ห์เพทุบายของฝ่ายบริหารที่ยังสมคบกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นพวกเดียวกันเล่นละครสองหน้าตบตาหลอกลวงประชาชน การล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 68 ที่กำหนดเอาไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า วิกฤตต่อสถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนการล้มล้างรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แล้ว จึงขอใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตลอดจนการดำเนินตามหน้าที่ของชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 69 และ 70 ทุกประการ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีมติดังต่อไปนี้
1. ให้จัด “ชุมนุมใหญ่” เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 15.00 น.
2. ดำเนินการถอดถอนนักการเมืองที่มีพฤติกรรมขัดกันแห่งผลประโยชน์ และอาศัยมาตรา 68 วรรคสองยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือยุบพรรคการเมืองดังกล่าว และมีมติใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 ในการรณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อใช้สิทธิร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อทุกคน ตามมาตรการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยประกาศเอาไว้แล้วในแถลงการณ์ ฉบับที่ 5/2551 ลงวันที่ 2 เมษายน 2551
3.ขอให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง พร้อมทั้งเตรียมสำเนาบัตรประชาชนเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรเครือข่าย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่รักชาติ รักประชาธิปไตย และรักประชาชนทุกท่าน ได้มาเข้าร่วมสืบสานภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนถึงที่สุด
ด้วยจิตคารวะ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
22 พฤษภาคม 2551
รายละเอียด “พันธมิตรฯ” แถลงจุดยืน ช่วงถาม-ตอบ
ถาม -(เสียงไม่ชัด)
สนธิ - เพราะว่าเราต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ เราต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เลยตัดสินใจเลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นสัญลักษณ์ที่ผมคิดว่าน่าที่จะมีความหมายและนัยที่ทำให้คนที่เข้ามาร่วมได้เข้าใจดี ถาม - ทำไมถึงเลือกวันที่ 25 สนธิ - ก็อาจจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ถาม - พันธมิตรฯ ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของกรณีที่ก่อนหน้านี้พันธมิตรฯ บอกว่าขอให้ประชาชนได้มีสิทธิมีเสียงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอให้มีการลงประชามติ เมื่อรัฐบาล...
สนธิ - ผมเข้าใจครับ ผมจะชี้แจงนิดหนึ่ง ผมไม่อยากให้สื่อมวลชนหลงประเด็น คือการขอให้มีประชามตินั้นแท้ที่จริงแล้วควรจะมีประชามติก่อนที่จะยื่นสภาฯ ถูกไหม แต่นี่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน และคุณสมัคร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กลับปล่อยให้ ส.ส.ตัวเองยื่นญัตติเข้าสภา คือการยื่นญัตติเข้าสภาตามกติกาแล้วจะต้องภายใน 15 วัน จะต้องพิจารณาทันที เดี๋ยวผมจะให้ท่าน พล.ต.จำลอง เพิ่มเติม แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมัคร ก็มาเล่นเล่ห์เพทุบาย สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายนิติบัญญัติ คือคุณชัย ชิดชอบ พูดง่ายๆ ว่าตัวเองก็ออกมาบอกว่าเดี๋ยวจะทำประชามติ คำถามก็คือว่าเมื่อคุณจะทำประชามติแล้วคุณยื่นทำไม เพราะถ้าคุณยื่นคุณต้องพิจารณาภายใน 15 วัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นเล่ห์เพทุบาย การอำพรางให้ประชาชนหลง เชิญ พล.ต.จำลอง ครับ
จำลอง - ที่คุณสนธิพูดไปก็ครบถ้วนแล้วนะครับ ยังมีเรื่องเพิ่มเติม เราเห็นได้ชัดว่าการที่จะบอกให้ท่านประธานชัย ชิดชอบ ชะลอการพิจารณาไว้ก่อนนั้น ทำไม่ได้ เพราะว่าขัดต่อ ที่จะต้องบรรจุวาระภายใน 15 วัน แล้วข้อที่น่าคิดมากที่สุดคืออะไร ในเมื่อจะบอกกับประธานสภา ซึ่งเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดในสภา ให้ทำตามที่ตัวเองต้องการ ทำไมไม่บอกลูกพรรคล่ะ บอกง่ายกว่าด้วย แล้วใช้เวลาไม่นานเท่าไร และไม่ขัดอะไรทั้งสิ้น การที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฝ่ายบริหาร จะไปสั่งประธานรัฐสภา ทำไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว คือการเป็นหัวหน้าพรรค และลูกพรรค เมื่ออาศัยความส่วนตัวแล้ว ทางที่ทำได้แน่นอนที่สุดก็คือบอกลูกพรรคให้ถอนญัตติ จบ
ถาม - พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้านายกฯ ตัดสินใจที่จะทำประชามติไปก่อนหน้านี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ใช่ไหม การตัดสินใจของท่านนายกฯ ช้าเกินไป หรือมองว่าจริงๆ แล้วเป็นแผน
สนธิ - เป็นแผน เป็นขบวนการสมรู้ร่วมคิดแล้วสร้างความสับสนให้ประชาชน อย่างที่ผมเรียนให้ทราบตั้งแต่ต้น ถ้ามีเจตนารมณ์ที่จะให้มีประชามติก็ต้องไม่ยื่น ต้องดำเนินการทำประชามติก่อน แต่จู่ๆ ก็ไปยื่น พอไปยื่นแล้วก็ต้องเข้าไปตามกระบวนการรัฐสภา ก็คือเมื่อยื่นแล้วภายใน 15 วัน ต้องพิจารณาทันที ขณะเดียวกัน นายกฯ เองก็กลับมาบอกว่าจะขอ ครม.ทำประชามติ
สมเกียรติ - ผมอยากยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบและให้ประชาชนมีส่วนร่วม และให้สัมภาษณ์ว่า ในปีที่ 4 เป็นรัฐบาลมา 4 ปี 3 เดือนสุดท้ายถึงจะแก้ หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีคนนี้ก็กลับลำว่าจะแก้ทันที และก็กล่าวหาประชาชนผู้คัดค้านว่าเป็นพวกดัดจริต ท่านทั้งหลายจำได้ไหมครับ แล้วมาวันนี้ วันนั้นตอนดัดจริตก็บอกว่าจะไม่ถามประชามติทั้งสิ้น จะไม่ถามประชามติ สิ้นเปลืองเงิน นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว คราวนี้กลับลำมาจะถามประชามติ แสดงว่านายกรัฐมนตรีโกหกจนกลายเป็นนายกฯ เลี้ยงแกะ เหมือน 6 ตุลา ตาย 1 คน แล้วก็บอกว่าสถาบันการเงินเจ๊ง 3-4 ครั้ง บอกว่าไม่พูด ครั้งนี้มาพูดอีกครั้งหนึ่งเรื่องประชามติ หลังจากว่าไม่ขอทำประชามติในครั้งนั้นและก็กล่าวหาประชาชนเป็นพวกดัดจริต เพราะฉะนั้นคำพูดของนายกฯ เลี้ยงแกะคนนี้เป็นการอำพรางตนเองเพื่อพิทักษ์และปกป้องระบอบทักษิณและพวกพ้องมากกว่า
สมศักดิ์ - ที่จริงประเด็นที่เขารีบแก้รัฐธรรมนูญก็คือต้องการที่จะไม่ให้ทักษิณและพวกพ้องเข้าสู่ระบบยุติธรรม เพราะว่าเขาต้องเร่ง เพราะว่าถ้าไม่เร่งกระบวนการยุติธรรมหรือศาลก็จะตัดสินไปเรื่อย ฉะนั้นต้องเร่งแก้ก่อน นี่คือปัญหาทั้งหมดทั้งปวงนะครับ ฉะนั้นเราจึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิที่จะมาแก้ในช่วงนี้นะครับ นี่คือเป็นเล่ห์เหลี่ยมของเขาที่เขาต้องการจะให้แก้รัฐธรรมนูญก่อนที่กระบวนการยุติธรรมหรือศาลจะมีคำพิพากษาคดีการทุจริตทรัพย์สินของประเทศชาติและประชาชนร่วมกันทุกคน นี่คือเป้าหมายใหญ่ของเขา ถาม - กังวลไหมที่จะมีการมองว่าพันธมิตรฯ เองคือกลุ่มที่ไม่ยอมที่จะจบ หรือไม่ยอมที่จะยุติความแตกแยกในสังคม จำลอง - ที่จริงถ้าติดตามเรามาโดยตลอดคงจะเห็นนะครับว่า เรายืนยันว่าเราทำตามสถานการณ์ เราไม่ได้ตั้งใจว่าตรงนั้นจะทำอย่างนี้ เมื่อนี้จะทำอย่างนั้น ไม่มี เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราไม่มีทางเลี่ยงได้ เราไม่ใช่ตัวป่วนนะครับ ต้องพิจารณาดูให้ดีว่าใครเป็นคนป่วนกันแน่ เราอยู่เฉยๆ นะครับ เราอยู่ดีๆ ก็มาแก้รัฐธรรมนูญชนิดที่จะทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างมาก เราไม่มีทางเลี่ยงจริงๆ ผมถามสื่อมวลชนหน่อยว่ามีทางเลี่ยงอื่นไหม ที่ดีกว่านี้ บอกมาเลยครับ เราจะทำทันที เพราะการชุมนุมไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์นะครับ แล้วเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองหรือหมู่คณะ เราทำเพื่อสังคมส่วนรวมโดยแท้ ไม่มีอะไรแอบแฝงทั้งสิ้น ช่วยบอกมาหน่อยครับว่ามีอะไรดีกว่านี้ไหม ถ้าดีเราทำทันทีครับ
สนธิ - ขอเพิ่มเติมคำถามเมื่อกี้นิดนะครับ คือมันมีประเด็นที่หลายฝ่ายจะไม่เข้าใจ คือคำพูดที่บอกว่าทำไมพันธมิตรฯ ไม่รู้จักพอเสียที บ้านเมืองวุ่นวายมากแล้ว คำพูดนี้พูดจากคนที่ผมคิดว่าผมเห็นใจ เพราะว่าข้อมูลเขาไม่ครบถ้วน คำถามว่าพอ พอในลักษณะไหน ลักษณะที่พร้อมจะให้สังคมเดินไปในทางที่ผิด ทำคนผิดให้เป็นคนถูก แก้ของผิดให้เป็นถูกโดยการแก้กฎหมาย และในขณะเดียวกันทำทุกอย่างตามใจชอบ คำถามมีอยู่ว่าสังคมไทยต้องการเช่นนั้นหรือเปล่า ถ้าสังคมไทยต้องการเช่นนั้นก็เชิญตามสบาย ไม่ว่ากัน ถ้าอย่างนั้นจากนี้ไป ใครทำผิดก็สามารถแก้กฎหมายได้ นั่นข้อแรก ข้อที่ 2 ถ้าพี่น้องสื่อมวลชนยังจำได้ จุดยืนของเราตั้งแต่ต้น แรกสุด เรายืนยันว่าคุณทักษิณควรจะเข้าสู่ระบอบ กระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส ให้คุณทักษิณขึ้นไปโต้กระแสทวน หรือว่าสู้กันในระบอบยุติธรรม ข้อที่ 1 โดยที่ไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม 2 ไม่มีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม แต่ตั้งแต่ต้นแล้ว กระบวนการของพรรคพลังประชาชน ซึ่ง ณ วันนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยพฤตินัยแล้ว ทุกคนในสังคมยอมรับว่าเป็นพรรคไทยรักไทยเก่า และคุณทักษิณท่านก็อยู่ข้างหลัง ทั้งหมด ซึ่งจากตอนแรกที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง ถูกบิดเบือน เข้าถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นแล้วผมคิดว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชน ที่ตามเรา มีจุดยืนที่มั่นคง คือเรายืนอยู่บนหลักจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม ผมคิดว่าสังคมไทยถ้าไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม แล้วเราจะอยู่ไปทำไมล่ะครับสังคมไทย ถ้าอย่างนั้นเราทุกคนก็เป็นโจรกันหมดไม่ดีกว่าเหรอ เพราะฉะนั้นแล้วเราไม่ได้ขึ้นมาปกป้องอะไรทั้งสิ้น แต่เรากำลังบอกว่าเรากำลังทำสิ่งที่สังคมไทยควรจะเป็น เพราะฉะนั้นแล้วใครก็ตามมาบอกว่าเราวุ่นวาย ผมอยากให้คนที่พูดกลับไปทบทวนว่าต้องการสังคมแบบไหน ถ้าอย่างนั้นก็เชิญตามสบายเลยครับ
จำลอง - คำถามเมื่อกี้เป็นคำถามที่ดีนะครับ ว่าทำไมจึงต้องชุมนุม เรื่องนี้ดูให้ดีนะครับ เราทำหน้าที่ของเรา อยู่ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว หน้าที่นี้คือ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราทำหน้าที่ของเรานะครับ นี่คือมาตรา 70 ตรงเป๊ะเลยครับ เมื่อเรามีหน้าที่แล้วเราไม่ทำสิครับ เราละทิ้งบ้านเมืองเรา อย่างที่คุณสนธิว่า เราจะปล่อยให้บ้านเมืองเราถูกปู้ยี่ปู้ยำยังไงก็ได้ แล้วเราไม่ได้ทำหน้าที่ของเรา แล้วเราจะเกิดมาทำไมครับ ถาม - การชุมนุมวันที่ 25 นี้ เป็นการเร่งรีบเกินไปไหมครับ เพราะว่าไม่รอให้เข้าสู่การบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประธานรัฐสภาก่อน
สนธิ - อุปมาอุปไมยเหมือนโจรบุกเข้ามาในบ้านเราครับ ข้ามเข้ารั้วแล้ว สะเดาะกุญแจประตูบ้านเข้ามาแล้ว เราจะรอให้เขาขโมยของก่อนที่เราจะโวยวายหรืออย่างไร กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา การยื่นญัตติเข้าไปนั้นก็เป็นการส่อเจตนาชัดเจนแล้วว่าต้องการแก้นะครับ
พิภพ - ขอเพิ่มเติมสัก 2-3 ประเด็นนะครับ ซึ่งสื่อมวลชนจะต้องช่วยอธิบายเรื่องนี้ เพราะครั้งนี้เป็นเล่ห์เพทุบายที่ซับซ้อนมาก พอสมาชิกพรรคพลังประชาชนไปยื่น ประธานรัฐสภารับ มันจะเข้ากระบวนการการแก้ไขไปทันทีเลย มันหยุดไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นการที่คุณสมัคร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายบริหาร จะไปสั่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนี่ทำไม่ได้นะครับ เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญจะต้องแยกอำนาจกัน นี่ประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นที่ 2 การที่นายกรัฐมนตรีมาบอกว่าจะให้มีการลงประชามติ อันนี้ขั้นตอนผิดแล้วครับ เพราะขณะที่จะทำการประชามติ ซึ่งทำหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินต่อไปโดยไม่สามารถจะหยุดได้ เพราะฉะนั้นถามว่าประชามติที่จะทำ มันไม่สามารถไปหยุดยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้นคุณสมัคร แทนที่จะทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชาชน สั่งลูกพรรคให้ถอนเรื่องจากการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไม่ทำในอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่ได้ แต่กลับจะไปเสนอ ครม.ตามมาตรา 165 เพื่อลงประชามติ นี่ไม่สามารถจะไปหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 2. ในมาตรา 165 ถ้าจะทำประชามติต้องใช้เวลาในการที่จะให้ประชาชนที่จะออกเสียง รับฟังความเห็นทั้งสองด้าน ความเข้าใจในประเด็นที่จะทำประชามติ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเล่ห์เพทุบายครั้งนี้ซับซ้อนมาก แล้วจะมากล่าวหาว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อเรื่อง ไม่ใช่นะ เพราะเราพูดไว้แต่ต้นแล้วว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องต่างๆ เมื่อไร โดยเฉพาะประเด็นที่ซ่อนอยู่ ก็คือการนำตัวคุณทักษิณออกจากกระบวนการยุติธรรม เราจะจัดชุมนุมใหญ่ แต่รัฐบาลพยายามจะแก้เกมเพื่อไม่ให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุม โดยไปเสนอเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นไปไม่ได้ คือการลงประชามติ ขณะที่ควรจะบอกว่า เมื่อตัวเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคม ให้สั่งในฐานะหัวหน้าพรรค ให้ลูกพรรคถอน ง่ายกว่า และดีกว่า แต่ทำไมไม่ทำ ไม่ทำเพื่อที่จะสร้างความสับสนในสังคมให้เกิดขึ้น ในระหว่างเรื่องประชามติกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไป แล้วยิ่งอ่านเนื้อหาสาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขายื่น ผมคิดว่าหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวิเคราะห์ให้ประชาชนเห็นว่าเนื้อหาสาระนี่นำไปสู่อะไร เหมือนกับแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ
ถาม - รูปแบบการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือยืดเยื้อ
สมศักดิ์ - การชุมนุมวันที่ 25 ในรายละเอียดจะดำเนินการอย่างไรนั้น เราก็ขึ้นอยู่กับที่ชุมนุมวันนั้นที่จะพูดคุยกันว่าขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการอย่างไร เพราะว่าเราต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะว่าเราใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ถาม - เป็นลักษณะการชุมนุมแบบยืดเยื้อไหม หรือเป็นครั้งๆ ไป
สมศักดิ์ - ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมวันนั้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็ต้องฟังเสียงพี่น้องที่มาร่วมในวันนั้นด้วย
ถาม - จะมีการป้องกันกลุ่มที่มาก่อกวนอย่างไร สมศักดิ์ - ก็คิดว่าเป็นเรื่องของทางตำรวจ แต่ภายในเราก็ต้องมีบ้าง แต่จริงๆ แล้วตำรวจต้องรักษาความปลอดภัย จำลอง - อย่างที่คุณสมศักดิ์พูดนะครับ การป้องกัน ตำรวจเขากินเงินเดือนเรื่องนี้โดยเฉพาะนะครับ เขามีหน้าที่โดยตรง เขามีอาวุธ เขามีอำนาจ มีบทบาทตามหน้าที่ คนอื่นไม่มีหน้าที่เหมือนอย่างเขาหรอกครับ ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายก็หยุดเสีย ก็อย่ามาทำอะไรที่ทำให้มันเกิดความวุ่นวาย เพราะเราเดินอย่างสงบ อย่างสันติ ไม่มีปัญหาอะไร คราวที่แล้วก็ทำมาแล้วนับรวมกันแล้วเป็นเวลาปีกว่าๆ ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะตำรวจทำงานอย่างเต็มที่ อีกประการหนึ่ง ไม่มีใครมาสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น
ถาม - คาดหวังว่าผู้ที่มาร่วมชุมนุมจะมีปริมาณเท่าเดิมเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาไหม
สมศักดิ์ - ก็ต้องดูวันนั้นครับ เพราะว่าทุกอย่างก็เป็นไปโดยความสมัครใจ เราไม่ได้ไปกะเกณฑ์อะไรมา จะมากหรือน้อยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าพี่น้องประชาชนมองว่าการชุมนุมครั้งนี้เราได้ทำหน้าที่ของพลเมืองดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของชาติบ้านเมือง ก็คิดว่าคนก็คงจะไม่น้อย
ถาม - จะมีการเคลื่อนขบวน สมศักดิ์ - ขึ้นอยู่กับที่ประชุมวันนั้นอีกที เพราะว่าเวลาจะไปไหนมาไหนต้องฟังเสียงคนว่าอะไรเป็นอย่างไร
สนธิ - คือ ภาคประชาชนที่มาร่วมกับเราตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นภาคประชาชนที่มาด้วยจิตใจ ที่เต็มใจที่จะมา ต่างกับภาคประชาชนอีกภาคหนึ่งซึ่งปัจจุบันนี้ผมทราบมาว่ามีการเตรียมรถตู้ไว้ 3,000 คันนะครับ โดยที่รถตู้คันหนึ่งต้องนั่งให้ได้อย่างน้อย 15 คน และคนหนึ่งก็ 1,500 บาท ตอนนี้รับก่อน เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็จะได้เพิ่มอีก 1,500 เป็น 3,000 บาท อันนี้ยืนยันได้นะครับ ใครเป็นคนเตรียมก็ไปถามคนที่ไปทุบปราสาทพนมรุ้งดูก็แล้วกันครับ
ถาม - มีการประสานกับทางตำรวจไว้ก่อนไหมว่าเราจะมีการชุมนุมกันในวันที่ 25
จำลอง - เรื่องนี้แน่นอนครับ ทางเราจะต้องติดต่อกับตำรวจไว้ เหมือนอย่างที่เราเคยทำมา ถ้าตำรวจเขาทำอย่างเต็มที่ แล้วพวกนั้นเขาไม่มาก่อความวุ่นวาย ก่อความปั่นป่วน มันก็เรียบร้อยเหมือนเดิมทุกประการ เราไม่มีทางอื่นที่มันดีกว่านี้ อย่างที่ผมบอกแล้วไงครับ
ถาม - มีแผนสำรองไหม ถ้าเกิดเขาไม่อนุญาตให้ใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เราจะไปใช้ที่อื่นอย่างไร มีแผนสำรองไว้ไหม
จำลอง - เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่สามารถที่จะชุมนุมได้อย่างสงบ ก็คราวที่แล้วไงครับ ที่ประชุมกันมาตั้งหลายที อันนี้ไม่ได้เป็นปัญหานะครับ
ถาม - ดูไปถึงการปิดการจราจรด้วยไหม เพราะตรงนั้นเป็นเส้นทางจราจรที่ค่อนข้างจะหนาแน่น
จำลอง - ก็เราเลือกเอาวันอาทิตย์ไงครับ
ถาม - แล้วไม่ทราบว่าเครือข่ายต่างจังหวัดอย่างพันธมิตรฯ ในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะมีการเคลื่อนไหวกับเราด้วยไหม
ไชยวัฒน์ - ต่างจังหวัดจะมีแกนพันธมิตรฯ อยู่แต่ผมต้องคุยกับแกนสมัชชาประชาชนฯ ให้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้อย่างเต็มที่
พิภพ - ผมไปต่างจังหวัดมา ทุกคนพร้อม แล้วยิ่งเห็นเล่ห์เพทุบายของรัฐบาลครั้งนี้ที่เริ่มต้นบอกว่ารัฐบาลจะไม่เป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกให้สภาฯ นั่นคือยกให้สมาชิกพรรคพลังประชาชน ผมคิดว่าเลห์เพทุบาย และปัญหาข้าวยากมากแพง ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงได้ ผมคิดว่าจะเป็นตัวให้ประชาชนต้องแสดงต่อสาธารณะอย่างสงบและสันติ เพราะฉะนั้นจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญใดๆ ไม่ขัดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ว่า ประชาชนสามารถแสดงมติและความคิดเห็นในที่สาธารณะได้อย่างสงบและสันติ และเราได้พิสูจน์มาแล้วว่า ประชาชนที่มาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ามาร่วมชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นต่างตั้งมั่นที่จะชุมนุมอย่างสันติและสงบ จนพาลูกหลานมาร่วมด้วยได้ การที่พาเด็กมาแสดงว่าเขาเชื่อมั่นว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ จะเต็มไปด้วยความสงบและสันติ และดูแลความปลอดภัย หน้าที่สำคัญคือรัฐบาล รัฐบาลอย่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรง นี่หน้าที่ของรัฐบาล และรัฐบาลจะต้องป้องกัน
ถาม - พันธมิตรฯ มองอย่างไรกับ 2 พันล้านบาทที่ต้องเสียไปกับการทำประชามติ
พิภพ - คนละประเด็นแล้วนะครับ เมื่อกี้อธิบายไปแล้วนะครับ ว่าประชามติที่มาเริ่มโดย ส.ส.พรรคพลังประชาชนไปยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่แล้ว ถ้าเขาจะทำประชามติ รัฐบาลต้องบอกว่า วันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะรับเป็นเจ้าภาพ ถ้าจริงใจจะทำประชามติ สอบถามก่อนว่าควรจะแก้ไม่แก้อย่างที่พันธมิตรฯ อ้าง แต่เขาไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ รัฐบาลบอกว่า ไม่รับเป็นเจ้าภาพ และ 2. ประชามติไม่มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าในกระบวนการของรัฐสภาแล้ว ไม่มีผลเลย ไม่ว่าประชามติจะเห็นออกมาไม่ควรแก้ แต่กระบวนการแก้ไปแล้ว ต้องทำ ต้องยุติการที่สั่งให้ ส.ส.ทั้งหมดให้ถอนชื่อ
จำลอง -อย่าหลงประเด็นนะครับ สำหรับกรณีนี้การทำประชามติอย่างที่พวกเราบอกต้องใช้เวลา ทำได้ต้องใช้เวลา เพราะจะต้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแสดงประชามติ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลหรือสภาฯ จะทำจริงต้องเร่งออกอันนี้ออกมา ซึ่งไม่นานเท่าไหร่ ออกมาแล้วต้องทำตามขั้นตอนที่คุณสนธิว่า กว่าจะมาถึงขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำมาแล้ว แต่นี่ไม่ได้ทำ
สนธิ - ถ้าคุณจำคำพูดของท่านนายกฯ สมัครได้เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา ท่านบอกว่า ยอมเสียเงิน 2 พันล้านตัดความรำคาญใจ เมื่อนายกฯ สมัคร มีทัศนคติที่มีต่อกรณีประชามติเพื่อตัดความรำคาญใจ ผมคิดว่าประเทศนี้มันไม่มีที่พึ่งแล้ว แต่ประเด็นประชามติอย่าไปหลงนะครับ เพราะประชามติ ประเด็นที่ตั้งมาเป็นประเด็นของเล่ห์อำพราง เพราะว่าถ้าต้องการทำประชามติจริงต้องไม่ยื่นญัตติ ต้องเริ่มที่ประชามติก่อน เมื่อคุณยื่นญัตติแล้วคุณไปทำประชามติไม่มีประโยชน์แล้วเพราะกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมันเดินหน้าต่อไปเรียบร้อยแล้ว
สมเกียรติ - ผมอยากเรียนสื่อมวลชนที่ถามเรื่องประชามติ สื่อควรจะวิเคราะห์คำพูดของนายกฯ สมัคร ช่วงวันที่ 20, 21,22 มีนาคม ไม่ยินยอมทำประชามติ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง พอเดือนพฤษภาคมบอกว่า จะทำประชามติเพื่อตัดความรำคาญ สื่อต้องไปทบทวนสมองของนายกรัฐมนตรีคนนี้ แล้วการที่เขาเปลี่ยนแบบนี้สะท้อนให้เห็นเลห์อำพรางของการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเดินหน้าต่อไป แล้วอันที่ 2 สื่อถามหลายท่านว่า จะไม่เร็วเกินไปหรือที่มีการชุมนุมในวันอาทิตย์นี้ ขอเรียนว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เตือนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ก.พ., มี.ค., เม.ย., พ.ค. 3 เดือนเร็วเกินไปไหมครับ 90 วัน ถามสื่อกลับด้วย สื่อมีข้อมูลไหม
ถาม - ประชา ประสพดี ยืนยันจัดเวทีคู่ขนาน
สมศักดิ์ - การจัดเวทีของเขาก็จัดไปไม่มาเกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่ถ้าเขาทำอะไรผิดกฎหมาย ตำรวจต้องรับผิดชอบ
ถาม - ตรงนั้นเป็นพื้นที่เปิดขนาดพื้นที่ปิดอย่างธรรมศาสตร์
จำลอง - เรื่องนี้ต้องไปถามเขา ไม่ใช่มาถามเรา เพราะเราบอกแล้วว่าเราจะทำอย่างนี้ ต้องดูซิครับว่า ใครเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน ไม่ใช่เรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น