หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรียนอย่างไรให้ได้ A


วันนี้ (30 พ.ย.2551) ผมได้เรียนวิชาการวัดและประเมินคุณภาพ กับ ดร.สมชัย ชินะตระกูล ที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ในระหว่างการสอนช่วงหนึ่ง อาจารย์ได้เล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับ “เรียนอย่างไรให้ได้ A” ซึ่งท่านมักจะสอนและแนะนำแก่นักศึกษาเสมอตั้งแต่การเข้าเรียนชั่วโมงแรก เคล็ดลับนี้ท่านเคยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในคอลัมน์การศึกษามาแล้ว ท่านเล่าให้ฟังว่า เคล็ดลับการเรียนอย่างไรให้ได้ A มีง่ายๆ 5 ประการ ซึ่งผมได้พยายามเรียบเรียงจากการเล่าของท่าน แล้วมาเขียนเพิ่มเติมตามความเข้าใจของตัวเอง ดังนี้
  1. เข้าเรียนทุกครั้ง การเข้าเรียนทุกครั้งจะทำให้เราสามารถติดตามบทเรียนได้ครบถ้วน ได้ฟัง ได้คิด ได้ยิน ได้จด ถึงแม้จะเข้าใจบ้างหรือไม่เข้าใจบ้าง ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างเข้าไปเก็บไว้ในส่วนของความทรงจำได้
  2. เรียนอย่างเข้าใจ ในระหว่างการเรียนขอให้เรียนให้เข้าใจ หากไม่เข้าใจให้ถามครูอาจารย์ที่สอน หากไม่เข้าใจอีกอาจต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม อ่านหนังสือประกอบ ในเรื่องนั้นๆ และบางครั้งการเรียน การติวไปพร้อมกับเพื่อนๆ หรือการเรียนเป็นกลุ่มกับเพื่อน จะก่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นได้
  3. ทำงานอย่างน้อยเท่าที่อาจารย์สั่ง เมื่ออาจารย์หรือครูผู้สอนสั่งให้ทำงานหรือมอบหมายการบ้านให้ทำ นั้นแหละคือ การมอบหมายให้เราฝึกฝนเพื่อเตรียมที่จะสอบในวิชานั้นๆ เพราะฉะนั้น ต้องทำงานหรือการบ้านที่อาจารย์สั่งอย่าขาดตกบกพร่อง อย่างน้อยก็เท่าที่ครูหรืออาจารย์สั่ง ถ้าทำได้มากกว่ายิ่งดี เช่น ครูให้ทำแบบฝึกหัด 3 ข้อ แต่เราฝึกทำเพิ่มเองอีก 2 ข้อก็ได้
  4. อ่านทบทวนเสมอ เมื่อมีเวลาว่างหมั่นอ่านทบทวนหนังสือ หรือบันทึกที่เราจดไว้เสมอ ระหว่างการอ่านไม่ควรดูโทรทัศน์หรือดูละครควบคู่ไปเพราะจะทำให้เสียสมาธิ แต่อาจจะฟังเพลงเบาๆ ได้ หลังจากอ่านทบทวนจบในแต่ละเรื่องควรปิดหนังสือ แล้วลองเขียนทบทวนสิ่งที่เราจำได้ลงในกระดาษ
  5. ก่อนสอบอ่านหนังสือทบทวนทั้งหมดอย่างน้อย 3 รอบ การอ่านทบทวนนี้สามารถอ่านแบบผ่านได้ ที่ต้องให้ครบอย่างน้อย 3 รอบ เพราะจะทำให้เกิดภาพและความทรงจำในสมอง แต่ถ้าให้ดี อ่านทบทวนครบ 5 รอบจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด
ในสูตรการเรียนอย่างไรให้ได้ A ทั้ง 5 ประการนี้ อาจารย์บอกว่าบุตรของตนเองและนักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์หลายคนได้นำไปใช้แล้วได้ผลจริง แม้ว่าบางวิชาจะไม่ได้ A อาจจะเป็น B หรือ B+ ไปบ้างก็ตาม แต่ผลการเรียนเฉลี่ยก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ใครที่อ่านแล้ว ดูน่าจะเป็นวิธีง่ายๆ แต่พอนำไปปฏิบัติจริงคงจะไม่ง่ายเท่าใดนัก หากไม่ควบคุมตัวเองให้ดี ลองทำดูนะครับ

*****************************

ได้รับการเผยแพร่ต่อใน Unigang.com (http://unigang.com/Article/7152)







1 ความคิดเห็น: