หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ย่านยี่สกปลาดี คำขวัญราชบุรีที่กำลังถูกลบทิ้ง

“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี คำขวัญจังหวัดราชบุรีนี้เริ่มใช้เมื่อจังหวัดราชบุรีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี พ.ศ. ๒๕๓๒
ด้านความหมายของคำขวัญที่ว่า "ย่านยี่สกปลาดี" นั้น มีที่มาจากการที่ลำน้ำแม่กลองช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดราชบุรีเป็นที่อยู่อาศัยของปลายี่สกซึ่งเป็นปลาที่มีเนื้ออร่อยและหายาก ตลอดจนมีราคาแพงกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ ของประเทศไทย
บทความจาก เกษตรแผ่นดินทอง ในรักบ้านเกิด.คอม กล่าวถึง ปลายี่สก ว่า "เป็นปลาที่วางไข่ในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ปลาเพศผู้มีน้ำเชื้อดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ระยะที่ปลาวางไข่มากที่สุด คือ ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ในต้นฤดูจะวางไข่ ปลาจะว่ายขึ้นเหนือน้ำไปยังแหล่งวางไข่ในลักษณะคู่ใครคู่มัน เมื่อถึงแหล่งว่างไข่ จะรวมกันอยู่เป็นฝูงจับเป็นคู่ๆ พอพลบค่ำก็ว่ายออกไปวางไข่กลางแม่น้ำ ปลายี่สกมักจะวางไข่ในวันพระขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างกะทันหัน เช่น ฝนตกหนัก หรือระดับน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะเลื่อนการวางไข่ต่อไปอีก
ก่อนที่ปลาจะวางไข่ ชาวประมงมักจะจับปลาสร้อยได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งปลาเทโพและปลากินเนื้อบางชนิด เข้าใจว่าปลาสร้อยจะคอยกินไข่ปลายี่สก และปลาเทโพจะกินปลาสร้อยอีกต่อหนึ่ง เข้าลักษณะสมดุลกันตามหลักธรรมชาติ
ไข่ปลายี่สกเป็นไข่ครึ่งจมครึ่งลอย จะฟักออกเป็นตัวในเวลาประมาณ 70 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 21.5-24.0 องศาเซลเซียส ไข่มีสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร เมื่อถูกน้ำจะพองออกเป็น 3 มิลลิเมตร ลูกปลาที่ฟักเป็นตัวใหม่ๆ มีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร
การหาพันธุ์ปลายี่สกเพื่อเลี้ยง อาจหาลูกปลาได้จาก 2 ทาง คือ
1.จากแหล่งน้ำธรรมชาติ
2.ซื้อพันธุ์ปลาจากหน่วยราชการของกรมประมงซึ่งได้จากการผสมเทียมปีหนึ่งๆหลายล้านตัว

การผสมเทียมปลายี่สก
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคาย ประสบผลสำเร็จการผสมเทียมปลายี่สกไทย เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติที่รวบรวมจากแม่น้ำโขง และเมื่อเดือนมกราคม 2533 สถานีฯ สามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยที่เลี้ยงในบ่อดินมาทำการเพาะพันธุ์ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยแม่พันธุ์ขนาด 7.4 กิโลกรัม ซึ่งมีความสมบูรณ์เพศและฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ (suprefact) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (motilium) บริเวณที่ฉีดฮอร์โมนคือ ทางช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ขนาด 5.0 กิโลกรัม มีเชื้อดี ไม่ต้องฉีดฮอร์โมนการผสมไข่กับน้ำเชื้อ
การผสมไข่กับน้ำเชื้อ
ใช้วิธีผสมแห้ง เนื่องจาก ไข่ปลายี่สกไทยเปลือกไข่มีสารเหนียวจะทำให้ไข่ติดกัน เป็นก้อน ต้องล้างไข่ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง"
จากบทความที่กล่าวมาสอดคล้องกับคำบอกเล่าจาก พ่อแม่ปู่ย่าตายายของผู้เขียน ที่ว่า สมัยก่อน ปลายี่สกจะไปว่ายขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำแม่กลอง คือ ต้นแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย เมื่อเริ่มเป็นตัวแล้ว ก็หากินล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง พอถึง จ.ราชบุรี ก็เติบโตเป็นวัยที่เจริญพันธ์พอดี เหมาะที่จะเป็นอาหาร เนื้อก็อร่อย ปลายี่สกที่จับได้จากแม่น้ำแม่กลองจึงมีชื่อเสียงมาก จนกระทั่งนำมาตั้งชื่อเป็นคำขวัญของจังหวัดว่า "ย่านยี่สกปลาดี"
แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างเขื่อนต่างๆ บริเวณต้นลำน้ำแม่กลองหลายเขื่อน จึงทำให้ระบบนิเวศน์ของปลายี่สกเปลี่ยนไป ไม่สามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ได้ แต่ก็ยังคงมีให้จับอยู่บ้างไม่มากนัก
ปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีของศาสตร์การประมง สามารถจัดการผสมเทียมปลายี่สกได้แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะสูญพันธ์ หลังจากปล่อยสู่แหล่งน้ำแล้ว กลับพบกับธรรมชาติที่เปลี่ยนไป เมื่อโตขึ้นจับมาทำเป็นอาหาร ก็ไม่แน่ใจว่าจะอร่อย เหมือนกับปลายี่สกที่เกิดตามธรรมชาติหรือไม่
วันนี้ เด็กนักเรียนของพวกเรา ตั้งแต่อนุบาล ล้วนแล้วแต่ท่องคำขวัญจังหวัดราชบุรี ได้ทุกคน แต่พอถึงคำสุดท้ายว่า "ย่านยี่สกปลาดี" เด็กเด็กกลับไม่เคยเห็นปลายี่สกตัวจริงจริงเลย ว่า หน้าตามันเป็นอย่างไร รู้จักแต่ปลาช่อน ปลาดุก ที่วางขายอยู่ตามตลาด ยิ่งเขาเล่ากันว่า ปลายี่สกนำมาทำเป็นอาหารอร่อยมาก...ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะราคามันคงแพงมาก...
ดังนั้น เป็นไปได้ไหม ที่เราจะค้นหาวิธีการเลี้ยงปลายี่สกในฟาร์ม เพราะพันธ์จนเติบโตกลายเป็นปลาเศรษฐกิจ (เหมือนกับปลาช่อน ปลาดุก ฯลฯ ที่วางขายในตลาดทั่วไป) แล้วจำหน่ายให้ร้านอาหาร และภัตตาคาร นำไปประกอบอาหาร
หากทำอย่างนี้ได้ คนราชบุรีอย่างเรา รวมทั้งแขกบ้านแขกเมือง นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนราชบุรี ก็จะได้ลองลิ้มชิมรสของปลายี่สกในรูปแบบเมนูต่างๆ ได้ในราคาที่ไม่แพงนัก...สมกับคำว่า "ย่านยี่สกปลาดี" มาราชบุรีต้องเมนูปลายี่สกเท่านั้น (เหมือนหลายๆ จังหวัดที่เขามีเมนูปลาของเขาเอง)
แต่หากสถานการณ์เกี่ยวกับปลายี่สกยังคงเป็นอยู่เช่นปัจจุบัน วันหนึ่งคำว่า "ย่านยี่สกปลาดี" ก็คงต้องถูกลบทิ้งจากคำขวัญของ จ.ราชบุรี อย่างแน่นอน...
อ้างอิง
-เกษตรแผ่นดินทอง. (2552). ฤดูวางไข่และแหล่งวางไข่ของปลายี่สก. [ Online]. Available:
http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=313&s=tblanimal. [2552, ธันวาคม 6].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น