หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ครั้งแรกที่เข้าร่วมหล่อพระฯ


เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2553 มีญาติมาบอกว่า วันนี้มีพิธีเททองหล่อพระใหญ่ ชื่อ "พระพุทธศรีสุวรรณภูมิ"  ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี  ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เวลาประมาณ 15:09 น. ซึ่งผมไม่เคยร่วมพิธีหล่อพระเลย จึงตัดสินใจพาครอบครัวไปร่วมเป็นครั้งแรก

เมื่อไปถึงวัด มีผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธามาร่วมพิธีในครั้งนี้กันจำนวนมาก   ผมและครอบครัวทำบุญ 500 บาท แล้วเขียนข้อความอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ และบรรพบุรษที่ล่วงลับไปแล้ว ลงในทองแท่ง และเขียนชื่อ-สกุล  วันเกิดตนเอง ลงในแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม  จากนั้น นำไปใส่ในจานและธูปเทียนดอกไม้ ที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ พร้อมใส่เงินค่าครูจำนวน 108 บาทลงไปในจาน (จริงๆ แล้วจำนวนเงินให้เป็นไปตามวันเกิดแต่ผมจำไม่ได้ และพระที่เป็นพิธีกรก็แนะว่า หากโยมจำไม่ได้ก็ใสไป 108 บาทเลย) ต่อจากนั้นถือจานเข้าไปนั่งเก้าอี้ในเต็นท์ที่สร้างเป็นปะรำพิธี มีเชือกสายสิญจน์ ขึงเป็นตารางสี่เหลี่ยมบริเวณด้านบนเพดานเต็นท์  และมีเชือกสายสิญจน์โยงลงมาเป็นเส้นๆ ตามเก้าอี้นั่ง เชือกสายสิญจน์ นี้ผูกเชื่อมโยงมาจากองค์พระที่จะหล่อ ล้อมรอบบริเวณพิธีหล่อ  บริเวณพิธีสงฆ์  และแท่นบูชาพระเคราะห์ของพิธีพราหมณ์   และตลอดการกระทำพิธี  ให้ทุกคนเอาสายสิญจน์มาพันรอบศีรษะเอาไว้ ห้ามเอาออก  พิธีนี้เรียกว่า "พิธีสวดนพเคราะห์"  ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั้วโมง

ผมลองเข้าไปค้นหาจากอินเตอร์เน็ต ได้พบว่า พิธีนพเคราะห์นั้น เป็นพิธีเสริมดวงชะตาด้วยการบูชาเทวดาซึ่งเข้ามาเสวยอายุ เทวดาแต่ละวันย่อมให้คุณให้โทษต่างกันตามวาระแห่งกำลังที่เสวยอายุตามกำลังแห่งวัน เดือน ปี ที่พระเคราะห์เข้านั้นให้คุณกับเจ้าชะตา ก็จะมีความเจริญ มีลาภ มียศ มีสุข มีสรรเสริญ ปราศจากศัตรูและโรคภัยเบียดเบียน ถ้าพระเคราะห์ใดเข้ามาเสวยอายุแล้วให้โทษ ก็จะมีแต่ทุกข์ร้อน เสียทรัพย์สินเงินทองต่างๆ นานา  ดังนั้น โบราณจารย์ท่านจึงให้บูชา "พระเคราะห์" เพื่อบำบัดความชั่วร้ายและส่งเสริมเจ้าชะตาให้ดีขึ้น เสมือนผ่อนหนักให้เป็นเบา ท่านที่ดีอยู่แล้ว ก็ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ในสมัยโบราณนิยมทำกันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น โดยเริ่มกำเนิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ซึ่งพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางโหราศาสตร์และดาราศาสตร์อีกด้วย พระองค์ท่านนำพิธีระหว่างพุทธและพราหมณ์มาผสมผสานกัน หมายถึง ต้องมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และมีโหรอ่านโองการบวงสรวงเทพยดาประจำวันเกิด สลับกันไปซึ่งเป็นการยุ่งยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เนื่องด้วยต้องมีสถานที่ เครื่องสังเวย บัตรพลีให้ถูกต้องตามตำราด้วย

ในขั้นตอนพิธี จะต้องมีตัวแทนผู้ที่เข้าร่วมพิธี ที่เกิดในวันนั้นๆ ไปจุดเทียนและธูปบูชาเทวดาประจำในแต่ละวันด้วย เริ่มต้นจากวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัส พุธกลางคืน และศุกร์ ผมเองเผอิญได้เป็นตัวแทนผู้เข้าร่วมพิธีที่เกิดวันศุกร์ ไปจุดเทียนธูปสีฟ้า (แต่ละวันจะมีสีของเทียนและธูปตามสีของวันนั้นๆ) สุดท้ายเจ้าภาพ ก็คือเจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรรณคิรีจะเป็นผู้จุดเทียนธูปบูชาพระเกตุ เรื่องชื่อเทวดาและพระต่างๆ นั้นผมก็จำไม่ค่อยได้นัก ท่านผู้อ่านคงต้องไปศึกษาเอาเอง 

หลังจากจบพิธีสวดนพเคราะห์แล้วก็เป็นพิธีการหล่อพระ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารับทองแท่งและแผ่นทองคำสี่เหลี่ยมนำไปใส่ในเบ้าหลอมเพื่อเทองค์พระ  เงินค่าครูก็จะรวบรวมใส่บาตรเพื่อทำบุญให้วัดเป็นส่วนรวม สำหรับดอกไม้ธูปเทียนให้เรานำไปไหว้ที่เบ้าหล่อองค์พระเมื่อเสร็จพิธี ส่วนสายสิญจน์ที่พันรอบศีรษะในขณะทำพิธีนั้น ให้แต่ละคนนำติดตัวกลับบ้านไปเพื่อเป็นสิริมงคลได้

พิธีเททองหล่อพระนี้ เป็นพิธีที่ผมรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีพระสงฆ์ที่มีวิชาคาถาอาคมนั่งปรกในบริเวณพิธีทั้งสี่ทิศ บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงสวดมนต์ของพระ เสียงการบวงสรวงเทพยดาของพราหมณ์ในพิธี  โดยเฉพาะเสียงของฆ้อง สังข์ และแตร ยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้ชวนขนลุกและน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาการทำพิธีอยู่นั้น ผมได้คิดย้อนหลังไปถึงพิธีหล่อพระในสมัยโบราณ ว่าผู้ที่ช่วยกันหล่อพระสมัยนั้น คงมีจิตศรัทธาเลื่อมใสอย่างแนวแน่ในความเชื่อแห่งบุญกุศล และความเชื่อในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำให้นึกต่อไปอีกว่า พระพุทธรูปที่งดงามหลายองค์ ที่เราเห็นทุกวันนี้  ไม่ว่าจะหล่อในสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ล้วนแล้วเริ่มต้นมาจากพิธีที่น่าเลื่อมใส มีความศักดิ์สิทธิ์ อย่างนี้แทบทั้งสิ้น..เป็นพิธีที่มีกุศโลบายหลายอย่างที่สอนให้คน มีความละอายใจและเกรงกลัวต่อการทำบาป ได้อย่างแยบยล...



ผมคิดว่า..หากทุกท่านมีโอกาส ก็ควรจะไปร่วมพิธีหล่อพระให้ได้สักครั้ง ก็จะเป็นสิริมงคลกับชีวิตสืบไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น