หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี จะอยู่หรือจะไป

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2553  ผมได้ไปร่วมเสวนาเรื่อง "ความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดราชบุรี"  ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี โดยมี นางพูลศรี  จีบแก้ว หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย คือ วันที่ 19 ก.ย. ของทุกปี และมี น.ส.นารีรัตน์  ปรีชาพิชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ให้เกียรติมาร่วมงานนี้ด้วย

วันพิพิธภัณฑ์ เริ่มต้นมาจากการที่  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระองค์เอง ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า "พิพิธภัณฑ์ "ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้ง"มิวเซียม" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417 เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศเมื่อปี พ.ศ.2538 ให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย

การเสวนาในครั้งนี้ มี น.ส.อุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีวิทยากร คือ อ.สุรินทร์ เหลือลมัย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านจอมบึง (วาปีหร้อมประชาศึกษา) เจ้าอาวาสวัดคงคาราม ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และนายเสถียร ตุ่นบุตรเสลา ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง ในสุดท้ายวิทยากรที่กล่าวสรุปก็คือ นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สำหรับผู้ร่วมเสวนาก็เป็นผู้แทนจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในที่อยู่ใน จ.ราชบุรี และผู้แทนโรงเรียน (บางแห่งที่สนใจ) จำนวนน่าจะประมาณ 50-60 คน

ผมเพิ่งทราบวันนี้เองว่า พิพิธภัณฑ์ใน จ. ราชบุรีของเรา จะมีถึง 23 แห่งเลยทีเดียว ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
  1. พิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบ้านจอมบึง , สำนักงานศิลปวัฒนธรรม ม.ราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง และเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์
  2. พิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
  3. พิพิธภัณฑ์หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรรมชาติวิทยา  จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง และพิพิธภัณฑ์สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
  4. พิพิธภัณฑ์วัด จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พิพิธภัณฑ์วัดลาดบัวขาว พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านบ่อหวี พิพิธภัณฑ์ไท-ยวน ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าตีนจกราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม  พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน พิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม และพิพิธภัณฑ์บ่อน้ำพระพุทธมนต์
  5. พิพิธภัณฑ์เอกชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานหุ่นขึ้ผึ้งสยาม  พิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงสิทธิ์  ภโวทัยพิพิธภัณฑ์ (ภูมิปัญญาชาวบ้าน)  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง และพิพิธภัณฑ์บ้านเรา
จากผลการเสวนา ทุกคนเห็นด้วยว่าพิพิธภัณฑ์ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกภาคส่วนควรให้การสนับสนุนและส่งเสริม แต่ปัญหาที่พบเหมือนๆ กัน ก็คือ พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง กำลังจะไปไม่รอด เพราะขาดงบประมาณ มีเพียงพิพิธภัณฑ์ของเอกชนบางแห่ง ก็พออยู่ได้ เพราะเก็บค่าเข้าชม ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของหน่วยงานของรัฐ  วัด และสถานศึกษานั้น แทบไม่ต้องพูดถึง กำลังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่  ยิ่งหากนโยบายของรัฐบาล เจ้าอาวาส ผู้บังคับบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่เล่นด้วยแล้ว มีหวังดับสนิท

อ.สุรินทร์ เหลือลมัย วิทยากร
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านจอมบึง
(วาปีพร้อมประชาศึกษา)
นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ได้ให้ข้อคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณว่า การได้มาซึ่งงบประมาณในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์นั้น อาจต้องมาจากหลายช่องทาง นอกจากงบประมาณจากหน่วยทางของราชการที่ดูแลเรื่องพิพิธภัณฑ์โดยตรงแล้ว อาจต้องหามาจากแหล่งอื่นๆ บ้าง เช่น จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล, อบต.)  จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จากสำนักงานพระพุทธศาสนา  หรือจากงบพัฒนาของจังหวัด (ผ่านทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด)  หรือจากมูลนิธิต่างๆ ที่สนับสนุนในเรื่องนี้อยู่

แต่ก่อนที่จะไปต่อรองหรือหามาซึ่งงบประมาณตามช่องทางต่างๆ  นั้น ชาวพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายน่าจะจัดตั้งกันเป็นชมรมฯ ขึ้นมาเสียก่อนเพื่อจะได้มีพลัง อย่างที่หลายๆ จังหวัดเริ่มจัดตั้งแล้ว  เช่น จัดตั้งชมรมพิพิธภัณฑ์จังหวัดราชบุรี เป็นต้น จัดทำระเบียบข้อบังคับให้ชัดเจนมีประธาน กรรมการ เลขา ฯลฯ ซึ่งน่าจะสามารถใช้ชมรมฯ นี้ไปต่อรองเรื่องงบประมาณจากแหล่งต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วได้

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์อีกเรื่องคือ ไม่มีปัญญาที่จะจ้างภัณฑารักษ์โดยตรงเข้ามาดูแลงานในด้านนี้ คนที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นลักษณะจิตอาสา เป็นคนในชุมชนบ้าง เป็นแม่บ้านบ้าง หรืออาจทำงานหลักด้านอื่นๆ อยู่แล้วมาช่วย  เช่น เป็นครูสอนหนังสือ พอเวลาว่างก็มาเป็นภัณฑารักษ์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้น่าจะพอแก้ไขได้ โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดอบรมเติมองค์ความรู้ให้แก่บุคลเหล่านี้

นายภูธร ภูมะธน ได้แนะหลักการของการทำพิพิธภัณฑ์ไว้ง่ายๆ ดังนี้
  1. การเก็บสะสม รวบรวมวัตถุไว้อย่างหลากหลาย
  2. การอนุรักษ์วัตถุเหล่านั้นตามหลักสากล
  3. ศึกษาค้นคว้าวิจัยวัตถุที่เก็บมา
  4. การจัดแสดงและเผยแพร่
  5. การบริการให้การศึกษาวัตถุเหล่านั้น
  6. การรักษาวัตถุเหล่านั้นให้อยู่รอดปลอดภัยชั่วนิรันดร์กาล
น.ส.นารีรัตน์  ปรีชาพีชคุปต์ (ซ้าย)
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
นางพูลศรี  จีบแก้ว (ขวา)
หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี
ในส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า วันนี้ไม่ได้อยู่ที่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ใหม่ แต่ทำอย่างไรจะให้พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งอยู่แล้วทั้ง 23 แห่งในราชบุรีดำรงคงอยู่ได้  ทำอย่างไร จะเปลี่ยนทัศนคติของพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ของเก่าเก่า น่าเบื่อหน่าย ให้กลับกลายเป็นสถานที่อันแสนสนุก น่าเรียนรู้ 

งานพิพิธภัณฑ์ มองดูเผินๆ แล้ว เหมือนเป็นงานอดิเรกของผู้ใหญ่ที่ชอบสะสมของเก่า แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นงานที่น่ายกย่องชื่นชม เป็นงานที่ช่วยเติมความสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนและชาติพันธ์ สะท้อนวิถีการดำเนินชีวิตของเผ่าพันธ์มนุษย์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

วันนี้ นักพิพิธภัณฑ์ เสมือนผู้ที่ปิดทองหลังองค์พระ  ไม่ค่อยมีใครแลเห็น แต่ถ้าหากไม่มีใครปิดแล้ว พระก็ไม่มีวันงามทั้งองค์ได้เลย... 

ขอให้สู้ต่อไป "นักพิพิธภัณฑ์" วันหนึ่งคงจะมีคนเข้าใจ และหันมามองพวกท่านบ้าง...    

เขียนโดย จุฑาคเชน 20 ก.ย.2553

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 377 ประจำเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2553 หน้า 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น