หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่

เหตุบ้านการเมืองของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  ล้วนแล้วแต่มีเหตุการณ์ที่น่าศึกษาเรียนรู้ทั้งสิ้น ตั้งแต่การปฏิวัติยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนอมินี นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  ของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง การก่อเหตุการณ์ร้ายเผาบ้านเผาเมืองต่อต้านอำมาตย์ของกลุ่มคนเสื้อแดง  การนำเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเขมร และความขัดแย้งเรื่องแนวชายแดน จนกระทั่งเป็นเหตุให้คนไทย 7 คนถูกจับไปขึ้นศาลเขมร การสุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนของประเทศไทยอีกครั้งให้แก่เขมร 

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถเรียกมันได้ว่าเป็น "ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่"  มีหนังสือเขียนบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากมาย...   แต่ท่านเชื่อไหมว่า "เด็กในโรงเรียนของเรา แทบจะไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้เลย"

เหตุที่ผมกล้ากล่าวเช่่นนี้ เพราะผมได้ลองสุ่มตัวอย่างถามนักเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา จำนวนกว่า 10 คน ปรากฏว่ามีเพียง 3 คนที่ติดตามเหตุการณ์และพยายามศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นอกนั้นที่เหลือ แค่รู้ข่าว แต่ไม่ได้สนใจรายละเอียดมากนัก

ผมเคยพูดคุยกับครูอาจารย์ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ ว่า ทำไม?ไม่เอาเหตุการณ์เหล่านี้มาสอนเด็กๆ ก็มักจะได้คำตอบที่หลากหลายต่างมุมมองต่างทัศนะกัน เช่น
  • มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ควรนำมาสอนให้กับเด็กๆ ได้รับรู้
  • มันยังไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะยังไม่มีหนังสือเล่มใดที่เขียนไว้และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้นำมาสอนได้ 
  • มันยังไม่รู้ว่า ใครผิด ใครถูก ใครเป็นคนก่อเหตุ แล้วจะเอามาสอนเด็กๆ ได้อย่างไร
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเป็นพวกเสื้อแดง
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเป็นพวกเสื้อเหลือง
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะเจ้านายเขาห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 
  • สอนไม่ได้หรอก เพราะฉันเองก็เป็นพวกเสื้อแดง (หรือเสื้อเหลืองก็ตาม)
  • ฯลฯ
จริงๆ แล้วคำตอบของท่านครูอาจารย์เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผล...แต่ในส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ควรมีหลักคิดที่ว่า "เป็นการเรียนรู้อดีต เพื่อนำมาบริหารงานในปัจจุบัน และสร้างสรรค์สิ่งดีดีในอนาคต" ซึ่งวลีนี้มีมานานแล้ว  และท่าน ว.วชิรเมธี ท่านก็ยังเคยเอามาเขียนเตือนสติอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว

ในส่วนตัวผมแล้ว การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือหรือตำรา ครูอาจารย์สามารถนำเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้เลย เพียงแต่การเรียนประวัติศาสตร์ควรมีจุดมุ่งหมายที่ว่า
  • สอนให้เด็กคิด ไม่ใช่สอนให้เด็กเชื่อ  
  • สอนให้เด็กตั้งคำถามว่า "ทำไม" และให้พยายามหา "คำตอบ" ด้วยตนเอง
  • เด็กต้องสามารถถอดบทเรียนหรือข้อเท็จจริงในอดีต มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตได้
เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ หากครูอาจารย์ไม่นำมาสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเท่าทันสถานการณ์แล้ว เมื่อไหร่จึงจะได้สอน หรือจะต้องรอให้เป็นตำราเสียก่อน ทั้งๆ ที่หนังสือหนังหามีให้ค้นคว้าหาอ่านมากมาย ใยไม่นำมาสังเคราะห์ แล้วนำไปให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ต่อไป

ไม่แน่นะ?  ในวิชาประวัติศาสตร์ชาติเขมร  ครูเขมรเขาอาจจะสอนเด็กๆ ของเขาว่า "เมื่อก่อนประเทศไทย คืออาณาจักรของเขมร แต่ถูกยึดครองไป ดังปรากฏซากโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของเขมร ปรากฏให้เห็นอยู่ปัจจุบันในประเทศไทยหลายสถานที่  เช่น พระปรางค์ ปราสาทขอม ฯลฯ ดังนั้นพวกเราชาวเขมรจำเป็นต้องช่วยกันทวงดินแดนของพวกเราคืนจากประเทศไทย"

แล้ววันนี้ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย กำลังสอนอะไรอยู่???

เขียนโดย
ชาติชาย คเชนชล : 10 ก.พ.2554 

3 ความคิดเห็น:

  1. ตอบแทนใจครูส่วนหนึ่งว่า สอนความอยู่รอด ทำมาหากินของครู ไม่มีใจสอนเด็กเป็นเรื่องเป็นราว เพราะต้องหาเงินส่งลูกเรียน อย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะ ค่าเรียนพิเศษค่ะ

    ตอบลบ
  2. เข้าใจ เห็นใจ ทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายครูผู้สอนหรือครูผู้พันและรับสภาพกับสังคมปัจจุบัน ข้าราชการไทยอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ สอนอะไรออกไปโดยไม่มีกฏกระทรวงมารองรับถ้ามีคนเห็นด้วยก็พอจะโชคดีไป หรือไม่ก็โดนเหยียบจมดิน
    เด็กเองก็คงไม่มีเวลามารู้เรื่องราวเหล่านี้ เพราะต้องง่วยอยู่กับเรื่อง onet anet ครับ สรุปว่าเห็นใจทุกฝ่ายครับ

    Saroj Meesook

    ตอบลบ
  3. ครู-ครุ แปลว่า หนัก
    ดังนั้นครูจึงต้องยึดมั่นและตระหนักในหน้าที่
    และอุดมการณ์ของครู
    ครูกาญจน์ค่ะ

    ตอบลบ