หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อยากได้ "ครูสอนดี" หรือวิธีจัดสรรงบประมาณ

หลายคนในแวดวงการศึกษา คงตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่า ใครจะเป็น "ครูสอนดีของประเทศไทยประจำปี 2554" จำนวน  20,000 คน จากจำนวนครูทุกสังกัดทั่วประเทศที่มีมากกว่า 600,000 คน  ซึ่งจะได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชู แถมได้รับเงินรางวัล อีกคนละ 10,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 200 ล้านบาท และในจำนวน 20,000 คนนี้ จะมีเพียง 600 คน ที่จะได้รับ "ทุนครูสอนดี" โดยได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการเพื่อขยายผลโครงการละ 500,000 บาท เป็นเงินรวม 300 ล้านบาท ตามเงื่อนไขและสัญญาผูกพันเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนั้นแล้ว จะมี "จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือก " อีกจำนวน 10 จังหวัดจาก 77 จังหวัด ที่มีกระบวนการคัดสรรครูสอนดีที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม จะได้รับเงินรางวัลจังหวัดละ 5,000,000 บาท รวม 10 จังหวัด เป็นเงินรางวัล 50 ล้านบาท  รวมแล้วเงินรางวัลในโครงการนี้  รวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท

แนวทางการคัดเลือกครูสอนดี
ครูสอนดีนี้ เป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศในโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง "ครูสอนดี" โดยมี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นเจ้าของโครงการ โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 2 ระดับ ดังนี้
  • คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัด (คกก.จังหวัด) จำนวน 1 คณะ โดยประกอบด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนของจังหวัด มี ผู้ทรงคุณคุณวุฒิ(ภาควิชาการ)เป็นประธาน มี นายก อบจ. เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง มีผู้ที่นายก อบจ. แต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ
  • คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับท้องถิ่น (คกก.ท้องถิ่น) จำนวนคณะ เป็นตามจำนวนเทศบาล และ จำนวน อบต. ของ จังหวัดนั้นๆ โดยประกอบด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนในเขตการปกครองนั้นๆ มี นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. เป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีผู้ที่นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. แต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ 

หลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกครูสอนดีที่สำคัญ
การดำเนินการสรรหาจะประกอบด้วย 2 ช่องทาง คือ
โดยสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และสังกัดเทศบาล อบต. เป็นผู้ส่งชื่อครูสอนดี 
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ  ได้แก่

  • สถานศึกษาแต่ละแห่ง ต้องสรรหาโดยมติของบุคคล 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน 
  • จำนวนครูสอนดีที่แต่ละสถานศึกษาเสนอ จะไม่เกินตามที่ คกก.ท้องถิ่นนั้นๆ กำหนด ซึ่ง คกก.ท้องถิ่นจะกำหนดตามเหมาะสม  แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนครูในแต่ละสถานศึกษานั้นๆ
  • สถานศึกษาใดมีจำนวนครูไม่ถึงเกณฑ์ ให้แต่ละสถานศึกษานัั้นๆ รวมกลุ่มกัน เพื่อให้จำนวนครูถึงเกณฑ์ ที่จะเสนอได้ชื่อได้
  • แต่ละสถานศึกษา เสนอชื่อครูสอนดีของตนเอง ไปยัง คกก.ท้องถิ่น ในเขตการปกครองที่สถานศึกษา นั้นๆ ตั้งอยู่
โดย คกก.ท้องถิ่นเอง
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่
  • คัดเลือกเฉพาะ ครูสอนเด็กด้อยโอกาสนอกสถานศึกษา และครูในรูปแบบการศึกษาทางเลือก ในเขตพื้นที่การปกครองของตนเอง
การเสนอชื่อครูสอนดีให้ สสค.
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่
  • คกก.ท้องถิ่นประชุมคัดเลือกครูสอนดี ที่เสนอชื่อมาจากสถานศึกษา และที่ตนเองคัดเลือกมาจากครูสอนเด็กด้อยโอกาสนอกสถานศึกษา และครูในรูปแบบการศึกษาทางเลือก ในเขตพื้นที่
  • คกก.ท้องถิ่น จะต้องคัดเลือกจำนวนครูสอนดี ทั้งหมดที่กล่าวมาให้เหลือไม่เกินจำนวนร้อยละ 4 แล้วส่งชื่อให้ คกก.จังหวัด
  • คกก.จังหวัด พิจารณาคัดเลือกครูสอนดี ที่ส่งมาจาก คกก.ท้องถิ่นทุกคณะ แล้วคัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่ สสค.ประกาศเอาไว้ เช่น ที่จังหวัดราชบุรีของผมได้รับโควต้ารางวัลครูสอนดี จำนวน 256 คน  โควต้าทุนครูสอนดี 8 คน (จากจำนวนครูทั้งจังหวัด 8,508 คน) 

เราจะได้ครูสอนดี จริงหรือไม่
ที่ผมต้องเขียนกล่าวนำมายืดยาวอย่างนี้ เพื่อให้ผู้อ่านหลายท่านพอได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาครูสอนดีของประเทศไทย  แล้วผลสุดท้ายเราจะได้ ครูสอนดี จริงหรือไม่ ต้องลองใช้วิจารญาณดูเอาเองนะครับ ผมจะขอยกตัวอย่างปัญหาที่อาจพบเห็นในการปฏิบัติ  ซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ เช่น

กรณีโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่
ตัวอย่าง : สถานศึกษาสามารถเสนอชื่อครูสอนดี ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของจำนวนครูในสถานศึกษา (สมมติว่า คกก.ท้องถิ่น ให้เสนอได้จำนวนร้อยละ 20 คือสูงสุด)
  • โรงเรียน ก มีครู 4 คน "ครู A" ได้รับการคัดเลือกจากบุคคล 4 ฝ่ายให้เป็นครูสอนดี แต่เสนอชื่อไม่ได้ เพราะโควต้าไม่ถึง (4X20%=0.8 คน)
  • โรงเรียน ข มีครู 3 คน "ครู B" ได้รับการคัดเลือกเป็นครูสอนดีเช่นกัน แต่ก็เสนอชื่อไม่ได้
  • โรงเรียน ค มีครู 4 คน "ครู C"  ได้รับการคัดเลือกเป็นครูสอนดีเช่นกัน แต่ก็เสนอชื่อไม่ได้
  • โรงเรียน ง มีครู 20 คน "ครู D,E,F,G" ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 4 คน เพราะได้โควต้า 4 คน (20x20%=4)
  • กรณีนี้ โรงเรียน ก ข และ ค ต้องรวมกลุ่มกันถึงจะได้โควต้าเสนอชื่อครูสอนดี ซึ่งหากรวมกันก็จะได้ครูจำนวน 4+3+4 = 11 คน เสนอชื่อร้อยละ 20 ก็จะได้ครูสอนดี 2 คน (11X20%=2.2 คน) แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินระหว่าง ครู A   ครู B และ ครู C ว่าจะตัดชื่อใครออก 1 คน เพราะทั้ง 3 คนก็ถูกคัดเลือกมาจากบุคคลทั้ง 4 ฝ่ายของแต่ละโรงเรียนเหมือนกัน
  • หากครู B ถูกตัดทิ้งออกไปหรือยอมเสียสละไม่เสนอชื่อตนเอง แล้วใครจะบอกว่า "ครู D,E,F,G ของโรงเรียน ง จะสอนดีกว่าครู B" 
  • ครู B เสียโอกาสตั้งแต่แรกแล้ว ที่จะถูกเสนอชื่อเข้าคัดเลือกใน คกก.ท้องถิ่น  
คกก.ท้องถิ่น จะคัด "ครูสอนดี" ออกได้อย่างไร
ตัวอย่าง : สถานศึกษาสามารถเสนอชื่อครูสอนดี ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของจำนวนครูในสถานศึกษา (สมมติว่า คกก.ท้องถิ่น ให้เสนอได้จำนวนร้อยละ 20 คือสูงสุด) และ คกก.ท้องถิ่น จะต้องคัดเลือกจำนวนครูสอนดี ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่เกินจำนวนร้อยละ 4 ส่งชื่อให้ คกก.จังหวัด ต่อไป
  • คกก.เทศบาลตำบล A  มีครูในเขตการปกครองทั้งหมด 200 คน มีการเสนอชื่อครูสอนดีเข้ามาทั้งสิ้นตามโควต้า คือ 40 คน (ร้อยละ 20)
  • คกก.เทศบาลตำบล A จะต้องคัดเลือกครูสอนดีออก 32 คน ให้เหลือ 8 คน  คือ ร้อยละ 4 (200X4%) เพื่อเสนอชื่อให้ คกก.จังหวัด คัดเลือกต่อไป
  • แล้ว คกก.ท้องถิ่น จะคัดครูสอนดีออก 32 คน ด้วยวิธีการอะไร?
คกก.จังหวัด จะคัดเลือกครูสอนดี ให้เหลือตามที่ สสค.ให้โควต้าได้อย่างไร
ตัวอย่าง : จ.ราชบุรี มีครูทุกสังกัดจำนวน  8,508 คน สสค.ให้โควต้าครูสอนดี 256 คน ในขณะที่ คกก.ท้องถิ่นทุกคณะเสนอรายชื่อครูสอนดีมายัง คกก.จังหวัด ตามโควต้าคือ ร้อยละ 4 รวมทั้งหมด   340 คน (8,508X4%)
  • คกก.จังหวัด จะต้องคัดครูสอนดีออกถึง 84 คน (340-256 คน) ให้เหลือ 256 คน ตามที่ได้รับโควต้า จาก สสค.
  • แล้ว คกก.จังหวัด จะคัดครูสอนดีออก 84 คน ด้วยวิธีการอะไร?
ครูสอนดี (เพราะกลัวเสียสิทธิ์)
โรงเรียนบางโรงเรียน ครูทะเลาะกัน ชิงดีชิงเด่น แตกแยกความสามัคคี โรงเรียนไม่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เด็กนักเรียนก็มีแค่  ป.1-ป.6 รวมทั้งโรงเรียนแล้วไม่เกิน 60 คน แล้วคณะบุคคล 4 ฝ่ายที่จะมาคัดเลือกครูสอนดีในโรงเรียนนั้น จะมาจากไหน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็รู้ว่าที่โรงเรียนไม่มีครูคนไหนสอนดีเลยสักคน แต่กลัวเสียโควต้าและกลัวถูกนินทาว่าโรงเรียนของตนเองไม่มีครูสอนดีเลย  จึงสั่งครูสอนไม่ดีคนหนึ่งให้เสนอรายชื่อเป็น "ครูสอนดี" (ของผู้อำนวยการ) จัดสร้างเอกสารหลักฐานต่างๆ เสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือก

ครูสอนดี(ของผู้อำนวยการ)
โรงเรียนบางโรงเรียน มีครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งสมาคมผู้ปกครองและครู คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า พร้อมที่จะประชุมเพื่อคัดเลือกครูสอนดีของโรงเรียน แต่กลับไม่ประชุม ผู้อำนวยการใช้อำนาจเผด็จการเสนอชื่อ ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นเด็กในกำกับของตนเอง ให้เป็น "ครูสอนดี"  เที่ยวขอเอกสารสร้างหลักฐานเท็จจากนักเรียนคนโน้นคนนี้   เพื่อจะประกอบเป็นผลงานของตนเอง พอรายชื่อ "ครูสอนดี" ของโรงเรียนประกาศออกมา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์และนักเรียนทั้งหลาย ต่างพากันส่ายหน้าทุกคน


อยากได้ "ครูสอนดี" หรือวิธีจัดสรรงบประมาณ
กระบวนการคัดเลือกครูสอนดี ที่ สสค.ประกาศมานี้ ผมว่ามันเป็นหลักการที่ดีมาก แต่ผมเกรงว่ามันจะกลายเป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณมากกว่า โยนภาระการตัดสินใจไปให้ คกก.จังหวัด และ คกก.ท้องถิ่น และอันตรายก็คืออาจเกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นได้ในการคัดเลือกของคณะกรรมการในแต่ละระดับ หลักการจัดสรรแบบโควต้าเป็นร้อยละนั้น จะได้มาซึ่ง "ครูสอนดี" ที่ไม่เป็นจริง สังคมไม่เกิดการยอมรับ  ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง ต่อผู้ที่มีอาชีพ "ครู" ทุกคน ที่จะถูกสังคมดูถูกดูแคลนในวิธีการคัดสรร

โรงเรียนแห่งหนึ่ง ทั้งโรงเรียนไม่มีครูสอนดีเลย แต่กลับได้รับเชิดชูเป็นครูสอนดีตามโควต้า จำนวน 5 คน กับโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง ครูสอนดีทั้งโรงเรียน แต่กลับได้รับเชิดชูเป็นครูสอนดีตามโควต้า จำนวน 5 คน เช่นกัน สรุปได้ว่า ครูทั้ง 10 คน เป็นครูสอนดี จริงหรือไม่?

เงินรางวัลกว่า 550 ล้านบาทนี้ ผมว่ามันน่าเสียดาย มันน่าจะสร้างเรื่องราวดีดีให้แก่แวดวงการศึกษาของไทยได้มากกว่านี้ วิธีจะสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูยังมีอีกหลายวิธี แต่รางวัล "ครูสอนดี" ครั้งนี้ รังแต่จะทำให้ครูแตกแยก สังคมดูถูกเพราะขาดการยอมรับ เหตุเพราะคนที่ได้รับการคัดเลือก ไม่ใช่ "ครูสอนดี" ตัวจริง


********************************   

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อัตลักษณ์ - หากคิดไม่ออกก็อย่าไปเสียเวลากับมัน

ผมเห็นสถานศึกษาหลายแห่งกำลังวุ่นวายกับคำว่า "อัตลักษณ์ของสถานศึกษา"  เพื่อจะรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) จาก สมศ.  ซึ่งได้แบ่งตัวบ่งชี้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน กลุ่มตัวบ่งชี้อัตลักษณ์  และกลุ่มตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม

ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ หมายถึงอะไร
  • ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง ตัวบ่งชี้ที่ประเมินผลผลิต ตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา รวมถึงความสำเร็จตามจุดเน้น และจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด มี 2 ตัวบ่งชี้ คือ
    • ตัวบ่งชี้ที่ 9 ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา
    • ตัวบ่งชีที่ 10 ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่น ที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
  • ระดับอุดมศึกษา หมายถึง ตัวบ่งชี้ที่ประเมินผลผลิต ตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของสถานศึกษา รวมถึงความสำเร็จตามจุดเน้น และจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน
    • ตัวบัง่ชี้ที่ 16 ผลการพัฒนาตามอัตลักษณ์ของสถาบัน ประกอบด้วย ผลการบริหารสถาบันให้เกิดอัตลักษณ์ และผลการพัฒนาบัณฑิตตามอัตลักษณ์
    • ตัวบ่งชี้ที่  17 ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่น ที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถาบัน
จากความหมายของตัวบ่งชี้อัตลักษณ์นี้เอง เป็นเหตุให้ บรรดาผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ เริ่มพากันมึนงง สับสน พยายามที่จะค้นหาอัตลักษณ์ในสถานศึกษาของตนเอง  เพราะหากค้นหามันไม่เจอมีหวังจบเห่ ประเมินรอบสามไม่ผ่านแน่...แล้วไหนจะต้องมีคำว่า ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์  พันธกิจ เอกลักษณ์ จุดเน้น จุดเด่น มาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอีก ยิ่งไปกันใหญ่

ไม่รู้ว่า เมื่อคิดคำเหล่านี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
"เด็กนักเรียนในโรงเรียนคงจะอ่านออก เขียนได้ มากขึ้นกว่าเดิม"



ความหมายของอัตลักษณ์
ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ดังนี้
  • อัต (อัด-ตะ) หมายถึง ตน หรือ ตัวเอง
  • ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว
  • คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้  เช่น นักร้องกลุ่มนี้มี อัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที, สังคมแต่ละสังคมมี อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง โลกาภิวัตน์ทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป
ความหมายของเอกลักษณ์
ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ดังนี้
  • เอก (อ่านว่า เอ-กะ) ซึ่งหมายถึง หนึ่ง
  • ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว  
  • คำว่า เอกลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า uniqueness (อ่านว่า ยู-นี้ก-เนส) หมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียว หรือสภาวะที่ไม่มีผู้ใดเหมือน เช่น กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนเมืองหลวงใด ๆ ในโลก, การทำทองรูปพรรณของช่างทองเมืองเพชรถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ไทย,นักท่องเที่ยวทั่วโลกประทับใจในเอกลักษณ์ความมีน้ำใจของคนไทย

หากแปลความหมายคำทั้งสองคำแล้ว บางครั้งจะเห็นว่า เอกลักษณ์ อาจจะรวมกันเป็นในอัตลักษณ์ และบางครั้งอัตลักษณ์ อาจจะรวมกันเป็นเอกลักษณ์ บางครั้งมันก็รวมกันเป็นตัวของมันเอง  เช่น
  • คนไทยมีเอกลักษณ์ในการไหว้ + เอกลักษณ์ในการยิ้ม + เอกลักษณ์ในความมีน้ำใจ = อัตลักษณ์ของคนไทย
  • อัตลักษณ์ร้องเพลงเพื่อชีวิต (อาจมีหลายคนที่ร้องเพลงเพื่อชีวิต) + อัตลักษณ์เล่นกีต้าไปด้วยร้องไปด้วย (อาจมีหลายคนที่ทำเช่นนี้)  + อัตลักษณ์ใส่เสื้อแขนกุดชอบโพกผ้าที่ศรีษะ (อาจมีหลายคนที่ชอบแต่งตัวอย่างนี้)  + เสียงร้องที่สูงและทรงพลัง (อาจมีหลายคนที่ร้องเพลงอย่างนี้)  = เอกลักษณ์ของแอ๊ด  คาราบาว (นั่นหมายถึง หากมีอัตลักษณ์ครบทั้ง 4 ตามนี้ก็คือ แอ๊ด คาราบาว)
  • อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง = อัตลักษณ์ของคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรวมกัน
  • อัตลักษณ์ของคณะวิชาหนึ่งๆ ในมหาวิทยาลัย = อัตลักษณ์ของภาควิชาต่างๆ รวมกัน
  • อัตลักษณ์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย = เอกลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ มารวมกัน
  • อัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านนอก = ตัวดำ หน้าดำ ผมออกสีแดง หัวอาจเต็มไปด้วยเหา เสื้อผ้าสีมอๆ กระดำกระด่าง ไม่ใส่รองเท้า หิ้วกระเป๋าเป้ถูกๆ ที่ซื้อมาจากตลาดนัด
  • อัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนไฮโซยอดนิยมในเมือง = หน้าขาวๆ  ทรงผมตัดซอยตามแฟชั่น เสื้อผ้าขาวรีดเรียบ หิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม มือถือ IPad 
  • ฯลฯ  
ตัวอย่างที่ยกมานี้ หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย
ซึ่งผมก็ยอมรับว่า  ผมก็รู้สึกงงและสับสนเช่นกัน

แล้วใครจะเป็นคนฟันธงได้ว่า อัตลักษณ์ของสถานศึกษา ที่ท่านระดมสมองคิดกันมานั้น ความหมายมันถูกหรือผิด มันใช่หรือไม่ใช่ ลองอ่านตัวอย่างอัตลักษณ์ของสถานศึกษาที่นักวิชาการเขาลองคิดกันดู  แล้วท่านลองตีความในใจว่า มันใช่หรือไม่ใช่ หรือมันน่าจะเป็นเพียงแค่คำขวัญ ปณิธาน ปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ  ลองอ่านดูนะครับ
  • อัตลักษณ์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อาจเป็น "มีภาวะผู้นำและสุภาพบุรุษ"
  • อัตลักษณ์ของโรงเรียนสตรีวิทยา อาจเป็น "ยอดนารี สตรีวิทยา"
  • อัตลักษณ์ของโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ กรุงเทพ คือ "โรงเรียนของชุมชน ต้นแบบการให้บริการด้านการจัดการศึกษา พัฒนาสู่ความเป็นสากล" (กำหนดแล้ว)
  • โรงเรียนในลำปาง อาจเป็น "มีจิตสำนึกรักลำปาง รักษ์สิ่งแวดล้อม"
  • โรงเรียนในเครือเบญจมะฯ อาจเป็น "ประชาธิไตย เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์"
  • โรงเรียนในเครือจุฬาภรณราชวิทยาลัย อาจเป็น "บุคลิกนักวิทยาศาสตร์"
  • โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา อาจเป็น "มีจิตวิญญาณไทย ใจเป็นสากล เปี่ยมล้นเทคโนโลยี ชีวีพอเพียง"
  • โรงเรียนบุญวาทย์ อาจเป็น "รักการทำดี วิชาการมาตรฐานสากล สร้างคนป็นผู้นำ"
  • บัณฑิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็น "มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล"
  • บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล อาจเป็น "มุ่งผลเพื่อผู้อื่น (ALTRUISM)"
  • มหาวิทยาลัยมหิดล อาจเป็น "Health Science and Social Well-Being (ความผาสุข)"
  • ฯลฯ

หากคิดอัตลักษณ์ไม่ออก ก็ไปไม่เป็น
ในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือโรงเรียนในระดับขั้นการศึกษาพื้นฐานที่มีศักยภาพ อาจจะคิดอัตลักษณ์ของสถานศึกษาตนเองออก  แต่ผมว่ายังมีอีกหลายโรงเรียนและเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังไปไม่ถึงไหน หากสถานศึกษาไม่มีอัตลักษณ์แล้ว ก็ไม่รู้จะใช้กลยุทธ์อะไรในการพัฒนาให้ไปสู่อัตลักษณ์ ตามที่ สมศ.จะทำการประเมินในรอบสาม  แค่วิสัยทัศน์ ปรัชญา ปณิธาน คำขวัญ จุดเน้น จุดเด่น พันธกิจ เอกลักษณ์ ก็ยังเอาตัวไม่รอดเลย นี่ยังจะมี  อัตลักษณ์ เข้ามาอีก

ผมว่า หากคิดไม่ออกก็อย่าไปเสียเวลากับมันเลยครับ
เอาแค่เด็กจบ ป.6 ออกมาแล้ว "อ่านออก  เขียนได้  คิดพอเป็น  ทอนสตางค์ถูก" 
ผมก็ว่าดีถมเถแล้วละครับ


****************************************
จุฑาคเชน : 23 ส.ค.2554  

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องใส่ใจ

ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายจังหวัด อาทิ เลย มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ และปทุมธานี  นำเงินของสหกรณ์ฯ ไปทำสัญญาลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล กับ บริษัทเอกชน  ซึ่งอ้างว่าได้รับการจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมูลค่าสัญญาตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทขึ้นไปจนถึงขั้นสัญญาละ 3,000 กว่าล้านบาท และตอนนี้มีข่าวที่เชื่อถือได้ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ก็กระทำเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 

กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่าทำไม่ได้
เรื่องนี้ นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องการที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งมาจำหน่ายแก่สมาชิกนี้ แม้ว่าจะยังไม่เกิดความเสียหาย แต่สหกรณ์ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ และธุรกิจนี้ ไม่ใช่กิจกรรมร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ตามความในมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตามวัตุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ ประกอบกับลักษณะดำเนินธุรกิจดังกล่าว เข้าข่ายการแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจเอกชน อันเนื่องมาจากสหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทำสัญญาซื้อสลาก
คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54 จำนวน 15 คน  ได้ดำเนินการลงนามทำสัญญากับ บริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด จำนวน 2 สัญญา โดยเนื้อหาในสัญญาไม่มีใครยอมเปิดเผย 

อนุมานสัญญา
เนื่องจากไม่มีใครยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงในสัญญาดังกล่าว ผู้เขียนจึงใช้การอนุมาน จากบทความในหนังสือพิมพ์  ใบปลิว หนังสือร้องเรียน และข้อมูลจากสัญญาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอื่นๆ ที่เคยทำกับบริษัทฯ นี้มาแล้ว  ซึ่งเนื้อหาอาจจะมีผิดพลาดไปบ้าง ผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์ในการถูกฟ้องร้องใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้ผู้อ่านใช้วิจารญาณในการวิเคราะห์เอาเอง 
  • สัญญาแรก - เริ่มเดือนพฤศจิกายน 2553 ระยะเวลาสัญญา 12 เดือน ส่งมอบสลากกินแบ่งจำนวน 24 งวด ซึ่งสหกรณ์ฯ ต้องโอนเงินค่ามัดจำสัญญาล่วงหน้าประมาณ  396 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เทวาสิทธิ์ พิฆเนศ จำกัด คู่สัญญา
  • สัญญาที่สอง - เริ่มเดือนมกราคม 2554 ระยะเวลาสัญญา 12 เดือน ส่งมอบสลากกินแบ่งจำนวน 24 งวด ซึ่งสหกรณ์ฯ ต้องโอนเงินค่ามัดจำสัญญาล่วงหน้าประมาณ 396  ล้านบาท ให้แก่บริษัท เทวาสิทธิ์ พิฆเนศ จำกัด คู่สัญญา
  • นอกจากนั้นแล้ว สหกรณ์ฯ จะต้องโอนเงินไปให้บริษัท เทวาสิทธิฯ เพื่อซื้อสลากกินแบ่งในแต่ละงวดๆ ละอีกประมาณ 145 ล้านบาท (2 สัญญาๆ ละ 72.5 ล้านบาท) ซึ่งหมายถึง สหกรณ์ฯ จะได้รับสลากกินแบ่งมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก จำนวนถึง 2,000,000 ฉบับ (145 ล้านบาท/ราคาซื้อจากกองสลากฯ ฉบับละ 72.50 บาท )
  • บริษัท เทวาสิทธิฯ ต้องจ่ายเงินคืนในแต่ละงวด ให้สหกรณ์ฯ (หลังจากที่บริษัทฯ ได้นำสลากกินแบ่งในโควต้าของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ไปจำหน่ายได้แล้ว) ดังนี้
    • ค่ารับซื้อสลากกินแบ่งคืน 162,000,000  บาท (2,000,000 ฉบับ ราคารับซื้อคืนจากสหกรณ์ฯ ฉบับละ 81 บาท) ดังนั้น สหกรณ์ฯ จะได้กำไรงวดละ 17,000,000 บาท (162,000,000-145,000,000 บาท)
    • จ่ายคืนค่าเงินมัดจำสัญญาล่วงหน้า (จ่ายคืนเป็นรายงวด) สัญญาละ 10 ล้านบาท/ต่องวด  รวม 2 สัญญา เป็น 20 ล้านบาท/ต่องวด (มีบางแหล่งข่าวรายงานว่าสัญญาละ 8 ล้านบาท/ต่องวด รวม 2 สัญญา เป็น 16 ล้านบาท/ต่องวด)

สหกรณ์ฯ เอาเงิน 700 กว่าล้านบาทมาจากไหน
ในใบปลิว "เล่าเรื่องสหกรณ์ " โดย คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 54 ท่านหนึ่ง ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า "เงินที่ใช้ซื้อสลากนี้ ขอเรียนให้สมาชิกทราบว่าเป็นเงินซึ่งคณะกรรมการได้ไปกู้มา มิใช่เงินฝากของสมาชิกแต่อย่างใด"  ผู้เขียนขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ท่านควรต้องถามย้อนกลับว่า เงินที่ท่านคณะกรรมการฯ ไปกู้มากว่า 700 ล้านบาทนั้น ท่านใช้อะไรไปเป็นหลักค้ำประกัน  มีแหล่งเงินกู้ที่ไหนเขาจะให้ท่านมาฟรีๆ  ที่ท่านไปกู้ก็คือ หนี้สินของสหกรณ์ฯ หนี้สิ้นของสมาชิกทั้งหมด เครดิตที่ใช้กู้ก็คือ เงินสดของสมาชิกที่ฝากไว้ในแหล่งเงินกู้นั้นๆ เป็นหลักค้ำประกันนั่นเอง ท่านไม่ได้กู้ในนามบุคคลทั้ง 15 คน ท่านกู้ในนามของสหกรณ์ฯ   ลองคิดในมุมกลับ หากท่านคณะกรรมการฯ ไม่มีปัญญาใช้หนี้ตามแผนการที่ท่านวางไว้  หนี้สินเหล่านี้จะตกอยู่ที่ใคร? คงไม่ใช่คณะกรรมการทั้ง 15 ท่านนี้กระมัง ที่ต้องชดใช้หนี้...

ที่สำคัญเงินที่ท่านไปกู้มา ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ท่านประเคนไปให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ใช้ฟรีๆ 

มีแหล่งข่าวแจ้งว่าเงินที่กู้มา 700 กว่าล้านบาทนี้ คาดว่ามาจากแหล่งเงินกู้ ดังนี้ (กรุณาอย่านำข้อมูลนี้ไปอ้างอิง เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าว - ผู้เขียน)
  1. จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาราชบุรี จำนวน 200 กว่าล้านบาท (ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของธนาคารฯ ว่า มีการกู้จริง แต่เป็นการกู้เพื่อนำไปให้สมาชิกกู้ยืมอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามวาระปกติ)
  2. จากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด จำนวน 500 ล้านบาท     

มันทำกำไรได้อย่างไร
แหล่งข่าวในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งหนึ่ง เล่าว่าปกติแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากบริษัทเอกชน หรือยี่ปั๊ว ฉบับละ 72.50 บาท และขายคืนให้บริษัทเอกชนหรือยี่ปั๊วนั้นๆ ฉบับละ 81 บาท ทำให้ สหกรณ์ฯ ได้รับกำไรส่วนต่าง ฉบับละ 8.50 บาท และใน 8.50 บาทนี้จะจัดสรรประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดังนี้
  • ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  ฉบับละ 0.50 บาท
  • กรรมการและผู้ประสานงาน ได้ฉบับละ 0.25 บาท
  • ผู้จัดการสหกรณ์ ได้ฉบับละ 1 บาท
  • กำไรเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ฉบับละ 6.75 บาท
หากการซื้อขายเป็นเช่นนี้จริง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ซึ่งซื้อสลากกินแบ่งงวดละ 2,000,000 ฉบับ ดังนั้นในรอบ 15 วันที่สลากกินแบ่งรัฐบาลออก จะมีการจัดสรรงบประมาณดังนี้
  • ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะได้รับเงินจัดสรร 1,000,000 บาท
  • กรรมการและผู้ประสานงาน จะได้รับเงินจัดสรร 500,000 บาท
  • ผู้จัดการสหกรณ์ จะได้รับเงินจัดสรร 2,000,000 บาท
  • กำไรเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 13,500,000  บาท
  • รวมเงินจัดสรรทั้งสิ้น 17,000,000 บาท

การบริหารความเสี่ยง
  • หากสัญญาดังกล่าวเป็นจริง ตอนนี้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ รับเงินค่ามัดจำก้อนโตจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ไปแล้วจำนวน 792 ล้านบาท (396+396 ล้านบาท) และจะทยอยคืนเงินค่ามัดจำให้สหกรณ์ฯ เป็นงวดๆ ละ 20 ล้านบาท หมายถึงตอนนี้ บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ มีเงินสดเข้ากระเป๋าไปแล้ว 792 ล้านบาท ส่วนเขาจะนำไปฝากธนาคาร ใช้สำรองหมุนเวียน หรือนำไปลงทุนทำอะไรก็ได้  ก็เป็นสิทธิของเขา
    คำถาม :  ทำไมต้องนำเงินสหกรณ์ไปมัดจำสัญญาให้บริษัทฯ  โดยเฉพาะเงินก้อนนี้เป็นเงินที่สหกรณ์ฯ กู้ยืมมา ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับแหล่งเงินกู้  แต่กลับนำไปประเคนให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ โดยไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ จากเงินก้อนนี้เลย    
  • ใครจะเป็นคนค้ำประกันสัญญาว่า บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ นี้จะคืนเงินค่ามัดจำสัญญานี้ให้สหกรณ์ฯ จนครบ 792 ล้านบาทจริง 
    คำถาม :
    หาก บริษัทฯ นี้ไม่กระทำตามสัญญา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จะทำอย่างไร? 
  • ในแต่ละงวดของสลากกินแบ่งรัฐบาล รอบ 15 วัน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องโอนเงินไปให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ เพื่อซื้อสลากกินแบ่ง จำนวน 2,000,000 ฉบับ เป็นเงิน 145 ล้านบาท หลังจาก บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ นำไปจำหน่ายได้แล้วจะโอนเงินกลับคืนมาให้สหกรณ์ฯ 162 ล้านบาท
    คำถาม : แล้วหากบริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ไม่โอนเงินคืนกลับมา อ้างว่าจำหน่ายไม่หมด หรือจำหน่ายไม่ได้ สหกรณ์ จะทำอย่างไร?
    คำถาม : สลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2,000,000 ฉบับ มีตัวตนหรือไม่? หรือมีแต่ตัวเลข
    คำถาม : หากสหกรณ์ฯ จะนำสลากกินแบ่งมาจำหน่ายให้สมาชิกในราคาสวัสดิการ ทำไมต้องซื้อถึง 2,000,000 ฉบับ ทั้งๆ ที่สมาชิกสหกรณ์มีจำนวน 9,000 กว่าคน หรือสหกรณ์ฯ กำลังจะทำธุรกิจเป็นซาปั๊ว จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียเอง
  • อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปทางผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้ว ท่านแจ้งว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ที่กองสลากไม่มี แต่อาจจะมีพวกยี่ปั๊วและซาปั๊ว ไปรวมกลุ่มกัน และไปติดต่อ หลอกหลวงกับทางสหกรณ์เอง
    คำถาม : ทำไม? สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จึงไม่ตรวจสอบเครดิตเรื่องโควต้าสลากกินแบ่งของ บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ไม่ให้คำปรึกษาและชี้แนะแก่สหกรณ์ แถบยังให้กู้ยืมเงินแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ราชบุรี เพื่อมาใช้ทำสัญญาเรื่องนี้ อีกถึง 500 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำได้อาทิ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือแม้แต่สหกรณ์จังหวัดราชบุรีเอง
  • ฯลฯ

ประชุมวิสามัญเร่งด่วนเพื่อชี้แจง
เรื่องที่ผู้เขียนได้เขียนมานี้ เป็นเพียงเรื่องที่อนุมานและสังเคราะห์ขึ้น โดยนำข้อมูลมาจากบทความในหนังสือพิมพ์ ใบปลิว หนังสือร้องเรียน แหล่งข่าวบุคคลที่เชื่อถือได้  ข้อความ ตัวเลข วันเวลา และระยะเวลาที่ระบุอาจมีความผิดพลาดแตกต่างกันไป  หากสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องการทราบข้อมูลที่แท้จริงแล้ว คงต้องเกิดจากการชี้แจงของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54 เองโดยตรง

วันนี้..แม้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่วันหน้ายังไม่แน่
วันนี้..ยังไม่มีใครผิด ใครพลาด แต่สมาชิกฯ ก็ควรที่จะต้องทราบข้อเท็จจริงเอาไว้
เผื่ออาจจะต้องเตรียมรับมือกับความผิดพลาดในอนาคต

อย่าด่วนสรุปเชื่อใคร?  ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุด คือ ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคณะกรรมการดำเนินการนั่นเอง ดังนั้น คณะกรรมการฯ ต้องกล้าที่จะทำ เพื่อแสดงความสุจริตโปร่งใสของตนเอง....    

ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ได้เข้าชื่อกันกว่า 300 คน ร้องขอให้มีการจัดการประชุมวิสามัญ เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 54 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในครั้งนี้ให้สมาชิกฯ ทราบ โดยยื่นหนังสือให้แก่ประธานคณะกรรมการโดยตรง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554  ซึ่งหากเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์ฯ แล้ว คณะกรรมการดำเนินการ จะต้องจัดให้มีการประชุมวิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นั่นหมายถึงต้องจัดให้มีการประชุมวิสามัญ ภายในไม่เกินวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2554 ที่จะถึงนี้  ....ข้อเท็จจริงต่างๆ ก็จะปรากฎขึ้น

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทุกคนต้องใส่ใจ..อย่าปล่อยให้มันสายเกินไป


*******************************
ชาติชาย คเชนชล : 22 สิงหาคม 2554

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ

ปัญหาเด็กและเยาวชนของไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแตกแยกทางครอบครัว ปัญหาการทะเลาะวิวาทชอบความรุนแรง ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร ปัญหาเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ปัญหาเรื่องสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ติดเกมส์ เสพสื่อลามกผ่านทางเว็บไซต์ ปัญหาไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีเรียน ปัญหาวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนกำลังเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของเรา

การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้กับเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันพัฒนาและส่งเสริม  เพราะหากเด็กและเยาวชนมีความเข้มแข็งทางจิตใจแล้วจะช่วยให้เด็กสามารถเผชิญสถานการณ์ที่กดดันทางสังคมได้ดีขึ้น และเลือกที่จะตัดสินใจดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีสู่ความสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวัง

ผมได้ไปอ่านพบตัวอย่างพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ควรสังเกตุและพยายามส่งเสริมให้แก่เขา ในหนังสือ "คู่มือเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" ซึ่งจัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2553 ในหนังสือได้กล่าวถึง  ความเข้มแข็งทางจิตใจประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
  • ความรู้สึกดีต่อตนเอง
  • ความสามารถในการจัดการและแก้ปัญหาชีวิต
  • มีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน
  • มีจุดมุ่งหมายในชีวิต


ความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
หมายถึง เด็กที่มีประสบการณ์ทีดีในวัยเด็ก ได้รับความรักความเข้าใจ สามารถพัฒนาตนเองตามความถนัด มีความสำเร็จและภาคภูมิใจในตนเอง พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • จะรู้ว่าตนเองมีความถนัดอะไร
  • รู้ความต้องการของตนเอง
  • ชื่นชมตนเองได้ เมื่อมีความสำเร็จ
  • ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง
  • มีความคาดหวังในทางบวกกับตนเอง
  • มองโลกในแง่ดี
  • เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จในชีวิต
  • เมื่อเกิดความผิดพลาด ลงมือแก้ไขปัญหา
  • พร้อมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
  • ไม่กังวลมากเกินไป
  • กล้าตัดสินใจในระดับที่เหมาะสม
  • มองหาต้นแบบที่ดีเป็นแบบอย่าง


ความสามารถในการจัดการและแก้ปัญหาชีวิต
หมายถึง ความสามารถในการเผชิญกับสถานการณ์ สามารถดูแลตนเอง จัดการกับสิ่งที่ตนเองชอบและไม่ชอบได้ ซึ่งเกิดจากการฝึกทักษะการจัดการกับอารมณ์และทักษะในการแก้ปัญหา เด็กที่มีความสามารถในการจัดการชีวิตจะมีความเชื่อมั่น เลือกทางเดินที่ดีให้กับตนเอง พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • หมั่นดูแลจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงสดชื่น
  • รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ
  • แยกแยะความคิดของตนเองได้ว่า ความคิดแบบไหนทำให้รู้สึกดี ความรู็สึกแบบไหนทำให้รู้สึกแย่
  • สามารถให้กำลังใจตนเองได้
  • สามารถตั้งเป้าหมายให้ตนเองได้
  • สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง มีความยืดหยุ่น
  • มีทักษะและวิธีคิดที่ดีในการแก้ปัญหา
  • มีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา และแก้ไขปัญหาอารมณ์ของตนเอง
  • มุ่งมั่นจะลงมือทำงานให้สำเร็จ
  • มีความสุขความพอใจในตนเอง
  • จัดการกับความเครียดได้ดี
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถรับมือและหาทางออกได้
  • มั่นใจว่าสามารถควบคุมการดำเนินชีวิตของตนเองได้ มีทางเลือก
  • แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ จะสามารถเลือกเดินทางได้ดี


มีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน
เป็นพลังทางใจที่เกิดจากสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง  ทำให้เกิดกำลังใจในการฝ่าฟันปัญหา และมีความไว้วางใจผูกพันธ์กับคนในครอบครัว พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • มีทักษะการสื่อสารที่ดี
  • มีทักษะการจัดการความขัดแย้งที่ดี
  • เข้าใจธรรมชาติและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • มีทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าของผู้อื่น
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
  • รู้จักรักตนเองและผู้อื่น
  • เป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี
  • มีความไว้วางใจต่อผู้คนรอบข้าง
  • มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคนอื่น
  • มีความเชื่อมั่นในธรรมชาติด้านดีของมนุษย์
  • ตระหนักในผลการกระทำของตนเองที่มีต่อผู้อื่น
  • ไม่พูดถึงปมด้อยของผู้อื่น


มีจุดหมายในชีวิต
การมีจุดมุ่งหมายของตนเอง ทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น พยายามประคับประคองตนเองไปสู่เป้าหมาย พฤติกรรมที่ควรพัฒนาและส่งเสริม
  • รู้จุดมุ่งหมายในระยะยาวของชีวิต และสร้างเป้าหมายระยะสั้นที่เป็นรูปธรรม
  • รู้ความต้องการของตนเอง
  • รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต
  • ตั้งเป้าหมายได้เหมาะสมกับสถานการณ์
  • ใช้เวลาสอดคล้องกับสิ่งที่สำคัญในชีวิต
  • สามารถประเมินตนเองและปรับปรุงตนเอง
  • มีแรงจูงใจและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย


การพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้แก่นักเรียน
การพัฒนาความเข้มแข็งด้านจิตใจ นอกจากจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรงแล้ว ผมคิดว่ากระบวนการที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่น่าจะทำหน้าที่นี้ก็คือ  "ระบบการศึกษาของไทย"  มีการกล่าวถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่จบการศึกษาในแต่ละระดับไว้อย่างหลากหลาย  แต่สุดท้ายผู้ที่จบการศึกษาออกมาหลายคน ไม่สามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมได้  มีความรู้ แต่ไม่มีความคิด แก้ปัญหาไม่เป็น  โดยเฉพาะที่สำคัญคือ "การขาดความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ" นี้เอง ที่ทำให้คนไทยเราด้อยคุณภาพลง ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และต่อสังคมส่วนรวม

นักพัฒนาหลักสูตร นักวัดและประเมินผล ควรที่จะให้ความสำคัญในการสร้างหลักสูตรที่จะสามารถพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจให้แก่ผู้เรียนได้ในทุกระดับครอบคลุม ทั้ง 4 ด้าน โดยสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนควบคู่กันไปได้ และควรสามารถวัดมันได้อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะวัดจากผลคะแนนสอบทางด้านวิชาการ แต่เพียงอย่างเดียว


*************************************
ข้อมูลอ้างอิง
  • ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2553). คู่มือเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Generation C

ผมอ่านบทความเรื่อง "พลังสังคมปฏิวัติสื่อ" ของคุณสโรชา  พรอุดมศักดิ์ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือสร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน 999 วัน เล่ม 2  เธอได้เขียนถึงศัพท์ที่ถูกบัญญัติใหม่สำหรับคนในกลุ่มที่ติดต่อและเชื่อมโยงกันด้วยสังคมเครือข่ายออนไลน์ (Social Media Network) ว่า "Genaration C"

Genaration C
  • คือ คนรุ่นใหม่ทีให้ความสำคัญของเนื้อหา (Content)
  • คือ คนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ชอบการสื่อสารโดยตรงกับผู้คนบนโลกออนไลน์ (Connecting People)
  • คือ คนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันและอนาคต ต้องการก้าวให้ทันการเแลี่ยนแปลง กระตือรือร้นในการตรวจสอบความถูกต้อง (Correct) 
  • คือ คนรุ่นใหม่ที่ชอบแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองได้รับ (Comment)
  • คือ คนรุ่นใหม่ที่ชอบสร้างกลุ่มเพื่อน บนชุมชนเสมือนจริงในโลกออนไลน์ (Community)
  • คือ คนรุ่นใหม่ที่ชอบสร้างสรรค์ หรือสร้างกิจกรรมที่สามารถแสดงพลังทางสังคม (Create)

ผู้เขียนมีความเห็นว่า กลุ่มคน Generation C ของประเทศไทยกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมโยงกันบนโลกออนไลน์ด้วยเครื่องมือทางสังคมต่างๆ  เช่น Facebook  Youtube  twiiter เป็นต้น  ผู้เขียนยอมรับว่ามันสามารถสร้างกระแส สร้างทัศนคติ สร้างมุมมอง และสร้างพลังทางสังคมให้เกิดขึ้นได้จริง 

นอกจากนั้นคนใน Genaration C จะสามารถบอกได้ว่าเขา ชอบ (like) หรือไม่ชอบ (Unlike)  เพื่อแสดงความเห็นต่อข้อมูลที่ได้รับอย่างตรงๆ โดยไม่ต้องกลัวใครจะมาโกรธ  คนในกลุ่มนี้ มีจิตสาธารณะที่พร้อมจะแบ่งปันความรู้หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดีดีที่ได้พบเห็น ให้แก่กันและกันเสมอ (Share) 

Generation C - คุณเป็นคนรุ่นนี้หรือยัง
ผู้เขียนเคยเล่าให้คนรอบข้างฟังเสมอ  "เธอจะมีความเก่งและชำนาญด้านคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี และสังคมเครือข่ายออนไลน์ มากขึ้นเรื่อยๆ  หากเธอเล่นมันอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่าเล่นอย่างไร้สาระ" 

จะดีแค่ไหน
  • ถ้าเธอมี Facebook ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการโพสต์และแชทกับเพื่อนไปวันๆ ด้วยเรื่องราวที่ไร้สาระ 
  • ถ้าเธอเข้าอินเตอร์เน็ต แล้วรู้ว่าจะเข้าไปทำอะไร ดีกว่าไม่รู้จะออนไลน์ไปทำไม
  • ถ้าเธอเปิดอีเมล์ แล้วมีจดหมายส่งมาถึงเธอ กับการเปิดอีเมลล์ที่ไม่มีใครส่งอะไรมาให้เธอเลย
  • ถ้าเธอมี Weblog ไว้บันทึกเรื่องราวของตนเอง และสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย
  • ถ้าเธอสามารถแบ่งปันภาพสวยๆ หรือคลิบวีดีโอดีดี  ให้คนอื่นได้ดู 
  • ถ้าเธอพบความรู้ใหม่ๆ  แล้วสามารถแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้รับรู้เช่นกัน 
  • ถ้าเธอมี Smart Phone ,Ipad ,Iphone, BB แล้วสามารถใช้มันได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้มีเอาไว้แค่โชว์ แค่อวด ดูหนัง ดูภาพ ฟังเพลง หรือทำแต่เรื่องราวที่ไร้สาระ  
  • ฯลฯ

Generation C = Content,Connect,Correct,Comment,Community และ Create
คน Generation C ไม่จำกัดอายุ..อาจมีตั้งแต่เด็กเล็กๆ ถึงคนเฒ่าคนแก่ คนเหล่านี้สามารถเลือกสิ่งต่างๆในโลกออนไลน์ได้อย่างอิสระ  เลือก Content ที่มีประโยชน์ เลือก Connect กับคนที่มีสาระ เลือก Correct ในสิ่งที่ถูกต้อง เลือก Comment ที่สร้างสรรค์มากกว่าทำลาย เลือก Community กลุ่มคนที่เข้าใจกัน และเลือก Create พลังทางบวกต่างๆ ให้แก่สังคม 


**************************************
ชาติชาย คเชนชล : 9 ส.ค.2554