หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อยากได้ "ครูสอนดี" หรือวิธีจัดสรรงบประมาณ

หลายคนในแวดวงการศึกษา คงตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่า ใครจะเป็น "ครูสอนดีของประเทศไทยประจำปี 2554" จำนวน  20,000 คน จากจำนวนครูทุกสังกัดทั่วประเทศที่มีมากกว่า 600,000 คน  ซึ่งจะได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชู แถมได้รับเงินรางวัล อีกคนละ 10,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 200 ล้านบาท และในจำนวน 20,000 คนนี้ จะมีเพียง 600 คน ที่จะได้รับ "ทุนครูสอนดี" โดยได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการเพื่อขยายผลโครงการละ 500,000 บาท เป็นเงินรวม 300 ล้านบาท ตามเงื่อนไขและสัญญาผูกพันเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนั้นแล้ว จะมี "จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือก " อีกจำนวน 10 จังหวัดจาก 77 จังหวัด ที่มีกระบวนการคัดสรรครูสอนดีที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม จะได้รับเงินรางวัลจังหวัดละ 5,000,000 บาท รวม 10 จังหวัด เป็นเงินรางวัล 50 ล้านบาท  รวมแล้วเงินรางวัลในโครงการนี้  รวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท

แนวทางการคัดเลือกครูสอนดี
ครูสอนดีนี้ เป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศในโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง "ครูสอนดี" โดยมี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นเจ้าของโครงการ โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 2 ระดับ ดังนี้
  • คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัด (คกก.จังหวัด) จำนวน 1 คณะ โดยประกอบด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนของจังหวัด มี ผู้ทรงคุณคุณวุฒิ(ภาควิชาการ)เป็นประธาน มี นายก อบจ. เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง มีผู้ที่นายก อบจ. แต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ
  • คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับท้องถิ่น (คกก.ท้องถิ่น) จำนวนคณะ เป็นตามจำนวนเทศบาล และ จำนวน อบต. ของ จังหวัดนั้นๆ โดยประกอบด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนในเขตการปกครองนั้นๆ มี นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. เป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีผู้ที่นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. แต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ 

หลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกครูสอนดีที่สำคัญ
การดำเนินการสรรหาจะประกอบด้วย 2 ช่องทาง คือ
โดยสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และสังกัดเทศบาล อบต. เป็นผู้ส่งชื่อครูสอนดี 
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ  ได้แก่

  • สถานศึกษาแต่ละแห่ง ต้องสรรหาโดยมติของบุคคล 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน 
  • จำนวนครูสอนดีที่แต่ละสถานศึกษาเสนอ จะไม่เกินตามที่ คกก.ท้องถิ่นนั้นๆ กำหนด ซึ่ง คกก.ท้องถิ่นจะกำหนดตามเหมาะสม  แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนครูในแต่ละสถานศึกษานั้นๆ
  • สถานศึกษาใดมีจำนวนครูไม่ถึงเกณฑ์ ให้แต่ละสถานศึกษานัั้นๆ รวมกลุ่มกัน เพื่อให้จำนวนครูถึงเกณฑ์ ที่จะเสนอได้ชื่อได้
  • แต่ละสถานศึกษา เสนอชื่อครูสอนดีของตนเอง ไปยัง คกก.ท้องถิ่น ในเขตการปกครองที่สถานศึกษา นั้นๆ ตั้งอยู่
โดย คกก.ท้องถิ่นเอง
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่
  • คัดเลือกเฉพาะ ครูสอนเด็กด้อยโอกาสนอกสถานศึกษา และครูในรูปแบบการศึกษาทางเลือก ในเขตพื้นที่การปกครองของตนเอง
การเสนอชื่อครูสอนดีให้ สสค.
หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่
  • คกก.ท้องถิ่นประชุมคัดเลือกครูสอนดี ที่เสนอชื่อมาจากสถานศึกษา และที่ตนเองคัดเลือกมาจากครูสอนเด็กด้อยโอกาสนอกสถานศึกษา และครูในรูปแบบการศึกษาทางเลือก ในเขตพื้นที่
  • คกก.ท้องถิ่น จะต้องคัดเลือกจำนวนครูสอนดี ทั้งหมดที่กล่าวมาให้เหลือไม่เกินจำนวนร้อยละ 4 แล้วส่งชื่อให้ คกก.จังหวัด
  • คกก.จังหวัด พิจารณาคัดเลือกครูสอนดี ที่ส่งมาจาก คกก.ท้องถิ่นทุกคณะ แล้วคัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่ สสค.ประกาศเอาไว้ เช่น ที่จังหวัดราชบุรีของผมได้รับโควต้ารางวัลครูสอนดี จำนวน 256 คน  โควต้าทุนครูสอนดี 8 คน (จากจำนวนครูทั้งจังหวัด 8,508 คน) 

เราจะได้ครูสอนดี จริงหรือไม่
ที่ผมต้องเขียนกล่าวนำมายืดยาวอย่างนี้ เพื่อให้ผู้อ่านหลายท่านพอได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาครูสอนดีของประเทศไทย  แล้วผลสุดท้ายเราจะได้ ครูสอนดี จริงหรือไม่ ต้องลองใช้วิจารญาณดูเอาเองนะครับ ผมจะขอยกตัวอย่างปัญหาที่อาจพบเห็นในการปฏิบัติ  ซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ เช่น

กรณีโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่
ตัวอย่าง : สถานศึกษาสามารถเสนอชื่อครูสอนดี ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของจำนวนครูในสถานศึกษา (สมมติว่า คกก.ท้องถิ่น ให้เสนอได้จำนวนร้อยละ 20 คือสูงสุด)
  • โรงเรียน ก มีครู 4 คน "ครู A" ได้รับการคัดเลือกจากบุคคล 4 ฝ่ายให้เป็นครูสอนดี แต่เสนอชื่อไม่ได้ เพราะโควต้าไม่ถึง (4X20%=0.8 คน)
  • โรงเรียน ข มีครู 3 คน "ครู B" ได้รับการคัดเลือกเป็นครูสอนดีเช่นกัน แต่ก็เสนอชื่อไม่ได้
  • โรงเรียน ค มีครู 4 คน "ครู C"  ได้รับการคัดเลือกเป็นครูสอนดีเช่นกัน แต่ก็เสนอชื่อไม่ได้
  • โรงเรียน ง มีครู 20 คน "ครู D,E,F,G" ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 4 คน เพราะได้โควต้า 4 คน (20x20%=4)
  • กรณีนี้ โรงเรียน ก ข และ ค ต้องรวมกลุ่มกันถึงจะได้โควต้าเสนอชื่อครูสอนดี ซึ่งหากรวมกันก็จะได้ครูจำนวน 4+3+4 = 11 คน เสนอชื่อร้อยละ 20 ก็จะได้ครูสอนดี 2 คน (11X20%=2.2 คน) แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินระหว่าง ครู A   ครู B และ ครู C ว่าจะตัดชื่อใครออก 1 คน เพราะทั้ง 3 คนก็ถูกคัดเลือกมาจากบุคคลทั้ง 4 ฝ่ายของแต่ละโรงเรียนเหมือนกัน
  • หากครู B ถูกตัดทิ้งออกไปหรือยอมเสียสละไม่เสนอชื่อตนเอง แล้วใครจะบอกว่า "ครู D,E,F,G ของโรงเรียน ง จะสอนดีกว่าครู B" 
  • ครู B เสียโอกาสตั้งแต่แรกแล้ว ที่จะถูกเสนอชื่อเข้าคัดเลือกใน คกก.ท้องถิ่น  
คกก.ท้องถิ่น จะคัด "ครูสอนดี" ออกได้อย่างไร
ตัวอย่าง : สถานศึกษาสามารถเสนอชื่อครูสอนดี ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของจำนวนครูในสถานศึกษา (สมมติว่า คกก.ท้องถิ่น ให้เสนอได้จำนวนร้อยละ 20 คือสูงสุด) และ คกก.ท้องถิ่น จะต้องคัดเลือกจำนวนครูสอนดี ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่เกินจำนวนร้อยละ 4 ส่งชื่อให้ คกก.จังหวัด ต่อไป
  • คกก.เทศบาลตำบล A  มีครูในเขตการปกครองทั้งหมด 200 คน มีการเสนอชื่อครูสอนดีเข้ามาทั้งสิ้นตามโควต้า คือ 40 คน (ร้อยละ 20)
  • คกก.เทศบาลตำบล A จะต้องคัดเลือกครูสอนดีออก 32 คน ให้เหลือ 8 คน  คือ ร้อยละ 4 (200X4%) เพื่อเสนอชื่อให้ คกก.จังหวัด คัดเลือกต่อไป
  • แล้ว คกก.ท้องถิ่น จะคัดครูสอนดีออก 32 คน ด้วยวิธีการอะไร?
คกก.จังหวัด จะคัดเลือกครูสอนดี ให้เหลือตามที่ สสค.ให้โควต้าได้อย่างไร
ตัวอย่าง : จ.ราชบุรี มีครูทุกสังกัดจำนวน  8,508 คน สสค.ให้โควต้าครูสอนดี 256 คน ในขณะที่ คกก.ท้องถิ่นทุกคณะเสนอรายชื่อครูสอนดีมายัง คกก.จังหวัด ตามโควต้าคือ ร้อยละ 4 รวมทั้งหมด   340 คน (8,508X4%)
  • คกก.จังหวัด จะต้องคัดครูสอนดีออกถึง 84 คน (340-256 คน) ให้เหลือ 256 คน ตามที่ได้รับโควต้า จาก สสค.
  • แล้ว คกก.จังหวัด จะคัดครูสอนดีออก 84 คน ด้วยวิธีการอะไร?
ครูสอนดี (เพราะกลัวเสียสิทธิ์)
โรงเรียนบางโรงเรียน ครูทะเลาะกัน ชิงดีชิงเด่น แตกแยกความสามัคคี โรงเรียนไม่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เด็กนักเรียนก็มีแค่  ป.1-ป.6 รวมทั้งโรงเรียนแล้วไม่เกิน 60 คน แล้วคณะบุคคล 4 ฝ่ายที่จะมาคัดเลือกครูสอนดีในโรงเรียนนั้น จะมาจากไหน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็รู้ว่าที่โรงเรียนไม่มีครูคนไหนสอนดีเลยสักคน แต่กลัวเสียโควต้าและกลัวถูกนินทาว่าโรงเรียนของตนเองไม่มีครูสอนดีเลย  จึงสั่งครูสอนไม่ดีคนหนึ่งให้เสนอรายชื่อเป็น "ครูสอนดี" (ของผู้อำนวยการ) จัดสร้างเอกสารหลักฐานต่างๆ เสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือก

ครูสอนดี(ของผู้อำนวยการ)
โรงเรียนบางโรงเรียน มีครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งสมาคมผู้ปกครองและครู คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า พร้อมที่จะประชุมเพื่อคัดเลือกครูสอนดีของโรงเรียน แต่กลับไม่ประชุม ผู้อำนวยการใช้อำนาจเผด็จการเสนอชื่อ ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นเด็กในกำกับของตนเอง ให้เป็น "ครูสอนดี"  เที่ยวขอเอกสารสร้างหลักฐานเท็จจากนักเรียนคนโน้นคนนี้   เพื่อจะประกอบเป็นผลงานของตนเอง พอรายชื่อ "ครูสอนดี" ของโรงเรียนประกาศออกมา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์และนักเรียนทั้งหลาย ต่างพากันส่ายหน้าทุกคน


อยากได้ "ครูสอนดี" หรือวิธีจัดสรรงบประมาณ
กระบวนการคัดเลือกครูสอนดี ที่ สสค.ประกาศมานี้ ผมว่ามันเป็นหลักการที่ดีมาก แต่ผมเกรงว่ามันจะกลายเป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณมากกว่า โยนภาระการตัดสินใจไปให้ คกก.จังหวัด และ คกก.ท้องถิ่น และอันตรายก็คืออาจเกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นได้ในการคัดเลือกของคณะกรรมการในแต่ละระดับ หลักการจัดสรรแบบโควต้าเป็นร้อยละนั้น จะได้มาซึ่ง "ครูสอนดี" ที่ไม่เป็นจริง สังคมไม่เกิดการยอมรับ  ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง ต่อผู้ที่มีอาชีพ "ครู" ทุกคน ที่จะถูกสังคมดูถูกดูแคลนในวิธีการคัดสรร

โรงเรียนแห่งหนึ่ง ทั้งโรงเรียนไม่มีครูสอนดีเลย แต่กลับได้รับเชิดชูเป็นครูสอนดีตามโควต้า จำนวน 5 คน กับโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง ครูสอนดีทั้งโรงเรียน แต่กลับได้รับเชิดชูเป็นครูสอนดีตามโควต้า จำนวน 5 คน เช่นกัน สรุปได้ว่า ครูทั้ง 10 คน เป็นครูสอนดี จริงหรือไม่?

เงินรางวัลกว่า 550 ล้านบาทนี้ ผมว่ามันน่าเสียดาย มันน่าจะสร้างเรื่องราวดีดีให้แก่แวดวงการศึกษาของไทยได้มากกว่านี้ วิธีจะสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูยังมีอีกหลายวิธี แต่รางวัล "ครูสอนดี" ครั้งนี้ รังแต่จะทำให้ครูแตกแยก สังคมดูถูกเพราะขาดการยอมรับ เหตุเพราะคนที่ได้รับการคัดเลือก ไม่ใช่ "ครูสอนดี" ตัวจริง


********************************   

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ31 สิงหาคม 2554 เวลา 18:09

    เห็นด้วยกับประเด็นต่างๆ ที่เสนอมา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ม่เส้นสาย และโปร่งใสจริง หนักใจจริงๆ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ19 มกราคม 2555 เวลา 13:25

    ถ้าไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่ถูกเสนอจากสถานศึกษา และคณะกรรมที่แต่งตั้งไว้เป็นผู้เลือก จะมีกรรมการไว้ทำไม คณะกรรมการไม่มีจรรณยาบรรณหรือ คนที่โต้แย้ง แสดงว่าไม่มีนำใจนักกีฬา

    ตอบลบ