ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปัจจุบันอายุ 89 ปีถือเป็นปูชนียบุคคลของประเทศไทยโดยเฉพาะในทางเกษตรศาสตร์ โดยเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้มากที่สุดคนหนึ่งในโลกจนได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย" เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงาน และสังคม จนได้รับยกย่องให้เป็นผู้สูงอายุดีเด่นประจำปี 2553
ผมไม่รู้จักอาจารย์ระพี สาคริก เป็นการส่วนตัว แต่ได้ยินชื่อเสียงท่านมานานแล้ว เผอิญผมไปอ่านพบบันทึกของท่านในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ก็เลยนำมาเขียนลงไว้ในบล็อกนี้ เผื่อว่าต้นฉบับเดิมจะหาไม่เจอ เลยนำมาเขียนไว้อีกทางหนึ่งเพื่อช่วยเผยแพร่ต่อไป ผมว่าเป็นบทความที่ทุกคนควรอ่านจริงๆ ครับ
มองน้ำท่วมในด้านสร้างสรรค์
บันทึกเมื่อ 27 ตุลาคม 2554 ณ กาญจนบุรี
ที่มาของภาพ http://www.manager.co.th/Home/ ViewNews.aspx?NewsID=9540000137925 |
ความจริงน้ำท่วมครั้งนี้ ถ้าเธอไม่ใช่คนลืมง่าย เมื่อปี พ.ศ.2485 มันก็เกิดไม่น้อยไปกว่านี้ เว้นไว้แต่ว่าคนไทยสมัยนั้นไม่ได้สร้างวัตถุมากมาย เหมือนปัจจุบันจึงไม่เดือดร้อนเช่นทุกวันนี้ ฉันจำได้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2485 น้ำมันท่วมถึงชั้นที่สองของบ้าน แต่คนไทยก็ยังอยู่กันได้ถึงหนึ่งเดือนเต็มๆ ขณะนั้นฉันมีอายุ 21 ปี
แต่ทุกวันนี้เรากลับทำลายธรรมชาติ ภูเขาหินปูนลูกใหญ่ๆ ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และที่ปากช่อง เป็นต้น หายไปเยอะ เปลี่ยนไปเป็นตึกสูงๆ แม้แต่มหาวิทยาลัยก็มีการก่อสร้างกันอย่างเอิกเกริก การศึกษาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนี่เอง ที่ได้ทำลายจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ทำให้สังคมแย่ลงไปทุกที ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งตกต่ำ ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดการจัดการศึกษาทางเลือก
การศึกษาที่จัดให้คนนั่งอยู่ในตึกสบายๆ แล้วจะหวังให้ลูกศิษย์จบไปแล้วลงทำงานติดดินมันก็คงเป็นไปได้ยาก ยิ่งกว่านั้นตัวผู้ใหญ่เองซึ่งเป็นผู้บริหารก็เช่นกัน หากรักแต่จะประชุมอยู่แต่ในตึกอยู่ในห้องแอร์ ลูกศิษย์จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร เพราะถ้าหัวไม่ส่าย หางมันจะกระดิกได้อย่างไร
ฉันคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้มันน่า จะสอนให้เธอทั้งหลายรู้จักอดทน เพราะถ้าเธอต่อสู้กับใจตนเองไม่ได้แล้วจะไปสู้กับอะไรที่ไหน ฉันขอฝากเรื่องนี้เอาไว้ให้เธอกลับไปนอนคิด ฉันไม่รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้ง ถึงจะช่วยให้เธอรู้จักตัวเองดีขึ้นและไม่ไปทำลายธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรื่องความพอเพียงที่พูดกันแต่ปาก หากไม่รู้จักทำ มีแต่การพูดกันไปต่างๆนาๆ โดยหาจุดจบได้ยาก
ฉันอายุ 90 ปีแล้ว ฉันขอเป็นกำลังใจให้เธอทุกคนได้เรียนรู้กับความยากลำบากและอดทนทำงานหนักเพราะการทำงานหนักคือความสุขที่แท้จริง
ขอให้ชีวิตจงมีความสุขเพราะการทำงานให้แผ่นดิน โปรดอย่าคิดว่าการทำงานให้แผ่นดินนั้นจะต้องทำให้กับส่วนรวมเสมอไป แม้แต่การประกอบอาชีพอย่างดีที่ สุดโดยมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ถือได้ว่าคือการทำงานให้แผ่นดินเช่นกัน
อ่านจิตใจมนุษย์ผ่านวิกฤตน้ำท่วม
บันทึกเมื่อ 30 ตุลาคม 2554
...เธอที่รักของฉัน ฉันนั่งพิจารณาดูเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แล้วรู้สึกว่ามันเกิดเรื่องราวขึ้นเพราะมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวสูง เหตุผลก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ขาดความรักความสามัคคีซึ่งกันและกัน แม้น้ำท่วมครั้งนี้ จะรวมตัวกันก็ตามแต่ก็คงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น
หวนกลับไปนึกถึง การพัฒนาชนบทของไทยเท่าที่ผ่านมาแล้ว ฉันกล้าพูดว่ามันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะเปรียบเทียบน้ำท่วมครั้งนี้กับเมื่อปี พ.ศ.2485 แล้ว ครั้งก่อนมันมากกว่านี้ ที่ฉันกล้าพูดก็เพราะว่า ตนเองอยู่ในเหตุการณ์มาตลอดหนึ่งเดือนเต็มๆ แต่สังคมในครั้งนั้น บรรยากาศในกรุงเทพก็ยังไม่มีคนแออัดเหมือนเดี๋ยวนี้ ฉันเฝ้าสังเกตดูกรุงเทพฯ มาตลอด และพูดมานานแล้วว่า การพัฒนาชนบทมันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ตัวบ่งชี้ก็คือ แผงลอยข้างถนนมันแน่นขนัดยิ่งขึ้นทุกวัน แม้แต่นั่งรถแท็กซี่ ฉันก็ชอบที่จะถามว่ามาจากจังหวัดไหน ส่วนใหญ่ก็มักจะอพยพมาจากภาคอีสาน เรื่องมีขโมยขโจรในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมันก็ไม่มี ทุกคนกล้าเดินกลางคืนบนถนนหนทางได้อย่างมีความสุข และยังมีอีกหลายเรื่องที่สังเกตให้เห็นได้ว่ามีคนอพยพมาจากต่างจังหวัด
...เธอที่รักของฉัน ฉันนั่งพิจารณาดูเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แล้วรู้สึกว่ามันเกิดเรื่องราวขึ้นเพราะมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวสูง เหตุผลก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ขาดความรักความสามัคคีซึ่งกันและกัน แม้น้ำท่วมครั้งนี้ จะรวมตัวกันก็ตามแต่ก็คงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น
หวนกลับไปนึกถึง การพัฒนาชนบทของไทยเท่าที่ผ่านมาแล้ว ฉันกล้าพูดว่ามันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะเปรียบเทียบน้ำท่วมครั้งนี้กับเมื่อปี พ.ศ.2485 แล้ว ครั้งก่อนมันมากกว่านี้ ที่ฉันกล้าพูดก็เพราะว่า ตนเองอยู่ในเหตุการณ์มาตลอดหนึ่งเดือนเต็มๆ แต่สังคมในครั้งนั้น บรรยากาศในกรุงเทพก็ยังไม่มีคนแออัดเหมือนเดี๋ยวนี้ ฉันเฝ้าสังเกตดูกรุงเทพฯ มาตลอด และพูดมานานแล้วว่า การพัฒนาชนบทมันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ตัวบ่งชี้ก็คือ แผงลอยข้างถนนมันแน่นขนัดยิ่งขึ้นทุกวัน แม้แต่นั่งรถแท็กซี่ ฉันก็ชอบที่จะถามว่ามาจากจังหวัดไหน ส่วนใหญ่ก็มักจะอพยพมาจากภาคอีสาน เรื่องมีขโมยขโจรในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมันก็ไม่มี ทุกคนกล้าเดินกลางคืนบนถนนหนทางได้อย่างมีความสุข และยังมีอีกหลายเรื่องที่สังเกตให้เห็นได้ว่ามีคนอพยพมาจากต่างจังหวัด
ที่มาของภาพ http://www.manager.co.th/Home/ ViewNews.aspx?NewsID=9540000139085 |
แม้แต่ปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งครั้งหนึ่งในช่วง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพ ได้เคยเชิญให้ฉันและคุณหมอ ประเวศ วะสี ไปปรึกษาเพื่อคิดวิธีแก้ไขปัญหา ครั้นคุยกันไปได้พักหนึ่ง เราก็บอกว่า การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในกรุงเทพฯนั้นจะต้องคิดแก้ไขในต่างจังหวัด ความจริงเรื่องนั้น ก็คือหลักธรรม ที่ว่า ถ้าเกิดปัญหาขึ้นที่ไหน ก็ควรหวนกลับไปแก้ไขอีกด้านหนึ่ง สรุปแล้ว การแก้ไขปัญหาในชนบท คนกรุงเทพฯจะต้องมีใจกว้าง และมีความเมตตา กรุณา ต่อคนที่อยู่ต่ำกว่าเรา
นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ เห่อความมีหน้ามีตา มีรถยนต์หรูๆ ราคาแพง และยังนิยมเล่นพรรคเล่นพวก แทนที่จะมีจิตใจซื่อสัตย์ สุจริต จึงทำให้แม้แต่การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด เราก็ยังแก้ไม่ตก เมื่อด้านหนึ่งมันเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อมีวัตถุเพิ่มขึ้น จิตใจคนมันก็ยิ่งโลภมาก ได้เท่านี้ยังจะเอาเท่านั้นแล้วเราจะมาพูดเรื่องความพอเพียง ก็คงจะพูดได้แต่ปาก ประชากรในกรุงเทพฯ ซึ่งขาดการศึกษาที่ดี ย่อมมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น มีอะไรนิดหน่อยก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน จนกระทั่งบางครั้งถึงกับฆ่ากันเอง แม้แต่อยู่ในซอยเดียวกัน ก็ไม่พูดกัน บ้านไหนมาก่อนก็ย่อมเคราะห์ร้าย เพราะถมดินแข่งกัน ต่างคนต่างสูงยิ่งขึ้นไปทุกที
ส่วนน้ำที่ไหลมามันตรงไปตรงมา ดังนั้น จึงหาทางออกได้ยาก ถ้าฉันจะพูดว่า คนไทยส่วนใหญ่ใจแคบจึงปิดทางน้ำให้มันเดิน นี่แหล่ะ คือบาปกรรมที่ทำเอาไว้ เสมือนเราจับน้ำมาขังคุก ฉันเชื่อว่าไม่เคยมีมนุษย์หน้าไหนเอาชนะอิทธิพลธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์กำแหงก็คงต้องรับกรรมแบบนี้ ยิ่งคนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยลืมง่ายด้วยแล้ว แม้น้ำท่วมหนักขนาดนี้ ก็คงไม่รู้ว่าสาเหตุมันมาจากไหน บางคนพูดว่าตัวเองไม่ได้ทำกรรมไว้ แต่เหตุไฉนจึงต้องมารับกรรม ความจริงชีวิตของทุกคนย่อมมีกรรมด้วยกันทั้งนั้น เว้นไว้แต่ว่ามีมากมีน้อย และโดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อทำอะไรผิดเอาไว้ก็มักไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราจึงควรอยู่อย่างยอมรับความจริงน่าจะดีกว่า
สรุปแล้ว น้ำท่วมครั้งนี้ย่อมมีขยะใหม่ขึ้นมาให้เราได้เห็น แต่ขยะตัวจริงนั้นไม่ใช่สิ่งสกปรกในน้ำ หากแต่เป็นจิตใจของมนุษย์นี่แหล่ะ ความจริงแล้วขยะที่อยู่ในน้ำนั้น ไม่มีตัวตนให้ต้องไปยึดติด ที่ฉันพูดว่าไม่มีตัวตน ก็เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามนุษย์มีปัญญาที่จะใช้ให้หมด มันก็คงไม่มีขยะหลงเหลืออยู่อีก แม้แต่พ่อฉันก็เคยสอนว่า เวลากินข้าวอย่าเหลือข้าวสุกติดก้นจาน นี่ก็เป็นสัจธรรม ซึ่งฉันคิดว่ามันคือสมบัติอันล้ำค่า ที่ฉันได้รับมาจากพ่อ
เพราะฉะนั้นน้ำท่วมครั้งนี้โปรดอย่าโทษน้ำเลย ขอให้หวนกลับมาพิจารณาที่มนุษย์น่าจะดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตัวเราเอง
**************************
ที่มา :
ปรบมือเป็นบทความที่เยี่ยมมากจริงๆค่ะ
ตอบลบความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ