หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ - จะพูดได้ควรเริ่มจากการฟัง

โครงการ พ.ศ.2555 ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือด้านการสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และมีความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน 5 ภูมิภาคของโลก และการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ที่มาของภาพ
http://www.moe.go.th/websm/2011/dec/348.html
โดยกระทรวงศึกษาจะมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษาต่างๆ กำหนดให้วันจันทร์เป็นวันภาษาอังกฤษในโรงเรียน เป็นการพูดทักทาย เพื่อทำให้การใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพื่อฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคย และเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะใช้ติดต่อสื่อสารในสังคมอาเซียนและประชาคมโลก ในอนาคตต่อไป 

โครงการนี้ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ผมขอเสนอแนะเพิ่มเติมว่า "ก่อนที่เด็กๆ นักเรียนจะพูดได้ ควรเริ่มต้นมาจากการฟังให้ออกให้เสียก่อน"  ซึ่งเป็นไปตามหลักของหัวใจนักปราชญ์ข้อแรก คือ สุ(สุตะ) ซึ่งหมายถึง เรียนรู้ได้ด้วยการฟัง และควรควบคู่ไปกับการอ่านให้มากด้วย (หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน))  ดังนั้นในโรงเรียนนอกจากการพูดภาษาอังกฤษในวันจันทร์แล้ว ควรจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้ฟังและได้อ่าน ให้มากขึ้น ควบคู่กันไปด้วย

ตอนผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมได้จัดโครงการชี้แจงหน้าเสาธงในตอนเช้า โดยใช้ภาษาพูดพื้นถิ่น คือ ภาษาเหนือ ภาษาอิสาน ภาษาใต้ ภาษากลาง  และตามด้วยภาษาอังกฤษ ภาษาละ 1 วัน โดยให้คุณครูที่มีภูมิลำเนาในภาคนั้นๆ และครูภาษาอังกฤษผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันชี้แจงหน้าเสาธง พร้อมต้องแปลเป็นภาษากลางให้เด็กนักเรียนเข้าใจด้วย

ผมมีความเชื่อว่า "เมื่อเด็กๆ เหล่านี้โตขึ้นไปใช้ชีวิตในสังคมต้องพบกับผู้คนและเพื่อนร่วมงานต่างๆ ที่มาจากหลายภาคหลายภาษา  ดังนั้นเขาจึงควรฟังภาษาถิ่นของแต่ละภาคที่คนเหล่านั้นพูดได้อย่างเข้าใจ ถึงแม้จะพูดภาษาถิ่นของภาคนั้นๆ ไม่ได้เลยก็ตาม"  เช่นเดียวกับ ภาษาอังกฤษ หากเด็กเราฟังเข้าใจ อ่านออก แม้เขาจะพูดไม่เก่งก็ไม่เป็นไร   ผมว่า เพียงแค่นี้ เด็กของเราเขาก็น่าจะพอเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง

ทำอย่างไรที่จะให้เด็กนักเรียนได้ฟังและได้อ่านภาษาอังกฤษมากขึ้น
วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยเสริมให้เด็กนักเรียนของเราได้ฟังและได้อ่านภาษาอังกฤษให้มากขึ้น นอกเหนือจากการพูดในวันจันทร์และการสอนในชั่วโมงภาษาอังกฤษแล้ว เราอาจช่วยเสริมได้หลายทาง เช่น
  • การเขียนข้อความในฉากหลังกิจกรรม ในบอร์ดประชาสัมพันธ์ข่าวสารความรู้ ป้ายชื่อแหล่งเรียนรู้ ป้ายชื่อห้องเรียน ป้ายชื่อสำนักงาน ป้ายคำขวัญคำเตือนใจ ป้ายชื่อร้านอาหาร เมนูอาหาร ป้ายห้องน้ำ ห้องสุขา ฯลฯ ควรจัดทำเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  • การจัดงานพิธีและกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ควรจัดให้มีพิธีกรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไป เพราะจะทำให้เด็กนักเรียนคุ้นเคยและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้นจากการปฏิบัติบนเวที
  • สื่อการสอนในวิชาต่างๆ ควรสลับสับเปลี่ยนใช้สื่อทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยหมุนเวียนกันไป
  • สื่อมัลติมีเดียต่างๆ เช่น นิทาน คลิบวีดีโอ เพลง ภาพยนตร์ ควรจัดเสริมให้เป็นแบบเสียงบรรยายภาษาอังกฤษแต่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยประกอบ
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ อีเมลล์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ หลังจากที่เด็กนักเรียนเข้าใจโหมดเมนูภาษาไทยแล้ว ควรเปลี่ยนไปใช้ในโหมดเมนูภาษาอังกฤษ แทน
  • การจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น มุมภาษาอังกฤษ ค่ายภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษคำละวัน เป็นต้น 
  • ฯลฯ

ปัจจุบันคนไทยหลายคนชอบพูดล้อเล่นกันด้วยภาษาไทยสำเนียงของชาวพม่า เพื่อแลดูให้เป็นเรื่องตลกขบขัน แต่ท่านเชื่อไหม เด็กนักเรียนชาวพม่าหลายคนที่ต้องอพยพตามพ่อแม่เข้ามาทำงานฯ และได้เรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย  เด็กเหล่านี้นอกจากมีภาษาพม่าของเขาเองแล้ว เขายังสามารถฟังภาษาอังกฤษออกและพูดได้อีกด้วย  และในวันนี้เขากำลังเรียนรู้ภาษาไทยอยู่

วันหนึ่ง เมื่อเด็กพม่าเหล่านี้โตขึ้น เขาจะสามารถฟังออกและพูดได้ถึง"สามภาษา" เลยทีเดียว 

เด็กนักเรียนชาวพม่าเหล่านี้เริ่มต้นมาจากการ "ฟัง" ทั้งสิ้น

เด็กนักเรียนชาวพม่าใน จ.ราชบุรี





















****************************
ชาติชาย คเชนชล : 9 ม.ค.2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น