หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Tablet ไทยเวอร์ชั่น

ในที่สุด รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจซื้อแท็บเล็ต เพื่อแจกนักเรียนชั้น ป.1 ของเราตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้จำนวน 800,000 เครื่องกับรัฐบาลจีน แบบ government to government (G to G) โดยใช้วิธีนำข้าวไปแลกกับแท็บเล็ต และผมเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็คงต้องมีการแจกแท็บเล็ตอย่างนี้กันต่อไป

หากเรารู้ว่าในอนาคตเราคงต้องแจกแท็บเล็ตอย่างนี้ให้เด็กๆของเราเป็นประจำทุกปี ปีละเกือบ 1 ล้านเครื่อง ผมเสนอว่า "เราควรจะหันกลับมาวางแผนหาทางผลิตแท็บเล็ตเองมากกว่าที่จะต้องซื้อใหม่จากต่างชาติเป็นประจำทุกปี"  ผมว่าคนไทยมีคนเก่งอยู่มาก แต่เรามักไม่ให้โอกาสพวกเขา พวกเขาจึงต้องระเหเร่ร่อนไปสมัครงานเป็นลูกจ้างของบริษัทฯต่างชาติแทน รัฐบาลไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนโยบายการวิจัยและพัฒนา เราเป็นประเทศที่ชอบซื้อเทคโนโลยี มากกว่าเป็นประเทศที่จะสร้างเทคโนโลยี คนจีนในสมัยก่อนก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรไปมากกว่าเรา มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เรากลับต้องซื้อเทคโนโลยีจากเขา

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดว่า รัฐบาลไทยแต่ละสมัยไม่ค่อยสนใจในการวิจัยและพัฒนา เช่น สมัยก่อนหลายคนคงได้เคยสัมผัสและใช้งาน "เวิร์ดจุฬา" และ "เวิร์ดราชวิถี" ก่อนที่จะมีไมโครซอร์ฟเวิร์ดด้วยซ้ำไป ใช้กันอย่างกว้างขว้างในแวดวงราชการและสถานศึกษา ทั้งสองเวิร์ดสร้างและพัฒนาโดยคนไทยแท้ๆ คือ สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชมรมไมโครคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลราชวิถี แต่กลับไม่มีการต่อยอด วันนี้...เวิร์ดเหล่านี้ตายไปหมดแล้ว กลายเป็นเพียงแค่ตำนาน วันนี้เราจึงต้องใช้เทคโนโลยีของคนอื่นอยู่ร่ำไป

รัฐบาลน่าจะจัดสรรงบประมาณแก่สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทยที่มีอยู่มากมายช่วยกันระดมมันสมอง อาจจัดตั้งเป็นทีมงานวิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบ "Tablet ไทยเวอร์ชั่น" ขึ้นมาสักเครื่องหนึ่ง เสร็จแล้วนำมาผลิตเพื่อแจกจ่ายให้เด็กๆ ของพวกเราใช้เรียนหนังสือ แรกๆ อาจจะไม่ดีนักก็ค่อยพัฒนาปรับปรุงเป็นเวอร์ชั่นใหม่กันไปเรื่อยๆ  หากเป็นอย่างนี้ ต่อไปเราก็จะมีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาจากผู้อื่น  แถมอนาคตอาจสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ
ไทยไม่เคยทำ ชอบซื้อเขามาใช้ แล้วใครเจริญ


***********************************
ชาติชาย  คเชนชล : 14 ก.พ.2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น