หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตารางโง่ๆ ของ สพป.ราชบุรีเขต 1

เพื่อนครูเล่าให้ผมฟังเรื่อง สพป.ราชบุรี เขต 1 ได้จัดเรียงอันดับคะแนนเฉลี่ย O-NET ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด   ซึ่งผลที่เกิดขึ้น ทำให้ท่านผู้อำนวยการและครู ในโรงเรียนชื่อดังฯ หลายโรงเรียนรู้สึกเครียด แถมชื่อเสียงของโรงเรียนที่สั่งสมมานาน กลับถูกทำลายเพียงชั่วพริบตา ด้วยตารางการจัดอันดับ O-NET โง่ๆ  เพียง 2 ตาราง     

ที่มาของภาพ
http://www.skm21.org/
view.php?article_id=498
ผมได้เข้าไปสืบค้นรายงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2554 ของนักเรียนชั้น ป. 6 และ ม.3 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1  ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จึงได้พบตารางการจัดอันดับ O-NET ตามที่ว่าจริงๆ ซึ่งผมเห็นด้วยว่า "ตารางนี้ คือตารางที่จัดทำขึ้นเพื่อการทำลายการศึกษามากกว่าจะพัฒนาการศึกษา"  

คิดได้อย่างไร
ตาราง 2 ตารางที่ว่านี้ อยู่ในบทที่ 3 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่

ตารางที่ 12 ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2554 เรียงลำดับตามคะแนนเฉลี่ย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  โดยเรียงจากมากไปหาน้อย ซึ่งมีโรงเรียนที่ถูกจัดเรียงลำดับทั้งสิ้น 186 โรงเรียน ยกตัวอย่างที่สำคัญ เช่น

  • ลำดับ 1 โรงเรียนบ้านโป่ง 
  • ลำดับ 31 โรงเรียนดรุณาวิเทศศึกษา (เอกชน)
  • ลำดับ 46 โรงเรียนนารีวิทยา (เอกชน)
  • ลำดับที่ 70 โรงเรียนอนุบาลราชบุรี 
  • ลำดับที่ 109 โรงเรียนดรุณาราชบุรี (เอกชน)
  • ลำดับที่ 121 โรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช)
  • ลำดับสุดท้าย 186 โรงเรียนบ้านลำพระ


ตารางที่ 24  ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2554 เรียงลำดับตามคะแนนเฉลี่ย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  โดยเรียงจากมากไปหาน้อย ซึ่งมีโรงเรียนที่ถูกจัดเรียงลำดับทั้งสิ้น 29 โรงเรียน ยกตัวอย่างที่สำคัญ  เช่น 
  • ลำดับที่ 1 โรงเรียนวัดป่าไก่
  • ลำดับที่ 20 โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน
  • ลำดับที่ 22  โรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช)
  • ลำดับที่ 23 โรงเรียนวัดดอนตลุง
  • ลำดับสุดท้าย  29 โรงเรียนบ้านลำพระ

การวิเคราะห์ตารางทั้ง 2 นี้ ผู้จัดทำตารางฯ  ได้เอาคะแนนเฉลี่ยแต่ละกลุ่มสาระของแต่ละโรงเรียนมารวมกันแล้วหารด้วย 8  จึงได้ออกมาเป็นค่าเฉลี่ย แล้วนำมาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย 

ซึ่งไม่ทราบว่า ผู้จัดทำต้องการผลการจัดอันดับ O-NET  นี้ไปใช้ทำอะไร 
จะใช้วัดว่าโรงเรียนไหนมีผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากกว่ากันหรือ? 

หากประสงค์เช่นนั้น  ผมเห็นว่าน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะผิดด้วยหลักวิชาการ  เนื่องจากขาดข้อเท็จจริงบางประการ เพราะคะแนนเฉลี่ยกลุ่มสาระของแต่ละโรงเรียนนั้น   จะมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ที่แตกต่างกันไป  การนำเฉพาะคะแนนเฉลี่ยอย่างเดียวมาคิดคำนวณ  จึงไม่ใช้ข้อเท็จจริงที่จะบ่งบอกถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น 
  • โรงเรียน ก. มีเด็ก 2 คน คนหนึ่งได้ 80 คะแนน อีกคนหนึ่งได้ 20 คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยก็คือ  50 คะแนน ( 80+20/2)
  • โรงเรียน ข. มีเด็ก 2 คน คนหนึ่งได้ 40 คะแนน อีกคนหนึ่งได้ 60 คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยก็คือ 50 คะแนน (40+60/2) เช่นกัน
  • โรงเรียน ค. มีเด็ก 5 คน ทุกคนได้คะแนน 50  คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยก็คือ 50 คะแนน (50+50+50+50+50/5) เช่นกัน
จากตัวอย่างนี้  โรงเรียนทั้ง 3 แห่งได้คะแนนเฉลี่ย 50 คะแนนเท่ากัน แต่หากดูค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ของทั้ง 3 โรงเรียนจะมีความแตกต่างกัน อย่างนี้ 
"ท่านบอกได้หรือไม่ว่าโรงเรียนไหนมีผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากกว่ากัน"

สพป.ราชบุรีเขต 1 จัดอันดับ O-NET เพื่ออะไร? 
ตารางจัดอันดับ O-NET นี้ ไม่ควรจัดทำมาตั้งแต่แรกแล้ว  เพราะไม่มีประโยชน์และผิดหลักวิชาการ   รังแต่จะทำให้หลายคนหลายฝ่ายไม่สบายใจมากกว่า  ผู้อำนวยการและครูหลายโรงเรียนที่ตั้งใจทำงาน อาจจะถึงกับท้อแท้  เพราะตารางโง่ๆ ทั้ง 2 ตารางนี้  และหากผู้บังคับบัญชา เอาตารางการจัดอันดับ O-NET ไปพิจารณาความดีความชอบด้วยแล้วนับว่าผิดมหันต์ เพราะเหตุผลง่ายๆ ก็คือ
  1. องค์ประกอบและบริบทของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน
  2. จำนวนนักเรียนที่แตกต่างกัน (บางโรงเรียนแต่ละชั้นมีแค่  4-5 คน แต่บางโรงเรียนแต่ละชั้นอาจมีถึง 300-400 คน)
  3. สติปัญญาของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน 

วัตถุดิบที่แตกต่างกัน
ถึงแม้จะมีกระบวนการผลิตที่เหมือนกัน
ผลผลิตที่ได้ย่อมแตกต่างกัน


*********************************

ชาติชาย คเชนชล : 12 มิ.ย.2555


ที่มาข้อมูล https://sites.google.com/site/superrb1/rayngan-phl-sxb-o-net  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น