หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556

ที่มาของภาพ : โพสต์ ทูเดย์



สำนักงาน กสทช. เผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 พบว่าสังคมไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และเอดีเอสแอล พบว่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการโทรคมนาคมที่คนไทยในทุกพื้นที่นิยมใช้สูงสุดถึงร้อยละ 93.5 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการแบบเติมเงินสูงถึงร้อยละ 79.2 ด้านการใช้งานพบว่าร้อยละ 99.9 เป็นการใช้บริการด้านเสียง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา 


โดยพื้นที่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 53.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ ร้อยละ 32.6 ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 29.5, 24.3 และ 18.9 ตามลำดับ และบริการที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ
  1. บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter ร้อยละ 33.1 
  2. การสื่อสารผ่านข้อความ อาทิ Line, What App ร้อยละ 29.4 และ
  3. การค้นหาข้อมูล ร้อยละ 28.9 
ขณะที่การใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานลดลง แต่ยังคงมีอัตราสูงในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยมีภาพรวมแนวโน้มพฤติกรรมใช้โทรศัพท์พื้นฐานเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กว่าการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารทางเสียง 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย ระหว่าง พ.ศ. 2555 -2556 โดยมีข้อกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การสำรวจภาคสนามจากตัวอย่างประชากรทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15-70 ปี จำนวน 4,020 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 5 เขต ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ผลการวิจัย พบว่า บริการโทรคมนาคมที่คนไทยใช้บริการมากที่สุดในปัจจุบันคือ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสัดส่วนการใช้บริการสูงถึงร้อยละ 93.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 27.9 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 โดยทุกพื้นที่สำรวจพบว่า มีการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการแบบเติมเงิน (พรีเพด) ในอัตราร้อยละ 79.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีเพียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะใช้ที่มีผู้ใช้บริการระบบพรีเพดในอัตราที่ต่ำกว่าคือเพียงร้อยละ 55.8 โดยเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการประเภทเสียง คิดเป็นร้อยละ 99.9 ส่วนการใช้บริการเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพบว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พบว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนการใช้บริการมากที่สุดร้อยละ 51.8 รองลงมาคือบริษัท โทรเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) ร้อยละ 37.2 และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (True Move) ร้อยละ 11.0 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยหลักที่ตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการ คือ
  1. เครือข่ายครอบคลุม 
  2. สัญญาณเสียงคมชัดติดต่อได้สะดวก และ
  3. อัตราค่าบริการต่ำ 
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 27.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด นั้นถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่อยู่ร้อยละ 35.2 โดยลักษณะการใช้งานบริการโทรศัพท์ประจำที่ในปัจจุบันเน้นที่การรับสายถึงร้อยละ 90.5 ของจำนวนตัวอย่างที่ใช้บริการ รองลงมาเป็นการโทรออกร้อยละ 77.0 และใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 46.8 โดยพบว่าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69.9 รองลงมาได้แก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 13.3 และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการคิดเป็นร้อยละ 11.3 

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยสาเหตุหลักในการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การไม่ได้ (เช่น โทรศัพท์เสีย แบตเตอรี่หมด ฯลฯ) รองลงมาคือในที่พักอาศัยไม่มีโทรศัพท์ประจำที่ สำหรับสถานที่ที่ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด คือ โทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่พัก รองลงมาคือตามท้องถนนทั่วไป 

สำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ มีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 5.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และพบว่าผู้ใช้บริการขณะอยู่ต่างประเทศมีการโทรกลับประเทศไทยถึง 78.0 ของจำนวนตัวอย่างผู้เคยเดินทางไปต่างประเทศ และใช้วิธีการโทรกลับด้วยการซื้อซิมการ์ดใหม่ในต่างประเทศร้อยละ 49.1 รองลงมาเป็นใช้บริการโทรผ่านระบบ VoIP เช่น Skype, Viber  ร้อยละ 47.3 และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติร้อยละ 43.6 ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาขณะอยู่ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลไปต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 74.5 ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ร้อยละ 77.4 โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีการโทรไปต่างประเทศด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 59.8 ลดลงจากปี 2554 ที่มีการใช้สูงถึงร้อยละ 87.5 และโทรจากโทรศัพท์ประจำที่ร้อยละ 15.2 ลดลงจากปี 2554 ซึ่งมีการใช้ร้อยละ 19.3 

นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 46.0 ของกลุ่มตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 36.5 และสาเหตุหลักของการไม่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ไม่รู้จัก และใช้ไม่เป็น เมื่อพิจารณาผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 68.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 52.4 โดยช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ช่วงเวลา 16.00-22.00 น. โดยเป็นการใช้บริการในสถานที่พักอาศัยเป็นหลัก ซึ่งลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อ ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter มากที่สุด รองลงมาเป็น การสื่อสารข้อความ และการใช้ค้นหาข้อมูล 

“การสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 ของสำนักงาน กสทช. ครั้งนี้ ทำให้สำนักงานได้รับทราบถึงข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคม รวมถึงแนวโน้มการใช้บริการ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดและเสนอแนะกรอบนโยบายและการกำกับดูแลด้านการแข่งขันในการประกอบกิจการโทรคมนาคม การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ กสทช. กล่าว


















ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง 
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) 
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

**********************************
ที่มา : 
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม. (2556). ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 . [Online]. Available: http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c4/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3gTf3MX0wB3U08nxzATA09nJ2cLL1NDo2AnE_2CbEdFAOMpLEU!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0402newspaper/040201press/040201press_detail/0fbec200421ef7aba010e28b91da655b [2556.ธันวาคม 9]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น