หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประเทศไทยกำลังถูกนำเข้าสู่การบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ จริงหรือ?

"ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นี่คือ วิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่เขียนไว้ใน (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2460-2579) โดยมีคติพจน์ประจำชาติว่า "มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เขียนเอาไว้ว่า จะพยายามนำพาประเทศไทยจากโลกที่ 2 ไปสู่โลกที่ 1 เฉกเช่น ประเทศสิงค์โปร์และเกาหลีใต้ ด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2)ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3)ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4)ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6)ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยจะใช้โมเดลทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" และขับเคลื่อนด้วยการบริหารตามแนว "ประชารัฐ"




ประชารัฐ คือ อะไร
ประชารัฐ คือ การที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามาร่วมช่วยกันแก้ปัญหา และคิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทยผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน และหนึ่งในนั้น คือ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมีเป้าหมายคือ เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผ่าน 5 ฟันเฟืองหลักได้แก่

  1. การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งด้านทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน
  2. การสร้างองค์ความรู้ จากในชุมชนและส่งเสริมความรู้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอด
  3. การตลาด พัฒนาแบบบูรณาการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาดไปจนถึงช่องทางการขายใหม่ๆ
  4. การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ช่วยสร้างแบรนด์และหาช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ
  5. การบริหารจัดการ ทั้งด้านต้นทุน บัญชี และการบริหารความเสี่ยง


ฟันเฟืองทั้ง 5 จะขับเคลื่อนด้วยรูปแบบของ Social Enterprise (SE) หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยแบ่งโครงสร้างการบริหารโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ออกเป็น 2 ระดับ คือ 
  • ระดับประเทศ บริหารงานโดย บริษัท ประชารัฐสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขับเคลื่อนพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด
  • ระดับจังหวัด ประกอบด้วย 76 จังหวัด บริหารงานโดย บริษัทประชารัฐสามัคคีของแต่ละจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร)
โครงสร้างการบริหารโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

ประเทศไทย 4.0
“ประเทศไทย 4.0” เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"   โดยพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 
  1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 
  2. เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 
  3. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า สินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
เหตุที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 เพราะมีความเชื่อว่า แต่เดิมประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก  “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก 



อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ประเทศไทยต้องเผชิญกับ "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" แล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา”  กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นส่งผลให้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0"

โดยโมเดลประเทศไทย 4.0 นี้จะใช้ "พลังประชารัฐ" ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ นำไปสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำ และ Startups อุตสาหกรรมต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน

ความสัมพันธ์ระหว่าง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี -ประชารัฐ-ไทยแลนด์ 4.0 และรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 เม.ย.2559 ไว้ว่า

"เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ ”ประเทศไทย 4.0″ ( Thailand 4.0) จะต้องสอดรับกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะต้องพัฒนา 20 ปีต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 1-2-3 มา 10 ปี 20 ปี มาจากอดีต ย้อนมา วันนี้เราติดอยู่ตรง 3 ...วันนี้เราต้องคิดว่า 4 จะต้องอยู่อีก 20 ปีต่อไป เพราะไม่ใช่ง่าย ๆ เราเริ่มวันนี้แล้ว ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เราใช้แนวทางประชารัฐ ที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่ ประชาชนก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะว่าเขาเคยชินกับการช่วยเหลือ" 

จากคำกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องของแนวคิดประชารัฐ และเรื่องของไทยแลนด์ 4.0  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน  ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 ที่ร่างขึ้น และกำลังจะลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 นี้ด้วย

เพราะในการนำพาประเทศไทยไปสู่แนวคิดการบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ และโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ที่กล่าวมา จำต้องมีรัฐบาลที่เข้าใจและต้องวางรากฐานเพื่อการพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งอย่างน้อยใช้เวลาถึง 5 ปี  (ตามภาพด้านล่างที่แนบ)  ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2559 ฉบับนี้ จึงถูกร่างขึ้นเพื่อต้องการกุมอำนาจผ่านสมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก มุ่งกีดกันนักการเมืองผู้ที่เห็นต่างไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว  สามารถกำกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ อันจะนำไปสู่การบริหารงานตามแนวประชารัฐที่สมบูรณ์แบบตาม Roadmap ที่วางแผนเอาไว้       


ต้องมีรัฐบาลเพื่อการวางรากฐานของประเทศ
เพื่อนำไปสู่การบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ ซึ่งอย่างน้อยใช้เวลาถึง 5 ปี
ต่อจากนั้นจึงเป็นรัฐบาลปกติ
การลงประชามติจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่จะถึงในวันที่ 7 ส.ค.2559 นี้ อาจจะไม่ใช่เฉพาะแค่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องคำนึงถึงและต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า ชุดความคิดเรื่อง "การบริหารประเทศตามแนวทางประชารัฐ" นี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไร รวมถึงการนำประเทศไทยไปสู่โหมด  "Thailand 4.0" เป็นแนวทางที่ถูกต้องตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความต้องการของระบอบทุนนิยม

เพราะหากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 นี้ผ่าน ก็เท่ากับว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่การบริหารประเทศตามแนวทางประชารัฐเต็มตัว

********************************
จุฑาคเชน : 15 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
  • โอฬาร สุขเกษม. (2559). เวอร์ชันใหม่ ‘ประเทศไทย 4.0’. ฐานเศรษฐกิจ [Online]. Available : http://www.thansettakij.com/2016/04/30/48324 [2559.กรกฎาคม 15].
  • ไทยรัฐฉบับพิมพ์. (2559). ไขรหัส "ประเทศไทย 4.0" สร้างเศรษฐกิจใหม่ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง. ไทยรัฐออนไลน์ [Online]. Available : http://www.thairath.co.th/content/613903 [2559.กรกฎาคม 15].
  • นางสาวลดาวัลย์ ค้าภา. (2559). สไลด์บรรยาย.  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี Sustainable Development Goals และแผนฯ 12 ของประเทศ. เวทีสาธารณะนโยบายน ้า สกว. ครั้งที่ 7 [Online]. Available : http://www.trf.or.th/index.php?option=com_attachments&task=download&id=3894 [2559.กรกฎาคม 15].
  • อนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และกรอบการปฏิรูป. (2558). ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) (สรุปย่อ) [Online]. Available :  http://www.royalthaipolice.go.th/downloads/ยุทธศาสตร์ฯระยะ20ปี60-79.pdf
  • เว็บไซต์ สานพลังประชารัฐ [Online]. Available : http://www.สานพลังประชารัฐ.com/ [2559.กรกฎาคม 15].
  • เว็บไซต์ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด [Online]. Available : http://www.prsthailand.com/ [2559.กรกฎาคม 15].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น