หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผมตัดสินใจ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

ปัจจุบันการสร้างสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่จำนวนมาก ส่วนความเห็นต่างกลับถูกปิดกั้น ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น หน่วยงานภาคราชการและกองทัพล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการปฏิบัติการครั้งนี้

วันนี้ (5 ส.ค.2559) เหลืออีก 2 วันจะถึงวันออกเสียงประชามติ คือในวันที่ 7 ส.ค.2559 ผมได้พยายามติดตามข่าวสารทั้งฝ่ายเห็นชอบและที่ไม่เห็นชอบ ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลใด หลังจากนั่งคิดไตร่ตรองด้วยความรู้อันน้อยนิดที่มี ผมตัดสินใจจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เหตุผลประการสำคัญที่สนับสนุนการตัดสินใจของผมในครั้งนี้ คือ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ปี พ.ศ.2535 ที่เรียกว่า "พฤษภาทมิฬ"  


บางครั้ง การค้นหาอดีต อาจช่วยให้เราแก้ปัญหาในปัจจุบันได้

พฤษภาทมิฬ 2535
สาเหตุสำคัญที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในครั้งนั้น มาจากการที่ผู้ยึดอำนาจไม่รักษาสัจจะวาจา และไม่มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ผ่านรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  

"ที่พูดกันว่า สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญนั้น เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญ โดยสมาชิก สภา รสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งแล้ว สภา รสช. ก็หมดไปเองโดยอัตโนมัติ  ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะกลับไปทำหน้าที่ในกองทัพอย่างเดียว"

" และที่พูดกันว่า พลเอกสุจินดาฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกเกษตรฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี  ขอยืนยันในที่นี้ว่า    ทั้งพลเอกสุจินดาฯ และพลอากาศเอกเกษตรฯ จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี "  

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534
สภา รสช. ประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534"  เมื่อ 9 ธ.ค.2534  สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เช่น การให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของประธานสภา รสช. นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. การให้อำนาจที่มากเกินไปแก่สมาชิกวุฒิสภา และอีกหลายประเด็น 

5 พรรคการเมืองร่วมกับ รสช. สืบทอดอำนาจ
พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคชาติไทย พรรคราษฎร และพรรคสามัคคีธรรม รวมกลุ่มกันก่อนการเลือกตั้ง โดยหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคประกาศว่าตนเองพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 
  • 22 มี.ค.2535 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และในวันเดียวกันนี้  สภา รสช.ก็ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 270 คน และช่วงกลางคืนมีการประชุมระหว่าง 5 พรรคการเมืองร่วมกับ สภา รสช. เตรียมเสนอ ชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ  ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • 7 เม.ย.2535  สภา รสช. ร่วมกับพรรคการเมือง 5 พรรค กลับเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร   ขี้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ พลเอกสุจินดาฯ แถลงว่ามีความจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
  • เดือน พ.ค.2535 จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ  ดังที่ทุกคนได้ทราบ

ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
อาจเป็นความวิตกจริตหรือความคิดฟุ้งซ่านของผมเอง ผมเชื่อว่าหากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 และคำถามพ่วง ในครั้งนี้แล้ว เหตุการณ์ดังเช่น พฤษภาทมิฬ 2535 อาจจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย เพราะสถานการณ์ทุกอย่างมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และมีวาระถึง 5 ปี การร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกได้ เกิดการรวมกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็ก กับกลุ่ม คสช. (ผ่านทางสมาชิกวุฒิสภา) ประเทศไทยจะถูกกลุ่มคณะผู้ยึดอำนาจ (คสช.) สืบทอดอำนาจการบริหารประเทศไปอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่อำนาจที่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง  เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นชนวนเหตุจูงใจให้ประชาชนผู้รักชาติและรักประชาธิปไตยลุกฮือขึ้นต่อต้านอีกครั้ง  
   
ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์นองเลือดที่อาจเกิดขึ้นอีก ผมจึงเลือกที่จะไม่เห็นชอบ  เพื่อมุ่งหวังให้รัฐบาลและ คสช. จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ขึ้นมา โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง การจัดร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่นี้ ไม่ควรเป็นคณะบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น เพื่อจัดทำร่างฯ เหมือนแต่เดิมอีก  หากจำเป็นต้องเกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกครั้งก็ต้องทำ   



ผมไม่อยากให้เกิดการนองเลือดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย 
ผมจึงเลือก "ไม่เห็นชอบ" กับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในครั้งนี้
   
*****************************
ชาติชยา ศึกษิต : 5 ส.ค.2559

(ที่มาข้อมูล  พฤษภาทมิฬ )

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)

ต่อจาก มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด) 


หลังจากตอนที่ 1 ได้รับทราบถึงคุณลักษณะของนักประพันธ์ และลองเริ่มฝึกหัดเพื่อเป็นนักเขียนเบื้องต้นตามขั้นตอนของหลวงวิจิตวาทการกันไปบ้างแล้ว ตอนนี้จึงอยากเชิญชวนให้ลองเขียนดูจริงๆ ในการฝึกเขียนครั้งแรก แนะนำให้ลองเขียนบทความดูก่อน       

บทความไม่ใช่เรียงความธรรมดาและไม่ใช่ข่าว หากเป็นความเรียงที่มีเรื่องราวอันเป็นมูลฐานมาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือเรื่องที่แต่งตามจินตนาการของผู้เขียน ลักษณะเฉพาะของบทความมีดังนี้
  1. เป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากสนใจอยู่ในขณะนั้น
  2. มีสาระ แก่นสาร ให้ความรู้ มิใช่เรื่องเลื่อนลอยเหลวไหล
  3. มีทัศนะข้อคิดเห็น ข้อวินิจฉัยของผู้เขียนแทรกอยู่ด้วย
  4. เนื้อหาสาระเหมาะกับผู้อ่านระดับมีการศึกษา
  5. มีวิธีเขียนชวนอ่าน ชวนให้คิด ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน
หลักการเขียนบทความ
การเขียนบทความมีหลักเช่นเดียวกับการเขียนเรียงความ แบ่งโครงเรื่องออกเป็น 3 ตอน คือ นำเรื่อง (ความนำ) เนื้อเรื่อง (ดำเนินเรื่อง) และจบเรื่อง (ลงท้าย สรุปความ) โดยการเขียนบทความควรคำนึงถึงหลักต่างๆ ดังนี้
  1. การเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่คนกำลังสนใจ หรือกำลังเป็นกระแสนิยม 
  2. การรวบรวมเนื้อหา ผู้เขียนควรสืบหาข้อมูลให้ชัดเจน  อาจสืบค้นไปถึงแหล่งต้นกำเนิด การสัมภาษณ์ การอ่านเอกสาร ทดลอง ปฏิบัติ จนคิดว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ควรระบุที่มาข้อมูลหรือเอกสารอ้างอิงเอาไว้ด้วย
  3. การกำหนดจุดมุ่งหมายเฉพาะการเขียน เลือกสำนวนการเขียนให้ตรงกับเรื่องว่า ต้องการให้ผู้อ่านได้รับอะไร ทำอะไร คิดอย่างไร เป็นต้น
  4. การวางโครงเรื่อง ควรวางโครงเรื่องให้ตรงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ กำหนดวิธีการเขียนและการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องต้องกัน 
  5. การตั้งใจเขียนให้ได้เนื้อหาสาระ อ่านเพลิน ใช้ภาษาแจ่มแจ้ง เร้าใจ ชวนให้ติดตาม ใช้เหตุผลที่น่าเชื่อถือเสนอทัศนะ
  6. ทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่ ครอบคลุมหมดหรือยัง ถ้าไม่ตรงไม่ครอบคลุมก็ควรแก้ไข 
  7. เมื่อเขียนเสร็จแล้วควรเก็บไว้สักสองสามวัน แล้วนำมาอ่านตรวจทานอีกครั้งเพื่อหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น หรืออาจให้ผู้รู้อ่านบทความของเราแล้ววิจารณ์ก็ยิ่งดี 
ที่มาของภาพ http://news-internetit.blogspot.com/2014/11/blog-post_11.html

ลงมือเขียน Just Do it
ถึงตอนนี้แล้ว ลองเริ่มลงมือเขียนเลยครับ เริ่มต้นจากการเขียนบทความสั้นๆ ในโซเชียลมีเดียที่ตัวเองใช้อยู่ก่อนก็ได้ เช่น ในเฟสบุ๊ค ในไลน์ ฝึกเขียนเรื่องราวที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ร้านอาหารที่เราไปกิน สถานที่ที่เราไปเที่ยว ทัศนะส่วนตัวในเรื่องที่เราสนใจ เป็นต้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีคนอ่านให้คำนึงว่า  "นี่คือการฝึก" การหมั่นเขียนบทความเรื่อยๆ บ่อยๆ ผมเชื่อว่าวิธีเขียนของแต่ละคนก็จะพัฒนาขึ้นไปเอง ทั้งสำนวน โวหาร และแง่คิดต่างๆ 

นอกจากเขียนในโซเชียลมีเดียแล้ว หากผู้เขียนต้องการรวบรวมบทความให้เป็นเรื่องเป็นราว  แนะนำให้ลองใช้บริการ "เว็บบล็อก" ดู เว็บบล็อกเขียนบันทึกได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์อะไรมากมายนัก  สามารถเขียนบันทึกได้ไม่จำกัดเรื่อง  มีทั้งบริการฟรี และเสียเงิน เว็บบล็อกที่ผมใช้เขียนอยู่นี้ คือ Blogger ของ Google  ไม่เสียค่าใช้จ่าย  ลองสมัครใช้ได้ที่ www.blogger.com      

ที่เชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นนักเขียนนั้น ใช่ว่าผมจะเป็นนักเขียนชื่อดังอะไร ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นฝึกหัดอยู่ แต่หากทุกคนได้ลองเขียนแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองมีสาระและคุณค่ามากขึ้น เรื่องราวหลากหลายที่แต่ละคนได้พบประสบในทุกวัน หากมีการเขียนหรือการบันทึกไว้ ทุกเรื่องล้วนมีประโยชน์ในตัวของมันเอง อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง ต่อมาก็อาจเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด หรือผู้ที่สนใจในเรื่องที่เราบันทึกนั้นๆ 

ลองดูครับ  เริ่มเลย  

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 3 แรงบันดาลใจ)            

*******************************
จุฑาคเชน : 1 ส.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่