วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด)

สมัยเด็กๆ ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกขอบคุณและชื่นชมผู้ที่ได้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้พวกเราได้เรียนกัน  ตำราที่เรียนส่วนใหญ่มักจะเป็นบันทึกของชาวต่างชาติ  ไม่เว้นแม้แต่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราเองก็ตาม 

หนังสือบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของประเทศไทยที่มีให้อ่าน ส่วนใหญ่เป็นภาพกว้างๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในแต่ละซอก แต่ละมุม มักไม่ค่อยมีการบันทึก หลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญมักเก็บไว้ในความทรงจำ อย่างดีก็แค่เล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆ กันมา พอตนเองเสียชีวิตไป ความจริงเรื่องนั้นก็ตายตามไปด้วย  แต่หากคนผู้นั้นฝึกหัดเป็นนักเขียน นักบันทึก ความจริงเรื่องนั้นก็ยังคงอยู่ตลอดไป

หนังสือเรื่อง "หลักนักเขียน" ทำให้ผมรู้สึกอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาทันที เรียบเรียงโดย สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์ จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2539 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย บจก.ต้นอ้อ แกรมมี่  ผมขอนำบางส่วน บางตอนมาสรุปให้ฟัง เผื่อว่าหลายท่านที่กำลังอยากจะเป็นนักเขียน จะได้ใช้ลับสติปัญญาให้เฉียบคมมากขึ้น

โรงเรียนการประพันธ์
เมื่อ ปี พ.ศ.2490 อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เจ้าของนามปากกา นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้จัดตั้ง "โรงเรียนการประพันธ์ทางไปรษณีย์" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีสำนักงานอยู่ที่ รร.บัณฑิตวิทยาลัย ถ.ศิริอำมาตย์ หรือที่ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ใกล้หัวลำโพง พระนคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ช่วยผู้ที่สนใจในการประพันธ์ เสริมระดับการประพันธ์ให้สูงขึ้น ให้วิชาอันเป็นรายได้พิเศษ และส่งเสริมการประพันธ์ในเมืองไทย ใช้เวลาเรียนตามหลักสูตร 10 เดือน ค่าสมัครรวมค่าเรียนเดือนแรก 30 บาท ค่าตำรา 32 บาท ค่าเรียนเดือนต่อๆ ไปเดือนละ 10 บาทอีก 9 เดือน  

โรงเรียนการประพันธ์ มีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก ทั้งทหาร นักกฏหมาย ตำรวจ นักปกครอง และจากผู้ที่ต้องการเป็นนักประพันธ์โดยตรง โรงเรียนดำเนินการอยู่ได้ 3 ปี ต้องปิดตัวลง 

"....โรงเรียนตั้งขึ้นได้สามปี ก็จำต้องหยุดกิจการ ไม่ใช่เพราะไม่มีผู้เรียน แต่เพราะผู้เรียนมากเกินความคาดหมาย ประกอบกับระยะนั้นข้าพเจ้ามีงานจำเป็นอื่นๆ หลายอย่างจะตรวจแก้ แนะนำให้แก่ผู้ศึกษาไม่ได้ละเอียดลออเหมือนก่อน จะให้คนอื่นช่วยก็ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหยุดกิจการ..."

โรงเรียนการประพันธ์นี้  ถือเป็นแนวคิดที่พยายามเชิญชวนให้คนไทยทั่วไปได้ฝึกหัดเป็น นักเขียน นักประพันธ์ และกวี  อาจคล้ายคลึงหรือเทียบเคียงได้กับคณะเรียนต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน คือ คณะอักษรศาสตร์ และคณะวารสารศาสตร์ เป็นต้น

นักเขียน, นักประพันธ์ และกวี
นักเขียน คือ ผู้ที่แสดงความคิดออกมาด้วยการเขียนเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร
นักประพันธ์ คือ นักเขียนที่มีผลงานมากและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของมหาชน
กวี คือ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน อาจจำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
  1. จินตกวี (แต่งโดยความคิด)
  2. สุตกวี (แต่งโดยได้ฟังมา)
  3. อรรถกวี (แต่งตามความจริง)
  4. ปฏิภาณกวี (แต่งกลอนสด) 

คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์
คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือฯ พอสรุปได้ดังนี้
  1. นักประพันธ์ต้องเป็นคนช่างฝัน หากผู้ใดไม่มีนิสัยช่างฝันแล้ว มีวิธีที่จะปลูกนิสัยช่างฝันได้ดังนี้
    1. สนใจเรื่องของคนอื่นให้มาก
    2. อ่านหนังสือให้มาก
    3. มองให้เห็นความงามของธรรมชาติและชีวิต
    4. หัดเขียนจดหมายยาวๆ ยิ่งเป็นจดหมายรักยิ่งดี
    5. หัดเขียนบันทึกประจำวัน
  2. มีพรสวรรค์และการเรียนรู้ หากผู้ใดคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ จงเปลี่ยนความคิดใหม่ ขอให้เชื่อว่า "พรสวรรค์สามารถสร้างได้" ด้วยการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นนักเขียนจะต้องขวนขวายหาความรู้อันจำเป็นที่จะนำมาเขียนเรื่องราวของตนเองตลอดเวลา ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อความถูกต้อง หรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
  3. พยายามเขียนตามที่ตนถนัด ผู้เขียนลองสำรวจตัวเองว่าถนัดในแนวไหน เช่น สารคดี บทความ เรื่องสั้น นวนิยาย ละคร ฯลฯ หลังจากจับทางได้แล้วให้พยายามศึกษาหาความรู้ด้านนั้นๆ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น
  4. รู้จักอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ หากเขียนแล้วมีคนอ่านก็ดัง หากเขียนแล้วไม่มีคนอ่านก็ดับ อย่างไรก็ดี นักเขียนหน้าใหม่ก็ไม่ควรท้อใจง่ายๆ นักประพันธ์ชื่อดังหลายคนก็เคยผ่านจุดดับมาแล้ว แต่เขาอาศัยความมานะพยายาม ไม่ท้อถอย จึงผ่านจุดนั้นมาได้
  5. เขียนให้ผู้อ่านร้องไห้ หัวเราะ และรอคอย การเขียนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมถือว่าประสบความสำเร็จ ยิ่งผู้อ่านกระหายที่อยากจะรู้เรื่องต่อๆ ไป นั้นยิ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง

เริ่มฝึกหัดเป็นนักเขียน
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า ขั้นต้นของผู้ที่หัดเป็นนักประพันธ์ ก็คือ หัดเขียนพรรณาเสียก่อน โดยมีวิธีการอยู่ ดังนี้
  1. ฝึกเขียนพรรณาภูมิประเทศจากรูปภาพสู่ภูมิประเทศจริง   นำภาพภูมิประเทศมา 1 ภาพ ลองดูภาพ แล้วเขียนพรรณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพอย่างละเอียด หลังจากนั้นปิดรูปภาพลง แล้วเอาข้อความที่เราเขียนนั้นมาลองวัดความรู้สึกดูว่า ในเวลาที่เราอ่านข้อความที่เราเขียนนั้น เรามีความรู้สึกเหมือนกันกับเวลาดูภาพนั้นหรือไม่  ถ้ายังไม่เหมือนก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องเขียนใหม่จนกระทั่งแน่ใจว่า หากคนอื่นมาอ่านข้อความที่เราเขียน จะต้องมีความรู้สึกว่าได้เห็นภาพนั้นจริงๆ  เมื่อฝึกหัดจากรูปภาพดีแล้ว ก็ลองฝึกหัดจากภูมิประเทศจริงดู 
  2. ฝึกเขียนพรรณาในเรื่องคนจากภาพถ่ายสู่คนจริง เรื่องคนนับว่ายากกว่าภูมิประเทศ โดยขั้นแรกควรใช้ภาพคนก่อน ต่อไปจึงค่อยลองเขียนจากตัวคนจริงๆ ในขั้นแรกหัดพรรณาแต่รูปร่างหน้าตา ต่อมาภายหลังจึงค่อยพรรณาถึงกิริยาท่าทางถ้อยคำ และการพูดของคนนั้นๆ 
  3. ฝึกเขียนความรู้สึกในใจของตนเอง ขั้นนี้ค่อนข้างยาก มีวิธีฝึกได้หลายทาง เช่น   เดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ยืนอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่ง และพิเคราะห์ดูว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเราเข้าไปในห้องนั้น จำความรู้สึกอันนั้นไว้แล้วกลับมาเขียนความรู้สึกนั้นให้ถี่ถ้วน สถานที่ๆ จะฝึกหัดเช่นนี้ได้มีหลายแห่ง เช่น ในโรงมหรสพ ในที่ชุมนุมชน เวลากลัว เวลาหิว เวลาตกใจ เวลาโกรธ ใช้ฝึกได้ทั้งนั้น

ที่มาของภาพ http://www.marketingoops.com/
exclusive/how-to/5-simple-steps-to-better-writing/

การฝึกหัดที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวมานั้น ท่านบอกว่าเป็นการฝึกหัดเบื้องต้น นักเขียนต้องเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของนักเขียนนั้นคือ ความซื่อตรง เขียนไปตามความจริง และให้คนเข้าใจได้เท่ากับที่เป็นจริงๆ ต้องหัดแสดงความจริงเสียก่อน ส่วนความคิดประดิษฐ์โลดโผนนั้นจะมีภายหลัง ถ้าไม่หัดพรรณาอะไรให้ตรงตามความจริงเสียก่อน พอเริ่มต้นก็ประดิษฐ์โลดโผนแล้ว จะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เลย

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)  

*******************************
จุฑาคเชน : 30 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่ 



      

ไม่มีความคิดเห็น: