หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี..บรรเลงเพลงถวายอาลัย

บ้านผมอยู่ติดกับบ้าน "ครูรวม พรหมบุรี"  ครูดนตรีไทยฉายา "ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง" (ดูรายละเอียด)  ผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ ผมได้ยินเสียงฝึกซ้อมดนตรีไทยจากบ้านครูรวมฯ ดังไปทั่วบริเวณบ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ตั้งแต่เช้ามืดจรดหัวค่ำ มีทั้งเด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกับผม และที่โตกว่าผม  มากินนอนฝึกซ้อมดนตรีไทยอยู่บ้านครูรวมฯ มากมายหลายรุ่น จนรู้จักและคุ้นเคยกันดี

มาวันนี้   ผมไม่ได้ยินเสียงดนตรีไทยจากบ้านครูรวมฯ เหมือนเดิมอีกแล้ว  นานๆ จะมีเสียงฝึกซ้อมระนาดเอก ดังเล็ดลอดออกมาสักครั้ง  ซึ่งมีไม่บ่อยนัก



ดนตรีไทยในราชบุรี กำลังจะสูญหาย
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ทายาทผู้สืบทอดของครูรวม พรหมบุรี  ท่านเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้วิถีสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป อาชีพคนทำปี่พาทย์มอญไปไม่รอด ที่มีอยู่ก็เป็นคนรุ่นเก่า หากคนรุ่นนี้ตายไปก็คงจบกัน คนรุ่นใหม่ไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง  วงปี่พาทย์มอญในราชบุรี กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา หลายวงต้องล้มหายตายจากไป เหลือแต่เพียงเครื่องดนตรีเก็บรักษาไว้  แต่ไม่มีคนเล่น วันนี้ใน จ.ราชบุรี เหลือวงปี่พาทย์มอญอย่างมากไม่เกิน 10 วง จากเดิมซึ่งมีมากกว่า 30 วง



แล้วจะทำอย่างไร?
ผมถามต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรให้วงดนตรีไทย ใน จ.ราชบุรี ยังคงอยู่ได้ต่อไป  ท่านบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่วงปี่พาทย์มอญใน จ.ราชบุรี จะอยู่ได้ก็ คือ  
  1. ภาคราชการต้องให้การสนับสนุน อย่างเช่น หากมีการจัดพิธีหรือกิจกรรมใดๆ ของภาครัฐ ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแต่เดิม ต้องมีดนตรีไทยไปเล่นหรือไปบรรเลงประกอบ ควรให้การสนับสนุนในทันที  แต่ทุกวันนี้ ที่ จ.ราชบุรี แทบไม่มีหน่วยงานไหนให้ความสนใจ           
  2. ภาคศาสนาต้องช่วยรณรงค์  พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ หลายพิธีซึ่งแต่เดิมเคยมีดนตรีไทยเล่นประกอบ ทั้งเทศน์มหาชาติ ทั้งเวียนเทียน ทั้งงานบุญ งานศพ กฐิน ผ้าป่าฯลฯ  แต่ปัจจุบัน วัดวาอารามต่างๆ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น สิ้นเปลืองโดยปล่าวประโยชน์  ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์บางรูปบางวัดในราชบุรี  แนะนำเจ้าภาพงานศพว่า ไม่ต้องมีปี่พาทย์มอญ  สิ้นเปลืองปล่าวๆ นำเงินมาทำบุญอย่างอื่นดีกว่า 
  3. ภาคการศึกษาต้องให้ความสำคัญ  สถาบันการศึกษาต้องให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีไทยอย่างจริงใจ (เน้นอย่างจริงใจ) ชุมนุมหรือชมรมดนตรีไทยในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของราชบุรี ล้วนกำลังล้มหายตายจากเช่นกัน เพราะขาดการสนับสนุนจากผู้บริหาร การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีไทยที่ทำขึ้นเป็นไปแบบแกนๆ ล้วนไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กแต่อย่างใดเลย 
  4. ภาคประชาชนต้องช่วยกัน ดนตรีไทย คือ มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งบรรพบุรุษได้มอบเอาไว้ให้พวกเรา ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงควรตระหนัก หากมีงานใดๆ ที่ต้องใช้ดนตรีไทย และพอที่จะมีเงินอยู่บ้าง อย่าได้มัวลังเลใจ อย่างน้อยก็ช่วยสืบสานต่อลมหายใจให้ดนตรีไทยไม่สูญหายกลายเป็นแค่ตำนาน
หากปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้ ช่วยกัน อาชีพดนตรีไทยของ จ.ราชบุรี คงยังมีลมหายใจต่อชีวิตไปได้อีกสักพัก ดังเช่นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี เขาทำมาแล้ว

ในทัศนะส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า คนที่มีอาชีพเป็นนักดนตรีไทยนี้  ไม่เคยมีใครรวยเลยครับ พวกเขาแค่พอมีกินมีใช้และพอมีเงินที่จะจ่ายเป็นค่าดูแลรักษาเครื่องดนตรีบ้าง พวกเขาก็พอใจแล้วครับ แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขายังประกอบอาชีพนี้อยู่ในปัจจุบัน ก็คือ "ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยสืบสานไม่ให้ดนตรีไทยนี้ ต้องสูญหายไปต่างหาก"  

รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี..บรรเลงเพลงถวายอาลัย
ทายาทครูรวมฯ เล่าต่อให้ฟังว่าอยากจะจัดงาน "รวมพลคนดนตรีไทยราชบุรี น้อมบรรเลงเพลงถวายอาลัย"  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) ซึ่งหลายๆ จังหวัดได้ทำแล้ว ตัวอย่างที่ใกล้บ้านเราก็คือ จ.สมุทรสาคร (ดูรายละเอียด)  โดยงานนี้ ตั้งใจจะเชิญคนดนตรีไทยของราชบุรีทุกคน ทุกวง พร้อมทั้งครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักดนตรีอิสระ และประชาชนทั่วไป ที่รักและศรัทธาในดนตรีไทย มาร่วมกันบรรเลง โดยขั้นต้นกำหนดเอาไว้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560 ส่วนสถานที่ยังไม่ทราบว่าจะจัดที่ไหน ในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับอาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง 


พสกนิกกร ชาวดนตรีไทย จังหวัดสมุทรสาคร
รวมพลังบรรเลงดนตรีไทยและขับร้อง"เพลงสรรเสริญพระบารมี"
เมื่อ 30 ต.ค.2559

ท่านกล่าวว่า "ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน  แต่ก็จะพยายามทำให้เต็มที่ งานนี้อยากให้คนดนตรีไทยของราชบุรี และผู้ที่ศรัทธาในดนตรีไทย มาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างให้เป็นประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของราชบุรี" 

ผมถามต่อ ตอนนี้มีหน่วยงานใดสนับสนุนกิจกรรมนี้บ้าง
ท่านตอบว่า "ตอนนี้ มีแต่ความคิด แต่มันคงต้องใช้เงินเพื่อจัดเตรียมงาน ก็ยังไม่รู้ว่าจะหามาจากไหน ลำพังคนดนตรีไทยอย่างพวกเราแล้ว ไม่ห่วงครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกคนยินดีไปร่วมบรรเลง" 


พสกนิกกร ชาวดนตรีไทย จังหวัดสมุทรสาคร
รวมพลังบรรเลงดนตรีไทยและขับร้อง"เพลงสรรเสริญพระบารมี"
เมื่อ 30 ต.ค.2559



ช่วยกันนะครับ ช่วยกันจัดงานนี้ ให้เกิดขึ้น ผมเองก็จะช่วยเต็มกำลังความสามารถที่ผมพอจะมีอยู่ เพื่อให้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ผมว่าถ้าจัดกัน "ริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา" สนามหญ้าในเมืองราชบุรีก็ดีครับ วางเครื่องดนตรีเรียงรายยาวตลอดแนวเขื่อนที่กำลังสร้างใหม่ อย่างน้อยก็เป็นการบรรเลงดนตรีไทยริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แหล่งกำเนิดนักดนตรีไทยชั้นนำของประเทศไทย



******************************
จุฑาคเชน : 9 ธันวาคม 2559
    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น