หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

สามเหลี่ยมมุมฉากของ ศ.ดร.เสริมศักดิ์


เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2550 ผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิด ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ราชบัณฑิตและประธานกรรมการคุรุสภา ณ โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งพวกเราชาวศิษย์เก่า มศว. ในเขตพื้นที่ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคิรีขันธ์ และสุพรรณบุรี ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสถานที่จัดงานจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตามศักยภาพของพวกเราแต่ละคน จริงๆ แล้ว วันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ คือวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ที่ต้องมาเลี้ยงในวันนี้ เนื่องจากท่านอาจารย์พึ่งมีเวลาว่าง


ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ เป็นอาจารย์ของผม ตอนเรียนปริญญาโท ที่ มศว. ทุกครั้งที่เลี้ยงวันเกิดให้ท่าน ท่านจะมีสิ่งดีๆ มาคอยสั่งสอนให้พวกเราฟังอยู่เสมอ อย่างเช่นในวันนี้ ท่านได้มอบหนังสือ “ความเป็นครูมืออาชีพ” ให้ 1 เล่ม ซึ่งเป็นคำบรรยายและบทความของท่านอาจารย์เอง และ ดร.จักรพรรดิ วะทา เลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้จัดพิมพ์ให้เมื่อเดือนสิงหาคม 2550

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงอยากจะนำแนวคิดสามเหลี่ยมมุมฉากของท่าน ซึ่งเป็นบางส่วนในหนังสือเล่มนี้ มาแลกเปลี่ยนรู้ให้ทุกคนได้อ่าน แนวคิดของท่านอาจารย์ คือ (ดูรูป 1 ประกอบ) สามเหลี่ยมมุมฉากมี 3 ด้าน ด้านตรงข้ามมุมฉากคือด้านยาวที่สุด (ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ยาวที่สุด) ซึ่งท่านอาจารย์แทนด้านยาวที่สุดนี้ว่าเป็น “วิธีสอน” ส่วนด้านตั้ง คือ “ผู้เรียน” และด้านนอนคือ “เนื้อหา” ซึ่งท่านเชื่อว่า ครูที่ดีต้องรู้ทั้งสามเรื่อง คือ ต้องรู้จักวิธีสอน ต้องรู้จักเนื้อหาที่จะสอน และต้องรู้จักผู้เรียนด้วย



วิธีสอน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (เหมือนด้านที่ยาวที่สุด) วิธีสอนต้องเหมาะสมกับผู้เรียน และต้องสอดคล้องกับการเนื้อหา


หากลองดูรูปที่ 2 หากเราเปรียบด้านตั้งเป็นนักเรียน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะมีข้อแตกต่างและความไม่เท่ากัน (ด้านทั้งสองจึงมีความยาวไม่เท่ากัน) แต่เนื้อหา (ด้านนอน) ยังคงเท่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ด้านตรงข้ามมุมฉาก ซึ่งหมายถึงวิธีการสอนนั่นเอง
หลังจากได้อ่านแล้ว ผู้ที่เป็นครูลองคิดไตร่ตรองดูว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่คุณครูต้องพยายามพัฒนาตนเอง วันนี้..คุณครูรู้จักเด็กนักเรียนในห้องเรียนของคุณครูดีมากน้อยแค่ไหน? และหากแต่ละคนมีข้อแตกต่างและความไม่เท่ากันแล้ว วิธีการสอนของคุณครูจะเป็นอย่างไร?

สมการสำหรับวัดมาตรฐาน คุณภาพ และคุณค่า

หลายคนอาจยังค่อนข้างที่จะสับสน และยากที่จะตีความเกี่ยวกับ คำว่า มาตรฐาน (Standard) คุณภาพ (Quality) และคุณค่า (Value) ซึ่งทั้งสามคำมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร หรือมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร หากเราผลิตสินค้าชนิดหนึ่งได้ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่ามันจะมีคุณภาพ หรือหากว่ามันมีคุณภาพจริง แต่มันก็อาจไม่มีคุณค่าแต่อย่างใดเลย
อย่างเช่น “มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ที่ระบุว่า หากผู้เรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดนี้แล้ว จะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีกล้าใครยืนยันได้ว่า ผู้เรียนนั้นมีคุณภาพจริง ผู้เรียนบางคนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน กลับกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าต่อสังคม ดังนั้น วิธีการวัดว่า สิ่งใดมีมาตรฐาน สิ่งใดมีคุณภาพ และสิ่งใดมีคุณค่า จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการที่วัดได้ ซึ่งหากสิ่งนั้นไม่สามารถวัดได้ คุณก็จะไม่สามารถบริหารมันได้

สมการวัดมาตรฐานมาตรฐาน (Standard) คือ ข้อกำหนดหรือข้อตกลงที่จะใช้เป็นฐานอ้างอิงยึดถือร่วมกัน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เกี่ยวกับการวัด ระดับของค่าที่วัดได้ วิธีการ ตลอดจนแนวทาง และแนวความคิดในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ สะดวกสบาย เรียบง่าย ในการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่ายนั้น (วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล.2549: 80)
จากความหมายของมาตรฐานที่กล่าวมา อาจกล่าวได้ว่า เป็นคุณลักษณะของสินค้าที่เป็นยอมรับทั่วกันในสังคมขณะนั้น โดยมีวิธีการกำหนดคุณลักษณะมาจากความต้องการของลูกค้า หรืออาจกำหนดมาจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรืออาจกำหนดมาจากสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น แล้วนำมากำหนดคุณลักษณะร่วมกันระหว่างผู้ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน โดยตั้งสมมติฐานไว้ว่า มาตรฐานดังกล่าว น่าจะก่อให้เกิดคุณภาพ และคุณค่าตามที่พึงประสงค์
ดังนั้น มาตรฐาน ก็คือ การออกแบบสินค้า (Design) นั้นเอง หากออกแบบสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว จะทำให้สินค้ามีคุณภาพ และมีคุณค่าต่อลูกค้า ก่อให้เกิดการซื้อจากลูกค้า ดังนั้นการออกแบบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งผู้ผลิตต้องควบคุมมาตรฐานของสินค้า ให้ตรงตามการออกแบบที่กำหนดไว้
การออกแบบสินค้า ผู้ออกแบบต้องทราบข้อมูลและคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า(customer requirement) เป็นหลักสำคัญ และเมื่อออกแบบเสร็จแล้ว ในการนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ผู้ผลิตจะต้องควบคุมตั้งแต่คุณค่าของวัตถุดิบ (Value material) ที่นำมาผลิตสินค้า ควบคุมกระบวนการผลิตของตนเอง (Input à process à output) และต้องให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ร่วมกัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไปตาม บันทึกข้อตกลง หรือ บันทึกความเข้าใจ (memory of understand)
ซึ่งการวัดมาตรฐาน อาจสามารถเขียนเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ได้ดังนี้
St = De[cr+vm+(ipo)+mou]
St คือ มาตรฐาน (Standard)
De คือ การออกแบบสินค้า (Design)
cr คือ ความต้องการของลูกค้า(customer requirement)
vm คือ คุณค่าของวัตถุดิบ (Value material)
ipo คือ กระบวนการ (Input à process à output)
mou คือ บันทึกข้อตกลง หรือ บันทึกความเข้าใจ (memory of understand)

สมการการวัดคุณภาพหากกล่าวถึงวิธีการวัดคุณภาพ มีผู้กล่าวถึง ไว้อย่างหลากหลาย อาทิ
วิทูรย์ สิมะโชดดี (2550:22) กล่าวว่า คุณภาพจะมีความหมายต่างกันไปตามความรู้สึกหรือตามความต้องการของผู้ใช้และลูกค้า ซึ่งมักจะวัดกันด้วย “ความพึงพอใจ” หรือ “ความประทับใจของลูกค้า” เป็นสำคัญ2 และคำว่า คุณภาพตามความหมายของการบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Total Quality Management : TQM) คือ ทำได้ตามข้อกำหนดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทำให้ลูกค้าพอใจ(Satisfy) และทำให้มากกว่าที่ลูกค้าต้องการ เกินกว่าความคาดหวัง (Over expectation) ทำให้ลูกค้าประทับใจและมีความสุขใจ3
ในส่วนของ วีรพจน์ ลือประสิทธิ์กุล (2549: 64) ได้กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตหนึ่งๆ มักประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาประกอบกัน ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านั้นให้คงที่ได้เสมอไป เราจึงนิยมวัดคุณภาพของสินค้า/บริการ/ผลของการทำงานใดๆ ด้วยการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย (Mean) และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) หรือ ที่นิยมเรียกย่อๆ ในภาษากรีก ว่า “ซิกมา(Sigma)”
ชูชาติ วิรเศรณี (2542:26) ได้กล่าวถึงลักษณะของคุณภาพไว้สองทางที่จะต้องให้แก่ลูกค้า ก็คือ คือ คุณภาพของสินค้าที่พึงต้องมี (Must be quality) กับ คุณภาพที่จูงใจซื้อ (Attractive quality) นั่นหมายถึง ตัวสินค้า แต่หากมองด้านความต้องการของลูกค้า คุณภาพที่พึงต้องมีอาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ ข้อกำหนดของลูกค้า(customer requirement) และความคาดหวังของลูกค้า (customer expectation) การวัดคุณภาพที่ได้กล่าวมา อาจกล่าวสรุปได้ว่า การวัดคุณภาพต้องวัดทั้งด้านตัวสินค้า และด้านลูกค้า ดังนี้
1. ด้านตัวสินค้า วัดจากการที่ผลิตได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จากการออกแบบ ซึ่งสมมติฐานว่า หากผลิตได้ตามมาตรฐานนี้แล้ว สินค้าจะมีคุณภาพที่พึงมี และมีคุณภาพที่จูงใจซื้อ
2. ด้านลูกค้า วัดจาก ความพึงพอใจ และความประทับใจ ของลูกค้า ตามข้อกำหนดและความคาดหวังของลูกค้า
ซึ่งหากเขียนเป็นสมการทางคณิตศาสตร์อาจเขียนได้ ดังนี้
Q = Pd[de=(mq+aq)]+C(sa+o)
Q คือ คุณภาพของสินค้า (Quality)
Pd คือ สินค้า (Product)
de คือ การออกแบบสินค้า (Design)
mq คือ คุณภาพของสินค้าที่พึงต้องมี (Must be quality)
aq คือ คุณภาพที่จูงใจซื้อ (Attractive quality)
C คือ ลูกค้า (Customer)
sa คือ ความพึงพอใจของลูกค้า (Satisfy)
o คือ ความคาดหวังของลูกค้า (Over expectation)

สมการวัดคุณค่าคุณค่า ตามความหมายของวีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล(2549: 49) คือ คุณ ประโยชน์อันมีค่าต่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ที่สามารถประเมินหรือกำหนดค่าแห่งคุณประโยชน์นั้นได้จาก ราคาที่ผู้ซื้อยินดีจ่ายเพื่อแลกกับคุณประโยชน์ที่ได้ตระหนักไว้แล้วอย่างยุติธรรม หรือกล่าวสั้นๆ ได้ว่า “คุณค่า” ก็คือ คุณประโยชน์ที่สามารถกำหนดค่าได้ ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ได้คือ
V= P(q, d, c, s, e)
V คือ คุณค่า (Value)
P คือ ราคาที่ลูกค้าซื้อ (Price)
q คือ คุณลักษณะด้านคุณภาพ (Quality Characteristics)
d คือ ความสะดวกในการสั่งซื้อและการส่งมอบ (Delivery)
c คือ ต้นทุนการผลิต (Cost)
s คือ ความปลอดภัยของสินค้า/บริการ (Safety)
e คือ ผลกระทบของสินค้า/บริการที่มีต่อสภาพแวดล้อมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ (Environmental & Ethics)

สมการการวัดมาตรฐาน คุณภาพ และคุณค่า
จากสมการทางคณิตศาสตร์ การวัดมาตรฐาน การวัดคุณภาพ และการวัดคุณค่า ที่กล่าวมาแล้ว หากนำมารวมกัน และเขียนเป็น สมการการวัดมาตรฐาน คุณภาพ และคุณค่า ทางคณิตศาสตร์ จะเขียนได้ ดังนี้

St+Q+V ={De[cr+vm+(ipo)+mou]}+{Pd[de=(mq+aq)]+C(sa+o)}+{P(q, d, c, s, e)}
สมการนี้ แปรความหมายได้ดังนี้
การวัดสินค้าที่มีมาตรฐาน (Standard) มีคุณภาพ (Quality) และมีคุณค่า (Value)
ต้องวัดจากสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
“ต้องมีการออกแบบ (De) สินค้าที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า (cr) คุณภาพของวัตถุดิบ (vm) ที่ได้มา กระบวนการผลิตของตนเอง (ipo) และต้องเป็นไปตามข้อตกลง(mou) ด้านคุณลักษณะที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนั้น ตัวของสินค้า (Pd) ต้องมีคุณภาพที่พึงมี (mq) คุณภาพที่จูงใจที่จะซื้อ (aq) ให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ (sa) และรู้สึกเกินความคาดหวังที่ตั้งไว้ (o) ส่วนด้านราคาของสินค้าที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ (P) ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะด้านคุณภาพของสินค้า (q) ความสะดวกในการสั่งซื้อและการส่งมอบสินค้า (d) ในส่วนการกำหนดราคาสินค้า ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต (c) ความปลอดภัยของสินค้า (s) และผลกระทบของสินค้าที่มีต่อสภาพแวดล้อมและจริยธรรม (e) ในการดำเนินธุรกิจด้วย”


อ้างอิง
วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล.(2549). การบริหารคุณค่าทั่วทั้งองค์กร ทฤษฎีใหม่ในการบริหารเพื่อการ
เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : บจก.ทีคิวเอ็มเบสท์.
วิทูรย์ สิมะโชดดี. (2550). TQM คู่มือพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ(ฉบับปรับปรุงใหม่).
กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์.
ชูชาติ วิรเศรณี. (2542). ISO9000 สำหรับนักบริหารมืออาชีพ. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

คำนิยามเกี่ยวกับคุณภาพ (Quality)

1. คุณภาพที่พึงต้องมี (Must be quality) หมายถึง คุณภาพที่ต้องมีอย่างครบถ้วนเป็นปกติ ถ้าหากไม่มีคุณภาพอย่างนี้ในสินค้าเมื่อใด ลูกค้าจะไม่ซื้ออย่างแน่นอน เพราะไม่ปกติ
2. คุณภาพที่จูงใจซื้อ (Attractive quality) หมายถึง คุณภาพที่โดยปกติจะไม่มีอยู่ในตัวสินค้า แต่ถ้าหากมี ก็จะจูงใจให้เกิดความสนใจที่จะซื้อขึ้นมาได้
3. บันทึกคุณภาพ (Control of quality records) หมายถึง บันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพ เช่น การจำแนก รวบรวม การทำดัชนี การสืบค้น การเข้าแฟ้ม การจัดเก็บ เก็บรักษา และการทำลายทิ้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วต้องจัดให้มีและยึดมั่นเป็นระเบียบปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกคุณภาพเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นไปได้ตามเกณฑ์ข้อกำหนด และแสดงถึงการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลของระบบคุณภาพ
4. การตรวจประเมินคุณภาพในองค์กร (Internal quality audits) หมายถึงระเบียบปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ว่าด้วยการวางแผนและดำเนินการในการตรวจประเมินคุณภาพในองค์กร เพื่อตรวจดูว่ากิจกรรมทางด้านคุณภาพและผลลัพธ์ที่ได้ เป็นไปตามแผนดำเนินการที่วางไว้หรือไม่ และเพื่อตรวจพิจารณาดูประสิทธิผลของระบบคุณภาพ
5. ผู้แทนฝ่ายบริหารในระบบคุณภาพ (Quality Management Representative (QMR)) หมายถึง ผู้บริหารที่จะดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารในระบบคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อองค์กรได้ตัดสินใจแล้วว่าจะจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานขึ้นใช้ในองค์กร องค์กรจะต้องเตรียมบุคลากรที่จะมาดำเนินการจัดทำและติดตั้งระบบคุณภาพให้แน่นอน โดยมีผู้รับผิดชอบที่สำคัญสองคน คือ ผู้บริหารโครงการติดตั้งระบบ และผู้บริหารที่จะดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารในระบบคุณภาพ
6. คณะกรรมการคุณภาพประจำองค์กร (Quality management committee) หมายถึง ซึ่งเป็นการพัฒนามาจาก คณะกรรมการผลัดดันโครงการ (Steering committee) ในการจัดทำระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 มีหน้าที่กลั่นกรองและอนุมัติใช้ แก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ในระบบคุณภาพ รวมทั้งเป็นผู้ทบทวนปรับปรุง และพัฒนาระบบคุณภาพให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
7. นโยบายคุณภาพ (quality policy) หมายถึง ถ้อยคำที่ระบุถึงแนวทางและเป้าหมาย รวมทั้งพันธกิจด้านคุณภาพขององค์กร ซึ่งแสดงออกต่อลูกค้าหรือสาธารณชน หรือแม้แต่บุคลากรภายในองค์กรของตนเอง เพื่อเป็นการบ่งบอกหรือป่าวประกาศ ถึงความมุ่งมั่นต่อคุณภาพที่จะเกิดจากการดำเนินการ รวมทั้งการที่องค์กรจะปฏิเสธอย่างแข็งขันต่อสภาพที่ตรงกันข้ามจากที่กำหนดไว้ในนโยบายนั้น
8. คู่มือคุณภาพ (quality manual) หมายถึง บทบัญญัติของระบบคุณภาพ ซึ่งระบุว่า องค์กรต้องจัดการเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่เป็นข้อกำหนดในด้านคุณภาพจะบรรลุผลอย่างแน่นอน
9. ระเบียบปฏิบัติด้านคุณภาพ (quality procedures) หมายถึง บทบัญญัติที่แสดงวิธีดำเนินการหรือวิธีปฏิบัติ ในประเด็นหรือเรื่องราวที่ระบุไว้ในคู่มือคุณภาพ โดยระบุในทำนองที่ว่า เพื่อให้บรรลุผลไปตามแนวทางของการบริหาร หรือเมื่อมีการนำแนวทางที่กำหนดไว้มาใช้ปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม
10. แผนคุณภาพ (quality plan) หมายถึง การจัดทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งแสดงรายละเอียดของการดดำเนินงานขององค์กร เพื่อชี้ให้เห็นว่า ข้อกำหนดของลูกค้าในด้านผลิตภัณฑ์ หรือข้อกำหนดของโครงการ หรือในสัญญา สามารถบรรลุผลเป็นรูปธรรมได้จริง ด้วยกิจกรรมที่ปรากฏในแผนคุณภาพนั้น โดยในทางปฏิบัติผู้ประกอบการอาจจัดทำแผนคุณภาพเป็นสองลักษณะ คือ แผนคุณภาพทั่วไปขององค์กร และแผนคุณภาพเฉพาะ
11. การตรวจประเมินคุณภาพ (quality audit) คือการตรวจสอบอย่างเป็นระบบและอิสระจากสิ่งที่ตรวจ เพื่อจะดูว่ากิจกรรมด้านคุณภาพและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องมีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินการที่ได้จัดวางไว้หรือไม่ ได้มีการดำเนินการไปตามที่ได้กำหนดหรือจัดวางไว้จริงอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่และเหมาะสมแก่การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
12. การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management (TQM)) เป็นแนวทางการจัดงานองค์กรที่เน้นคุณภาพในทุกขั้นตอนและทุกจุดของงาน เพื่อให้สามารถประกันคุณภาพของผลผลิตว่าเป็นที่พอใจของผู้รับบริการหรือลูกค้า อันจะส่งผลให้องค์กรได้รับความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
13. นักท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality tourist) หมายถึง นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางการท่องเที่ยวตามที่ต้องการได้และขณะเดียวกันเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ก่อ....
14. หลักการบริหารคุณภาพ 8 ประการ (Eight Quality Management Principles) หมายถึง หลักการบริหารคุณภาพ 8 อย่าง เพื่อให้สนองรับต่อ ISO9001:2000 ซึ่งเขียนไว้ในระบบบริหารคุณภาพ ISO9004 อันได้แก่ หลักการที่ 1 : Customer-Focused Organization (องค์กรที่มุ่งเน้นความสำคัญของลูกค้า) หลักการที่ 2 : Leadership (ผู้นำที่มุ่งมั่น) หลักการที่ 3 Involvement of People (การบริหารงานโดยให้พนักงานมีส่วนร่วม) หลักการที่ 4 : Process Approach (การมองอย่างเป็นกระบวนการ) หลักการที่ 5 : System Approach to Management (หลักการบริหารเชิงระบบ) หลักการที่ 6 : Continual Improvement (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) หลักการที่ 7 : Factual approach to decision making (การอาศัยข้อเท็จจริงช่วยในการตัดสินใจ) และ หลักการที่ 8 : Mutually beneficial supplier relationships (การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ส่งมอบ)
15. การควบคุมคุณภาพมุ่งสู่ความผิดพลาดที่ศูนย์ (Zero quality control) หมายถึง แนวความคิดการลดต้นทุนการผลิตโดยการควบคุมคุณภาพการผลิตและลดปริมาณของเสีย ในกระบวนการผลิตให้เท่ากับศูนย์ [15]
16. ระบบการควบคุมคุณภาพทางสถิติ (Statistical Quality Control System(SQCS)) เป็นการใช้สถิติในการกำหนดค่าควบคุมเพื่อใช้เป็นตัวแยกชิ้นงานที่ยอมรับได้ กับชิ้นงานที่ยอมรับไม่ได้ หรือชิ้นงานเสีย จำนวนของการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ จะเป็นไปตามหลักของการเก็บสถิติ
17. ระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย (Thai Foundation Quality System (TFQS)) เป็นโครงการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เพื่อสร้างพื้นฐานบันไดขั้นแรกในการจัดการคุณภาพของอุตสาหกรรมไทยขนาดกลางและเล็ก (SME) ให้สามารถพัฒนาก้าวสู่การจัดการคุณภาพระดับสากล
18. คุณภาพของการบริการ (Quality of Service-QoS) เป็นมาตราที่ใช้วัดในการรับส่งข้อมูล การยอมรับในเรื่องคุณภาพ ซึ่งเป็นระดับที่บางครั้งก็ยากแก่การกำหนดว่ามาตรฐานคุณภาพบนอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร แต่หากพิจารณา QoS ในเชิงเทคนิค พอจะนิยามได้ด้วยพารามิเตอร์หลายๆ ตัว เช่น การมีให้ใช้งานได้ (Availability) ช่องสัญญาณที่ส่งได้ (Throughput) การหายของแพ็กเก็ต (Packet Loss) เวลาลาเทนซี่ (Latency)
19. กลุ่มคุณภาพ (Quality Control Circle (QCC)) หมายถึง กลุ่มพนักงานเล็กๆ ที่อยู่หน้างาน ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพงาน สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการได้ด้วยตนเองตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม (Autonomus) ใช้ Qc Concept และ เทคนิคในการแก้ปัญหา
20. ผู้นำคุณภาพ (Quality Leadership) เป็นผู้นำที่จะพยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เกิดคุณภาพในงาน มีลักษณะเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การบริหารยึดถือความจริงมากกว่าความรู้สึก มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถที่จะใช้แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
21. การควบคุมคุณภาพภายใน (Internal Quality Control) ในความหมายของงานประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง เป็นส่วนที่สถาบันกี่ศึกษาจะต้องจัดให้มีระบบและกลไกการควบคุมคุณภาพภายในขององค์ประกอบต่างๆ ที่จะมีผลต่อคุณภาพของบัณฑิต และต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักการของการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสม พร้อมทั้งการมีระบบตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการภายในด้วย
22. การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Auditing) ในความหมายของงานประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การตรวจสอบผลการดำเนินการของระบบและกลไกควบคุมคุณภาพภายในที่สถาบันอุดมศึกษาได้จัดให้มีขึ้น โดยจะเป็นการตรวจสอบเชิงระบบ มุ่งเน้นการพิจารณาว่า สถาบันได้มีระบบควบคุมคุณภาพหรือไม่ ได้ใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเพียงใด และมีขั้นตอนการดำเนินการที่จะทำให้เชื่อถือได้หรือไม่ว่า การจัดการศึกษาจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ มุ่งเน้นการตรวจสอบในคณะวิชาเป็นหลัก
23. การประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) ในความหมายของงานประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง กระบวนการประเมินผลการดำเนินการของคณะวิชาโดยภาพรวมว่า เมื่อได้มีการใช้ระบบการประกันคุณภาพ หรือระบบควบคุมคุณภาพแล้ว ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากน้อยเพียงใด
24. รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (The Malcolm Baldrige National Quality Award -MBNQA) รางวัลนี้ เป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
25. รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) เป็นรางวัลที่เริ่มจัดตั้งขึ้นโดยการผลักดันของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางและมีหน้าที่ผลักดันและประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประกาศเกียรติคุณองค์กรที่มีผลงานดีเลิศตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติและขยายผลการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเผยแพร่วิธีการปฏิบัติขององค์กรที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างต่อสาธารณะ
26. การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ในความหมายของระบบ ISO 9001:2000 จะเกี่ยวข้องกับการประเมินตัวสินค้า หรือบริการโดยตรง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อที่จะให้ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามความต้องการที่กำหนด
27. การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) ในความหมายของระบบ ISO 9001:2000 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามความต้องการที่กำหนด
28. การปรับปรุงคุณภาพ (Quality Improvement) ในความหมายของระบบ ISO 9001:2000 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อที่เพิ่มความสามารถในการผลิตหรือให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการ กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดประโยชน์ในคุณลักษณะของคุณภาพ ซึ่งเป้าหมายหลัก ก็เพื่อตองสนองความพึงพอใจให้กับลูกค้า
29. เครือข่ายคุณภาพของเอเชีย (Asian Network for Quality – ANQ) เป็นการรวมตัวกันของสมาคมคุณภาพจาก 12 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิหร่าน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และดูไบ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มี สมาคมมาตรฐานและคุณภาพแห่งประเทศไทย (The Standards & Quality Association of Thailand) เป็นผู้แทน
30. การตรวจสอบคุณภาพภายนอก (External Quality Audit) ในความหมายของงานประกันคุณภาพการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) ซึ่งแยกได้เป็น การตรวจสอบคุณภาพภายใน (Internal Quality Audit) การตรวจสอบคุณภาพภายนอก (External Quality Audit) และการรับรองคุณภาพ (Quality Accreditation) ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพภายนอก (External Quality Audit) หมายถึง การตรวจสอบคุณภาพโดยหน่วยงาน กลุ่มภายนอก ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ซึ่งอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานก็ได้
31. การรับรองคุณภาพ (Quality Accreditation) ในความหมายของงานประกันคุณภาพการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) ซึ่งแยกได้เป็น การตรวจสอบคุณภาพภายใน (Internal Quality Audit) การตรวจสอบคุณภาพภายนอก (External Quality Audit) และการรับรองคุณภาพ (Quality Accreditation) ซึ่งการรับรองคุณภาพหมายถึง การรับรองหรือไม่รับรองคุณภาพ ตามมาตรฐานซึ่งบางครั้งเป็นมาตรฐานทางกายภาพ เช่น พื้นที่ จำนวนอุปกรณ์ ฯลฯ

สถิติที่สังคมควรหันมาใส่ใจ

โพล (Poll) หมายถึง การสำรวจความเห็น โดยตั้งคำถามคนจำนวนมากๆ “โพล” เป็นสิ่งที่พวกเราพบเห็นเป็นประจำจากการรายการข่าวทางสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออินเทอร์เน็ต ผู้จัดทำโพลในปัจจุบันมีหลายสำนัก หลายสถาบัน แต่ที่ค่อนข้างเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ และเป็นที่รู้จักของบุคคลโดยทั่วไป เห็นจะเป็น โพลของ สำนักวิจัยเอแบค (เอแบคโพล) โพลของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (สวนดุสิตโพล) และโพลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เป็นต้น
โพล ที่เป็นข่าวปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ บางคนก็ให้ความสนใจ บางคนก็สนใจบ้างแต่ไม่บ่อยนัก และก็มีบางคนแทบไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญเลย นอกจากโพลแล้ว บางครั้ง เราก็อาจพบผลงานวิจัยหลายเรื่อง ที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาต่างๆ ซึ่งหากได้เราลองพิจารณาและศึกษาแล้ว ผลจากโพลหรือผลจากงานวิจัยที่ค้นพบ บางเรื่องมีคุณค่ายิ่งนัก พออ่านแล้วน่าเป็นห่วงสังคมมาก แต่ก็มีโพลหรืองานวิจัยบางเรื่องไม่ค่อยน่าสนใจ บางเรื่องก็ไม่น่าเชื่อถือ และบางเรื่องก็ดูเหมือนจะไร้สาระ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หัวข้อเรื่องและบริบทของการทำโพล หรืองานวิจัย ที่ถูกนำเสนอตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมเกือบทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนคงไม่นำมาลงเป็นข่าวเพื่อตีพิมพ์หรือเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้ทราบอย่างแน่นอน
จากการที่ข้าพเจ้าได้เฝ้าติดตามสังเกต สัมภาษณ์ และพูดคุย กับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก รวมทั้งบรรดาญาติสนิทมิตรสหายของข้าพเจ้า รู้สึกว่าคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยมาก ที่จะเห็นความสำคัญของโพล หรืองานวิจัยที่ปรากฏเป็นข่าว มักไม่ค่อยถูกนำมาพูดคุยกันในวงสนทนา หรือถูกนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานของตนเอง ทั้งๆ ที่หลายเรื่อง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ข้าพเจ้าได้ลองพยายามรวบรวมโพล และงานวิจัยที่ได้อ่านพบจากสื่อต่างๆ ในห้วงระหว่าง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายเรื่องพอสมควร ข้าพเจ้าจะขอนำเรื่องที่สำคัญๆ และน่าสนใจ มาเขียนพอสังเขป ดังนี้

ความพึงพอใจต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์
กรุงเทพโพล ของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง การประเมินผลงาน 3 เดือน ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,082 คน ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.49 – 4 ม.ค.50 พบว่า (อนุภพ. เห็นมาอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น. น.ส.พ.เดลินิวส์. 10 ม.ค.2550 : หน้า 8)
· ประชาชนมีความพึงพอใจในผลงานของรัฐบาลนี้ในภาพรวมเพียง 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10
· ส่วนด้านความเห็นต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศครบ 3 เดือน พบว่า
o ร้อยละ 43.1 เห็นว่า เหมือนเดิม มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
o ร้อยละ 24.9 เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง
· ประชาชนชื่นชมรัฐบาลชุดนี้แค่เรื่อง ความซื่อสัตย์ โปร่งใส และการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น
· เรื่องที่รัฐบาลสมควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ ความรวดเร็วฉับไวในการทำงาน ความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ และการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน

โทรศัพท์มือถือช่วยให้คนโกหกมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานผลจากการสำรวจพบว่า (น.ส.พ.เดลินิวส์. 10 ม.ค.2550 : หน้า 16) มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,487 คน ร้อยละ 67 ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์มือถือและอีเมล์โกหก และเป็นการโกหกในที่ทำงาน เหตุผลเพราะเกิดความละอายใจน้อยกว่าการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่โดยตรง
ส่วนข้ออ้างที่นำมาใช้ในการโกหกเรียง 3 อันดับแรกได้แก่
· อันดับแรก เป็นการเจ็บป่วย คิดเป็น 43%
· อันดับที่สอง เป็นเรื่องงานที่ได้รับมอบหมาย คิดเป็นร้อยละ 23%
· อันดับที่สาม เป็นเรื่องของการปกปิดความผิดไม่ให้เจ้านายระดับสูงทราบ คิดเป็น 18%

สถานการณ์ความรุนแรงในนักเรียน
พีธากร ศรีบุตรวงศ์ นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 11 ม.ค.2550 : หน้า 12) ได้ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในนักเรียน จ.อุดรธานี จำนวน 300 คน พบว่า
· ในระดับอนุบาล พบพฤติกรรม เช่น เด็กชอบรังแกคนอื่น ทั้งขโมยขนม ตบหัว เตะ และครูจะลงโทษด้วยการตีเมื่อเด็กไม่ยอมนอน
· ในระดับประถมศึกษา พบพฤติกรรมด้านละเมิดทางเพศ ทั้งเปิดกระโปรง จับก้น จับหน้าอก ข่มขู่เอาเงิน ขนม จนถึงยกพวกตีกัน
· ในระดับมัธยมศึกษา พบว่า ร้อยละ 62 ใช้คำหยาบคาย ส่วนด้านความรุนแรงกว่าร้อยละ 54 เกิดขึ้นในห้องเรียน ซึ่งความรุนแรงเฉพาะในส่วนที่เด็กได้รับมาจากครู แยกเป็นถูกครูตี ร้อยละ 77.3 ถูกครูตะโกนใส่ ร้อยละ 68.9 ถูกครูกล่าวคำสบประมาท ร้อยละ 54.1 และเคยถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 5.4
· เมื่อสำรวจพฤติกรรมเด็กพบว่าร้อยละ 49 เคยดื่มสุรา ร้อยละ 51 เคยเล่นการพนัน ซึ่งทั้งสองพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบมาจากครอบครัว และร้อยละ 18.9 เคยใช้ยาเสพติด


เวลาของเด็กในการใช้สื่อ
ดร.อมรวิชช์ นาคทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเวลาของเด็กนักเรียน พบว่า (น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 9 ม.ค.2550 : หน้า 11)
· เด็กจะใช้เวลาอยู่กับสื่อวันละ 6-7 ชั่วโมง
· เด็กประถมศึกษา ใช้เวลาดูโทรทัศน์ 141 นาทีต่อวัน และใช้อินเตอร์เน็ต 89 นาทีต่อวัน
· เด็กมัธยมศึกษา ใช้เวลาดูโทรทัศน์ 156 นาทีต่อวัน และใช้อินเตอร์เน็ต 102 นาทีต่อวัน

สถานการณ์เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ
เอแบคโพล (นงค์นาถ ห่านวิไล. คมธุรกิจ. น.ส.พ.คม ชัด ลึก. 9 ม.ค.2550 : หน้า 10) ได้ทำการสำรวจสาเหตุของการระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.2549 พบว่าเป็นฝีมือของผู้เสียประโยชน์ โดยมีผลการสำรวจที่สำคัญดังนี้
· ประชาชนร้อยละ 46.4 เชื่อว่า เป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง
· ประชาชนร้อยละ 48.5 ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไป และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ กับภาครัฐ ในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมต่างๆ
· สถานที่ที่ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวและหลีกเหลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปมากที่สุดถึง 75.6% คือ ศูนย์การค้า ตลาดนัด รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และแหล่งชุมชนเช่น ป้ายรถเมล์ สะพานลอย ลานจอดรถ

สัญญาณของสื่ออันตรายกับวัยรุ่นวัยใสเมืองกรุง
ดร.นพดล กรรณิการ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และ ดร.สุชามา คาสเบกา เปิดเผยผลการสำรวจภาคสนามเรื่อง สัญญาณของสื่ออันตรายกับวัยรุ่นวัยใสเมืองกรุง กรณีศึกษานิสิต / นักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,262 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.2549 ถึง 2 ธันวาคม 2549 พบผลการสำรวจที่น่าสนใจดังนี้
· ร้อยละ 95.7 ใช้โทรศัพท์มือถือ เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 94.6 ใช้สื่อโทรทัศน์ เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 88.3 ใช้คอมพิวเตอร์เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 79.9 ใช้อินเตอร์เน็ต เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ร้อยละ 74.4 ใช้สื่อวิทยุ เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน
· ด้านพฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ 16 นาทีต่อวัน โดยร้อยละ 78.1 อ่านข่าวหน้าหนึ่ง รองลงมาร้อยละ 75.8 อ่านข่าวบันเทิง ร้อยละ 36.1 อ่านข่าวกีฬา
· ด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ที่ชอบดู พบว่า ร้อยละ 74.9 ดูละคร รองลงมา ร้อยละ 66.2 ดูรายการเพลง ร้อยละ 65.7 ดูรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าว และร้อยละ 57.3 ดูเกมส์โชว์
· ด้านการใช้เทคโนโลยี ร้อยละ 48.7 สนทนาผ่านทางอินเตอร์เน๊ต หรือ แชท (Chat) เฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 45.4 ส่งข้อความ รูปภาพผ่านมือถือ เฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน และร้อยละ 9.4 ใช้เว็บแคมป์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.7 ทราบค่าใช้จ่ายมือถือแต่ละเดือนเฉลี่ย 423.50 บาท และร้อยละ 13.3 ไม่ทราบค่าใช้จ่ายมือถือ เพราะไม่ได้เป็นผู้จ่ายเอง

อัตราการใช้เทคโนโลยีในปี ค.ศ.2010
ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าภายในปี ค.ศ.2010 โลกเราจะมีอัตราการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้ (experience provider. นิตยสารผู้จัดการ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 280.,มกราคม 2550 : หน้า 43)
· อัตราการใช้งานโน๊ตบุ๊ค จะพุ่งสูงถึง 697 ล้านเครื่อง
· อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่าย 3G ที่ใช้งานจริง 1,363 เครื่อง
· คนจะพกพาเครื่องเล่นเกม 251 ล้านเครื่อง
· คนจะใช้ พีดีเอ และพ็อกเก็ตพีซีมากถึง 85 ล้านเครื่อง
· คนจะใช้เครื่องเล่นเอ็มพีสามถึง 427 ล้านเครื่อง
· เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาจะขายได้กว่า 22 ล้านเครื่อง
· กล้องดิจิตอลจะมีมากถึง 465 ล้านตัว

พฤติกรรมเพศสัมพันธ์กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา
ผศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้ทำการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมเพศสัมพันธ์กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยได้ศึกษากลุ่มเยาวชน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครฯ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ได้รับกลับมาโยสมบูรณ์ จำนวน 3,274 ชุด และจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัย พบหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น
· ค่าเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 16.09 ปี อายุน้อยที่สุด 9 ปี
· การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
o โดยสมัครใจ ผู้ชายร้อยละ 78.6 ผู้หญิงร้อยละ 70.49 รวมร้อยละ 74.9
o โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ชายร้อยละ 3.2 ผู้หญิงร้อยละ 13.8 รวมร้อยละ 7.7
o ถูกบังคับ ผู้ชายร้อยละ 4.1 ผู้หญิงร้อยละ 9.7 รวมร้อยละ 6.5
o เมาไม่รู้สึกตัว ผู้ชายร้อยละ 9.6 ผู้หญิงร้อยละ 1.6 รวมร้อยละ 6.2
· บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยครั้งแรก ส่วนใหญ่เป็นคู่รักและแฟน ร้อยละ 78.7 รองลงมาเป็นบุคคลซึ่งรู้จักกันชั่วคราว ร้อยละ 10.9 เพื่อนเพศเดียวกัน ร้อยละ 5.2 ชาย/หญิงขายบริการ ร้อยละ 2.6 และอื่นๆ ร้อยละ 2.7

โพล หรืองานวิจัย ที่ข้าพเจ้าได้รวมรวมมาเป็นตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ว่า หัวข้อเรื่องที่ทำการสำรวจหรือทำการวิจัยมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลจากโพล หรือผลจากการวิจัยที่ค้นพบในแต่ละเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่หน่วยงานทางภาครัฐ เอกชน สมาคม องค์กร มูลนิธิ ชมรม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับผู้บริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนั้นๆ ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะผลจากการค้นพบจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำโครงการหรือหามาตรการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเป็นส่วนรวมได้อย่างมาก
ข้าพเจ้าอยากให้ทุกคนได้หันมาให้ความสนใจ ต่อผลของโพล หรือผลของงานวิจัยต่างๆ ที่ค้นพบ ซึ่งหาได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเราพบเห็นหรือสืบค้นได้จากสื่อต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ไม่อยากให้ทุกคนเห็นมันเป็นเพียงแค่ข่าวที่อ่านแล้ว ก็ผ่านไป หรือมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องของพวกนักวิชาการเท่านั้น เพราะผลที่ค้นพบจากโพล หรืองานวิจัย เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุและผล มีขั้นมีตอน มีการวิเคราะห์ และประมวลผลด้วยวิชาสถิติ ที่สำคัญ มันสามารถอธิบายได้
ขั้นตอนที่สำคัญของโพล หรืองานวิจัย ขั้นตอนหนึ่ง คือ การวิเคราะห์และการประมวลผลข้อมูลด้วยวิชาความรู้ทางสถิติ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โพล ก็คือ สถิติที่สังคมควรหันมาให้ความใส่ใจ

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550

“เฉลิมพระชนม์ ๘๐ พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลังก์”


องก์ที่๑ “สืบสายธาร อารยะ ชยราชปุรี”
• วงแหวนแห่งกาลเวลา เคลื่อนผ่านตามสายกระแสแห่งแม่น้ำราชบุรีหรือแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นสายน้ำแห่งชีวิต จิตและวิญญาณ ของผู้คนในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแอบอิงกับสองฟากฝั่งความอุดม และสั่งสมอารยธรรมมานานนับพันปี โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานที่สำคัญ นั่นคือ เมืองโบราณคูบัวอันเปรียบเหมือนศูนย์กลางของชุมชนโบราณของแผ่นดินนี้ในยุควัฒนธรรมทวารวดี และสันนิษฐานว่าเป็นท่าจอดเรือสมัยโบราณ รวมทั้งหลักฐานโบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคีรี และแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู อันแสดงถึงอารยะของแผ่นดินถิ่นนี้ ที่ปรากฏภาพพระพุทธรูปแกะสลักในถ้ำต่างๆ
• สืบยุคสู่วัฒนธรรมเขมรโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๖,๑๘ จึงเกิดเมือง “ชยราชบุรี” ที่สันนิษฐานว่าเป็นเมืองราชบุรีที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังมีเมืองโบราณโกสินารายณ์ โบราณสถาน จอมปราสาท และพระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และอีกนานับความเรืองค่าที่แสดงถึงความเรืองงามของบรรพชนคนราชบุรี ซึ่งสืบทอดสร้างสรรค์ชุมชนบนผืนแผ่นดินนี้ จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคสู่ยุค อันจารึกไว้คู่วันเวลา
• วันเวลาแห่งสายน้ำแม่กลอง จึงสะท้อนสู่คืนวันแห่งแผ่นดินที่ปวงบรรพชนคนราชบุรีทั้งสิ้น ได้สืบสานสั่งสมกันมาด้วยอารยะแห่งจิตวิญญาณ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันประกอบด้วยจังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มของไทย โดยใช้สองฝั่งของแม่น้ำแม่กลองเป็นแกนหลัก จะมีเรื่องราวของสุวรรณภูมิโดยเฉพาะตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่งลงมาตลอดลำน้ำแม่กลองไปถึงอัมพวา ซึ่งเป็นดินแดนแห่งราชนิกูลของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง : นิเวศวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ” ซึ่งจะมีเส้นทางที่เกี่ยวข้อง กับวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ

องก์ที่ ๒ “คุณความดี รังสฤษฎ์ สถิตหล้า”
• เสียงเพลงพิษฐานบอกกล่าววันชื่นคืนสุขแห่งวิถีชีวิตของคนราชบุรี ที่พร้อมปกป้องรักษาผืนแผ่นดิน จนล่วงผ่านสู่คืนวันแห่งแผ่นดินแตก กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าข้าศึกโจมตีจนเสียกรุงครั้งที่ ๒
• ราชบุรีครานั้น มีนายทองด้วงเป็นหลวงยกบัตร และมีภรรยาชื่อนาก ซึ่งทั้งคู่พยายามรวบรวมผู้คนไม่ให้หลบหนีเข้าป่า และป้องกันการข่มเหงจากกองทัพพม่า อีกทั้งยังให้น้องชายชื่อบุญมาไปร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติประกาศอิสรภาพได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
• คนราชบุรีมีความยินดี ปิติยิ่งนัก เมื่อรู้ว่านายทองด้วงและนายบุญมาได้กลายเป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสิน
• ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ได้เกิดศึกสำคัญอันประจักษ์คู่เมืองราชบุรี นั่นคือ การสู่รบที่สมรภูมิ “บ้านนางแก้ว” อำเภอโพธาราม นายทองด้วงและนายบุญมาในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งได้ทำการร่วมรบเคียงคู่กันจนสามารถได้ชัยชนะเหนือกองทัพพม่า ยังความปลาบปลื้มปิติปรีดาแก่ชาวราชบุรี
• จนกระทั่งได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงได้เป็นจอมทัพบัญชาการร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราชรบกับกองทัพพม่าของพระเจ้าปดุงใน “สมครามเก้าทัพ” ที่สมรภูมิทุ่งเขางู อำเภอเมืองราชบุรี จนกองทัพพม่าแตกพ่าย และยังความสุขสงบร่มเย็นแก่ผืนแผ่นดินราชบุรีสืบมา

องก์ที่ ๓ “คุณค่าคน คุณค่ารัก จำหลักฟ้า”
• อาทิตย์ ทองทอทาบอาบขอบฟ้า วันเวลาของ “คนราชบุรี” ล่วงผ่านสู่ยุคต้นรัตนโกสินทร์อันเป็นช่วงแห่งกาลประจักษ์ถึงคุณค่าของผู้คนที่ไหลรินเข้ามาร่วมชีวิตกันเป็นหนึ่งเดียว ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยชาวไทยพื้นถิ่น, ชาวไทยกะเหรี่ยง และชาวไทยทรงดำ
• สายแสงแห่งความสุข ทอทอดกลุ่ม ๘ ชาติพันธ์ ส่องทอให้เห็นประวัติความเป็นมาของแต่ละชาติพันธุ์, วัฒนธรรมประเพณี, การแต่งกาย, ภาษา, การละเล่นพื้นบ้าน และการร่วมอยู่อาศัยกันในผืนแผ่นดินแห่งนี้อย่างมีความสุขของทุกชาติพันธุ์
• ความสุขในทุกรอยยิ้มแต่งแต้มสีสันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ประดุจสายรุ้งที่ทอประกายเหนือโค้งคุ้งฟ้าราชบุรี และไม่มีวันเลือนลับไปจากแผ่นดินนี้
“ผืนแผ่นดินแห่งความรัก และความเป็นหนึ่งวิถีแห่งห้วงหัวใจคนราชบุรี”

องก์ที่ ๔ “คุณค่าเมือง เรืองสง่า พระบารมี”
• จันทร์ทอแสงสืบสายคุณค่าสู่คน “คุณค่าเมือง” เสมือนความเรืองรองของพระอาทิตย์ที่สืบสายสู่พระจันทร์ “คุณค่าเมือง” จึงเรืองอนันต์นับแต่คืนวันแห่งการวางศิลาฤกษ์ฝังหลักเมืองในช่วงรัชกาลที่ ๒ การสร้างเขาวังในช่วงรัชกาลที่ ๔ และที่สำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๔ คือปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก ซึ่งได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ และเป็นหนึ่งในคุณค่าสำคัญประจำเมือง
• ในช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ราชบุรีได้รับการยกขึ้นเป็น “มณฑลราชบุรี” และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง ๑๐ ครั้ง และหนึ่งในนั้นคือ การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดสะพานรถไฟ “จุฬาลงกรณ์” ข้ามแม่น้ำแม่กลองในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และเคยเสด็จพระทับที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งยังทรงจัดตั้งกรมทหารต่างๆ เป็นแบบอย่างชาวยุโรปและหนึ่งในนั้น อันก่อเกิดและสถิตอยู่คู่เมืองราชบุรี คือ กรมการทหารช่าง และจังหวัดทหารบกราชบุรี “ค่ายภาณุรังษี” ตามพระนาม จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช
• สืบรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสืบทอดการสร้างสรรค์พัฒนา และเสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองราชบุรีหลายครั้ง เพื่อกิจการซ้อมรบเสือป่า และได้ทรงเปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๕๖ พร้อมทั้งทรงรับไว้เป็นโรงเรียนหลวง ในยุคนี้ได้มีสโสรเสือป่า, อาคารศาลากลางจังหวัด, อาคารศาลแขวงอันเป็นสถาปัตยกรรมคู่เมือง และที่สำคัญอันสถิตอยู่คือเมืองคือ การพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดซึ่งเดิมใช้สัญลักษณ์ “เขางู” ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นตราสัญลักษณ์รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ พระแสงขรรค์ชัยศรี และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานบนพานทองอันแสดงถึงความหมายแห่งชื่อเมืองราชบุรีว่า “เมืองแห่งพระราชา”

องก์ที่ ๕ “ยุคสงคราม งามน้ำใจ ไม่รู้สิ้น”
• เสียงหวูดรถไฟ เป็นหนึ่งในเสียงแห่งลมหายใจของชาวจังหวัดราชบุรี เพราะเป็นเส้นทางรถไฟสู่สายใต้
• สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น และนำไปสู่สิถีชีวิตซึ่งบอบช้ำจากผลของสงคราม แต่ก็นำไปสู่คุณค่า “ความมีน้ำใจ” ของคนราชบุรี เมื่อฝ่ายไทยยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพ และวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๘๕ หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเป็นวันที่หน่อยทหารซากาโมโตแห่งกองพลทหารรถไฟที่ ๙ ของกองทัพญี่ปุ่น ได้ลงมือปักหลักหินบอกเลขกิโลเมตรที่ ๐ ของทางรถไฟสายไทย – พม่า หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ทางรถไฟสายมรณะ” ลง ณ สถานีหนองปลาดุก ในเขตอำเภอบ้านโป่ง แต่ก่อนหน้านั้นในราวสองเดือนชาวหนองปลาดุกต่างมีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะร่างเตี้ยที่เข้ามาตัดฟันต้นไม้ต้นไร่ในสวนของตน เพื่อเตรียมพื้นที่สร้างค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะมีค่ายพักและค่ายกักกันแล้วยังมีโรงเรือนขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่ขนมาเตรียมไว้ใช้ เป็นพาหนะลำเลียงเหล่าทหารและยุทธภัณฑ์ไปยังพม่า
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ประจักษ์ถึงความรักแผ่นดินของชาวราชบุรี ในการร่วมกับขบวนการเสรีไทยเข้าต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น รวมทั้งการมีน้ำใจต่อเชลยศึกที่มาก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ทั้งที่สถานีรถไฟหนองปลาดุก และวัดนักบุญยอเซฟ บ้านโป่ง ซึ่งทำให้เชลยศึกชาวต่างชาติซาบซึ้งในน้ำใจชาวราชบุรีที่ดูแล รักษาไข้ ให้อาหารและนำเสื้อผ้าไปแจก แม้จนกระทั่งถึงวันที่สิ้นสุดสงคราม ทหารญี่ปุ่นตกเป็นเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวราชบุรีก็ไม่ได้คิดแก้แค้นกลับสงสารและเห็นใจเชลยศึกญี่ปุ่นที่แออัดยัดเยียดอยู่ ณ สถานีรถไฟหนองปลาดุก จึงได้แสดงน้ำใจดูแลจนทหารญี่ปุ่นซาบซึ้งใจ
ความรักความผูกพันในสายใยแห่งน้ำใจ จึงทำให้คนราชบุรีได้รับการยกย่องว่ามีจิตใจงดงามและมีความรักที่บริสุทธิ์ ที่พร้อมจะมอบให้คนทั้งโลกที่ได้มาเยือน “ถิ่นคนงาม นามราชบุรี”

องก์ที่ ๖ “แสงแผ่นดิน แสกเวลา ฟ้าเปลี่ยนสี”
• สายลมแห่งความรัก พัดพาสู่คืนวันภายใต้ร่มฟ้าพระมหาบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันนำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พร้อมจะดับทุกข์ให้กับชาวราชบุรี
• วันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ได้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ขึ้นที่ตลาดบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง ไฟได้ลุกลามเผาไหม้อาคารบ้านเรือนของราษฎรอย่างรวดเร็วเป็นเวลาหลายชั่วโมง อาคารบ้านเรือนถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งตลาด ราษฎรจำนวนหลายร้อยหลังคาเรือนไม่มีที่อยู่อาศัย เกิดความเดือนร้อนอย่างมหันต์แก่ผู้ประสบภัยครั้งนี้ ความได้ทรงทราบฝ่าละอองธุรีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๙๗ และได้ทอดพระเนตรสถานที่เกิดเหตุ ณ ว่าที่การอำเภอบ้านโป่ง พร้อมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของเครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ประสบอัคคีภัยยังความปลาบปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
• สายแห่งพระมหากรุณาธิคุณยังส่องทอความห่วงใย ทั้งในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ราชบุรีและวิกฤตการณ์น้ำเสียในลำน้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดราชบุรี อันนำไปสู่การพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และก้าวไปสู่การเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูถัมภ์ อันนำมาซึ่งความสถาพร และยั่งยืนของความเป็นดินแดนแห่งโคนมในปัจจุบัน รวมถึงโครงการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน นอกจากนั้นได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเมืองราชบุรีอเนกอนันต์ และเสด็จราชดำเนินเมืองราชบุรีหลายครั้ง ทั้งที่อำเภอจอมบึง เยี่ยมราษฎรอันเนื่องจากอุทกภัย ถวายพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก พระราชทานพระพุทธรูปสี่มุมเมืองและอื่นๆ อันจารึกไว้คู่แผ่นดินราชบุรี ทำให้คืนวันของราชบุรีก้าวเข้าสู่ความเรืองรองผ่องอำไพ อันสนิทแนบแน่นในดวงใจแห่งการถวายความจงรักภักดีของชาวราชบุรีนิรันดร์กาล




องก์ที่ ๗ “เอกลักษณ์ ประจักษ์ค่า โรจน์รวี”
• ดาวทองแสงระยิบระยับประดับฟ้า ส่องทอคุณค่าแห่งมรดกเมืองเรืองอำไพ
• ทั้งคุณค่าของมรดกแห่งวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งมรดกทางอารยธรรมล้ำค่า ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสืบทอดตกสู่ผู้คนชาวราชบุรีในปัจจุบัน สมดั่งคำขวัญจังหวัดที่ว่า

“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง
เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่
ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน
เพลินค้างความร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี ”

• นอกจากนี้มรดกทางวัฒนธรรม ปูชนียวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ทั้งพระพุทธรูปสี่มุมเมืองหลวงพ่อแก่นจันทร์, ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเกษตรกรรม แหล่งภูมิปัญญาพื้นบ้านและอื่นๆ อีกมากมาย
• ด้วยความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ในอนาคตจังหวัดราชบุรีได้วางแนวทางโครงการ“เวนิสเอเชีย” โครงการเปิดจุดผ่อนปรน เส้นทางอันดามันโทลเวย์ เพื่อการฟื้นฟูชีวิตชนบท วัฒนธรรมไทยริมน้ำ และการสัญจรทางน้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน
• คุณค่ามรดกอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี จึงเรืองงามคู่วัน คู่เวลาและก้าวสู่ความเรืองรองรุ่งฟ้าตามแผนพัฒนา และวิสัยทัศน์ของจังหวัดราชบุรี ภายใต้การบริหารงานอย่างมุ่งมั่นของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมทั้งคณะทำงานของจังหวัด ของเอกชน ของประชาชนทุกคน เพื่อให้บ้านเมืองนี้ดำรงรากเหง้าแห่งวิถีชนที่งดงามและพร้อมที่จะก้าวสู่กระแสโลกาภิวัฒน์อย่างมีเอกลักษณ์

องก์ที่ ๘“เฉลิมพระชนม์ ๘๐ พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลังก์”
• วงแหวนแห่งกาลเวลา เคลื่อนผ่านสู่ปัจจุบัน ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระราชาผู้ทรงธรรม จังหวัดราชบุรีในฐานะเมืองแห่งพระราชาซึ่งผ่านวันเวลาคู่ราชบัลลังก์มาแต่อดีตสืบปัจจุบัน จึงล้อมรักผนึกใจชาวราชบุรีทั้งมวล ร่วมเฉลิมพระเกียรติสืบทอดคุณค่าแห่งใต้ฟ้าบารมีและร่วมถวายความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ พร้อมทั้งตั้งจิตปณิธานในการสืบสานธำรงรักษา คุณค่าคน คุณค่าเมือง และคุณค่าของจิตใจ ให้เรืองรองรุ่งฟ้าเปล่งปรากฏเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดราชบุรีทั้งมวล ในการที่ได้เกิดมาในเมืองแห่งพระราชา นามว่า “จังหวัดราชบุรี”