หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ค่านิยมร่วมการศึกษาไทย "ขุนช้างเผือก ปล่อยช้างขี้เรือน"

ผมได้อ่านบทความ "หมายเหตุประเทศไทย" ของคุณลม  เปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 ก.ย.2554 เกี่ยวกับเรื่อง "งบการศึกษา 4.7 แสนล้านบาท แต่เด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งโง่"  ในบทความนี้คุณลมฯ ได้เขียนถึงจดหมายจาก "ครูชนบท" ท่านหนึ่งที่ส่งมาให้ ซึ่งครูชนบทท่านนี้ ได้เขียนมุมมองเรื่องราวของการศึกษาไทย ได้อย่างน่าสนใจ 

ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าครูชนบทท่านนี้ เขียนได้แบบมองเห็นภาพจริงๆ  เลยอยากนำมาเผยแพร่อีกต่อหนึ่ง เพื่อให้หลายๆ ท่านลองอ่านและพิจารณากันดูว่า "การศึกษาของเราเป็นแบบที่ครูชนบทท่านนี้เขียนไว้จริงหรือไม่" ครูชนบทท่านนี้เขียนว่า

"คุณลมครับ ข่าวที่เด็กไทยได้รับรางวัลนั้นรางวัลนี้อยู่เรื่อยๆ เมื่อทราบข่าว ผมก็รู้สึกดีใจกับลูกหลานที่เป็นนักเรียน ครู อาจารย์ และสถาบันนั้นๆ เช่นเดียวกับคนทั่วไป" ...ฯลฯ... "คุณลมครับ ที่ผ่านมานโยบายการศึกษาของชาติไทย ยึดนโยบาย "ขุนช้างเผือก" เอาไว้เพื่อโชว์แขก ส่วน "ช้างขี้เรือน" ปล่อยให้มันเป็นปุ๋ยของชาติก็แล้วกัน

เดี๋ยวนี้ ครูฉลาด (แกมโกง)  เขาไม่สอนนักเรียนตามหลักสูตร เพราะไม่มีประโยชน์อะไร สู้ไปตั้งใจฝึก เด็กที่มีพรสวรรค์ (ช้างเผือก) ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วส่งเข้าประกวดเพื่อรับประกาศนียบัตรและโล่รางวัลระดับต่างๆ (ระดับกลุ่ม ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภาค ระดับประเทศ) ในปีการศึกษาหนึ่งขอให้ได้รับ 1 รางวัลก็พอแล้ว

ครูที่ฝึกและผู้อำนวยการโรงเรียน จะได้รับการยกย่องว่าเป็นครูที่ดี มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในสังคม สามารถนำใบประกาศนียบัตรหรือโล่ไปอ้าง เพื่อขอเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ และถือเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำเสนอ เพื่อเลื่อนตำแหน่งและวิทยฐานะครู ให้สูงขึ้นได้

แต่นักเรียนที่อ่านไม่ออกอีกเกินครึ่ง ช่างหัวมัน ไม่เกี่ยวกับฉัน"

อ่านแล้วก็คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอะไรมากนัก เพราะเห็นภาพได้ชัดเจน และผมก็ยังมองเห็นว่า ค่านิยมร่วมของผู้บริหารการศึกษา ผู้อำนวยการและครู โดยเฉพาะในระดับขั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยเป็นเช่นนี้จริง การที่โรงเรียนจะมีชื่อเสียงได้ ครูจะเก่ง ผู้อำนวยการจะได้เลื่อนขั้น มักวัดกันจากโล่ รางวัลและเกียรติบัตรที่ได้รับเหล่านี้ แต่ผลผลิตและผลลัพธ์ของนักเรียนในภาพรวมไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ยกตัวอย่างเช่น หากเราผลิตสินค้าออกมา 10 ชิ้น แต่เราสนใจและพัฒนาคุณภาพแค่ 2 ชิ้น ที่เหลืออีก 8 ชิ้นกลับทิ้งมันไป อย่างนี้ถือว่าการลงทุนครั้งนี้ "ขาดทุน"

นโยบายที่ผิดพลาด มักจะสร้าง "ค่านิยมร่วม" ที่ผิดพลาดตามไปด้วย

ในการบริหารการศึกษา ผมว่า การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร  (Total Quality Managment) เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า การบริหารคุณภาพเป็นหย่อมๆ (Sparse   Quality Managment) ไม่อยากนั้นเด็กที่ไม่มีทั้งพรสวรรค์ ทั้งไม่ค่อยฉลาด และบางครั้งก็ขาดโอกาส  ยิ่งจะถูกทิ้งออกไปกลายเป็นคนไร้คุณภาพของสังคม


********************************************
ชาติชาย คเชนชล : 26 ก.ย.2554

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.เวสเทิร์นนิวส์ โฟกัสราชบุรี ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 หน้า 21

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์สวนทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า องค์กรทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐและเอกชนต่างประกาศก้องตั้งปณิธานว่า ตนเองได้น้อมนำ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มายึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่การงาน  ตามแนวคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ "ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  ภายใต้เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม" แต่วันนี้ รัฐบาลไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังดำเนินนโยบายสวนทางโดยสิ้นเชิง

วันนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังทำอะไร
รัฐบาลกำลังถลุงเงินรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดไปให้นายทุน จูงใจให้คนรากหญ้า จนถึงระดับคนชั้นกลางเป็นหนี้ กดหัวด้วยหนี้สิ้น จะได้ลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น เพื่อตกเป็นสาวกของ "ลัทธิบูชาตัวบุคคล"  สร้างความเชื่อว่า "ถ้าเชื่อข้าฯ แล้วเอ็งจะมีเงิน จะกินดีอยู่ดี" แต่หารู้ไม่ว่าปีศาจตัวนี้กำลังจะทำให้เอ็งเป็น "ทาสแห่งหนี้สิน" ไปตลอดชีวิต  รัฐบาลนี้กำลังเร่งรัดจัดตั้งหมู่บ้านแดงขึ้นเพื่อเป็นฐานกำลัง ขยายเครือข่ายสาวก ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ ช่วยกันทำลายประเทศไทยให้อ่อนแรง ถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อให้เหลือแต่นายทุนยักษใหญ่
นโยบายนี้ฟังดูผิวเผิน น่าจะดีต่อประชาชนผู้ใช้แรงงาน แต่เบื้องลึกแล้ว มุ่งหวังล้มทำลายบริษัท ห้างร้าน โรงงาน ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ให้หายสาบสูญไป เพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทให้แก่พนักงานได้ หลังจากนั้นก็จะเหลือเฉพาะบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย(ที่ตนเองและพรรคพวกเป็นนายทุน) เพียงแค่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ลดผลกำไรในปีนั้นลงมาสัก 10 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายค่าแรง 300 บาทให้แก่พนักงานประเภทแรงงานของตนเอง มันช่างคุ้มค่ากับแผนการกำจัดคู่แข่งที่เปรียบเสมือนเหลือบยุงลิ้นไรค่อยไต่ตรอมอยู่ที่หน้าแข้ง เมื่อเหลือข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ผลกำไรก็จะทวีเพิ่มพูนมหาศาล

ลดภาษีรถยนต์คันแรก บริษัทขายรถยนต์รวย
ประเทศไทยเสียรายได้จากการเก็บภาษี แต่ยอดขายและผลกำไรของบริษัทขายรถยนต์กลับทวีสูงขึ้น  บริษัทไฟแนนซ์ต่างอิ่มเอมเปรมใจ  ประชาชนขาดความพอประมาณ ขาดภูมิคุ้มกันที่ดี "ถูกความอยาก จูงใจให้ไปเป็นหนี้ซื้อรถยนต์"  จ่ายเต็มก่อน เป็นหนี้เต็มก่อน อีกหนึ่งปีถึงจะได้เงินภาษีคืน (หากจริงใจทำไม่ลดภาษีตั้งแต่ตอนซื้อเลย นี่คือแผนการชะลอการจ่ายเงินเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินของรัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องกันไว้จ่ายตามนโยบายประชานิยมที่หาเสียงอีกหลายรายการ) เมื่อมีรถยนต์มากขึ้น นายทุนบริษัทขายน้ำมัน ก็ขายน้ำมันได้มากขึ้นตามไปด้วย

ลดภาษีบ้านหลังแรก บริษัทบ้านจัดสรรรวย
เรื่องนี้คำสำคัญคือต้อง "ซื้อ" ไม่ใช่ "ปลูก" นั่นหมายถึงยอดขายและผลกำไรจะตกอยู่กับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายอย่างมโหฬาร ประชาชนถูกจูงใจให้เป็นหนี้ระยะยาว ประเทศไทยต้องเสียรายได้จากภาษีบ้านจัดสรรนี้อีกไม่รู้สักเท่าไหร่   คำถามมีอยู่ว่าหากประชาชนต้องการจะปลูก(ไม่ใช่ซื้อ) บ้านหลังแรก บนที่ดินของเขาเอง เขาจะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง เรื่องนโยบายลดภาษีบ้านหลังแรกนี้ ก็คือ การนำเงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ไปให้ประชาชนกู้ และผลกำไรจะไปตกอยู่ที่พวกนายทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายอย่างแนบเนียน แต่คนที่ดูแย่ที่สุดก็คือ ประชาชนที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ นั่นเอง 

จำนำข้าว...ชาวนาเป็นหนี้
ขึ้นชื่อว่า "การจำนำ" ผู้ที่นำสิ่งของเครื่องใช้ไปจำนำ ณ โรงรับจำนำ ก็ถือว่าเป็น "ลูกหนี้โรงรับจำนำ"  วันนี้รัฐบาลกำลังทำตัวเป็นโรงรับจำนำระดับประเทศ ผ่านทางเครือข่ายโรงรับจำนำของพรรคพวก เพื่อให้ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหนี้อย่างโงหัวไม่ขึ้น เป็น"ทาสแห่งหนี้สิน" ไปตลอดกาล และชาวนาเหล่านี้ ในอนาคตจะเป็นสาวกที่จงรักภักดีของเขาต่อไป ผู้หลักผู้ใหญ่และนักวิชาการหลายท่านก็ออกมาเตือนว่า "การจำนำข้าวนี้เสี่ยงต่อการขาดทุน และเสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬารเหมือนในอดีตที่ผ่านมา" แต่รัฐบาลก็ไม่เคยฟังเพราะเขารู้ว่าเขากำลังจะทำอะไรเพื่อให้ประเทศชาติล่มจ่ม 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลนี้ทำ เช่น การแจกแท็บเล็ต นักเรียน ป.1 การขี้นเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาท การโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้พรรคพวกตัวเองได้เป็นใหญ่ เป็นต้น

จากนโยบายรัฐบาลที่กล่าวมาล้วนสวนทางกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยสิ้นเชิง รัฐบาลพยายามสอนให้ประชาชนฟุ่มเพือย เป็นหนี้ ไม่รู้จักพอประมาณ ไม่ต้องมีเหตุผล มีเงินก็พอ ไม่ต้องมีภูมิคุ้มกันถึงเวลาป่วยก็มารับยาไปกิน ไม่จำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้ให้ประชาชน และทำทุกอย่างเพื่อทำลายระบบคุณธรรม

เรากำลังพยายามสอนเด็กนักเรียนของเราให้รู้จักน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต แต่รัฐบาลของเรากำลังสอนให้ประชาชนของเขาหลงทาง 

ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ เขาไม่โง่หรอก เขารู้ดีว่า "เขากำลังทำอะไรอยู่ และเขายังรู้อีกด้วยว่าการกระทำของเขานี้ จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความหายนะ"

แต่นั้นคือจุดมุ่งหมายที่พวกเขาตั้งใจ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การปกครองใหม่ตามความเชื่อของพวกเขา การที่จะทำเช่นนี้ได้ก็คือ การทำให้ประเทศไทยเกิดความอ่อนแอและบอบช้ำ จากนั้นเขาจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเขามาช่วย...แค่นี้ก็เป็นอันสำเร็จ

ตอนนี้ ไฟกองใหญ่เริ่มลุกโชน ตั้งใจเผาผลาญประเทศไทยให้เป็นจุณ ผมถือแก้วน้ำเล็กๆ ใบเดียวคงไม่สามารถดับไฟกองใหญ่กองนี้ได้เพียงลำพัง แต่หากมีแก้วน้ำหลายๆ ใบมารวมกันแล้ว พวกเราอาจจะช่วยกันดับไฟกองนี้ได้ แต่วันนี้คนไทยมีแต่ความกลัว กลัวที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง กลัวที่จะออกมาพูด กลัวที่จะออกมานำเสนอความจริง กลัวที่กล้าออกมาเสี่ยง กลัวว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัย กลัวที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง กลัวที่จะกล้าออกมาเสียสละ กลัวที่จะกล้าออกมาเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ผมยังจำประโยคๆ หนึ่งเกี่ยวกับความกลัว ได้ว่า

"ความกลัว ทำให้เกิดความเสื่อม"

พระนเรศวรยังไม่กลัวที่จะประกาศอิสรภาพ
พระเจ้าตากสินยังไม่กลัวที่จะแหกวงล้อม 
แล้วเรา....กำลังกลัวอะไรกัน

*****************************************
หมายเหตุ :
  • แนะนำบทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม "นิทานก่อนการเลือกตั้ง"
  • ผมไม่กลัวที่จะเขียน  แต่ผมกลัวว่าจะไม่มีคนกล้าพอที่จะช่วยเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ต่อไปมากกว่า

ชาติชาย คเชนชล 21 ก.ย.2554  

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 22 ฉบับที่ 389 ประจำเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2554 หน้า 3

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

อนุสรณ์ที่ถูกลืม "มิตร ชัยบัญชา" อดีตพระเอกยอดนิยม

เมื่อวานนี้ (16 ก.ย.2554) ผมเป็นคณะกรรมการฯ ไปประเมินนักเรียนดีเด่นด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ รร.บ้านท่ากระเทียม หมู่ 3 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดวิบูลย์ประชาสรรค์ (ท่ากระเทียม) และบริเวณปากทางจาก ถ.เพชรเกษม ก่อนเข้าโรงเรียนนั้น มีอนุสรณ์มิตร ชัยบัญชา อดีตพระเอกยอดนิยมในสมัยก่อน ซึ่งเล่นหนังมากว่า 300 เรื่อง ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่ถึง 100 เมตร

รูปปั้นมิตร ชัยบัญชา
ดูพิกัดและที่ตั้ง
ผมแอบหาเวลา มาเดินเยี่ยมชมอนุสรณ์ของมิตร ชัยบัญชา ที่ว่านี้ พอไปถึงเห็นบรรยากาศแลดูเงียบเหงา มีป้าสูงอายุท่านหนึ่งนอนเฝ้าอยู่ ในศาลามีรูปปั้นอดีตพระเอกยอดนิยมมิตร ชัยบัญชา อยู่ในตู้กระจกใบใหญ่  ซึ่งป้าบอกว่าคุณยอดชาย เมฆสุวรรณ (พระเอกหนัง เพื่อนคุณมิตรฯ ในสมัยนั้น) เป็นผู้ปั้น รูปปั้นนี้ทำมาจากเซรามิค แต่เดิมตั้งอยู่ภายในวัดท่ากระดาน พอเจ้าอาวาสซื้อที่ดินตรงนี้ได้ จึงย้ายออกมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ผ่านไปมาได้มองเห็น จะได้แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม 

ผมถามว่า "มีผู้คนแวะมาเยี่ยมชมอนุสรณ์มิตร ชัยบัญชา แห่งนี้จำนวนมากไหมครับ"

คุณป้าบอกว่า "ก็มีบ้าง แต่ไม่ค่อยเยอะหนัก อาจเพราะที่นี่ไม่มีโชคลาภหรือเลขหวยเด็ดๆ เหมือนกับรูปปั้นของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่ง ที่วัดทับกระดาน สุพรรณบุรี

อีกอย่างหนึ่งคนเพชรบุรีไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทาง อ.ท่ายาง และทาง จ.เพชรบุรี ก็ไม่ค่อยช่วยประชาสัมพันธ์และส่งเสริม  เคยบอกว่าจะนำประวัติคุณมิตร  ชัยบัญชา นี้ ไปยกย่องและเผยแพร่ในงานเทศกาลต่างๆ  เพื่อให้เด็กนักเรียนและคนในจังหวัดเพชรบุรี รุ่นหลังได้ทราบและเกิดความภาคภูมิใจ ก็ไม่เห็นทำอะไร ได้แต่พูดหลอกกัน"

หลังจากสนทนาต่ออีกครู่หนึ่ง ผมก็เดินกลับมายังโรงเรียนบ้านท่ากระเทียม แล้วลองถามนักเรียนชั้น ป.6 คนหนึ่ง ว่า "รู้จักอนุสรณ์มิตร ชัยบัญชาไหม" เด็กนักเรียนตอบว่า "รู้จักครับ อยู่ถัดจากโรงเรียนผมไปนิดเดียวเองครับ ถ้าครูอยากไป ผมจะพาไปครับ"  แล้วผมก็ถามต่อว่า "แล้วมิตร ชัยบัญชา เป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร" เด็กนักเรียนคนเดิม ตอบอย่างฉะฉานว่า

"ไม่ทราบครับ"

หากท่านใดมีโอกาสเดินทางกลับจากท่องเที่ยวภาคใต้มาตามถนนเพชรเกษม พอขับรถเลย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี มาแล้วก็แวะทางซ้ายเยี่ยมชมอนุสรณ์มิตร ชัยบัญชา แห่งนี้บ้างนะครับ อย่าให้พระเอกยอดนิยม หรือพระเอกตลอดกาลในอดีตของเราถูกลืมเลือนไป...อยากน้อยเอาไว้เล่าให้คนรุ่นหลังทราบไว้บ้างก็ยังดี


อนุสรณ์มิตร ชัยบัญชา
ดูพิกัดและที่ตั้ง
ประวัติโดยสังเขป มิตร  ชัยบัญชา
  • พ.ศ.2477 มิตร  ชัยบัญชา เกิดในเดือนมกราคม พ.ศ.2477 (ปีจอ) ที่เรือนชั้นเดียวเป็นห้องแถวในตลาดท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี บิดาชื่อ นาชม ระวีแสง มารดาชื่อนางยี  อินเนตร
  • พ.ศ.2480 เมื่ออายุได้ 2 ขวบกว่า แม่ได้แยกทางกับพ่อ และแม่ได้นำมิตร ชัยบัญชา ไปฝากไว้ให้ปู่กับย่าเลี้ยง แต่ด้วยความยากจน ปู่กับย่าได้นำตัวมิตร ชัยบัญชา ไปฝากไว้เป็นเด็กวัด ที่วัดสนามพราหมณ์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี อาศัยอยู่กับพระชื่อ หลวงอาแช่ม (น้องของพ่อ) และได้รับการตั้งชื่อว่า เด็กชายบุญทิ้ง   ระวีแสง
  • พ.ศ.2485 คุณบรรจบ  นิลศรีทอง (น้องเขยของแม่) ซึ่งรับราชการอยู่ที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มารับตัวเด็กชายบุญทิ้ง จากวัด นำตัวไปส่งไว้ที่บ้านนางเลิ้ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแม่กับสามีใหม่ที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถ.หลานหลวง กรุงเทพฯ
  • พ.ศ.2497 มิตร ชัยบัญชามีอายุครบ 20 ปี เรียนจบชั้น ม.6 ของโรงเรียนไทยประสาทวิทยา สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ดอนเมือง เป็นรุ่นที่ 11
  • พ.ศ.2499 วันที่ 17 กรกฎาคม 2499 เรียนจบจากโรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ได้รับพระราชทานยศเป็น จ่าอากาศโท
  • พ.ศ.2500 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2500 คุณประทีป  โกมลภิส ผู้กำกับภาพยนตร์ได้นำมิตร  ชัยบัญชา รับบทเป็นพระเอกภาพยนต์เรื่อง ชาติเสือ
  • พ.ศ.2501 วันที่ 18 มิถุนายน 2501 ชื่อของมิตร  ชัยบัญชา ได้ปรากฏบนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ที่โณงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี
  • พ.ศ.2504 มิตร  ชัยบัญชา ได้พบหน้าบิดาบังเกิดเกล้า คือนายชม ระวีแสง อีกครั้ง ที่บ้านท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
  • พ.ศ.2509 ได้รับพระราชทานโล่รางวัล ดาราคู่ขวัญ มิตร-เพชรา จากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ที่สามารถทำรายได้ลบสถิติภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ฉายในประเทศไทย
  • พ.ศ.2513 แสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกครบ 300 เรื่อง และในวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2513 เวลาประมาณบ่ายสามโมงเศษๆ มิตร  ชัยบัญชา ได้เสียชีวิตลงด้วยอุบัตเหตุอย่างกระทันหัน เขาเสียชีวิตในชุดอินทรีย์แดง ขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ณ อ่าวดงตาล หากจอมเทียน พัทยาใต้ จ.ชลบุรี รวมอายุได้ 36 ปี 8 เดือน 8 วัน
ข้อมูลส่วนตัว 
สูง 168 ซม. น้ำหนัก 80 กิโลกรัม สีที่ชอบ สีแดง อาหารจานโปรด ข้าวมันไก่ อาหารไทยที่ชอบที่สุด แกงส้มทุกชนิด น้ำพริกทุกชนิด ไข่พะโล้ (เกลียดอาหารใส่กะทิ) ขนมหวานที่ชอบ ฝอยทองแพ ผลไม้ที่ชอบ ทุเรียนและกล้วยน้ำว้า 

*************************************
ข้อมูลอ้างอิงจาก อิงคศักย์  เกตุหอม พ.ศ.2549
บทคัดย่อโดย นายบุญส่ง  ปิ่นทอง วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2552

อยากให้เด็กๆ ได้ดู



เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 ผมเป็นคณะกรรมการไปประเมินเด็กนักเรียนดีเด่นด้านคุณธรรมและจริยธรรม ปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนบ้านท่ากระเทียม หมู่ 3 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่โรงเรียนนี้เปิดสอนถึง ป.6  มีเด็กนักเรียนทั้งหมดรวม 48 คน มีผู้อำนวยการ 1 คน และครูอีก 2 คน นักเรียนส่วนใหญ่ฐานะยากจน พ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตาทวด สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านเสี่ยงต่อภัยยาเสพติด

พอไปถึงก็เห็นภาพเด็กๆ หน้าตาซื่อๆ ใสๆ ตีกลองยาวต้อนรับคณะกรรมการฯ อยู่ที่ระเบียงเก่าๆ หน้าห้องเรียนอย่างที่เห็นนี้แหละครับ ผมเลยถ่ายคลิบวีดีโอไว้  เผื่อว่าเด็กๆ เหล่านี้ก็จะได้ดูตัวของเขาเอง

แต่ก็ไม่รู้เขาจะดูได้หรือปล่าว
เพราะที่นั่นไม่มีอินเตอร์เน็ตให้เขาใช้กัน


***************************************

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ไอน์สไตน์คิดอย่างไรกับศาสนาพุทธ

ผมได้อ่านพบเรื่องราวนี้ ในหนังสือสวดมนต์ชื่อ "เสบียงทิพย์" ที่ได้รับมอบจากผู้ใจดีท่านหนึ่ง ในบทความที่ชื่อว่า "ศาสนาพุทธ หนทางแห่งความสุข"  โดยเรื่องไอน์สไตน์คิดอย่างไรกับศาสนาพุทธนี้ ได้อ้างอิงมาจากหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ซึ่งเขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

หนังสือ
"ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น"
ที่มาของภาพ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรื่องราวเริ่มต้นมาจาก กาลามสูตร หรือหลักในการพิจารณา 10 อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาวตะวันตกมากที่สุด   ได้แก่
  1. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการได้ยินได้ฟังตามกันมา
  2. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
  3. อย่าเพิ่งเชื่อด้วยการตื่นข่าวลือ
  4. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยอ้างตำรา
  5. อย่าเพิ่งเชื่อถือตรรก หรือเหตุผล
  6. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยการคาดคะเน
  7. อย่าเพิ่งเชื่อถือด้วยการคิดตรองอาการที่ปรากฏ
  8. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะเข้ากับความเห็นของตน
  9. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะผู้พูดมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
  10. อย่าเพิ่งเชื่อถือเพราะเห็นว่าสมณะนี้หรือผู้นี้เป็นครูของเรา
พระพุทธเจ้า ท่านไม่ต้องการให้มีความเชื่อใดๆ โดยไม่ใช่ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความมีเหตุผล ไม่เน้นความเชื่อ ไม่เน้นศรัทธา ไอน์สไตน์ ได้มาศึกษาพุทธศาสนา แล้วได้อ่านกาลามสูตร นี้ ก็เกิดแปลกใจว่า มีศาสนาที่สอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แบบนี้อยู่ด้วยหรือ ไอน์สไตน์เกิดความประทับใจ และเขียนบทความเผยแพร่แก่ชาวโลกว่า 

"ศาสนาแห่งอนาคต เป็นศาสนาแห่งจักรวาล ศาสนาซึ่งตั้งอยู่บนประสบการณ์ ซึ่งปฏิเสธความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ หากมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งพอจะรับมือกับความต้องการทางวิทยาศาสตร์ได้ละก็ ศาสนานั้น คือ ศาสนาพุทธ"

ไอน์สไตน์ยังกล่าวต่อว่า
"ศาสนาพุทธมีคุณลักษณะที่เราคาดหวังว่า จะเป็นศาสนาแห่งจักรวาล ศาสนาพุทธไม่ยึดติดกับพระเจ้า ไม่ส่งเสริมความเชื่อที่งมงาย ไม่เกี่ยวข้องกับเทวะนิยม ศาสนาพุทธเกี่ยวพันกับธรรมชาติ และจิตวิญญาณ โดยถือว่าเป็นองค์รวมเดียวกันอย่างมีความหมาย ศาสนาที่แท้จริงต้องไม่วางอยู่บนความกลัวชีวิต ความกลัวตาย และศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เชื่อด้วยความพากเพียรตามความรู้ที่มีเหตุผล"

ฯลฯ

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวถึงศาสนาพุทธเท่านั้น หากท่านใดต้องการอ่านอย่างละเอียดสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ดังรูปหนังสือตัวอย่างที่แนบมาด้านบนนี้ครับ

ขนาดไอน์สไตน์ ท่านยังเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์มีเหตุมีผล  แต่ปัจจุบันคนในสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  กลับไร้เหตุไร้ผลลงเรื่อยๆ  ยึดติดอัตตา ตัวกู ของกู พวกกู  ขาดความเกรงกลัวและละอายใจต่อการทำบาป  ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง เข้ามาครอบงำ ผ่านทาง ลาภสักการะ ยศ สรรเสริญ และอำนาจ 


*****************************
ที่มา :
ธรรมพุทธบริษัท. (______). ศาสนาพุทธหนทางแห่งความสุข. เสบียงทิพย์.กรุงเทพฯ : กิตติชัยการพิมพ์.

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม่มีเรียนฟรี 15 ปี ไม่มี กยศ. ไม่มี กรอ. "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี"

เรื่องราวของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่ขณะนี้ รัฐบาลโดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า จะยุติกองทุน กยศ. โดยประกาศพักหนี้ กยศ. และให้ชะลอการดำเนินคดีฟ้องร้องกับลูกหนี้ไปก่อนหลังจากนั้น จะปล่อยให้กู้เงินยืมเพื่อการศึกษาผ่าน กรอ.แทน โดยจะจัดให้มีวงเงินเพียงพออย่างแท้จริงสำหรับผู้เรียนทุกคน

ในทัศนะของผู้เขียนแล้วมองเห็นว่าการเรียนฟรี 15 ปี, กองทุน กยศ.และ กอร. นี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีต่อการศึกษาของคนไทยทั้งสิ้น เพราะมันสามารถช่วยให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและแบ่งเบาภาระแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ 

กยศ.ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 นั้น ขณะนี้กำลังจะเหมือนงูกินหาง จมไม่ลง ทั้งหนี้สูญ และหนี้ที่มีความเสี่ยง กองทุนฯ นี้ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนของเรา สามารถเป็นหนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนกระทั่งจบปริญญาตรี และหลังจากจบแล้ว แทนที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยทำงานที่สดใส  กลับกลายต้องมีภาระหาเงินมาชำระหนี้แก่กองทุนฯ ตามสัญญา และหากพวกเขาเกิดตกงาน ไม่สามารถหางานทำได้ ด้วยปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ (ซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมมันได้ ) แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร   

ข้อเสนอ "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี"
ปัจจุบันนโยบายการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล คือ รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะผู้ที่เรียนตั้งแต่ชั้น อนุบาล 1 ถึง ม.3 และ ,ม.4-6 และ ระดับ ปวช. การคิดเช่นนี้ ก็คือ การตั้งสมมติฐานแค่เพียงว่า  "นี่คือการศึกษาขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรจบ" แต่หากรัฐบาลตั้งสมมติฐานใหม่ว่า  "การศึกษาขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรจบคือ ระดับปริญญาตรี"  นั่นหมายถึง รัฐบาล ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเรียนฟรี ถึง 19 ปี ซึ่งหลายๆ พรรคการเมืองก็พยายามคิดนโยบายนี้มาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ

เปลี่ยนจากเรียนฟรีเป็น "ปี" เป็นเรียนฟรีตาม "อายุ"
ปัจจุบันหน่วยงานที่จัดการศึกษาของประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ เด็กและเยาวชนของเราสามารถเลือกเรียนได้ตามความชอบ ความถนัด และความจำเป็นของครอบครัวได้ ไม่ว่าทั้งสายสามัญ สายอุดมศึกษา สายอาชีวะ  การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการศึกษาเฉพาะทางของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ (ที่ไม่ใช่ ศธ.เป็นผู้จัด)  เช่น ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานฯ เป็นต้น แต่ปัจจุบันการเรียนฟรี 15 ปี ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในสถานศึกษาที่รัฐบาลบังคับ คือในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) บางส่วน 

หากเด็กนักเรียน เรียนจบ ม.3 แล้ว ไม่ประสงค์เรียนต่อ ม.4  และไม่อยากเรียนสายอาชีววะ  เขาสนใจที่จะไปเรียนด้านวิชาชีพอื่นๆ ที่้รัฐไม่ได้จัดให้ จากสถาบันการศึกษาเอกชนอื่นๆ  นักเรียนคนนี้ ก็จะต้องหาเงินไปเรียนเอง ดังนั้น "เขาก็จะเสียสิทธิ์การเรียนฟรีที่จะต้องได้รับจากรัฐบาลไป 3 ปี" เพราะไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน หรือสถานศึกษาที่รัฐบาลกำหนด

ตัวอย่างจริง :
มีนักเรียนหญิงคนหนึ่ง จบ ม.3 อายุ 15 ปี เธอหวังที่จะเป็นช่างเสริมสวยและฝันที่จะเปิดร้านเสริมสวยของตนเอง และเธอคิดว่า "การไปเรียนต่อ ม.4 หรือ สายอาชีวศึกษานั้น คงอีกหลายปีกว่าจะจบ ซึ่งจะเป็นการแบกภาระค่าใช้จ่ายแก่พ่อและแม่ของเธอเป็นอย่างมาก"  เธอจึงตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อ  ไปสมัครเรียนเสริมสวยจากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง ซึ่งร้านนี้ ได้รับการเชื่อถือว่าผู้ที่เรียนจบแล้ว จะเป็นช่างเสริมสวยที่เก่ง สามารถไปสมัครเป็นพนักงานหรือเปิดร้านเสริมสวยทำเป็นอาชีพของตนเองได้ 

ร้านเสริมสวยร้านนี้ คิดค่าเล่าเรียนจากเธอ
นั่นหมายถึงเธอไม่ได้รับสิทธิ์ในการเรียนฟรีจากรัฐบาลแล้ว
เพราะเธอไม่ได้เรียนในชั้นเรียน หรือสถานศึกษาที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

การเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ถ้าเทียบเป็นอายุก็คือ เรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี  
ลองคิดดูว่า หากสิทธิ์ในเรียนฟรีติดอยู่กับตัวเธอ
เธอคงสามารถนำใบเสร็จค่าเล่าเรียนจากเสริมสวยนั้นมาเบิกกับรัฐบาลได้ 
เพราะเธอเพึ่งอายุ 15 ปี

นักการศึกษาฯ หลายท่าน คงทราบดีอยู่แล้วว่า มีหลายประเทศที่เขาให้เด็กและเยาวชนของเขาเรียนฟรี โดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ใช้จำนวนปี ชั้นเรียน หรือสถานศึกษาเป็นเกณฑ์  เพราะเขาเชื่อว่าเด็กอยากจะเรียนอะไรก็ได้ ตามที่เขาต้องการ เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบ ความถนัด และมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป

เปรียบเทียบผลลัพท์ที่ได้จากการเรียนฟรีตามจำนวนปี กับตามเกณฑ์อายุ
เรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี + เงินกู้ กยศ.
  • เรียนฟรี 15 ปี เราจะได้
    • เด็กที่จบ ม.6/ปวช. เท่านั้น
  • เรียนฟรี 15 ปี + เงินกู้ กยศ. เราจะได้
    • เด็กที่ จบ.ม 6/ปวช. + หนี้เงินกู้ กยศ. หรือ
    • เด็กที่ จบอนุปริญา/ปวส./ปวท.+ หนี้เงินกู้ กยศ. หรือ
    • เด็กที่ จบ.ปริญญาตรี +หนี้เงินกู้ กยศ.
หากเรียนตามนโบายเรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี
(นโยบายเดิมแต่เปลี่ยนจาก 15 ปี เป็นเรียนฟรีถึง อายุ 18 ปี)
  • เด็กที่จบ ม.6/ปวช. หรือ
  • ด็กที่จบ ม.3 + วิชาที่เขาชอบ = หาเลี้ยงชีพได้
และหากเราตั้งสมมติฐานใหม่ว่า
"คนที่เรียนตามเกณฑ์ปกติแล้ว จะจบปริญญาตรี เมื่ออายุ 22 ปี" 
นโยบายการเรียนฟรีใหม่คือ เรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี ซึ่งเราอาจจะได้
    • เด็กที่ จบ.ม 3 + วิชาที่เขาชอบ+ วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้ 
    • เด็กที่ จบ.ม 6 /ปวช. + วิชาที่เขาชอบ +วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้
    • เด็กที่ จบอนุปริญา/ปวส./ปวท.+ วิชาที่เขาชอบ + วิชาที่เพิ่มทักษะด้านอาชีพ = หาเลี้ยงชีพได้
    • เด็กที่ จบ.ปริญญาตรี 

หลักการเรียนฟรีตามอายุที่สำคัญก็คือ
คนไทยตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 22 ปี หากต้องการจะเรียนอะไร รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด 
"หลังจากที่เขาจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว เขาจะเรียนอะไร ที่ไหนก็ได้ ตามที่เขาชอบเพื่อให้สามารถนำมาประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเขาควรจะได้รับสิทธิ์เรียนฟรี จนถึงอายุ 22 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาขั้นต่ำสุดที่ผู้เรียนพึงจะเรียนจบปริญญาตรีได้"

รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน
ในเบื้องต้น ผู้เขียนเห็นว่า อาจแปลงเงินกองทุน กยส. ซึ่งขณะนี้มีความเสี่ยงสูงในการสูญหนี้  มาเป็นเงินงบประมาณในการสนับสนุนการเรียนฟรี  หลังจากที่เขามีอายุมากกว่า 18 ปี (จบ ม.6/ปวช.) จนถึงอายุ 22 ปี  ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแล้ว อาจสามารถที่จะสร้างนโยบายนี้ ให้เป็นจริงได้ เพราะจากสถิติแล้วก็มีเด็กนักเรียนหลายคนหลุดออกจากแวดวงของการศึกษาในระบบไป และอาจคุ้มค่ากว่าความเสี่ยงของการนำเงินงบประมาณมาลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ก็เป็นได้ 


เรื่อง "คนไทยเรียนฟรีถึงอายุ 22 ปี" นี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดมานานแล้ว ตั้งใจนำเสนอเพื่อให้เกิดวิธีคิดและมุมมองใหม่ของการให้ศึกษาของไทย  หากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองคิดว่ามันพอจะเป็นไปได้ ก็คงต้องตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทำการศึกษาวิจัยในรายละเอียดเรื่องนี้ต่อไป

หรือไม่แน่ ความคิดของผู้เขียนนี้
อาจจะถูก Delete ทิ้งตั้งแต่เริ่มต้นอ่านแล้วก็ได้ครับ


**********************************************************    

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

Countdown..สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี

ตามที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54 ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล กับ บริษัทเทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2553 และ 13 ธ.ค.2553 จำนวน 2 สัญญา และต้องวางเงินหลักประกันสัญญาให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 787,200,000 บาท และต่อมาได้มีการโอนเงินกันไป-มา เพื่อซื้อขายสลากกินแบ่ง ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด (รายละเอียดเพิ่มเติม)

จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้โอนเงินซื้อสลากงวดที่ 18 และงวดที่ 14 จำนวน 145,600,000 บาท ปรากฏว่าบริษัทเทวาสิทธิฯ  ไม่ส่งสลากกินแบ่งมาให้ และไม่คืนเงินตามที่สัญญาไว้ จึงถือได้ว่าบริษัทเทวาสิทธิฯ ฯ ผิดสัญญาต่อสหกรณ์ฯ  

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จึงได้ทำหนังสือทักท้วงและขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัทเทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 พร้อมทั้งทวงถามเงินคืนทั้งหมด  จำนวนทั้งสิ้น 686,800,000 บาท จากบริษัทเทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด

สมาชิกแห่ถอนเงิน
หลังจากข่าวเรื่องนี้ได้แพร่กระจายออกไป แหล่งข่าวแจ้งว่า มีสมาชิกฯ ได้แห่ถอนเงินที่ฝากไว้ในสหกรณ์ฯ จำนวนสูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในความมั่นคงของสหกรณ์ฯ จนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่รับฝากเงินของสหกรณ์ฯ ไว้แทบหมดหน้าตัก

ให้เวลาทวงหนี้ 45 วัน
ในการประชุมวิสามัญซึ่งเปิดขึ้นเร่งด่วน เมื่อ 3 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา สมาชิกฯ มีมติให้คณะกรรมการดำเนินการทั้ง 15 คน รวมทั้งผู้จัดการสหกรณ์ 1 คน รวมเป็น 16 คน ทวงเงินคืนจากบริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด จำนวน 686,800,000 บาท นำกลับมาคืนสหกรณ์ฯ ให้หมด ภายในวันที่ 15 ต.ค.2554 มิเช่นนั้นจะถอดถอนออกจากคณะกรรมการฯ และแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

จ่ายเช็คล่วงหน้า
ประธานคณะกรรมการดำเนินการฯ แจ้งในที่ประชุมว่า บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด ได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินคืนล่วงหน้ามาให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีแล้ว  แต่ไม่ได้เปิดเผยว่า เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ และสั่งจ่ายวันไหน เดือนอะไร    

ไม่หนี ไม่เบี้ยว ไม่จ่าย อยากได้ก็ฟ้องเอา
ปัจจุบันสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ก็ได้แต่สวดมนต์ภาวนาว่า ให้บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด จะคืนเงินจำนวน 680 กว่าล้านบาทนี้ ให้สหกรณ์ฯ ทั้งหมด  เพราะหากเงินก้อนนี้หายไปจากระบบการเงินของสหกรณ์ฯ แล้ว ถึงขั้นอาจทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูล่มสลายได้ แต่หาก บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด ไม่มีเงินจ่าย เช็คเด้ง เกิดกรณี  "ไม่หนี  ไม่เบี้ยว ไม่จ่าย อยากได้ก็ฟ้องเอา"  แล้วจะทำอย่างไร
  • คณะกรรมการดำเนินการฯ ฟ้อง บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด
  • สมาชิกสหกรณ์ แจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการดำเนินการฯ
เรื่องการฟ้องร้องคดีในโรงในศาลนี้ หลายท่านก็คงทราบว่าคงต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปี  และหากบริษัท เทวาสิทธิฯ แพ้คดี ยึดทรัพย์ต่างๆ มาทั้งหมดแล้ว เงินก็ยังไม่พอจ่ายถึง 680 กว่าล้านบาท แล้วคราวนี้ สหกรณ์ฯ จะทำอย่างไร

และหากคณะกรรมการดำเนิการฯ แพ้คดี แล้วท่านทั้ง 16 คน นี้จะไปหาเงินที่ไหนมาชดใช้คืน ลองคิดง่ายๆ หารคนละเท่าๆ กัน แต่ละท่านก็จะต้องหาเงินมาชดใช้ท่านละ 42,925,000 บาท แล้วท่านเหล่านี้จะเอาเงินมาจากไหน ลำพังเงินเดือนครูสะสมอีกกี่ชาติจึงจะพอ  แล้วเมื่อไหร่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ถึงจะได้เงินคืนทั้งหมด

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของกองทุนความมั่งคั่ง (แห่งชาติ)
ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะนำกองทุนสำรองของชาติ มาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อนำไปหาผลกำไร ผลกำไรที่ได้จะตกเป็นของรัฐบาล หากขาดทุนรัฐบาล จะจัดสรรงบประมาณไปชดเชยให้

ก็เหมือนกับ การกระทำของคณะกรรมการดำเนินการฯ สหกรณ์นี้เหมือนกัน หวังว่าจะนำเงินของสหกรณ์ฯ ไปสร้างความมั่งคั่งให้สหกรณ์ฯ โดยการซื้อสลากกินแบ่ง  แต่ผลสุดท้ายเงินก็หมด  และตอนนี้ถือว่าขาดทุนไปแล้ว แล้วคณะกรรมการฯ ทั้ง 16 ท่านจะรับผิดชอบไหวหรือ

เช่นเดียวกัน หากเงินกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินี้ รัฐบาลทำล้มเหลว เงินทุนสำรองของชาติก็หมดตามไปด้วย แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีหน้าไหนจะมารับผิดชอบ

อย่างเสี่ยงเลยครับท่านรัฐบาล ลองหาวิธีอื่นดูจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะเช็ดน้ำตา เหมือนกับคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทั้ง 16 ท่านนี้แหละครับ

Countdown สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้วจะถึงเส้นตายคือวันที่ 15 ต.ค.2554 ชะตาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด จะออกหัวหรือก้อย วันนี้..ก็ได้แต่สวดมนต์ภาวนาให้ บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด รักษาสัญญา นำเงินจำนวน 686,800,000 บาท มาคืนสหกรณ์ฯ โดยเร็ว....

การกระทำที่โง่เขลาที่สุดในชีวิตของเรา คือ การหลอกหลวงผู้อื่น เพราะเราไม่สามารถหลอกผู้อื่นได้นาน สุดท้ายความลับย่อมเปิดเผย และเมื่อนั้นผลกระทบในทางลบย่อมเกิดขึ้น

*************************
จุฑาคเชน : 6 ก.ย.2554


ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 22 ฉบับที่ 388 ประจำเดือนกันยายน พุทธศักราช 2554 หน้า 3

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.เวสเทิร์นนิวส์ โฟกัสราชบุรี ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2554 หน้า 17

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูไทยมีหนี้สิ้นเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อคน

วันนี้ผมลองเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ในหน้าข่าวสำนักงานรัฐมนตรี เพื่อจะดูนโยบายของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ว่ามีนโยบายอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องแจกแท็บเล็ต การพักหนี้ กยศ. เปลี่ยนเป็น กรอ. การเตรียมพร้อมประชาคมอาเชียน การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรใหม่ ฯลฯ เผอิญผมไปอ่านเจอข่าวเรื่อง "การแก้ปัญหาหนี้สิ้นครู"  อ่านดูแล้ว ผมรู้สึกว่า รัฐมนตรี ศธ.ท่านนี้ คงจะไม่เข้าใจเรื่องราวของครูอย่างแท้จริง และท่านมักจะพูดจาดูถูกอาชีพครูอยู่เสมอ เช่น จะยกเลิกการผลิตครูพันธุ์ใหม่ หันไปเชิญนักธุรกิจหรือผู้ประกอบอาชีพที่มีผลสำเร็จ มาเป็นครูสอนให้มากขึ้น  แค่นี้ก็รู้แล้วว่า ท่านไม่รู้จริง ครูเป็น "วิชาชีพ" มันไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาเป็นครู อย่างนี้เป็นต้น  ลองมาดูวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินครูที่แลดูสวยหรูของ ท่านรัฐมนตรีท่านนี้ดู

ท่านจะล้างหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 700,000 บาท 
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2554 ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจัง โดยได้เตรียมงบประมาณจำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจากการกู้ยืมในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งมีหนี้สินอยู่ประมาณ 700,000 ล้านบาท  
ขอถามว่า : ท่านรู้หรือปล่าว ครูเขากู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เขาก็ได้ปันผลกำไรของเขา เพราะเขากู้เงินของพวกเขากันเอง อัฐยายซื้อขนมยายเงินทองไม่หายไปไหน แล้วหากเปลี่ยนไปกู้เงินที่รัฐบาลให้มา 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องเสียเหมือนกัน  แล้วใครได้ประโยชน์ครับ หรือว่ารัฐบาลให้กู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย... มีแต่เขาจะส่งเสริมให้ประชาชนจัดตั้งสหกรณ์ฯ ท่านคนนี้กลับคิดจะล้างบางสหกรณ์

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่
ที่มาของภาพ

 http://www.moe.go.th/websm/2011/sep/224.html
สกสค.ตกกระป๋อง ศธ.จะรวบอำนาจทำเอง
นายวรวัจน์ฯ กล่าวต่อว่า จะจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อเข้ามาบริหารจัดการเกี่ยวกับหนี้สินครูทั้งหมด แต่จะไม่เป็นการให้เปล่า ไม่ใช่การกู้เงินเพื่อนำไปใช้หนี้เดิม แต่จะเป็นกระบวนการที่ไม่ทำให้ครูสร้างหนี้เพิ่มและช่วยดูแลไม่ให้ครูถูกเอารัดเอาเปรียบ การดำเนินการจะเป็น ศธ. ไม่ใช่ สกสค.(สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา) เพราะรูปแบบการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในระบบธนาคาร เสมือนการตั้งบริษัทขึ้นมาและกู้กันเอง ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไม่จบ มีการสร้างหนี้และกู้เพิ่มไปเรื่อยๆ
ขอถามว่า  หาก ศธ.จะดำเนินการเอง ท่านจะใช้ใครทำ แล้วทำไมต้องดูแคลน สกสค.ว่าไม่อยู่ในระบบธนาคาร ตั้งกันขึ้นมาเองและกู้กันเอง ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว (ซึ่งผมไม่ใช่ครู) ผมยังเห็นว่า สกสค.เขามีระบบดูแลสวัสดิการเพื่อนครูของเขาดีกว่าหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีกตั้งหลายแห่ง แล้วหากท่านจะให้เป็นระบบธนาคาร แสดงว่าท่านจะตั้ง "ธนาคารแห่งกระทรวงศึกษาธิการ" หรือครับ

ครูมีหนี้สินเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อคน
ท่านรัฐมนตรีท่านนี้กล่าวต่อว่า โดยเฉลี่ยครูมีหนี้สินประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี หาก ศธ.สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน หรือลดดอกเบี้ยได้ จะทำให้ครูมีเงินเพิ่มประมาณ 100,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยเหลือและดูแลครู เพื่อให้ครูมีเงินเพียงพอในการใช้ก่อน  จากนั้นจะพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้จบ นายวรวัจน์ฯ ยืนยันว่า ไม่ใช่การปลดหนี้ ไม่ใช่การกู้มาเพื่อปลดหนี้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างหนี้สินโดยไม่จำเป็นต่อไปอีก แต่ถ้าครูมีความจำเป็นจริงๆ ก็จะมีระบบที่ยืดหยุ่นและสามารถช่วยเหลือครูได้
ขอเตือนว่า  ท่านอย่าเหมาเข่งซิครับว่าครูไทยมีหนี้สิ้นเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน มีครูมากมายที่เขามีเงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูของเขาตั้งเยอะแยะ แล้วก็มีครูอีกมากมายที่เขาไม่มีหนี้สิ้น อย่าเที่ยวพูดจาพล่อยๆ ไปอีก ใครเขาได้ยินเข้า "เขาจะดูถูกอาชีพครูไทย" ให้อายไปทั่วฟ้าดิน ยิ่งต่างชาติเขาได้ยินเข้า แล้วครูชาติเราจะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน ใครเขาจะเชื่อถือการศึกษาของเรา 

เงิน 50,000 ล้านบาทหามาจากไหน
สำหรับงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาทที่กล่าวมาข้างต้น นายวรวัจน์ฯ บอกว่าเป็นงบประมาณที่จะต้องดูต่อไปว่า รัฐบาลจะให้มาทั้งหมด หรือจะต้องตั้งเป็นงบประมาณประจำปี  อย่างไรก็ตามต้องการให้ครูได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างแท้จริง เพราะปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่ถูกสะสมและถูกทอดทิ้งมานานมากแล้ว
สดท้าย  อุตส่าห์ฟังมาตั้งนานแต่ยังไม่รู้ รัฐบาลจะให้เงินหรือปล่าว....

ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะพูดอะไรออกมา ท่านจงถามตัวเอง 3 อย่างก่อนที่จะพูดว่า  
  • มันเป็นจริงหรือไม่ ?
  • มันดีหรือไม่?
  • และมันจำเป็นหรือไม่?

****************************

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

เกียรติตำรวจของไทยหายไปไหน

อาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ เขียนตอนหนึ่งในบทความเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 18 ก.ค.2554 ไว้ว่า

หากเมื่อใดก็ตาม
การเมืองเป็นใหญ่ กฎหมายเป็นรอง และกองทัพเป็นลูกไล่
เมืองไทยที่เราเคยรู้จัก รักและภูมิใจ ก็คงจะอยู่ได้อีกไม่นาน

แต่ถ้า กฎหมายเป็นใหญ่ การเมืองเป็นรอง กองทัพเป็นหลัก
บ้านเมืองรอด












ภาพด้านบน เป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งในประเทศไทย
"วิเชียรยอมสยบอำนาจรัฐ สมัครใจไป สมช."

การพาดหัวข่าวที่ว่า "วิเชียรยอมสยบอำนาจรัฐ" นั้น ผมว่าไม่น่าจะใช่ ควรจะพาดหัวข่าวว่า "วิเชียรยอมสยบอำนาจนักการเมือง" มากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่ปรากฏให้เห็นของพฤติกรรมของนักการเมืองคนหนึ่ง มันเป็นตัวบุคคล ไม่ใช่อำนาจรัฐ

เกียรติตำรวจของไทยหายไปไหน
ภาพลักษณ์ของอาชีพตำรวจในสายตาของผม จริงแล้วก็ไม่ค่อยดีนัก  แต่ในครั้งนี้ผมรู้สึกว่า ตำรวจถูกหยามเกียรติและศักดิ์ศรีมากเกินไป  จากนักการเมืองประเภท "คางคกขึ้นวอ" ลุแก่อำนาจ เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี จะย้ายนายตำรวจยศ พลตำรวจเอก ออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วเอา พลตำรวจเอก (คนของเจ้านายตนเอง) มาดำรงตำแหน่งแทน ก็ควรทำให้เป็นแบบผู้ใหญ่ทำ

ไม่ต้องมาโพทนาว่า "คนนี้ไม่มีฝีมือ อีกคนหนึ่งมีฝีมือมากกว่า"
ไม่ต้องมาโพทนาว่า "นโยบายของผม คือ Put the right man on the right job"  
ไม่ต้องออกมาโพทนาว่า "มีทั้งบ่อนการพนันและยาเสพติดเกิดขึ้นมากมาย เพราะ ผบ.ตร.คนนี้ทำงานไม่เป็น" ฯลฯ
ทำไมถึงต้องทำแบบเด็กๆ  ออกหน้าออกตา ออกมาใส่ไคล้ป้ายสี ทางสื่อต่างๆ เป็นรายวัน
"สร้างภาพคนอื่นให้เลว  เพื่อจะให้คนของตัวเองได้ดี"  

หลายคน หลายภาคส่วนออกมาระบุว่า
"การกระทำของ ร.ต.อ.ค้างคกขึ้นวอ รองนายกรัฐมนตรี นี้เป็นการใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการตำรวจประจำ โดยไม่มีเหตุผลอันควร  เพราะตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ การโอนย้ายนี้ จะต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ ซึ่งเชื่อว่า พล.ต.อ.วิเชียร ไม่ได้มีความสมัครใจที่จะย้ายออกจากตำแหน่ง ส่วน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.ผู้ที่คาดว่าจะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนั้น ผู้ที่รับประโยชน์ทางอ้อม คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเครือญาติ จึงอยากให้ พล.ต.อ.วิเชียร ฟ้องต่อศาลปกครอง ว่าถูก นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม ดำเนินการโยกย้ายโดยไม่ได้รับความสมัครใจ"

แล้วตำรวจของไทยทำอะไรกันอยู่ ผู้บังคับบัญชาของท่านถูกดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรี จากนักการเมืองขนาดนี้แล้ว ยังคงนิ่งเฉยดูดาย  ผมขอเน้นย้ำที่ อ.ปราโมทย์ฯ เขียนไว้ ข้างต้นของบทความนี้ว่า

หากเมื่อใดก็ตาม การเมืองเป็นใหญ่ กฎหมายเป็นรอง และกองทัพ (ทั้งสี่เหล่าทัพ) เป็นลูกไล่
เมืองไทยที่เราเคยรู้จัก รักและภูมิใจ ก็คงจะอยู่ได้อีกไม่นาน

นี่เป็นเพียงละครฉากเริ่มต้นเท่านั้น ต่อไปข้าราชการไทยจะถูกนักการเมืองเข้าแทรกแซงในทุกอณูขุมขน 

ป.ล.งมงายทั้งประเทศ
ก่อนจบ ลองดูภาพทางซ้ายของ น.ส.พ.ฉบับนี้อีกครั้ง เป็นภาพข่าว รถนายกให้โชค อธิบายใต้ภาพข่าวว่า
"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้ให้ดูทะเบียนรถ ฮน.333 ที่มีผู้นำไปซื้อหวยในงวดนี้ทั้ง 2 ตัว 3 ตัว และมีผู้ทำงานในอาคารรัฐสภาถูกหวยจากเลขดังกล่าวกันหลายคนฯ"

อย่างนี้ เขาเรียก "งมงายตั้งแต่นายกฯ รัฐสภา ถึงประชาชนรากหญ้า" 
เพราะนายกฯ ออกมาเป็นพรีเซนเตอร์หวย สร้างความงมงายให้ประชาชนเสียเอง.....

**********************************
ชาติชาย คเชนชล : 4 ก.ย.2554

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ตักบาตรพระ 10,000 รูป พุทธโปเจคท์อภิมหาบุญ

การตักบาตรพระ 10,000 รูป ภายใต้สโลแกน "มหากุศลครั้งประวัติศาสตร์ รวมพลังพุทธบริษัท 4 ทำบุญใหญ่เพื่อแผ่นดิน ถวายเป็นพระพุทธบูชา สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาฯ"  ที่จังหวัดราชบุรีบ้านผม จะจัดให้มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2554  ช่วงเวลา 06:00-08:00 น. ณ บริเวณถนนคฑาธร ตั้งแต่หอนาฬิกาหน้าโรงพยาบาลราชบุรี ถึงสี่แยกหลังสถานีตำรวจภูธรราชบุรี

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยอยากเขียนเรื่องนี้นัก เพราะมันหมิ่นเหม่ต่อเส้นบางๆ ของคำว่า "บุญ" ที่อาจจะเข้าใจกันไปคนละทาง แต่ผมก็อดที่จะ "คิด" ไม่ได้ว่า คณะเจ้าภาพผู้จัดเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร  ผมจึงจำเป็นต้อง "เขียน" ตามชื่อบล็อกของผมคือ "คิดแล้วเขียน"

ผมจำได้ว่า "โครงการตักบาตรพระ 1,000,000 รูป 77 จังหวัดทุกวัดทั่วไทย จังหวัดราชบุรี 10,000 รูป" นี้ ปีที่แล้ว จ.ราชบุรีก็จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ต.ค.2554 (ดูรายละเอียดในข่าว)  และปีนี้ก็จัดอีก  วัตถุประสงค์ก็คล้ายกัน นอกจากเรื่องบุญแล้วก็คือ ข้าวสารอาหารแห้งที่ได้รับจากการใส่บาตร จะถวายให้แด่พระภิกษุสงฆ์ 286 วัดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนอาหารที่เก็บไว้ไม่ได้นาน จะส่งไปสนับสนุนพระที่บวชรุ่นเข้าพรรษา 6 ศูนย์บวชใน จ.ราชบุรี (ตามโครงการบวชพระ 100,000 รูป ทั่วประเทศ)  ส่วนเงินที่ได้รับจากโครงการนี้ ไม่ได้กล่าวถึง

ใครเป็นเจ้าของโครงการ
เผอิญผมได้อ่านตัวโครงการตักบาตรพระ 10,000 รูปฯ ของ จ.ราชบุรีในครั้งนี้ จึงพอทราบว่าเจ้าของโครงการก็คือ มูลนิธิพระเทพกิตติปัญญาคุณ ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวนิช ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี (ซึ่งน่าจะเป็นสาขาหนึ่งของวัดพระธรรมกาย) และชมรมกัลยาณมิตรจังหวัดราชบุรี  ในท้ายโครงการนี้ มีผู้ที่ร่วมลงนาม ดังนี้
  • ผู้สนับสนุนโครงการ นายสุทธิรักษ์ หนูฉ้ง ผอ.สำนักพระพุทธศานา จ.ราชบุรี, นางภัทราภรณ์  บรรเทาทุกข์ วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี, นางศมานันท์ เหล่าวณิชวศิษฎ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี, นายสมบูรณ์   ศิริเวช นายอำเภอเมืองราชบุรี และนายวันชัย  ธีระสัตยกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี
  • ผู้เห็นชอบโครงการ พระทวี  พรหมเทโว ประธานสงฆ์ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวนิช , นายเจน  รัตนพิเชฎฐชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และพระครูสิริคณาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
  • ผู้อนุมัติโครงการ นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และพระเทพวิสุทธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

ใช้เงินจัดครั้งนี้กว่า 5 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายการจัดตักบาตรพระฯ ครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 5,324,600 บาท โดยพอจะสรุปให้เห็นโดยสังเขป ดังนี้
  • ค่าอุปกรณ์จัดเวที 64,000 บาท
  • ค่าอุปกรณ์จัดพื้นที่นั่งตักบาตร 26,000 บาท
  • ค่าเช่าเครื่องเสียงและลำโพง 25,000 บาท
  • ค่าเครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า 15,000 บาท
  • ค่าประชาสัมพันธ์ 345,600 บาท
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพิธีกรรมสงฆ์ 4,080,000 บาท รายการนี้ผมขออนุญาตแยกย่อยให้เห็นครับ ดังนี้
    • ภัตตาหารเช้า 10,000 รูปๆ ละ 50 บาท = 500,000 บาท
    • ภัตตาหารเพล 10,000 รูปๆ ละ 50 บาท = 500,000 บาท
    • ค่าผ้าไตรและเครื่องไทยธรรมถวายพระสังฆธิการ  40 ชุดๆ ละ 1,000 บาท = 40,000 บาท
    • ถวายปัจจัย/ค่ายานพาหนะพระสังฆาธิการ 40 รูปๆ ละ 1,000 บาท = 40,000 บาท
    • ถวายปัจจัย/ค่ายานพาหนะพระภิกษุ 10,000 รูปๆ ละ 300 บาท = 3,000,000 บาท  
  • ค่าอาหารแห้งจัดโต๊ะตักบาตรเจ้าภาพ 1,000 โต๊ะๆ ละ 500 บาท = 500,000 บาท
  • ค่าจัดทำของที่ระลึก โล่ ใบประกาศเกียรติคุณ 100,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 169,000 บาท

เอาเงินจากที่ไหนมาจัด
ในโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของงบประมาณในการจัดทำโครงการไว้ดังนี้
  • ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ
  • จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
  • จากการจองโต๊ะอาหารตักบาตร
    • เจ้าภาพกิตติมศักดิ์ ร่วมทำบุญ กองละ 10,000 บาท (ได้รับโบว์ที่นั่งโต๊ะอาหารตักบาตร 1 โต๊ะและของที่ระลึก)
    • เจ้าภาพอุปถัมภ์ ร่วมทำบุญ กองละ 5,000 บาท (ได้รับโบว์ที่นั่งโต๊ะอาหารตักบาตร 1 โต๊ะและของที่ระลึก

ลองคิดเล่นๆ ดู
ในการประมาณการของคณะเจ้าภาพที่จัดงานตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ่อค้า พี่น้อง ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชาวจังหวัดราชบุรีทุกอำเภอ มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวนไม่น้อยว่า 30,000 คน (ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณการว่าเป็นเจ้าภาพกิตติศักดิ์และเจ้าภาพอุปถัมภ์ จำนวน 1,000 คน)

จริงๆ แล้วผมก็รู้สึกแอบเป็นห่วงว่า คณะเจ้าภาพจะหาเงินมาจากไหนมาใช้จัดการงานตักบาตรฯ ครั้งนี้ ตั้ง 5 ล้านกว่าบาท คงไม่มีใครเสียสละจัดงานให้คนอื่นได้บุญ แล้วตัวเองขาดทุนหรอกครับ  ผมเลยลองคิดเล่นๆ ดู
  • ค่าเจ้าภาพกิตติมศักดิ์  50 คนๆ ละ 10,000 บาท  = 500,000 บาท
  • ค่าเจ้าภาพอุปถุมภ์ 950 คนๆ ละ 5,000 บาท = 4,750,000 บาท
  • บุคคลทั่วไป 29,000 คน (ติดเงินที่ต้นผ้าป่าหรือจุดบริจาคในบริเวณงาน) เฉลี่ยคนละ 50 บาท = 1,450,000 บาท
  • รวมได้รับเงินทั้งสิ้น 6,700,000 บาท
  • (ยังไม่รวมเงินที่ได้รับจากการบริจาคของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ)

หากเป็นไปตามประมาณรายรับนี้ คณะเจ้าภาพผู้จัดฯ ก็น่าจะเหลือเงินจำนวน 1,375,400 บาท (6,700,000-5,324,600 บาท)
ข้าวสารอาหารแห้งท่านเอาไปให้พระภาคใต้ และพระบวชใหม่ แล้วหากมีเงินที่ได้ ท่านเจ้าของโครงการทั้งหลาย ท่านจะเอาไปให้ใคร (เพราะในวัตถุประสงค์ของโครงการ ท่านทั้งหลายไม่ได้เขียนไว้เลย)

แต่ในทางกลับกัน หากคณะเจ้าภาพผู้จัดฯ รณรงค์ เชิญชวน ประชาสัมพันธ์ อย่างเต็มที่แล้ว จำนวนผู้ที่มาใส่บาตรในอภิมหาบุญครั้งนี้ ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คณะเจ้าภาพผู้จัดฯ ก็อาจขาดทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามโครงการฯ นี้น่าจะไม่ต้องห่วง เพราะมีทั้งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี และท่านผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เป็นตรายางการันตีอยู่แล้ว

เรื่องราวของ "พุทธโปเจคท์อภิมหาบุญ" นี้ ท่านลองศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประวัติหรือการดำเนินการของวัดพระธรรมกาย,มูลนิธิธรรมกาย, พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), พระเทพกิตติปัญญาคุณ (เจ้าของวลี"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป") ชมรมพุทธศาสตร์สากล, มูลนิธิพระเทพกิตติปัญญาคุณ ศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวณิช  ฯลฯ ดู แล้วท่านอาจจะเชื่อมโยงเรื่องราวของ "การตักบาตร 1,000,000 รูป 77 จังหวัด" ได้มากยิ่งขึ้น แล้วท่านจะมองเห็นมันด้วยปัญญา

คงไม่มีใครเสียสละจัดงานให้คนอื่นได้บุญ
แล้วตัวเองขาดทุนหรอกครับ 
เพราะผมเชื่อว่ามันไม่มี

(บทความที่ผมเขียนนี้ ไม่ได้มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง  ตั้งใจเขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้สติและปัญญาของท่านเองเป็นตัวพิจารณา)
***************************************************
จุฑาเคเชน : 2 ก.ย.2554