หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน









คณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553  เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทย  ทรงปฎิบัติพระราชการณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ  นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล  โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยซึ่งพระองค์สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาของชาติ มีความก้าวหน้าแผ่ขยายครอบคลุมทั้งในเมืองและชนบทอย่างทั่วถึง

ในรัชสมัยของพระองค์ การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และการศึกษาไทย ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย

การศึกษาในระบบ
พระราชกรณียกิจในส่วนเกี่ยวกับการศึกษาในระบบ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาด้วย  ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร  ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา  นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ พระราชดำริ และที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ทรงอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ อาทิ โรงเรียนจิตรลดา  โรงเรียนราชวินิต  โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์  กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า  โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปภัมถ์ โรงเรียนไกลกังวล โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์  รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

การศึกษานอกระบบ
มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น  ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ให้ได้ศึกษาวิชาชีพแขนงต่างๆ  เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตร สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามแนวพระราชดำริ

การศึกษาตามอัธยาศัย
ได้พระราชทานความรู้แก่ประชาชนผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงจัดตั้งขึ้น  เพื่อเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา วิชาการ การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตด้านเกษตรกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สำหรับการนำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกร

การส่งเสริมการศึกษาด้านต่างๆ
นอกจากนี้ ได้ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา  โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติ อาทิ  ทุนมูลนิธิ "อานันทมหิดล"  ทุนเล่าเรียนหลวง  ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้มีการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม  เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนในส่วนภูมิภาคหรือชนบทห่างไกลได้มีโอกาสรับประสบการณ์  การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้

ที่สำคัญทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเป็นครูที่แท้  ทรงประพฤติพระองค์เป็นแนวทางอันผู้เป็นครูทั้งหลายควรได้ยึดถือและดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท  เหนือสิ่งอื่นใด ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์พร้อมขวัญและกำลังใจนานัปประการแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเสมอมา

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
ผลแห่งพระบรมปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ประจักษ์แจ้งและยกย่องกันอยู่ทั่วไป  กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"  แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 


***********************************************








ที่มาข้อมูล
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑  ง  วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ หน้า ๒ และ ๓

2 ความคิดเห็น:

  1. ดูที่พ่อทำ จำที่พ่อสอน คิดได้ ทำได้ เจริญก้าวหน้าแน่นอน

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ