หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

สืบสานผ้าไทย..เทิดไท้องค์ราชินี

"..ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริงๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่า ทำอย่างไร จึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนได้เรียนหนังสือ.....

ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนาชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติต่อบ้านเมือง ทรงพระดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่างๆ ทรงคิดว่านี่เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...."

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2534

รูปภาพผ้าชนิดต่างๆ รวมทั้งคำอธิบายในบทความนี้ ผมนำมาจากปฏิทินตั้งโต๊ะ พ.ศ.2555 ซึ่งจัดทำโดย "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย"  ซึ่งจัดทำขึ้นในหัวข้อ "สืบสานผ้าไทย..เทิดไท้องค์ราชินี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 ที่จะถึงนี้  ข้อมูลและภาพต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ไว้ในบทความนี้อีกช่องทางหนึ่ง ขอขอบคุณการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....




















ผ้าชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ฝ้าย)
ผ้าทอกะเหรี่ยงได้รับการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบให้สวยงาม  แต่ยังคงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวกะเหรี่ยงไว้ได้ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น สามารถสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชาวกะเหรี่ยงควบคู่ไปกับการสืบสานภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยงได้อย่างยั่งยืน




















ผ้าชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ไหม)
ชาวกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้อผ้าทอมือมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมชาวกะเหรี่ยงจะปลูกฝ้ายเองแล้วนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย  ย้อมด้วยสีธรรมชาติ สร้างลวดลายด้วยการทอ และการปักด้วยเส้นไหม ชาวกะเหรี่ยงสร้างสรรค์ลวดลายและสีสันของผ้าทอจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว




















ผ้าชาวเขาเผ่าม้ง
ผ้าปักม้งจะมีลวดลายแตกต่างกัน โดยม้งจะคิดค้นออกแบบลวดลายเองและปักอย่างประณีต  เมื่อปักแล้วจะนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ในเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ เช่น ถุงย่าม กระเป๋าสะพาย กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น




















ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า
เดิมเย้านิยมใช้สีปักลายผ้าเพียง 5 สีเท่านั้น คือ แดง  เหลือง น้ำเงิน เขียว และขาว แต่ปัจจุบันเริ่มใช้สีต่างๆ เพิ่มขึ้น การปักลายผ้าของเย้าจะแตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ โดยเย้าจะปักผ้าจากด้านหลังของผ้าขึ้นมาด้านหน้า จึงต้องจับผ้าให้หน้าคว่ำลง  การปักลายมีสี่แบบ คือ ปักลายเส้น ปักลายขัด ปักลายกากบาท และการปักไขว้




















ผ้ามัดหมี่
เป็นผ้าที่สร้างลวดลายจากการย้อมสีเส้นดายหรือไหมที่นำไปเป็นเส้นพุ่ง  โดยวางแผนออกแบบลายแล้วจึงมัดและย้อมเส้นไหมหรือฝ้าย แล้วจึงนำไปทอ ด้วยวิธีการ "มัด" เส้นไหมที่เรียกกันว่า "หมี่" แล้วนำไปย้อมก่อนนำมาทอเป็นผืนผ้านี้เอง จึงเรียกวิธีการนี้ว่า "มัดหมี่" และผ้าที่ทอขึ้นจึงเรียกว่า "ผ้ามัดหมี่"




















ผ้าขิด
เป็นการทอผ้าไหมที่มีวิธีการซับซ้อนหลายขั้นตอน จึงต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือสูงกว่าการทอผ้าชนิดอื่น  มีลักษณะการทอแบบ "เก็บขิด" หรือ "เก็บดอก"  ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมัน วาว นูน และมีเหลือบต่างๆ กันไป  ได้แก่ ไหมลายขิดพื้นสีเดียว ไหมลายขิดมีเชิง และไหมขิด-หมี่ คือการทอผ้าไหมลายขิดสลับกับผ้าไหมมัดหมี่เป็นช่วงๆ






















ผ้าแพรวา
เป็นผ้าสไปไหม ทอขึ้นด้วยการผสมผสานการทอลายขัดธรรมดาเป็นพื้นสีแดงจัด เข้ากับการขัดและจกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยไหมสีเขียว เหลืองทอง น้ำเงิน ขาว ตัดกันอย่างสวยงาม ผ้าแพรวาเป็นผ้าหน้าแคบประมาณ 2 ศอก และยาวประมาณ 2 วา ผ้าแพรวาจัดเป็นเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวผู้ไททั้งหญิงที่ใช้ห่มเป็นสไบ และชายที่ใช้คาดเอว 





















ผ้าไหมสุรินทร์
เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่การกำหนดลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร การเลือกใช้ไหมเส้นเล็กที่เรียกว่าไหมน้อย  ผ้าทอจึงเรียบนิ่ม เนื้อแน่น  เงางาม และนิยมใช้สีธรรมชาติในการย้อม  ผ้าไหมสุรินทร์จึงมัดมีสีออกโทนสีขรึมไม่ฉูดฉาด  จ.สุรินทร์ จะมีการทอผ้าเกือบทุกหมู่บ้าน โดยชาวบ้านมักจะทอผ้าในช่วงเวลาที่สิ้นสุดฤดูการทำนาแล้ว





















ผ้ายกทอง
เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ  ผสมผสานกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน  ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงามและทอยกลายด้วยดิ้นทองและเส้นทอง






















ผ้าหางกระรอก
ผ้าหางกระรอกเป็นผ้าพื้นที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งน่าจะเรียกชื่อตามผิวสัมผัส เพราะลายที่ปรากฏบนเนื้อผ้าเป็นเส้นฝอยฟูมองดูเหมือนขนอ่อนๆ เหลือบระยับคล้ายกับขนของหางกระรอก แลดูสวยงามแปลกตา วัสดุที่ใช้สำหรับทอผ้าหางกระรอก ได้แก่ เส้นใยไหมหรือเส้นฝ้าย ผ้าหางกระรอกที่ทอด้วยไหม เนื้อผ้ามีลักษณะละเอียดเป็นเงามีสีเหลือบ  ถ้าใช้เส้นใยฝ้ายเนื้อผ้าจะแลดูไม่ละเอียดอ่อนเท่าลายผ้าที่ทอด้วยไหม





















ผ้าจก
เป็นผ้าที่ทอขึ้นโดยใช้วิธีสอดแทรกเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเพื่อสร้างลวดลายบนผ้าสีพื้น  สีที่ตัดกันของเส้นด้ายบนลายต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งชี้กลุ่มผู้ทอ โดยสื่อถึงความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น





















ผ้ายกนคร
ผ้ายกเมืองนครทอได้หลายชนิด  แต่ละชนิดมีลายดอกงดงาม  ได้แก่ ผ้าราชวัตร  ผ้าตาสมุก  ผ้าเก็บดอก  ส่วนผ้ายกดอกก็มีหลายชนิด เช่น ผ้าลายดอกพิกุล ผ้าลายก้านแหย่ง และผ้าลายดอกมะลิร่วง เป็นต้น  เครื่องมือที่ใช้ทอผ้ายก เรียกว่า "เครื่องทอหูก" หรือ "เก" ซึ่งมี 2 ชนิด คือ เกเยก (เคลื่อนที่ได้) และเกฝ้ง (ติดอยู่กับพื้น) ชาวบ้านมักสร้างเกไว้ใต้ถุนบ้าน  ฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตมีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งที่ว่า "ไปเมืองคอนเหอไปซื้อผ้าลายทองสลับ..."


************************

ที่มาข้อมูลและภาพ : ปฏิทินตั้งโต๊ะ พุทธศักราช 2555 จัดทำโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2555 เวลา 20:58

    เพิ่มเติมเพื่อเป็นความรู้:
    ผ้าไหมกะเหรี่ยง คือการนำเส้นไหมไทย ผ่านกรรมวิธีฟอก ย้อม และทอแบบกะเหรี่ยง คือการใช้กี่เอว ยังคงรักษาลวดลายความเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงไว้
    -กะเหรี่ยงที่ทอไหม ไม่ได้เลี้ยงไหมเอง มูลนิธิฯ ได้จัดส่งไปให้ เพื่อพัฒนาผลิตภํณฑ์ผ้าทอ

    ตอบลบ