หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทุ่นระเบิดต้องหมดจากประเทศไทยภายในปี 2561

วันนี้ ผมขออนุญาตเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการกวาดล้างทุ่นระเบิดในประเทศไทย ซึ่งมีคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ มีนายกรัฐมนตรี(โดยตำแหน่ง) เป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับสูงร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย หน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิดเพื่อมนุษย์ธรรม คือศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เคยได้ทราบหรือได้ยินชื่อหน่วยงานนี้ด้วยซ้ำไป 

เล่าความเป็นมาให้ฟังอย่างสั้นๆได้ว่า ประเทศไทยของเรานั้นได้ลงนามในอนุสัญญาฯ ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา สาระของอนุสัญญาฯ ก็คือ ประเทศไทยต้องห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และต้องทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยก็ยังทำไม่สำเร็จ ต้องบากหน้าขอต่ออนุสัญญาฯ ใหม่เป็นครั้งที่ 2 และอนุสัญญาฯครั้งที่ 2 นี้ จะหมดสัญญาใน พ.ย.2561 ซึ่งนับแล้วเหลือเวลาอีกเพียง 6 ปี 

เมื่อการสำรวจครั้งแรก พบว่ามีทุ่นระเบิดที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีการสู้รบตามแนวชายแดนต่างๆ ของประเทศไทย จำนวน 2,557 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัด หน่วยงานต่างๆ ทั้งของกองทัพบก กองทัพเรือ และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (มีทั้งไทยและต่างประเทศ) ได้ช่วยกันทำหน้าที่กวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ท่ามการความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาโดยตลอด จนกระทั่ง ณ วันที่ 31 ส.ค.2555 ยังคงเหลือพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดฝังหรือตกค้างอยู่อีกจำนวน 530.8 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด 




หากเป็นเช่นนี้ .. ไม่มีทางที่จะเสร็จสิ้นตามคำสัญญาครั้งที่ 2 
หากจะต้องกวาดล้างทุ่นระเบิดให้หมดไปจากแผ่นดินไทยตามที่ขอต่ออนุสัญญาฯ ไว้ในครั้งที่ 2 หน่วยงานด้านทุ่นระเบิดที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ จะต้องกวาดล้างพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 88.5 ตร.กม.ต่อปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปีหนึ่งๆ พวกเขาทำงานเหน็ดเหนื่อยกันเต็มที่แล้ว ก็ทำได้ไม่ถึง 30 ตร.กม.ต่อปี 

ทำอย่างไรจะให้เสร็จตามคำสัญญา 
หากดูจากตัวเลขแล้ว หากจะให้เสร็จตามพันธะสัญญาที่ประเทศไทยให้สัตยาบรรณไว้แก่ประชาคมโลก คงต้องเพิ่มคน เครื่องมือ เครื่องจักร สุนัข อย่างน้อยก็อีก 3 เท่าจากปัจจุบัน นั่นคือ รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณในการปฏิบัติภารกิจกวาดล้างให้เสร็จสิ้นตามอนุสัญญาฯ ที่ขอต่อเป็นครั้งที่ 2 นี้ อย่างน้อยก็อีก 3 เท่า จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นเงินประมาณปีละ 400 ล้านบาทต่อปี รวม 6 ปีจะใช้เงินประมาณ 2,400 ล้านบาท 



จริงๆ แล้วก็เป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก หากเทียบกับงบประมาณที่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไร้สาระไปกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ รวมถึงงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปกับการโกงกินคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร เป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งอาจมีสูงถึง 100,000 ล้านต่อปี 

บากหน้าต่ออนุสัญญาฯ ครั้งที่ 3 
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประเทศไทยคงต้องบากหน้าต่ออนุสัญญาฯ ต่อหน้าประชามคมโลกเป็นครั้งที่ 3 อย่างแน่นอน แล้วจะอ้างกับประชาคมโลกว่าอย่างไร “สาเหตุใด ประเทศไทยจึงต้องขอต่ออนุสัญญาฯ ” และหากประชาคมโลกเขาให้ต่ออนุสัญญาฯ ครั้งที่ 3 ได้จริงๆ แล้ว ใครจะเป็นผู้ตอบคำถามได้ว่า “แล้วเมื่อใด ทุ่นระเบิดจึงจะหมดไปจากประเทศไทยเสียที” 

สงสารแต่ชาวบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง ที่อยู่อาศัยทำมาหากินอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ใน 18 จังหวัด ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่มากนัก...เสียงจึงดังไม่พอที่จะทำให้รัฐบาลหรือนักการเมืองหันมาสนใจ เขาเหล่านั้นก็ยังคงต้องก้มหน้าก้มตาเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหรือความพิกลพิการ ที่อาจเกิดขึ้นจากภัยร้ายของทุ่นระเบิดที่ยังคงฝังอยู่ในพื้นที่ได้ทุกเวลา 

เรื่องนี้ หากมีใครเล่าให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ ฟังบ้าง เรื่องราวต่างๆ ก็น่าจะดีขึ้น..... 

ที่มาของภาพ :
 http://mre-tmac.blogspot.com
/2012/11/blog-post_1.html


















********************************
จุฑาคเชน : 8 พ.ย.2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น