หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ภาพวาดในหลวงของเรา

พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมฉายาทิสลักษณ์ คือ ภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นภาพวาดไม่ใช่ภาพถ่าย ถ้าเป็นภาพถ่ายจะเรียกว่า พระบรมฉายาลักษณ์ 

ผมเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จากเอกสาร หนังสือ นิตยสาร  ปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ  สิ่งพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ จำนวนมากมายหลายภาพ ที่หลายหน่วยงานหลายองค์กรได้จัดพิมพ์เอาไว้ตั้งแต่ในอดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  

ศิลปินผูู้มีชื่อเสียงหลายท่านจำนวนมาก ล้วนวาดภาพในหลวงของเราเอาไว้อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง ในหลายพระอริยาบถถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อพระองค์ท่าน ออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม หลายครั้งที่ผมเห็นภาพวาดในหลวงดังกล่าว กำลังจะถูกทิ้งเนื่องจากเก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา ผมรู้สึกเสียดาย ผมจึงมีความตั้งใจที่อยากจะเก็บสะสมไว้ในบล็อกนี้อีกแห่งหนึ่ง ในรูปไฟล์อิเลคทรอนิกส์ เพื่อเก็บไว้ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป 

ภาพวาดบางภาพ ผมไม่สามารถหาชื่อศิลปินผู้วาด และเทคนิคที่ใช้ได้ จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วย และภาพบางภาพก็ค้นมาจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ยากที่จะรวบรวมได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ภาพวาดในหลวงที่ปรากฏอยู่ ณ ที่นี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวบางส่วนเท่านั้น...ซึ่งผมจะพยายามค้นหาสะสมเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส

ผมหวังว่า "ภาพวาดในหลวง" จะมีประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน  และเป็นตัวอย่างให้แก่ศิลปินรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์งานในอนาคตต่อไป  

ศิลปิน : อุตสาห์ ไวยศรีแสง
เทคนิคสีน้ำ
มันบนผ้าใบ




















      


*********************************
รวบรวมโดย : จุฑาคเชน

ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556

ที่มาของภาพ : โพสต์ ทูเดย์



สำนักงาน กสทช. เผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 พบว่าสังคมไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และเอดีเอสแอล พบว่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการโทรคมนาคมที่คนไทยในทุกพื้นที่นิยมใช้สูงสุดถึงร้อยละ 93.5 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการแบบเติมเงินสูงถึงร้อยละ 79.2 ด้านการใช้งานพบว่าร้อยละ 99.9 เป็นการใช้บริการด้านเสียง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา 


โดยพื้นที่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 53.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ ร้อยละ 32.6 ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 29.5, 24.3 และ 18.9 ตามลำดับ และบริการที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ
  1. บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter ร้อยละ 33.1 
  2. การสื่อสารผ่านข้อความ อาทิ Line, What App ร้อยละ 29.4 และ
  3. การค้นหาข้อมูล ร้อยละ 28.9 
ขณะที่การใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานลดลง แต่ยังคงมีอัตราสูงในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยมีภาพรวมแนวโน้มพฤติกรรมใช้โทรศัพท์พื้นฐานเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กว่าการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารทางเสียง 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย ระหว่าง พ.ศ. 2555 -2556 โดยมีข้อกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การสำรวจภาคสนามจากตัวอย่างประชากรทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15-70 ปี จำนวน 4,020 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 5 เขต ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ผลการวิจัย พบว่า บริการโทรคมนาคมที่คนไทยใช้บริการมากที่สุดในปัจจุบันคือ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสัดส่วนการใช้บริการสูงถึงร้อยละ 93.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 27.9 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 โดยทุกพื้นที่สำรวจพบว่า มีการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการแบบเติมเงิน (พรีเพด) ในอัตราร้อยละ 79.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีเพียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะใช้ที่มีผู้ใช้บริการระบบพรีเพดในอัตราที่ต่ำกว่าคือเพียงร้อยละ 55.8 โดยเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการประเภทเสียง คิดเป็นร้อยละ 99.9 ส่วนการใช้บริการเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพบว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31.9 จากร้อยละ 18.4 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พบว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนการใช้บริการมากที่สุดร้อยละ 51.8 รองลงมาคือบริษัท โทรเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) ร้อยละ 37.2 และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (True Move) ร้อยละ 11.0 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยหลักที่ตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการ คือ
  1. เครือข่ายครอบคลุม 
  2. สัญญาณเสียงคมชัดติดต่อได้สะดวก และ
  3. อัตราค่าบริการต่ำ 
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 27.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด นั้นถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่อยู่ร้อยละ 35.2 โดยลักษณะการใช้งานบริการโทรศัพท์ประจำที่ในปัจจุบันเน้นที่การรับสายถึงร้อยละ 90.5 ของจำนวนตัวอย่างที่ใช้บริการ รองลงมาเป็นการโทรออกร้อยละ 77.0 และใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 46.8 โดยพบว่าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69.9 รองลงมาได้แก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 13.3 และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการคิดเป็นร้อยละ 11.3 

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 23.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยสาเหตุหลักในการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การไม่ได้ (เช่น โทรศัพท์เสีย แบตเตอรี่หมด ฯลฯ) รองลงมาคือในที่พักอาศัยไม่มีโทรศัพท์ประจำที่ สำหรับสถานที่ที่ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด คือ โทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่พัก รองลงมาคือตามท้องถนนทั่วไป 

สำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ มีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 5.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และพบว่าผู้ใช้บริการขณะอยู่ต่างประเทศมีการโทรกลับประเทศไทยถึง 78.0 ของจำนวนตัวอย่างผู้เคยเดินทางไปต่างประเทศ และใช้วิธีการโทรกลับด้วยการซื้อซิมการ์ดใหม่ในต่างประเทศร้อยละ 49.1 รองลงมาเป็นใช้บริการโทรผ่านระบบ VoIP เช่น Skype, Viber  ร้อยละ 47.3 และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติร้อยละ 43.6 ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาขณะอยู่ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลไปต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 74.5 ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ร้อยละ 77.4 โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีการโทรไปต่างประเทศด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 59.8 ลดลงจากปี 2554 ที่มีการใช้สูงถึงร้อยละ 87.5 และโทรจากโทรศัพท์ประจำที่ร้อยละ 15.2 ลดลงจากปี 2554 ซึ่งมีการใช้ร้อยละ 19.3 

นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 46.0 ของกลุ่มตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 36.5 และสาเหตุหลักของการไม่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ไม่รู้จัก และใช้ไม่เป็น เมื่อพิจารณาผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 68.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 52.4 โดยช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ช่วงเวลา 16.00-22.00 น. โดยเป็นการใช้บริการในสถานที่พักอาศัยเป็นหลัก ซึ่งลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อ ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter มากที่สุด รองลงมาเป็น การสื่อสารข้อความ และการใช้ค้นหาข้อมูล 

“การสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 ของสำนักงาน กสทช. ครั้งนี้ ทำให้สำนักงานได้รับทราบถึงข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคม รวมถึงแนวโน้มการใช้บริการ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดและเสนอแนะกรอบนโยบายและการกำกับดูแลด้านการแข่งขันในการประกอบกิจการโทรคมนาคม การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ กสทช. กล่าว


















ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง 
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) 
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

**********************************
ที่มา : 
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม. (2556). ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2556 . [Online]. Available: http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c4/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3gTf3MX0wB3U08nxzATA09nJ2cLL1NDo2AnE_2CbEdFAOMpLEU!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0402newspaper/040201press/040201press_detail/0fbec200421ef7aba010e28b91da655b [2556.ธันวาคม 9]

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ราชดำเนิน..ถนนแห่งการต่อสู้

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2556) เป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ผมไม่ได้กลับบ้านที่ราชบุรี เพราะเดี๋ยววันศุกร์ก็ต้องมาทำงานอีก รอกลับเย็นวันศุกร์เลยทีเดียว

ผมตั้งใจมาทำงานเพื่อสะสางงานที่คลั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ...แต่กลับไม่ได้ทำงานเลยเพราะเผอิญไปพบนิตยสาร "สารคดี" ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม พ.ศ.2541  เล่มหนึ่ง หมกอยู่ใต้ชั้นหนังสือเก่าๆ ที่แทบไม่มีใครสนใจแล้ว เนื้อหาในเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของ  "ถนนราชดำเนิน"  และเขียนไว้ได้น่าสนใจมาก หยิบอ่านแล้ววางไม่ลง บทความที่ตีพิมพ์ให้แง่คิดมุมมองต่างๆ ผ่านเรื่องราวร้อยเรียงมากมายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้...

ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยไว้อย่างหลากหลาย ยาวนานมาถึง 114 ปี   




ขวัญใจ เอมใจ (2541 : 80)  เขียนถึงถนนราชดำเนินไว้ว่า
"โดยตัวมันเองแล้ว ถนนราชดำเนินก็เป็นเพียงถนนธรรมดาๆ สายหนึ่งกลางเมืองหลวง ไม่ได้แตกต่างไปจากถนนดินแดงที่ฝุ่นดินปลิวคว้างยามลมผ่าน ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทสักแห่ง...ต่างก็เป็น "หนทางที่ทำขึ้น" และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสัตย์ซื่อเท่าๆ กัน

แต่ถ้ามองผ่านฝุ่นควันไอเสียคละคลุ้ง น่ารังเกียจของถนนราชดำเนินในวันนี้ ให้ลึกลงไปจากความเป็นถนน ยังมี "หนทางที่ทำขึ้น" อีกสายซ้อนทับอยู่บนถนนธรรมดาๆ สายนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเชื่อมสถานที่ในเมืองหลวง นำพา และส่งผ่านผู้คนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

แต่เป็นหนทางประชาธิปไตยที่ครอบคลุมชีวิตและจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
ราชดำเนินเป็นถนนของประชาชนในความหมายนี้โดยแท้
ทอดยาว คดเคี้ยว มีขวากหนาม แต่ก็มีผู้คนที่กล้าพอที่จะคิด ฝัน ร่วมสร้างและร่วมสู้ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า วันแล้ว วันเล่า ชีวิตแล้ว ชีวิตเล่า

ด้วยลมหายใจอิสระและชีวิตเสรีของวันนี้นี่เอง ที่ตอกย้ำว่า "หนทางที่ทำขึ้น" บนนถนนราชดำเนินสายนี้ เป็นวิถีทางของประชาชนที่มีความหมายและงดงามเพียงใด"

กำเนิดถนนราชดำเนิน พ.ศ.2442
จากรอยทางเล็กๆ ในดงโสนและเรือกสวนของพระนคร เมื่อปี พ.ศ.2442  รัชกาลที่  5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ถนนราชดำเนิน" เชื่อมพระบรมมหาราชวังกับสวนดุสิต โดยแบ่งเป็นสามช่วงคือ ราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน นับเป็นถนนหลวงกว้างขวางโออ่ากว่าถนนสายใดในพระนครเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีเปิดถนนราชดำเนินนอก และสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2446  

แนวความคิดในการสร้างถนนราชดำเนิน นอกจากเป็นการเชื่อมวังและขยายเมืองออกไปทางทิศเหนืออันเป็นที่ตั้งของสวนดุสิตแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงบ้านเมืองให้งดงาม ศิวิไลซ์เหมือนดังมหานครในยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสด้วย

จากรอยทางเล็กๆ ในดงโสนและเรือกสวน มาเป็นถนนเชื่อมวัง ถนนอัน "ชักนำให้มหาชนได้กระทำการค้าขายให้เป็นการสะดวกขึ้น" สมดังพระราชปณิธาน ทั้งยังเป็น "หนทาง" ให้ประชาชนก้าวเดินทุกยุค ทุกสมัย ราชดำเนิน...เป็นถนนที่อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชนโดยแท้

ราชดำเนิน...ถนนแห่งการต่อสู้
ถนนราชดำเนิน โดยชัยภูมิที่ตั้ง เป็นถนนที่เชื่อมต่อสถานที่สำคัญเอาไว้บนเส้นทางนับตั้งแต่ต้นถนนจนปลายถนน ที่หัวถนนราชดำเนินนอก มีพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ถัดเข้ามาก็เป็น กระทรวงทบวงกรมที่สำคัญ ราชดำเนินกลางก็มีอาคารร้านค้าขนาบทั้งสองข้าง ตรงกลางเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนินในก็มีท้องสนามหลวง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพระบรมมหาราชวัง ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ถนนราชดำเนิน..จะกลายเป็นถนนแห่งการต่อสู้ของประชาชนตามวิถีทางของประชาธิปไตย  (ขวัญใจ เอมใจ. 2541 : 81) 
  • พ.ศ.2475 รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม เช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้มารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หัวถนนราชดำเนินนอก ก่อนจะแยกย้ายกันไปจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่ปกครองประเทศอยู่ในเวลานั้น มาเป็นตัวประกัน อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานกว้าง หัวถนนราชดำเนินเมื่อรุ่งอรุณมาเยือน
  • พ.ศ.2500 ประท้วงเลือกตั้งสกปรก ถนนราชดำเนินรองรับวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชน รวมตัวกันเดินขบวนเพื่อประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 ขบวนมุ่งหน้าจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านถนนราชดำเนิน ไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดเอาไว้ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยทหารและตำรวจอาวุธครบมือ ภายใต้การนำของร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก การเผชิญหน้าระหว่างพลังทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างร้อนแรง ทั้งเสียงตะโกนด่าทอ การขว้างปา การยื้อยุด แล้วก่อนนาทีวิกฤตจะมาถึง ร้อยเอกอาทิตย์ฯ สั่งปลดอาวุธทหารทั้งหมด ด้วยเกรงว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้น และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาถึง จึงยินยอมให้ทหารเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
จุดสำคัญที่เกิดเหตุการณ์บนถนนราชดำเนิน

  • พ.ศ.2516 วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก
14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค

  • พ.ศ.2519 ปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์จลาจลซึ่งเกิดขึ้นบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมกับประชาชน กำลังชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เคลื่อนพลมาสมทบกับกระทิงแดงและนวพลที่ท้องสนามหลวง  โดยสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี หรือถูกทำให้พิการ 
  • พ.ศ.2535 พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
  • พ.ศ.2549  ขับไล่ทักษิณ วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ประชาชนออกมาชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมยืดเยื้อข้ามคืน ในครั้งนี้มีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งต่อ ๆ ไป การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อว่า "การชุมนุมกู้ชาติ" การชุมนุมครั้งถัดมาจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ใช้ชื่อว่า "ปิดบัญชีทักษิณ" ในครั้งนี้รัฐบาลได้พยายามขัดขวางเนื่องจากอ้างว่ามีความไม่เหมาะสมและไม่สมควร เพราะสถานที่ที่นี้เป็นเขตพระราชฐาน จึงมีการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งต่อไปที่สนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 โดยจะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อไม่มีกำหนด จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่ง ใช้ชื่อว่า "เอาประเทศไทยคืนมา" สลับกับการเคลื่อนขบวนใหญ่เพื่อกดดันสองครั้ง ในคืนวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 จากสนามหลวงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเช้าวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2549 จากสนามหลวงมาที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างมีการประชุมคณะรัฐมนตรี และย้ายการชุมนุมมาปักหลักบริเวณสี่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์สลับกับสี่แยกสวนมิสกวันและถนนพิษณุโลกช่วงข้างทำเนียบรัฐบาล 
  • พ.ศ.2551 ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมทางการเมืองพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2551 โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้ประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551  โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ในเดือนสิงหาคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง
  • พ.ศ.2554 ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งบริเวณสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบรัฐบาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 จากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามมติของกลุ่มพันธมิตรฯ 3 ข้อ คือ 1)ยกเลิก บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543  2)ผลักดันชาวกัมพูชาที่อพยพและรุกล้ำเข้ามาอาศัยและสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตแดนไทย 3)ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก แต่ทว่ารัฐบาลก็มิได้มีท่าทีสนองตอบ และได้ออกพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้รักษาความปลอดภัย การชุมนุมในครั้งนี้ปรากฏว่า แนวร่วมผู้ชุมนุมลดลงไปเป็นจำนวนมากประกอบกับบุคคลที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยหลายคนก็มิได้เข้าร่วมอีก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญํติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เข้ายึดพื้นที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเพื่อเปิดพื้นผิวจราจรและเมื่อรัฐบาลมีท่าทีว่าจะยุบสภาภายในต้นเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้มีมติให้ทำการโหวตโน คือ รณรงค์ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครในบัตรเลือกตั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 
  • พ.ศ.2556 มวลมหาประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เดือน พ.ย. ต่อ ธ.ค.2556 มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.312 คน และ สว.เลือกตั้งบางส่วน และต้องการล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ขอทวงอำนาจคืนจากรัฐบาลเพื่อตั้ง "สภาประชาชน"  ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)  และกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้อมระบอบทักษิณ (กปท.) ภายหลังรวมกันเรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) โดยการชุมนุมเป็นแบบยืดเยื้อ ปักหลักพักค้าง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง สะพานผ่านฟ้า สี่แยกนางเลิ้ง กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และในวันที่ 24 พ.ย.2556 เป็นวันระดมประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเพราะประชาชนออกมาชุมนุมมากกว่า 1 ล้านคน   

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของการชุมนุมทางการเมือง
ราชดำเนิน ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ พ.ศ.2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างอาคารริมถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฟาก พร้อมๆ กับการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนดินสอ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 

อนุสารีย์ประชาธิปไตย วางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ.2482 สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อ พ.ศ.2483 ในคำกล่าวเปิดของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีใจความตอนหนึ่งว่า
"....เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์แห่งนี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศไทย และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง"

วันนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการต่อสู้ของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่เข้าใจแตกต่างกัน การต่อสู้กับจอมเผด็จการและทรราชย์ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ไม่เว้นแม่แต่วันนี้ "ตราบใดที่พวกเรา ยังไม่สามารถหาคนดีขึ้นไปปกครองบ้านเมืองได้" ตามที่ในหลวงฯ ทรงมีพระบรมราโชวาทสอนพวกเราไว้ เหตุการณ์ก็จะยังคงเป็นเช่นนี้ หมุนเวียนเรื่อยไป ไม่มีวันจบสิ้น   


   

สงสารแต่ราชดำเนิน
ถนนราชดำเนินถูกสร้างขึ้นเพื่อการขยายเมืองพระนคร และหวังให้เป็นศรีสง่าแก่พระนคร เฉกเช่นประเทศที่ศิวิไลซ์ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 แต่ราชดำเนินวันนี้ มีเรื่องราวน่าศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้มากมายกว่าที่คิด

หาก "ราชดำเนิน" เป็นคน ก็อายุ 114 ปี แล้ว เขาต้องเป็นคนที่เข้มแข็งมาก เพราะเขาผ่านทั้งร้อน ผ่านทั้งหนาว ผ่านทั้งทุกข์ ผ่านทั้งสุข  มานับครั้งไม่ถ้วน เขาเคยได้ยินเสียงปลาบปลื้มปิติยินดี เสียงไชโยโห่ร้อง จนกระทั่งเสียงปืน  เสียงลูกระเบิด และเสียงร้องไห้ปริ่มจะขาดใจ อีกทั้งสรีระร่างกายของเขา คงเคยอาบน้ำมาสารพัดอย่าง ทั้งน้ำมนต์ น้ำเลือด และน้ำตา  

สงสารแต่ "ราชดำเนิน"

ร้อยสิบสี่ปี ล่วงพ้นผ่าน
หลายเหตุการณ์ ประดังมา ยังทนไหว
ทั้งปลาบปลื้ม สุขสม ปิติใจ
ทั้งนองไหล ด้วยเลือด และน้ำตา

"ราชดำเนิน" เจ้าเอ๋ย เคยเหนื่อยไหม
ที่เห็นไทย ฆ่าไทย ไห้โหยหา
เมื่อใดเล่า "สันติสุข" จักคืนมา
ซับน้ำตา ลบรอยช้ำ "ราชดำเนิน"

******************************

ที่มาข้อมูล
  • ขวัญใจ เอมใจ.  (2541).  ราชดำเนิน ทางมีเพราะคนเดิน. สารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม 2541.
  • ขวัญใจ เอมใจ.  (2541).  ราชดำเนิน ถนนของประชาชน. สารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14 เดือนตุลาคม 2541. 
บทกลอนประกอบประพันธ์โดย : พัน ภูพ่าย

หนังสือสารคดี ฉบับที่ 164 ปีที่ 14
เดือนตุลาคม พ.ศ.2541
       

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประมวลภาพการชุมนุมของมวลมหาประชาชนเพื่อล้างระบอบทักษิณ เดือน พ.ย.2556 - ม.ค.2557

ผมขออนุญาตนำภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ในการชุมนุมของมวลมหาประชาชนเพื่อล้างระบอบทักษิณ ในเดือน พ.ย.2556 ที่บรรดาสื่อมวลชน และผู้คนต่างๆ ได้ถ่ายเอาไว้ เพื่อให้สะดวกในการค้นหา และเพื่อ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในบล็อกนี้อีกแห่งหนึ่ง  การรวบรวมภาพครั้งนี้ไม่มีเจตนาในการทำธุรกิจใดๆ ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพ ที่รังสรรค์ภาพสวยๆ ทั้งหลายมาให้พวกเราได้รับชมกัน ด้วยครับ... 



   






















วันที่ 13 ม.ค.2557 Shutdown Bangkok 


ที่มาของภาพ : 

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไม...มีผู้กล้าแค่ 500 คน

ผมเพิ่งประสบกับธาตุแท้ของข้าราชการบางคนในปัจจุบัน  ที่เปลือกนอกดูเหมือนจะเป็นคนที่มีอุดมการณ์อันสูงส่ง รักความถูกต้อง รักความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดีต่อแผ่นดินถิ่นเกิด แต่พอถึงคราวคับขันที่จะต้องเลือกระหว่าง  "ประโยชน์ของตนเอง" กับ "ประโยชน์ของส่วนรวม" แล้ว  เขากลับเลือกประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ...

ที่มาของภาพ :
http://www.matichon.co.th/online/2013/05/13686932821368693325l.jpg

ผมนึกย้อนไปในอดีต...คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 พระยาตาก นำพระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา หลวงพิชัยอาสา ขุนอภัยภักดี ขุนหมื่นพันทนาย พร้อมด้วยทหาร 500 นาย ตีฝ่าวงล้อมข้าศึกที่มีมากถึง 15,000 นาย ออกมาได้  เจตนารมย์ที่สำคัญของพระยาตากในวันนั้น ก็คือ "วันหนึ่งจะรวบรวมผู้คนกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึกให้จงได้"  ซึ่งหากวันนั้น เราไม่มีผู้นำที่เด็ดเดี่ยวกล้าตัดสินใจและทหารกล้าผู้เสียสละเช่นนั้น  หน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยอาจไม่ได้เป็นเช่นปัจจุบันนี้ก็ได้... 

ทำไม...มีผู้กล้าแค่ 500 คน
ผมสงสัยว่า ณ วันนั้น ทำไม? จึงมีทหารผู้กล้าอาสาสมัครเพียง 500 คนที่ตัดสินใจตามพระยาตาก ฝ่าวงล้อมออกมา บรรดาขุนนางอำมาตย์และทหารหาญของกรุงศรีอยุธยาจำนวนมากมายที่เคยบอกว่ารักชาติ รักแผ่นดิน หายไปไหนกันหมด  ฤา...ทุกคนเมื่อถึงคราวคับขัน กลับรักตัวกลัวตายมากกว่ารักแผ่นดิน วันนั้น...กรุงศรีอยุธยา ยอมวางดาบ ศิโรราบให้แก่ข้าศึกอย่างเบ็ดเสร็จ.....ยกเว้นพระยาตากและผู้กล้าอีก 500 คนที่ฝ่าวงล้อมออกมา

ปัจจุบัน....รอยอดีตกำลังกลับปรากฏมาให้เห็น  ประเทศไทยกำลังถูกทุนนิยมสามาลย์เข้าครอบครอง ทางเศรษฐกิจ  อิสระภาพที่แท้จริงของคนไทยกำลังจะหมดไป เหลือแค่อิสระภาพจอมปลอม    รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า ต่างโกงกิน คอรัปชั่น ขึ้นภาษี หากินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง  ประชาชนถูกมอมเมาให้เป็นหนี้เป็นสิน เป็นทาสของเงินอย่างโงหัวไม่ขึ้น เกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นในแผ่นดิน โดยรัฐบาลไม่สนใจที่จะแก้ไข....ปัญหาบ้านเมือง ถูกแก้ไขแบบขอไปทีด้วยการโยนเศษเงินปิดปาก ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ  ขาดการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ...

นักการเมืองปัจจุบันล้วนกำลังช่วยกันสร้างโลงศพให้แก่ประเทศไทย แถมตอกตะปูปิดฝาโลง ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เท่านี้ อำนาจทั้งหมดก็เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือของเหล่านายทุนตัวจริงที่ใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการยึดครองประเทศไทย....

วันนี้...จะมีผู้กล้าสักกี่คน
ถึงเวลานี้...จะมีใครที่กล้าเป็นผู้นำเยี่ยงพระเจ้าตาก นำพาข้าราชการและทหารผู้กล้า ตีฝ่าวงล้อมของระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมออกไป  ปลดปล่อยประเทศไทยให้ไปสู่อิสระภาพที่แท้จริง  ไปสู่ความพอเพียง ผู้กล้ากลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่พยายามรวมตัวออกมาต่อสู้กับระบอบฯ  ต่อสู้กับทักษิณ ต่อสู้กับรัฐบาล ต่อสู้กับนักการเมืองฉ้อฉล ล้วนพ่ายแพ้ไปทุกครา  ที่เจ็บใจคือพ่ายแพ้ภายใต้ฝีมือของเหล่าข้าราชการ ทหารกล้าและตำรวจ ที่ไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

หน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นไปอย่างไร ไม่มีใครทราบได้  แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้คือ หาผู้นำที่กล้าหาญอย่างพระเจ้าตาก พร้อมผู้กล้า อีกสัก 500 คน (ไม่รู้จะมีพอหรือปล่าว) ตีฝ่าวงล้อมเศรษฐกิจทุนนิยมออกไปให้ได้  หวังเพื่อกอบกู้ประเทศไทยให้พ้นจากมือของนายทุน  นำพาประเทศไทยให้กลับมาสงบสุขตามวิถีชีวิตดั้งเดิม นำพาความเจริญงอกงามอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยด้วยปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" 

หวังว่า พวกเราจะหาคนๆ นั้นพบ ก่อนที่ประเทศไทยจะถูกตอกตะปูตัวสุดท้ายเพื่อปิดฝาโลง....

เราจะรู้ธาตุแท้ของตัวเราได้ 
ก็ในยามที่ตัวเราคับขัน...
และสิ่งที่เราต้องเลือกก็คือ "ตัวเรา" หรือ "ส่วนรวม"   

************************************
ที่มาของภาพ :
http://iprinciple.blogspot.com/2013/09/stop-corruption.html?view=magazine



















ที่มาข้อมูล

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผู้คนหมื่นแสน ทั่วแดนนับล้าน แต่ว่าแม่นั้น เห็นมีอยู่แค่ "คนเดียว"

ประเทศไทยของเรานี้ดีนะ..ที่ทุกปีมี  "วันแม่แห่งชาติ" ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ พระราชินีของเรา เกือบทุกสถานที่ ทุกหน่วยงาน ทุกสถานศึกษา ช่วยกันจัดกิจกรรม ทำให้ทุกคนได้ระลึกถึง "พระคุณแม่ของตนเอง" แต่อีกหลายคนก็มักจะบอกว่า "อย่ารักแม่..เฉพาะวันแม่วันเดียว"  ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่บางทีของภาระงาน ภาระครอบครัว ก็อาจจะทำให้เราลืมเลือนแม่ของเราไปบ้าง...

ในกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี...

อย่างน้อยก็ทำให้เราได้คิดถึงพระคุณแม่ของเราบ้าง อย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี

หนึ่งเดียวคือแม่
มีบทเพลง ร้อยแก้ว ร้อยกรอง กาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน ฯลฯ ที่ประพันธ์ขึ้นเกี่ยวกับพระคุณแม่จำนวนมากมาย ล้วนแล้วแต่ไพเราะจับใจเกือบทั้งสิ้น มีคำร้องของบทเพลงๆ หนึ่ง ชื่อว่า "หนึ่งเดียวคือแม่" ซึ่งนำมาร้องโดยไม่ใส่ดนตรี  ผมฟังแล้วรู้สึกน้ำตาไหลเลยทีเดียว  เห็นว่าคำร้องนี้ ตั้นฉบับแต่งโดย อาจารย์ดวงใจ สุริยา ศิลปินผู้ขับร้อง ชิซูกะ ชนันท์กานต์  ทำนองเพลงไทยเดิม  เรียบเรียงโดย กิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์ (หมู) และชล ปากช่อง เป็นผู้ผลิต แต่คนที่นำมาร้องในคลิบวีดีโอนี้ ผมไม่ทราบว่าใคร ผมฟังดูแล้วรู้สึกคิดถึงแม่...ขึ้นมาอย่างจับใจ  

"หลับตาฟังดูก็ได้ครับ ไม่ต้องดูภาพ 
แล้วลองจินตนาการถึงแม่ของคุณดู..."



ที่มา : Anakaric Dharma
 
อันพระคุณแม่ นับคณา เกินกว่า ยากหาไหน 
พสุธา ที่กว้างไกล ยังไม่...เท่าแม่นี้
รวมแผ่นฟ้า มหานที พระคุณแม่นี้ มากเสียยิ่งกว่า 
ยามแม่อุ้มท้อง แสนทรมาน
เมื่อลูกเกิดมา แม่นั้นยินดี......

ยามหนาวลูกนอน แม่ซ่อนอกไว้ 
ยามร้อนผิวกาย แม่ใช้พัดวี
ยามหิวคราใด  แม่ให้ห่วงหา 
ป้อนน้ำข้าวปลา ลูกแสนเปรมปรี 
พระคุณแม่นั้น อนันต์เหลือที่ 
ผู้ใดจะมี เสมอเหมือนได้ 
แม่ทนอ่อนล้า เลี้ยงมาจนใหญ่ 
แม่ยอมเหนื่อยกาย หาเงินส่งเสียให้เรียน.....

จงอย่าลืม คิดทดแทน คุณท่าน ก่อนบั้นปลาย 
แม่เปรียบดัง เหมือนร่มไทร ใบแก่ แผ่เหนือเศียร 
วัยผ่านผัน สักวันคงเปลี่ยน 
คอยหมั่นเพียร เยี่ยมเยียน เมื่อท่านชรา 
แม่คงชะแง้ อยากแลเห็นหน้า แม้ลูกไม่มา แม่คงเจ็บช้ำฤดี......

อย่าทิ้งให้แม่ ได้แต่หงอยเหงา 
มองหาลูกเต้า สักคนไม่มี 
อย่าคิดลืมแม่ เมื่อแก่ชรา 
ท่านเลี้ยงเรามา ช่วยชุบชีวี
เลือดในอกนั้น กลั่นจนล้นปรี่ น้ำนมแม่นี้ มีค่านับอนันต์ 
ผู้คนหมื่นแสน ทั่วแดนนับล้าน 
แต่ว่าแม่นั้น เห็นมีอยู่แค่ "คนเดียว".........  

*******************************

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทำไมไม่จ้างคนไทย

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมแวะไปหาซื้อของในห้างใหญ่ของ อ.เมือง จ.ราชบุรี ถึง 4 ห้างได้แก่ Global house, Home Pro, Big C และTesco Lotus มีเหตุการณ์ที่ผมเห็นแล้ว รู้สึกสงสารเจ้าของกิจการเป็นอย่างมาก ก็คือคุณภาพของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้า ผมพูดกับภรรยาผมว่า "เดี๋ยวนี้ ทำไม คุณภาพแรงงานของคนไทย จึงต่ำลงมาก" พนักงานเหล่านี้ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และขาดความซื่อสัตย์ต่อผู้ว่าจ้าง ที่อุตส่าห์จ้างให้เข้ามาเป็นพนักงาน

มาตรฐานแรงงานไทย
ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย
ในบรรดา 4 ห้างใหญ่ที่กล่าวมา มีแต่ Home Pro ที่ผมรู้สึกว่าเขาอบรมพนักงานได้มีคุณภาพที่สุด ที่เหลืออีก 3 ห้างมีพฤติกรรมคล้ายกัน คือ
  1. จับกลุ่มคุยกัน ไม่สนใจลูกค้า 
  2. เมื่อลูกค้าอยากถามรายละเอียดสินค้า กลับหาพนักงานแนะนำไม่พบ
  3. พนักงานทำมองไม่เห็นลูกค้า เกี่ยงกัน ที่จะมาให้คำแนะนำแก่ลูกค้า
  4. นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่สนใจลูกค้า
  5. พูดคุยกันข้ามหัวลูกค้าที่กำลังเดินชมสินค้าอยู่
  6. สนทนากันเองด้วยภาษาที่หยาบคาย ให้ลูกค้าได้ยิน
  7. พนักงานขาดความรู้จริงในสินค้าที่ตนเองรับผิดชอบ
  8. แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผนกโทรทัศน์ เปิดดีวีดีล่อแหลมต่อการลามกอนาจารโชว์ให้ดู เช่น การเต้นโคโยตี้ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ พนักงานก็มาจับกลุ่มดูกันเองและส่งเสียงเชียร์จนดัง ไม่สนใจที่จะขายสินค้า

พนักงานเหล่านี้ เป็นคนไทยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ถามในใจว่า ทำไมคนไทยเหล่านี้ จึงไร้คุณภาพนัก ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ขาดความตระหนักถึงความเป็นลูกจ้างที่ดี ที่ควรจะพยายามขายของให้นายจ้างให้ได้ กลับเอาแต่จะเรียกร้องแต่สิทธิที่ควรจะได้รับ เช่น ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ค่าประกันสังคม และค่าทำงานล่วงเวลา เป็นต้น พนักงานในห้างเหล่านี้ มักเปลี่ยนหน้าใหม่อยู่เสมอ เหตุเพราะพนักงานลาออกบ่อย ไม่สู้งาน

ผมมัั่นใจว่าทั้ง 3 ห้างนั้น มีระบบการเลือกสรรและฝึกอบรมพนักงานที่ดี แต่เผอิญพนักงานที่มาสมัครงานมีแต่คนด้อยคุณภาพทั้งนั้น การเลือกสรรจึงได้แค่ "คนด้อยคุณภาพ..ที่ดีที่สุด" เมื่อวัตถุดิบที่นำเข้าไม่ดี แม้จะมีกระบวนการฝึกอบรมที่ดีอย่างไร ผลลัพธ์ก็ยากที่จะดีมีคุณภาพตามไปด้วย

ทำไม คนไทยด้อยคุณภาพลง
พนักงานเหล่านี้ อย่างน้อยก็น่าจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ 3 เป็นขั้นต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า "การศึกษาของไทยไม่ได้สร้างคนไทย ให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่" ประกอบกับสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยและค่านิยม อาจไม่เอื้อให้คนเหล่านี้รู้จักและตระหนักถึงความรับผิดชอบ ซึ่งหากสังคมยังปล่อยให้คนไทยด้อยคุณภาพลงเช่นนี้แล้ว อนาคตคนไทยจะตกงาน แรงงานต่างชาติจะเข้ามาทดแทน ลองดูตามเรือประมง ปั๊มน้ำมัน รีสอร์ท ร้านอาหาร งานก่อสร้าง งานรับจ้างทั่วไป ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานต่างชาติเกือบหมดแล้ว คนไทยได้แค่ติดยา ซิ่งรถมอร์เตอร์ไซต์ ตะลอนเที่ยว วิ่งราวปล้นจี้ไปวันๆ

ผมถามว่า ทำไมไม่จ้างคนไทย
ผมเคยสนทนากับเจ้าของกิจการรีสอร์ทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลายแห่งที่ผมเคยไปพัก ที่รีสอร์ทเหล่านี้ล้วนมีพนักงานเป็นชาวกัมพูชาแทบทั้งสิ้น ทั้งพูดและฟังได้ 2 ภาษา คือ ไทยและเขมร 

ผมถามว่า "ทำไมไม่จ้างคนไทย"
เขาตอบว่า "คนไทย เดี๋ยวนี้หาคนที่มีคุณภาพและความซื่อสัตย์ได้ยาก ที่เคยจ้างมาส่วนใหญ่มักชอบอู้ หลบเหลี่ยงงาน ไม่ค่อยรับผิดชอบต่อหน้าที่ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ จะเอาแต่ค่าแรงสูงๆ ข้อต่อรองมาก เลยจ้างคนเขมรดีกว่า ค่าแรงก็ต่ำกว่า ส่วนคุณภาพเราค่อยๆ มาสอนเขาทีหลัง ยังไงๆ เขาต้องอยู่ทำงานที่รีสอร์ทของเราแน่ๆ เพราะเขามีทั้งที่กิน ที่พัก และยังมีเงินอีก แค่นี้ ชีวิตของเขาก็ดีกว่าอยู่ในเขมรมากนัก ไม่เหมือนคนไทย ไม่พอใจก็ออก..ผมเห็นคนไทยที่ลาออกไปแล้วหลายคน จนบัดนี้ ยังตกงานอยู่เลย"

รีสอร์ทแถวขอบชายแดนไทย-กัมพูชา
ส่วนใหญ่มีแต่พนักงานสัญชาติเขมรเกือบหมดแล้ว

สิ่งที่ผมได้พบเห็นเหตุการณ์ในห้างใหญ่ที่เล่ามาให้ฟังนี้ น่าจะเป็นอุทธาหรณ์บางอย่างให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้บ้าง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาแรงงานไทย อะไรเป็นสาเหตุให้แรงงานไทยในสมัยปัจจุบัน ขาดซึ่งความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ด้อยคุณภาพ และไม่รู้จักสิทธิของตนเองในทางที่ควรจะเป็น

ค่านิยมของคนไทยยังชอบเอาเปรียบสังคมเพื่อประโยชน์ของตนเอง...
ค่านิยมการประกอบอาชีพของคนไทยยังคงอยากเป็น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มากกว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักพัฒนา นักธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการ....

เพราะค่านิยมเช่นนี้
วันนี้ เราจึงต้องซื้อ รถราม้าช้าง ทีวีตู้เย็น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์ และจิปาถะภัณฑ์นานาชนิด ฯลฯ จากต่างชาติมาใช้ ไม่มีอะไรเลยเป็นของตัวเราเอง..

ไทยคิด ไทยทำ ไทยซื้อ ไทยเจริญ
ไทยไม่ได้คิด ไทยไม่ได้ทำ ไทยซื้อ ต่างชาติเจริญ

******************
จุฑาคเชน : 24 มิ.ย.2556

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ฝากไว้ในมือคนกรุงเทพฯ

"กูอยากจะบอกต่อพวกมึง ว่าแผ่นดินมันกำลังอ่อนแอ อ่อนแออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนเรือน ใกล้จะพัง คานใกล้จะขาด เสาผุกร่อน เพราะปลวก มอด มันเจาะกินใน ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน วันหนึ่ง..ถ้ามันต้องเผชิญกับพายุร้ายแม้นแรงเพียงนิด มันก็ไม่แคล้ว..ต้องพังทลายลง" ประโยคคลาสิคจากภาพยนตร์เรื่องขุนรองปลัดชู นี้ ผมฟังทีไร..เลือดแห่งความรักชาติมันเดือดผล่านทุกครั้ง 



วันที่ 3 มี.ค.2556 ผมถือว่าเป็นวันสำคัญที่จะวัดชะตากรรมของประเทศชาติเลยทีเดียว เราจะได้ผู้ปกครองเมืองหลวงของประเทศไทยเรา... 
..กรุงศรีอยุธยาแตก..สยามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า..ทั้งแผ่นดิน 
..กรุงเทพฯ หากถูกยึดได้..ประเทศไทยก็ล่อแหลมต่อการสูญเสีย..ทั้งแผ่นดินเช่นกัน..
..เมืองหลวงจึงมีความสำคัญสำหรับทุกๆ ประเทศ 

ผมไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ผมจึงเลือกผู้ปกครองกรุงเทพฯ ไม่ได้ 
วันนี้ จึงต้องฝากไว้ในมือคนกรุงเทพฯ ทุกท่านที่ต้องตัดสินใจให้รอบคอบ 
เพราะมันเป็นผลกระทบต่อคนทั้งประเทศเช่นกัน 
ผมขอภาวนาให้คนกรุงเทพฯ เห็นแสงสว่างมากกว่าความมืด เห็นดอกบัวที่ไม่ใช่กงจักร 

ผลงานเผาบ้านเผาเมืองของนักโทษชายนายทักษิณฯ และพรรคเพื่อไทย ใน 8 ปีที่ผ่านมาใครๆ ก็รู้ 

"ด้ามขวานก็ร้อนลุกเป็นไฟ คมขวานก็กำลังจะบิ่น หนี้ก็กำลังจะท่วมหัว ทรัพย์สินก็ถูกขาย ชีวิตประชาชนกำลังไร้ความมั่นคง ประเทศชาติกำลังบอบช้ำสูญสิ้นซึ่งศักดิ์ศรี คนไทยกลายเป็นทาสของเงินตรา" 

หากผู้ปกครองเมืองหลวงเป็นเพียงทาสรับใช้ทักษิณฯ ก็ไม่ต่างอะไรกับนายกฯนกแก้วหุ่นเชิด 
กรุงเทพฯ จะถูกพวกปลวก มอด มันเจาะกินใน 
ตรรกกะง่ายๆ ผลงานพรรคเพื่อไทย ทำลายชาติ ฉันใด? มันก็ทำลายกรุงเทพฯ ฉันนั้น? อย่างไร้รอยต่อ
ตำรวจจะครองเมือง 
"พิซซ่าจะมาไวกว่าตำรวจ ด่านตรวจจะมีมากกว่าเซเว่น" 
"ตำรวจจะเข้าไปแทรกแซงในทุกวงการ" 
"ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐเผด็จการโดยตำรวจ ไร้ซึ่งประชาธิปไตยที่ต่างถวิลหา" 

"ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน วันหนึ่ง..ถ้ามันต้องเผชิญกับพายุร้าย แม้นแรงเพียงนิด มันก็ไม่แคล้ว..ต้องพังทลายลง" 

ถึงเวลาที่คนกรุงเทพฯ จะต้องช่วยประเทศไทยแล้ว 
การตัดสินใจในวันที่ 3 มี.ค.2556 ที่จะถึงนี้..มีความสำคัญยิ่ง 
"ท่านคงรู้ว่า..ท่านไม่ควรเลือกใคร" ผมเห็นลางร้ายจริงๆ 
ที่เหลือนอกจากนั้น  ท่านจะเลือกใคร..เป็นเรื่องของท่านเอง 

อย่าเห็นแก่เงินเพียงไม่กี่พันบาท 
แลกกับการยึดชาติแบบเบ็ดเสร็จ 

************************ 
ชาติชาย คเชนชล 
25 ก.พ.2556 

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

อย่าให้กองทัพบกไทย..ติดลบตามท่านไปด้วย

เมื่อสองสามวันก่อนผมเพิ่งเขียนบทความเรื่อง "ตามหาผู้ใหญ่ให้พบก่อนที่จะสายไป" พอมาถึงวันนี้ มีเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่สูงสุดของกองทัพบก กลับทำเรื่องราวให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อผู้ใหญ่ในสังคมอีกคราหนึ่งอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการตรอกย้ำถึงเนื้อหาในบทความที่ผมได้เขียนเอาไว้เป็นอย่างดี 

อ่านดูรายละเอียดและชมคลิบวีดิโอแล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ฯ ดันไปสัมภาษณ์เชิงด่าว่ากล่าว สำนักข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการว่า "ห่วย" เรียกเขาว่า "ไอ้" แถมว่าเขาไม่มี "ศักดิ์ศรี" คู่ควรที่จะมาด่าทอหรือเขียนวิจารณ์ท่าน  และหลังจากนั้นต่อมาก็มีกำลังทหารไปชุมนุมที่บ้านพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการถึง 2 ครั้ง ข่มขู่วางก้ามเรียกร้องให้ เอเอสทีวีผู้จัดการ ทำหนังสือขอโทษ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมเองก็ยังรู้สึก งงๆ กับทหารกลุ่มนี้ ว่ากล้าทำเรื่องโง่ๆ เช่นนี้ได้อย่างไร กระแสสังคมต่างวิพากย์วิจารการกระทำครั้งนี้อย่างแพร่หลาย ขอบอกให้ทราบครับ งานนี้ "ผบ.ทบ.ติดลบไปอีกนาน" ผบ.ทบ.ติดลบคนเดียวไม่เป็นไรเพราะเป็นตัวบุคคล แต่อย่าให้ "กองทัพบกติดลบไปด้วยก็แล้วกัน" 

ผลงานโดดเด่นยุคของ ผบ.ทบ. ที่ชื่อ ประยุทธ์ 
ในแถลงการณ์ตอบโต้ของเอเอสทีวีผู้จัดการ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2556 กล่าวถึงผลงานของ ผบ.ทบ.ท่านนี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว 
  • หงุดหงิด ด่าสื่อทุกครั้งเมื่อถูกตั้งคำถามเรื่องเขาพระวิหาร
  • ไม่สนใจการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น เรือเหาะ รถถังยูเครน เครื่องตรวจระเบิด GT200 
  • เมินคนไทยถูกขังลืมในคุกเขมร คดีวีระ-ราตรี 
  • แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้มเหลว 
  • ปล่อยให้ทหารเขมรลุกล้ำชายแดน ยิงถล่มชาวบ้าน 
  • ปล่อยให้ทหารใต้บังคับบัญชาตายฟรี ในคดีเสื้อแดง โดยเฉพาะคดี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม 
อ่านแล้วผมก็รู้สึกจริงตามนั้นครับ 

ที่มาของภาพ
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000003870


ความคิดเห็นที่ 11 
"ผมมองในส่วนตัวผมนะ คุณประยุทธ์เป็นถึง ผบ.ทบ. ควรจะเก็บอารมณ์ให้มากกว่านี้นะ การแสดงพฤติกรรมออกมาแบบนี้ หมดภาวะผู้นำครับ มีที่ไหนไปด่าสื่อที่ปกป้องสถาบัน และพูดกระแหนะกระแหนว่า รักสถาบันอยู่คนเดียวรึไง ประชาชนหรือไอ้ผู้จัดการเป็นรัฐบาลหรือไง จึงต้องไปฟังมัน การพูดออกมาแบบนี้แสดงว่านายประยุทธ์ไม่ฟังเสียงประชาชนแต่กลับฟังเสียงรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้น ถ้าประเทศไทยเสียดินแดนนายทหารคนนี้จะรับผิดชอบอะไรบ้าง" 
จากผู้ที่ใช้นามว่า ประชาชน 

ความคิดเห็นที่ 463 
"ท่านประยุทธ์ตกอยู่ในห้วงของความไม่มีอิสระทางความคิด เพราะมุ่งแต่จะดำรงคงไว้ในยศ ตำแหน่ง และฐานะ จนไร้ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกไทย ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลชั่วๆอย่างน่าละอายที่สุด ละเลยหน้าที่หลักที่เคยสาบานตนให้สัตย์ปฏิญาณไว้อย่างสิ้นเชิง ดูเหมือนว่ากองทัพเป็นกองกำลังของรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐไทยที่เป็นสังคมที่ประกอบด้วยชนทุกชั้น ทุกเชื้อชาติและศาสนา ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศชั่ววาระหนึ่งแล้วก็ไปเรียกตัวเองว่าผู้มีเกียรติ ซึ่งก็ไม่เเป็นจริงตามที่เรียกเลย และขอบอกไว้ว่าศักดิ์ศรีไม่ใช่ได้มาด้วยการให้ทหารชั้นประทวนมาเรียกร้องร้องให้ที่บ้านพระอาทิตย์" 
จากผู้ที่ใช้นามว่า วิสา 

อ่านความคิดเห็นท้ายข่าวแถลงการณ์ตอบโต้ของเอเอสทีวีผู้จัดการ แล้วคงไม่ต้องเขียนอะไรมากนะครับ คงพอเห็นอารมณ์ของผู้อ่านข่าวได้ดี 

ทำไม ? ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเรามีพฤติกรรมเยี่ยงนี้กันไปหมด 
หรือว่า ลาภสักการะ สรรเสริญ บวกกับความโลภ ความโกรธ ความหลงในตน มันสาดกระเส็น กระเด็นเข้าตา 
นำพาผู้ใหญ่เหล่านี้ให้เสียผู้เสียคน เสียผู้ใหญ่ เสียความน่าเชื่อถือศรัทธา ได้ถึงขนาดนี้ 

"ผบ.ทบ.ติดลบไปอีกนาน" ติดลบคนเดียวได้เพราะเป็นตัวบุคคล 
แต่อย่าให้ "กองทัพบก...ติดลบตามท่านไปด้วย" ก็แล้วกัน 

**************************** 
ชาติชาย คเชนชล : 13 ม.ค.2556