หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 1 เริ่มฝึกหัด)

สมัยเด็กๆ ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกขอบคุณและชื่นชมผู้ที่ได้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้พวกเราได้เรียนกัน  ตำราที่เรียนส่วนใหญ่มักจะเป็นบันทึกของชาวต่างชาติ  ไม่เว้นแม้แต่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราเองก็ตาม 

หนังสือบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของประเทศไทยที่มีให้อ่าน ส่วนใหญ่เป็นภาพกว้างๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในแต่ละซอก แต่ละมุม มักไม่ค่อยมีการบันทึก หลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญมักเก็บไว้ในความทรงจำ อย่างดีก็แค่เล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆ กันมา พอตนเองเสียชีวิตไป ความจริงเรื่องนั้นก็ตายตามไปด้วย  แต่หากคนผู้นั้นฝึกหัดเป็นนักเขียน นักบันทึก ความจริงเรื่องนั้นก็ยังคงอยู่ตลอดไป

หนังสือเรื่อง "หลักนักเขียน" ทำให้ผมรู้สึกอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาทันที เรียบเรียงโดย สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์ จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2539 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย บจก.ต้นอ้อ แกรมมี่  ผมขอนำบางส่วน บางตอนมาสรุปให้ฟัง เผื่อว่าหลายท่านที่กำลังอยากจะเป็นนักเขียน จะได้ใช้ลับสติปัญญาให้เฉียบคมมากขึ้น

โรงเรียนการประพันธ์
เมื่อ ปี พ.ศ.2490 อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เจ้าของนามปากกา นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้จัดตั้ง "โรงเรียนการประพันธ์ทางไปรษณีย์" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีสำนักงานอยู่ที่ รร.บัณฑิตวิทยาลัย ถ.ศิริอำมาตย์ หรือที่ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ใกล้หัวลำโพง พระนคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ช่วยผู้ที่สนใจในการประพันธ์ เสริมระดับการประพันธ์ให้สูงขึ้น ให้วิชาอันเป็นรายได้พิเศษ และส่งเสริมการประพันธ์ในเมืองไทย ใช้เวลาเรียนตามหลักสูตร 10 เดือน ค่าสมัครรวมค่าเรียนเดือนแรก 30 บาท ค่าตำรา 32 บาท ค่าเรียนเดือนต่อๆ ไปเดือนละ 10 บาทอีก 9 เดือน  

โรงเรียนการประพันธ์ มีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก ทั้งทหาร นักกฏหมาย ตำรวจ นักปกครอง และจากผู้ที่ต้องการเป็นนักประพันธ์โดยตรง โรงเรียนดำเนินการอยู่ได้ 3 ปี ต้องปิดตัวลง 

"....โรงเรียนตั้งขึ้นได้สามปี ก็จำต้องหยุดกิจการ ไม่ใช่เพราะไม่มีผู้เรียน แต่เพราะผู้เรียนมากเกินความคาดหมาย ประกอบกับระยะนั้นข้าพเจ้ามีงานจำเป็นอื่นๆ หลายอย่างจะตรวจแก้ แนะนำให้แก่ผู้ศึกษาไม่ได้ละเอียดลออเหมือนก่อน จะให้คนอื่นช่วยก็ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหยุดกิจการ..."

โรงเรียนการประพันธ์นี้  ถือเป็นแนวคิดที่พยายามเชิญชวนให้คนไทยทั่วไปได้ฝึกหัดเป็น นักเขียน นักประพันธ์ และกวี  อาจคล้ายคลึงหรือเทียบเคียงได้กับคณะเรียนต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน คือ คณะอักษรศาสตร์ และคณะวารสารศาสตร์ เป็นต้น

นักเขียน, นักประพันธ์ และกวี
นักเขียน คือ ผู้ที่แสดงความคิดออกมาด้วยการเขียนเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร
นักประพันธ์ คือ นักเขียนที่มีผลงานมากและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของมหาชน
กวี คือ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน อาจจำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
  1. จินตกวี (แต่งโดยความคิด)
  2. สุตกวี (แต่งโดยได้ฟังมา)
  3. อรรถกวี (แต่งตามความจริง)
  4. ปฏิภาณกวี (แต่งกลอนสด) 

คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์
คุณลักษณะของนักเขียน นักประพันธ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือฯ พอสรุปได้ดังนี้
  1. นักประพันธ์ต้องเป็นคนช่างฝัน หากผู้ใดไม่มีนิสัยช่างฝันแล้ว มีวิธีที่จะปลูกนิสัยช่างฝันได้ดังนี้
    1. สนใจเรื่องของคนอื่นให้มาก
    2. อ่านหนังสือให้มาก
    3. มองให้เห็นความงามของธรรมชาติและชีวิต
    4. หัดเขียนจดหมายยาวๆ ยิ่งเป็นจดหมายรักยิ่งดี
    5. หัดเขียนบันทึกประจำวัน
  2. มีพรสวรรค์และการเรียนรู้ หากผู้ใดคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ จงเปลี่ยนความคิดใหม่ ขอให้เชื่อว่า "พรสวรรค์สามารถสร้างได้" ด้วยการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นนักเขียนจะต้องขวนขวายหาความรู้อันจำเป็นที่จะนำมาเขียนเรื่องราวของตนเองตลอดเวลา ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อความถูกต้อง หรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
  3. พยายามเขียนตามที่ตนถนัด ผู้เขียนลองสำรวจตัวเองว่าถนัดในแนวไหน เช่น สารคดี บทความ เรื่องสั้น นวนิยาย ละคร ฯลฯ หลังจากจับทางได้แล้วให้พยายามศึกษาหาความรู้ด้านนั้นๆ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น
  4. รู้จักอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ หากเขียนแล้วมีคนอ่านก็ดัง หากเขียนแล้วไม่มีคนอ่านก็ดับ อย่างไรก็ดี นักเขียนหน้าใหม่ก็ไม่ควรท้อใจง่ายๆ นักประพันธ์ชื่อดังหลายคนก็เคยผ่านจุดดับมาแล้ว แต่เขาอาศัยความมานะพยายาม ไม่ท้อถอย จึงผ่านจุดนั้นมาได้
  5. เขียนให้ผู้อ่านร้องไห้ หัวเราะ และรอคอย การเขียนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมถือว่าประสบความสำเร็จ ยิ่งผู้อ่านกระหายที่อยากจะรู้เรื่องต่อๆ ไป นั้นยิ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง

เริ่มฝึกหัดเป็นนักเขียน
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า ขั้นต้นของผู้ที่หัดเป็นนักประพันธ์ ก็คือ หัดเขียนพรรณาเสียก่อน โดยมีวิธีการอยู่ ดังนี้
  1. ฝึกเขียนพรรณาภูมิประเทศจากรูปภาพสู่ภูมิประเทศจริง   นำภาพภูมิประเทศมา 1 ภาพ ลองดูภาพ แล้วเขียนพรรณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพอย่างละเอียด หลังจากนั้นปิดรูปภาพลง แล้วเอาข้อความที่เราเขียนนั้นมาลองวัดความรู้สึกดูว่า ในเวลาที่เราอ่านข้อความที่เราเขียนนั้น เรามีความรู้สึกเหมือนกันกับเวลาดูภาพนั้นหรือไม่  ถ้ายังไม่เหมือนก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องเขียนใหม่จนกระทั่งแน่ใจว่า หากคนอื่นมาอ่านข้อความที่เราเขียน จะต้องมีความรู้สึกว่าได้เห็นภาพนั้นจริงๆ  เมื่อฝึกหัดจากรูปภาพดีแล้ว ก็ลองฝึกหัดจากภูมิประเทศจริงดู 
  2. ฝึกเขียนพรรณาในเรื่องคนจากภาพถ่ายสู่คนจริง เรื่องคนนับว่ายากกว่าภูมิประเทศ โดยขั้นแรกควรใช้ภาพคนก่อน ต่อไปจึงค่อยลองเขียนจากตัวคนจริงๆ ในขั้นแรกหัดพรรณาแต่รูปร่างหน้าตา ต่อมาภายหลังจึงค่อยพรรณาถึงกิริยาท่าทางถ้อยคำ และการพูดของคนนั้นๆ 
  3. ฝึกเขียนความรู้สึกในใจของตนเอง ขั้นนี้ค่อนข้างยาก มีวิธีฝึกได้หลายทาง เช่น   เดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ยืนอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่ง และพิเคราะห์ดูว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเราเข้าไปในห้องนั้น จำความรู้สึกอันนั้นไว้แล้วกลับมาเขียนความรู้สึกนั้นให้ถี่ถ้วน สถานที่ๆ จะฝึกหัดเช่นนี้ได้มีหลายแห่ง เช่น ในโรงมหรสพ ในที่ชุมนุมชน เวลากลัว เวลาหิว เวลาตกใจ เวลาโกรธ ใช้ฝึกได้ทั้งนั้น

ที่มาของภาพ http://www.marketingoops.com/
exclusive/how-to/5-simple-steps-to-better-writing/

การฝึกหัดที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวมานั้น ท่านบอกว่าเป็นการฝึกหัดเบื้องต้น นักเขียนต้องเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของนักเขียนนั้นคือ ความซื่อตรง เขียนไปตามความจริง และให้คนเข้าใจได้เท่ากับที่เป็นจริงๆ ต้องหัดแสดงความจริงเสียก่อน ส่วนความคิดประดิษฐ์โลดโผนนั้นจะมีภายหลัง ถ้าไม่หัดพรรณาอะไรให้ตรงตามความจริงเสียก่อน พอเริ่มต้นก็ประดิษฐ์โลดโผนแล้ว จะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เลย

อ่านต่อ มาเริ่มต้นเป็นนักเขียนกันเถอะ (ตอนที่ 2 ลงมือเขียน)  

*******************************
จุฑาคเชน : 30 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์. (2539). หลักนักเขียน. กรุงเทพฯ  : ต้นอ้อ แกรมมี่ 



      

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ใช้หลักกาลามสูตร ตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

7 สิงหาคม 2559 จะเป็นวันออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.....และประเด็นเพิ่มเติม พร้อมกันทั่วประเทศไทย ระหว่างเวลา 08:00-16:00 น.  โดยมีประเด็น 2 ประเด็นที่ต้องออกเสียง คือ
  • ประเด็น "ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช........ทั้งฉบับ" ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ
  • ประเด็นเพิ่มเติม "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ


จุลสาร 1 เล่ม กับ ความเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้...ปราบโกง 
ผมลองสอบถามครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมทั้งพี่น้องเพื่อนฝูงหลายคน ที่มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ โดยถามว่า เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับที่เขาให้ไปออกเสียงบ้างไหม ทุกคนตอบทำนองคล้ายๆ กันว่า "ไม่เคยอ่าน" กับ "รู้คร่าวๆ"  และพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่มีทีท่าที่แสดงออกถึงความสนใจหรือความกระตือรือล้นที่อยากจะรู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกด้วย   

ข้อมูลที่พวกเขามีตอนนี้ คือ "จุลสารการออกเสียงประชามติ" ฉบับเล็กๆ ที่ทาง กกต.ส่งมาให้ที่บ้านจำนวน 1 เล่มต่อครอบครัว ในเนื้อหามีการสรุปสาระสำคัญบางประการในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกว่า มันคล้ายๆ กับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมากกว่า ดูคล้ายกับนโยบายประชานิยมหรือการให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาชน อะไรทำนองนั้น  ลองดูตัวอย่าง วลีจากบางข้อ เช่น คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า, เรียนฟรี 14 ปี ตั้งแต่ก่อนอนุบาลถึง ม.3, ปฎิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วน, สกัดคนโกงเข้าสภาด้วยกติกาในรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 5 ปี,  ป้องกันไม่ให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐรั่วไหล, การบริหารงานท้องถิ่นมีความโปร่งใสเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและประชาชนมีส่วนร่วม ฯลฯ นอกจากนั้น ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่พวกเขามี คือ ความเชื่อใจใน คสช.และรัฐบาล ที่ว่า  "รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ร่างขึ้นมาเพื่อปราบโกง"  



จากข้อมูลที่มีไม่มาก บวกด้วยความเชื่อใจใน คสช. กับการรณรงค์ออกเสียงประชามติ (สีเทาๆ) โดยภาคราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ผมเชื่อได้เลยว่า พวกเขาเหล่านี้ คงให้ความเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 100% 

ทำไม? ต้องมีประเด็นเพิ่มเติม
ที่ต้องมีการออกเสียงประเด็นเพิ่มเติม ในจุลสารฯ ดังกล่าวให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าทีมคนสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาวางรากฐานอย่างน้อย 5 ปีจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงสมควรให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (หมายถึงประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 
บทเรียนจากอดีต
หลายคนหากได้ลองศึกษาเรื่องราวในอดีตย้อนหลังดู  จะมองเห็นเหตุการณ์และสถานการณ์หลายอย่างมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น

  • การรัฐประหารเงียบของโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ.2501 รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ถูกใช้ปกครองบ้านปกครองเมืองอยู่ถึง  13 ปี และอ้างว่ากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เหมาะสมอยู่  (ดูรายละเอียด)
  • เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ.2535  หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี และสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว แต่กลับมอบรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจแทน เกิดการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก จนเกิดปรากฏการณ์ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" (ดูรายละเอียด)
  • ฯลฯ
วันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงได้ถอดบทเรียนในอดีตที่ว่ามาหมดแล้วเช่นกัน จึงสามารถอุดช่องว่างและลดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่า เมื่อผลของการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฯ ออกมาแล้ว เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ปัจจุบัน ข่าวสารเรื่องการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนหลั่งไหลเข้ามาสู่ประชาชนจำนวนมากมายหลายช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ข่าวสารของการเห็นชอบจะมีมากกว่า เพราะ คสช.และรัฐบาล ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง   

ดังนั้น ทุกคนจึงควรมีวิธีการที่จะตัดสินใจที่ดีว่าข่าวสารที่ได้รับมานั้นเป็นเท็จ เป็นจริง แค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป 



ใช้หลักกาลามสูตร ตัดสินใจ
กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณหรือโทษ ดีหรือไม่ดี ก่อนที่จะเชื่อ ซึ่งมีหลักอยู่ 10 ประการ ได้แก่ (ขออนุญาตปรับปรุงคำพูดให้เข้าใจง่ายๆ ครับ)

  1. อย่าเชื่อ ด้วยการฟังหรือการบอกเล่าต่อๆ กันมา
  2. อย่าเชื่อ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาทำตามๆ กันมา 
  3. อย่าเชื่อ เพราะว่าเขาเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดว่ามันเป็นความจริง
  4. อย่าเชื่อ เพราะว่ามันมีอ้างอยู่ในตำรา หนังสือ หรือทฤษฎี
  5. อย่าเชื่อ เพราะว่ามันเป็นตรรก หรือจากการคำนวณ
  6. อย่าเชื่อ โดยการอนุมานเทียบเคียง หรือการคาดคะเนเอาเอง
  7. อย่าเชื่อ โดยการตรึกตรองเอาตามอาการ
  8. อย่าเชื่อ เพราะมันตรงกับความเชื่อหรือทฤษฎีของตัวเอง 
  9. อย่าเชื่อ เพราะมองเห็นรูปร่างลักษณะที่น่าเชื่อถือได้
  10. อย่าเชื่อ เพราะผู้ที่บอกเป็นครู อาจารย์ของเรา
ท่ามกลางกระแสและเกมการเมืองที่ร้อนแรงระหว่าง คสช. นปช. พรรคการเมือง และภาคประชาสังคม ในขณะนี้ หลักกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงให้ไว้ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรตัดสินใจ

การออกเสียงประชามติครั้งนี้ จงคิดพิจารณาไตร่ตร่องให้ดี เพราะอนาคตของประเทศไทยในวันข้างหน้าอยู่ในมือของท่านทุกคน 


***********************
ชาติชยา ศึกษิต : 26 ก.ค.2559

ข้อมูลที่ควรอ่านประกอบการตัดสินใจ (โปรดทำใจให้เป็นกลาง มองหลายๆ มุม)

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประเทศไทยกำลังถูกนำเข้าสู่การบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ จริงหรือ?

"ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นี่คือ วิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่เขียนไว้ใน (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2460-2579) โดยมีคติพจน์ประจำชาติว่า "มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เขียนเอาไว้ว่า จะพยายามนำพาประเทศไทยจากโลกที่ 2 ไปสู่โลกที่ 1 เฉกเช่น ประเทศสิงค์โปร์และเกาหลีใต้ ด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2)ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3)ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4)ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6)ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยจะใช้โมเดลทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" และขับเคลื่อนด้วยการบริหารตามแนว "ประชารัฐ"




ประชารัฐ คือ อะไร
ประชารัฐ คือ การที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามาร่วมช่วยกันแก้ปัญหา และคิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทยผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน และหนึ่งในนั้น คือ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมีเป้าหมายคือ เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผ่าน 5 ฟันเฟืองหลักได้แก่

  1. การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งด้านทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน
  2. การสร้างองค์ความรู้ จากในชุมชนและส่งเสริมความรู้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอด
  3. การตลาด พัฒนาแบบบูรณาการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาดไปจนถึงช่องทางการขายใหม่ๆ
  4. การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ช่วยสร้างแบรนด์และหาช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ
  5. การบริหารจัดการ ทั้งด้านต้นทุน บัญชี และการบริหารความเสี่ยง


ฟันเฟืองทั้ง 5 จะขับเคลื่อนด้วยรูปแบบของ Social Enterprise (SE) หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยแบ่งโครงสร้างการบริหารโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ออกเป็น 2 ระดับ คือ 
  • ระดับประเทศ บริหารงานโดย บริษัท ประชารัฐสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขับเคลื่อนพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด
  • ระดับจังหวัด ประกอบด้วย 76 จังหวัด บริหารงานโดย บริษัทประชารัฐสามัคคีของแต่ละจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร)
โครงสร้างการบริหารโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

ประเทศไทย 4.0
“ประเทศไทย 4.0” เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"   โดยพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 
  1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 
  2. เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 
  3. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า สินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
เหตุที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 เพราะมีความเชื่อว่า แต่เดิมประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก  “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก 



อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ประเทศไทยต้องเผชิญกับ "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" แล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา”  กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นส่งผลให้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0"

โดยโมเดลประเทศไทย 4.0 นี้จะใช้ "พลังประชารัฐ" ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ นำไปสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำ และ Startups อุตสาหกรรมต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน

ความสัมพันธ์ระหว่าง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี -ประชารัฐ-ไทยแลนด์ 4.0 และรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 เม.ย.2559 ไว้ว่า

"เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ ”ประเทศไทย 4.0″ ( Thailand 4.0) จะต้องสอดรับกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะต้องพัฒนา 20 ปีต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 1-2-3 มา 10 ปี 20 ปี มาจากอดีต ย้อนมา วันนี้เราติดอยู่ตรง 3 ...วันนี้เราต้องคิดว่า 4 จะต้องอยู่อีก 20 ปีต่อไป เพราะไม่ใช่ง่าย ๆ เราเริ่มวันนี้แล้ว ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เราใช้แนวทางประชารัฐ ที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่ ประชาชนก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะว่าเขาเคยชินกับการช่วยเหลือ" 

จากคำกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องของแนวคิดประชารัฐ และเรื่องของไทยแลนด์ 4.0  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน  ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 ที่ร่างขึ้น และกำลังจะลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 นี้ด้วย

เพราะในการนำพาประเทศไทยไปสู่แนวคิดการบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ และโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ที่กล่าวมา จำต้องมีรัฐบาลที่เข้าใจและต้องวางรากฐานเพื่อการพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งอย่างน้อยใช้เวลาถึง 5 ปี  (ตามภาพด้านล่างที่แนบ)  ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2559 ฉบับนี้ จึงถูกร่างขึ้นเพื่อต้องการกุมอำนาจผ่านสมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก มุ่งกีดกันนักการเมืองผู้ที่เห็นต่างไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว  สามารถกำกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ อันจะนำไปสู่การบริหารงานตามแนวประชารัฐที่สมบูรณ์แบบตาม Roadmap ที่วางแผนเอาไว้       


ต้องมีรัฐบาลเพื่อการวางรากฐานของประเทศ
เพื่อนำไปสู่การบริหารประเทศตามแนวประชารัฐ ซึ่งอย่างน้อยใช้เวลาถึง 5 ปี
ต่อจากนั้นจึงเป็นรัฐบาลปกติ
การลงประชามติจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่จะถึงในวันที่ 7 ส.ค.2559 นี้ อาจจะไม่ใช่เฉพาะแค่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องคำนึงถึงและต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า ชุดความคิดเรื่อง "การบริหารประเทศตามแนวทางประชารัฐ" นี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไร รวมถึงการนำประเทศไทยไปสู่โหมด  "Thailand 4.0" เป็นแนวทางที่ถูกต้องตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความต้องการของระบอบทุนนิยม

เพราะหากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 นี้ผ่าน ก็เท่ากับว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่การบริหารประเทศตามแนวทางประชารัฐเต็มตัว

********************************
จุฑาคเชน : 15 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
  • โอฬาร สุขเกษม. (2559). เวอร์ชันใหม่ ‘ประเทศไทย 4.0’. ฐานเศรษฐกิจ [Online]. Available : http://www.thansettakij.com/2016/04/30/48324 [2559.กรกฎาคม 15].
  • ไทยรัฐฉบับพิมพ์. (2559). ไขรหัส "ประเทศไทย 4.0" สร้างเศรษฐกิจใหม่ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง. ไทยรัฐออนไลน์ [Online]. Available : http://www.thairath.co.th/content/613903 [2559.กรกฎาคม 15].
  • นางสาวลดาวัลย์ ค้าภา. (2559). สไลด์บรรยาย.  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี Sustainable Development Goals และแผนฯ 12 ของประเทศ. เวทีสาธารณะนโยบายน ้า สกว. ครั้งที่ 7 [Online]. Available : http://www.trf.or.th/index.php?option=com_attachments&task=download&id=3894 [2559.กรกฎาคม 15].
  • อนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และกรอบการปฏิรูป. (2558). ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) (สรุปย่อ) [Online]. Available :  http://www.royalthaipolice.go.th/downloads/ยุทธศาสตร์ฯระยะ20ปี60-79.pdf
  • เว็บไซต์ สานพลังประชารัฐ [Online]. Available : http://www.สานพลังประชารัฐ.com/ [2559.กรกฎาคม 15].
  • เว็บไซต์ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด [Online]. Available : http://www.prsthailand.com/ [2559.กรกฎาคม 15].

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ข้าราชการของใคร

การทุจริตคอรัปชั่น ในแวดวงข้าราชการของไทย เป็นเรื่องราวที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ปกครองหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ล้วนพยามยามหาทางแก้ไขและกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังมีให้เห็นกันดาดดื่น แม้ในสมัยปัจจุบัน ดูเหมือนจะยิ่งหนักกว่าเดิมเสียอีก

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ใกล้จะถึงเวลาล้มเหลว จากน้ำมือของนักการเมืองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แทรกแซงการทำงานและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  จนทัศนคติของข้าราชการในปัจจุบันเปลี่ยนไป ข้าราชการส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า หากจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่แล้ว ต้องใช้วิธีการทำงานแบบพยากรณ์ (ดูรายละเอียด)  มากกว่าวิธีการทำงานโดยใช้ฝีมือ

ที่มาของภาพ http://www.slideshare.net/Padvee/ss-36631498

งานกับเงิน

งานกับเงิน คำสองคำนี้เป็นสาเหตุหลักของการคอรัปชั่นในแวดวงข้าราชการไทย กล่าวคือ
  1. เงินไม่ตรงกับงาน สาเหตุเรื่องนี้เกิดจากหน่วยราชการจะต้องมีการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีล่วงหน้า แต่หน่วยงานไม่มีแผนการปฏิบัติงานในอนาคตรองรับ จึงคัดลอกงานเดิมๆ ที่ผ่านมาเมื่อปีก่อนๆ เสนอขอไป พอได้เงินมา กลับสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล รัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับต่างๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ก่อให้เกิดปัญหาไม่มีงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายของผู้บริหารใหม่ ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่นโดย สร้างหลักฐานปลอมเพื่อเบิกเงินออกมา--->นำไปใช้งานตามนโยบายผู้บริหารใหม่ 
  2. เงินไม่มีแต่งานมา หลายครั้ง เมื่อรัฐบาล รัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวง คิดงานใหม่ๆ ใคร่อยากจะโชว์ผลงาน ก็สั่งงานมายังหน่วยราชการต่างๆ ในสังกัด แต่ไม่มีงบประมาณมาให้ หน่วยงานทั้งหลายจึงต้อง คอรัปชั่นเงินจากโครงการอื่นๆ มาสนองตอบต่องานของนายที่สั่งมา หรือไม่ก็ต้องไปรีดไถ บริษัทห้างร้าน ให้มาช่วยสนับสนุน เกิดบุญคุณกันต่อไปอีก
  3. งานมากกว่าเงิน  เงินให้มาเพียงน้อยนิด แต่งานที่สั่งมากมายเหลือเกิน จึงจำเป็นต้อง คอรัปชั่นเงินจากโครงการอื่นๆ มาสนองตอบต่องานที่สั่งมาเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 
  4. เงินมาไม่ตรงเวลากับงาน งานแต่ละงานล้วนมีจังหวะขั้นตอนของมัน บางงานควรทำก่อน บางงานก็ควรทำหลัง สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนที่วางไว้ แต่ถึงเวลาทำ เงินกลับไม่มา เพราะระบบงบประมาณที่อุ้ยอ้าย ยืดยาด เรื่องเยอะ จนกระทั่งใกล้สินปีงบประมาณ เงินจึงค่อนโอนมา ก่อให้เกิดการ  การสร้างหลักฐานปลอมเพื่อใช้เงินให้หมด--->ทำงานแบบลวกๆ ให้เสร็จๆ แบบขอไปที
  5. งานที่ต้องหาเงินมาทำ งานประเภทนี้ ผู้เป็นนายต้องหาเงินมาทำเอง อาจแบ่งได้เป็น 1) งานดูแลสวัสดิการลูกน้อง เช่น น้ำชา กาแฟ อาหาร เครื่องดื่ม ทุนการศึกษาบุตร การตัดเครื่องแบบเสื้อผ้าแจก ฯลฯ 2) งานเสริมบารมี เช่น การจัดหาของขวัญของที่ระลึกในโอกาสต่างๆ งานเลี้ยงสังสรรค์ ช่วยงานวันเกิด วันบวช วันแต่งงาน วันตาย งานการกุศล ฯลฯ และ 3) งานสร้างฐานะตัวเอง ซึ่งงานที่ 3 นี้ ยากที่จะอธิบาย  งานทั้ง 3 นี้ ผู้เป็นนายต้องหาเงินมาทำเอง ซึ่งก็คือการเบียดบังเงินจากการคอรัปชั่นใน 4 ข้อแรกที่กล่าวมานั่นเอง ไม่มีใครหรอกที่จะควักเงินเดือนตัวเองมาทำ
"งานสร้างฐานะตัวเอง" นี้อันตรายนัก
 ถือเป็นบ่อเกิดสำคัญของการคอรัปชั่น

เงิน อำนาจ บารมี
ข้าราชการหลายคนเชื่อว่า หากได้อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ ตัวเองจะมีอำนาจ มีบารมี และมีทรัพยากรต่างๆ ตามที่ต้องการ ความเชื่อนี้เกิดจากการเห็นตัวอย่างของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนั้นๆ ในอดีต ระบบอุปถัมภ์และระบบการทำงานแบบพยากรณ์จึงเกิดขึ้น  ข้าราชการหลายคนแปลงตัวเป็นเหลือบยุงลิ้นไร เกาะคนที่คิดว่าจะช่วยตัวเองได้ แสดงตนเป็นข้ารับใช้จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อไป 

ส่วนข้าราชการเล็กๆ ที่ไม่มีปากมีเสียง ก็จำต้องทำงานตามคำสั่งอันไม่ชอบธรรมของผู้เป็นเจ้านาย โดยช่วยทำหลักฐานการทุจริตคอรัปชั่นให้เรียบร้อย ขอแต่เพียงเจ้านายพึงแบ่งเศษเงินเศษทองมาดูแลเอาใจใส่ตัวเองบ้างก็เพียงพอแล้ว

ช่วยทุจริต    เพื่อนาย       เสพสุข
แบ่งเศษสุข  เล็กน้อย      พอได้
ทำอย่างนี้    ให้นาย        ทุกคนไป
ตัวอยู่ได้      พองอกงาม  เจริญดี 

การรณรงค์สร้างสำนึกที่ดีให้ข้าราชการ จึงควรรีบกระทำโดยเร็ว ข้าราชการควรที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ การปฏิญาณตนเป็นข้าราชการที่ดีที่จัดขึ้นทุกปี อย่าให้มันเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองที่มีหน้าที่และอำนาจในอยู่มือ ควรหันมารีบแก้ไขปัญหาสาเหตุของการคอรัปชั่นในแวดวงข้าราชการอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาที่ทำได้ในทันที ก็คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ข้าราชการทั้งหลายดู แต่วันนี้ พวกท่านหลายคนอาจเกิดความสับสนใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือปฏิบัติงานเพื่อสนองตอบต่อการดำรงคงอยู่ในตำแหน่งของตนเอง มากกว่าสนองตอบต่อความผาสุกของราษฎร

ข้าราชการของแผ่นดิน ไม่ใช่ ข้าราชการของคนใดคนหนึ่ง









************************
ชาติชาย คเชนชล : 5 มิ.ย.2559

อ่านเพิ่มเติม