วิธีการทำงานแบบพยากรณ์ หมายถึง วิธีการทำงานโดยการคาดเดาว่า ในอนาคตข้างหน้า ใครจะได้เป็นใหญ่ มีอำนาจและบารมี ที่จะช่วยให้เราเป็นใหญ่ตามไปด้วย เมื่อคาดเดาได้แล้ว ก็เริ่มเข้าไปแสดงตนเป็นผู้รับใช้ ประจบประแจง เอาอกเอาใจ จนเขาเชื่อใจว่าเราเป็นลูกน้องที่จงรักภักดี
การทำงานแบบนี้ เป็นการทำงานที่ผมเริ่มสังเกตเห็นมากว่า 10 ปีแล้ว และเริ่มปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในยุคสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงและมีบทบาทต่อการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการประจำ
ลองสังเกตดูนะครับ บรรดาหัวคะแนนของนักการเมือง พอพูดถึงนักการเมืองที่ตนเองรับใช้อยู่ มักจะใช้คำเรียกแทนว่า "นาย" เช่น นายไม่ชอบ นายไม่เอา นายไม่ยอม นายจะเอาอย่างนี้ ฯลฯ จนบางครั้งผมก็อดสงสัยไม้่ได้ว่า ใคร คือ นายของคุณ เขาน่าจะเป็นบ่าวของคุณมากกว่า เพราะเขาคือผู้รับใช้ประชาชน
บางวาระ ถ้านายของข้าฯ ได้เป็นพรรครัฐบาล ลูกน้องก็ใหญ่ตามไปด้วย ยิ่ง หากนายได้เป็นรัฐมนตรีด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยนะครับ ว่าภาพของลูกน้องจะกร่างขนาดไหน
นักการเมือง ตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ ล้วนมีนายคุ้มหัวกันเกือบทั้งสิ้น การเลือกตั้งที่บอกว่าบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ป่าวประกาศว่าได้รับเลือกมาจากเสียงอันบริสุทธ์ของประชาชน ไม่จริงหรอกครับ.. ข้อเท็จจริง ใครก็ตามที่อยากจะเป็น ส.อบต., สท., สจ., สส. ล้วนมีนายคุ้มหัวทั้งสิ้น และต้องพยากรณ์ให้ถูกว่าจะเกาะนายคนไหนดี นายคนไหนที่มีพรรคมีพวก มีอิทธิพล มีหัวคะแนนเยอะ และมีเงินพอ ที่จะช่วยฉันให้ได้เข้าไปเป็นนักการเมือง...ดังนั้น วิธีการงานแบบพยากรณ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ...ต้องทายให้ถูก...ทายให้แม่น....
การทำงานแบบพยากรณ์ เริ่มเข้าสู่วงการราชการ เมื่อนักการเมืองเริ่มเข้ามาล้วงลูกปรับโยกย้ายตำแหน่งของข้าราชการประจำ โดยเอาคนของตัวเอง เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ
ผู้ว่าราชการจังหวัด สมัยพรรคไทยรักไทย..ก็เป็นผู้ว่าฯ ที่เป็นเด็กในโอวาทของพรรคไทยรักไทย แต่พอพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นรัฐบาล ผู้ว่าฯ เก่าก็ถูกย้าย ผู้ว่าฯใหม่ (เด็กในโอวาทพรรคประชาธิปัตย์) ก็เข้ามาแทนที่
ทุกคนรู้ดีอยู่ในอก แต่ไม่กล้าพูดออกมาว่า "สังคมไทย มันเป็นเช่นนี้จริงๆ"
ต่อไป...ใครอยากเป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องพยากรณ์ให้ถูกว่า จะเกาะใคร รับใช้ใคร เป็นเด็กในโอวาทของใคร
เมื่อผู้ว่าฯ ใช้การทำงานแบบพยากรณ์ ลูกน้องก็ทำบ้าง ลูกน้องเริ่มเกาะนักการเมือง เริ่มเกาะคนที่คิดว่าจะได้เป็นใหญ่ในอนาคต เพราะหวังว่า สักวัน เมื่อนายข้าฯ เป็นใหญ่ ข้าฯ ก็จะได้เป็นใหญ่ตามไปด้วย
เดี่ยวนี้ ข้าราชการระดับเด็กๆ รุ่นใหม่บางคน แทนที่จะคิดเรื่องว่า "จะทำงานอย่างไร ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข จะทำอย่างไรให้งานมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ" แต่กลับคิดว่า "จะไปเป็นหน้าห้องใครดี รับใช้นายคนไหนดี หรือจะติดตามนักการเมืองดี" หากความคิดข้าราชการรุ่นใหม่เป็นอย่างนี้แล้ว ผู้ที่รับกรรมก็คือ ประเทศไทย
วิธีการทำงานแบบพยากรณ์ จะมีผลเสียดังนี้
- คนที่ทำงานด้วยวิธีนี้ จะไม่สนใจเรื่องงานในหน้าที่ของตนเองเท่าที่ควร สนใจแต่เรื่องที่จะต้องรับใช้นาย คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของนาย จึงทำให้งานในหน้าที่หย่อนประสิทธิภาพลง
- คนที่ทำงานด้วยวิธีนี้ หากอยู่ในตำแหน่งฝ่ายอำนวยการ หรือฝ่ายเสนาธิการ มักจะทำงานผิดพลาด เพราะมักไม่ค่อยเขียน ปัญหา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณา และเสนอหนทางเลือกให้นาย (ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่) มักจะชอบเข้าไปถามนายเลยว่าจะเอาอย่างไร? แล้วกลับมาเขียนให้ตรงใจนาย งานที่ออกมาจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
- คนที่ทำงานเก่ง มีฝีมือ จะท้อแท้และหมดกำลังใจในการทำงาน เพราะเห็นว่าวิธีการทำงานที่เขาเชื่อมาตลอด ไม่ได้ทำให้ตำแหน่งหน้าที่เขาสูงขึ้น ส่งผลให้งานในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบลดประสิทธิภาพลง
- เกิดความแตกแยกในองค์กร และขาดคนทำงาน เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบ "ไม่สั่ง ไม่ทำ ไม่คิด และไม่แสวงหางาน"
- องค์กรจะไม่มีจุดยืนในการทำงาน เพราะต้องทำงานสนองตอบตามนโยบายของนายแต่ละคนที่เปลี่ยนไป เพื่อสนองตอบต่อนายอีกระดับชั้นที่สูงกว่า วิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร จึงถูกพับเก็บเอาไว้ ไม่ได้นำออกมาใช้
คนที่ทำงานด้วยวิธีการพยากรณ์ มักจะเจริญก้าวหน้าในตำแหน่ง มากกว่าคนที่ทำงานเก่งมีฝีมือ แต่ประจบสอพลอไม่เป็น ดังนั้น ใครที่เป็นเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชา พึงต้องระมัดระวังและไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี ต้องดูคนให้ออกว่า "ใครทำงานแบบพยากรณ์" "ใครทำงานแบบใช้ฝีมือ"
เมื่อเขียนถึงตรงนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ของผมท่านหนึ่ง ท่านได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
"สุนัขกับเห็บเป็นของคู่กัน เห็บชอบเกาะสุนัขอ้วน สุนัขอ้วนก็รู้ว่าเห็บเกาะ แต่ไม่รู้จะเอามันออกอย่างไร เห็บก็รู้ดีว่าจะเกาะที่ตรงไหนถึงจะปลอดภัย ...แล้วเห็บจะไปเอง เมื่อสุนัขผอมโซ"
เขียนโดย จุฑาคเชน 5 ส.ค.2553
เขียนโดย จุฑาคเชน 5 ส.ค.2553
1 ความคิดเห็น:
เพิ่งจะได้เห็นบทความที่ท่านเขียนวันนี้18 มีนาคม 2558 ซึ่งบทความนี้ถูเขียนขึ้นตั้งแต่ปี53
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ มีค่านิยมในการทำงานเหมือนกับที่ท่านได้คิดให้เห็นในบทความ
มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจในวงราชการความรู้ไม่ดี คุณธรรมไม่มี แต่ได้เป็นใหญ่เป็นโตมาปกครอง
คนมีความรู้และคนดีมีคุณธรรม จบปริญญาเอกเอาความรู้มาใช้กับงานอย่างไม่สมฐานะ ทำราชการ
เพื่อมุ่งผลประโยชน์ให้ตนเองพวกพ้องไปเมืองนอกกันโดยผ่านงบหลวง นี่คือสิ่งที่พบเห็นในหน่วย
งานระดับกรมเล็กๆ แล้วกรมกองใหญ่ๆจะเป็นอย่างไร
แสดงความคิดเห็น