หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย ตอนที่ 5 (จบ) : จังโหลน-ด่านสะเดา-หาดใหญ่-ราชบุรี

ต่อจากตอนที่ 4 คาเมรอนไฮแลนด์

วันเสาร์ที่ 29 ธ.ค.2561 หลังจากลงจากที่ราบสูงคาเมรอน พวกเรานั่งรถยาวอีกเช่นเคย ระยะทางประมาณ 441 กม. จุดหมายสุดท้ายวันนี้ คือ สถานีรถไฟหาดใหญ่ ระหว่างเดินทางตั้งใจแวะช้อปปิ้งร้านสินค้าปลอดภาษีที่ด่านจังโหลน (Changloon) ฝั่งมาเลเซียก่อนกลับเข้าสู่ประเทศไทยที่ด่านสะเดา    ช้อบปิ้งต่อตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ รับประทานอาหารเย็น แล้วรอขึ้นรถไฟกลับราชบุรี ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ เวลา 18.45 น.

Cameron Highland-ด่านจังโหลน-ด่านสะเดา-สถานีรถไฟหาดใหญ่
ระยะทาง  441 กม.
พวกเราแวะรับประทานอาหารกลางวันระหว่างทางที่ ร้าน Bali Thai รัฐเปรัก   คนเยอะมากครับเพราะใกล้ปีใหม่ มีคนไทยเข้าไปเที่ยวมาเลเซียกันมาก ทั้งรถตู้ รถบัส ส่วนคนมาเลเซียก็เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ให้ตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะที่ อ.หาดใหญ่ ดังนั้นการจราจรบนถนนสายหลักที่เราใช้เดินทางจะหนาแน่นมาก  

ร้านบาหลี ไทย รัฐเปรัก
ด่านจังโหลน
หลังจากอิ่มท้อง พอขึ้นรถได้ผมก็เริ่มงีบหลับ มาตื่นอีกทีที่ ด่านจังโหลน ก็เกือบ 16.00 น. รถบัสของเราต้องแวะเข้าไปทำพาสปอร์ตและการประกันรถเพื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยก่อน ต่อจากนั้นจึงพาพวกเราไปยังด่านจังโหลนเพื่อดำเนินกรรมวิธีผ่านแดนออกจากประเทศมาเลเซีย  

ที่ด่านจังโหลนนี้ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายด่านฯ ให้กว้างขวางและใหญ่โตขึ้น แลดูมาตรฐาน ระบบการตรวจสอบการผ่านแดนจัดได้ดี แยกคน แยกรถออกจากกัน พวกเราลงจากรถบัสเดินไปตรวจประทับตราเพื่อออกจากมาเลเซีย เร็วมากครับ ส่วนรถบัสก็แยกกันไปตรวจอีกทาง หลังจากนั้น ทั้งรถทั้งคน ก็วนมาเจอกัน  เดินทางไปช้อบปิ้งต่อยัง ร้านสินค้าปลอดภาษี Bukit Kayu Hitam  ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย ระหว่างนั้น ฝนตกลงมาพอดี หนักมาก แต่สักพักก็หายไป

ไกด์บอกว่าให้เวลาช้อบปิ้งไม่เกิน 30 นาที เพราะกลัวจะไปไม่ทันรถไฟที่หาดใหญ่ เนื่องจากยังต้องผ่านด่านสะเดา และฝ่ารถติดในเมืองหาดใหญ่อีก พวกเราจึงต้องรีบช้อปปิ้งกันแบบเร่งรีบ เงินริงกิตที่เหลือแลกกลับคืนเป็นเงินไทยได้ที่นี่เลย  

ด่านสะเดา
ที่ด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา  นี้ ดูค่อนข้างซอมซ่อไปเลยหากเทียบกับด่านจังโหลนของมาเลเซีย ระบบตรวจคนและยานหาพนะผ่านแดนก็ค่อนข้างล่าช้า อีกทั้งหน้าตาผู้ตรวจหนังสือเดินทางของไทย แลดูขมึงทึง ไม่ยิ้ม (สยาม) เอาเสียเลย  โชคดีที่ตอนนั้น คนเข้าเมืองไทยน้อย พวกเราจึงไม่ต้องรอคิวนานนัก กว่าจะเสร็จเรียบร้อยได้ขึ้นรถ ก็ปาเข้าไปเกือบ 17.30 น. พวกเรารีบเร่งออกเดินทางต่อไปยังจุดหมาย คือ สถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งต้องให้ทันในเวลา 18.45 น. พวกเรามีเวลาเหลือเพียง 1 ชม.15 นาที ซึ่งยังเหลือระยะทางอีก 60 กม. และยังต้องเสี่ยงกับสภาพจราจรที่ติดขัดใน อ.สะเดา และ อ.หาดใหญ่  อีก....ใจเริ่มไม่ค่อยดี ว่าจะทันรถไฟหรือไม่

นาทีสุดท้าย
พวกเรานั่งไม่เป็นสุข ลุ้นระทึกตลอดเวลาว่าจะไปทันรถไฟหรือไม่ ความคาดหวังที่จะแวะช้อปปิ้งตลาดกิมหยงและรับประทานอาหารเย็นที่หาดใหญ่ เลิกคิดได้เลย ตอนนี้แค่ภาวนา ขอให้ไปทันรถไฟก็พอ 

เวลา 18.42 น. ดู GPS แล้วยังเหลือระยะทางอีก 1 กม. จะถึงสถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่รถบัสพวกเรายังติดไฟแดงอยู่เลย แย่แน่ๆ แต่ในที่สุดพวกเราก็ไปถึงใน "นาทีสุดท้าย" พอดี  รีบลงจากรถบัส ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่อย่างทุลักทุุเล ก้มหน้าก้มตาวิ่งไปขึ้นรถไฟ ท่ามกลางเสียงของเจ้าหน้าที่รถไฟตะโกนบอกว่า "เร็วๆ หน่อยครับ รถไฟจะออกแล้ว"  โชคดีครับ พวกเราทันรถไฟ รถไฟออกเวลา 18.45 น.พอดี 

ยังนึกไม่ออกว่า หากพวกเราตกรถไฟในวันนั้น พวกเราจะกลับราชบุรีอย่างไรดี อาจจะต้องนอนหาดใหญ่อีก 1 คืน แล้วค่อยกลับในวันรุ่งขึ้น 

พวกเราเดินทางกลับด้วยรถไฟสายด่วนพิเศษ"ทักษิณารัถย์" รหัสขบวน 32 หาดใหญ่-กรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟราชบุรีด้วยความปลอดภัย ในตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ 30 ธ.ค.2561 เวลา 08.13  น.ตามกำหนด

ขอขอบคุณเพื่อร่วมเดินทางที่น่ารักทุกคน ถึงแม้จะต่างวัยกันไปบ้าง พวกเราก็เข้ากันได้ดี หวังว่าคงจะได้เที่ยวร่วมกันอีกในโอกาสต่อไป  และที่จะลืมขอบคุณไม่ได้ คือ เกสรทัวร์ ที่คอยดูแลพวกเราเป็นอย่างดีตลอดการเดินทาง


ของฝากจากมาเลเซีย (ยังงงๆ อยู่ ว่าหอบหิ้วมาได้อย่างไร)

**************************    

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย ตอนที่ 4 คาเมรอนไฮแลนด์

ต่อจากตอนที่ 3 ลังกาวี : อัญมณีแห่งไทรบุรี

เช้าวันศุกร์ที่ 28 ธ.ค.2561 พวกเราออกเดินทางจากเกาะลังกาวี ไปยังแผ่นดินใหญ่ของมาเลเซีย ด้วยเรือเฟอรี่จากท่าเรือ Penumpang Kuah ไปยังท่าเรือ Kuala Perlis  รัฐปะลิศ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางภายในประเทศ จึงยังไม่ต้องผ่านกรรมวิธีเข้าออกเมืองแต่อย่างใด  


เส้นทางการเดินเรือจากเกาะลังกาวี-รัฐปะลิศ
ท่าเรือ Penumpang Kuah เมืองกัวห์ เกาะลังกาวี
รอขึ้นเรือ

เรือออกจากลังกาวีเวลา 09.15 น. คนเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวมาเลเซียเองที่จะเดินทางไปยังรัฐปะลิส เรือของเราเดินทางถึงท่าเรือ Kuala Perlis รัฐปะลิส เวลาประมาณ 10.20 น. ต่อจากนั้น ก็ขึ้นรถบัสปรับอากาศ ออกเดินทางต่อไปยังที่ราบสูงคาเมรอน (Cameron Highland) รัฐปาหัง พื้นที่เกษตรปลอดสารพิษบนที่ราบสูง ระยะทางประมาณ 389 กม. ก่อนถึงที่ราบสูงคาเมรอนฯ จะเป็นทางขึ้นเขาประมาณ 100 กม.


การเดินทางจากท่าเรือปะลิส ไปยังที่ราบสูงคาเมรอนไฮแลนด์
บรรยากาศบนรถบัส


วันนี้ นั่งรถยาวเลยครับ แวะรับประทานอาหารกลางวัน และเข้าห้องน้ำระหว่างทางเรื่อยไป  พวกเรากว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือ โรงแรมติติวังสา (Titiwangsa) ต.บรินชาง บน Cameron Highland ก็ล่วงเข้าเวลาเกือบ 20.00 น.รับประทานอาหารเย็นแบบจิ้มจุ่ม โดยเน้นผักปลอดสารพิษ ที่โรงแรม

อาหารเย็นแบบจิ้มจุ่ม ห้องอาหารโรงแรม Titiwangsa
จิ้มจุ่ม เน้น ผักปลอดสารพิษ

ก่อนถึงโรงแรม ใกล้มืดแล้ว พวกเราแวะลงเที่ยวที่ไร่ชา Cameron Valley Tea ซึ่งไร่ชานี้ใกล้จะปิดแล้ว พวกเรารีบลงจากรถเดินไปยังไร่ชาทันที โดยไม่สนใจร้านขายชาด้านหน้าเลย ว่ามีชาอะไรให้ชิม ให้ซื้อบ้าง พวกเราเอาแต่ถ่ายรูปกันอย่างเดียว เพราะแสงใกล้จะหมดแล้ว ถ่ายรูปเสร็จก็ขึ้นรถเดินทางต่อไปยังโรงแรมทันที

ไร่ชา Cameron Valley Tea
ไร่ชา Cameron Valley Tea
ไร่ชา Cameron Valley Tea

ที่ราบสูงคาเมรอน (Cameron Highland)
เซอร์ วิลเลียม คาเมรอน นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้พยายามค้นหาสถานที่ที่พักตากอากาศในมาเลเซีย ที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับอังกฤษมากที่สุด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2427 จึงได้ค้นพบที่ราบสูงแห่งนี้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์ วิลเลียม คาเมรอน  ทางมาเลเซียจึงตั้งชื่อที่ราบสูงแห่งนี้ว่า  "Cameron Highland" ช่วงการสำรวจ เซอร์วิลเลียมฯ ใช้รถ Land Rover เป็นพาหนะหลักในการสำรวจ ดังนั้นรถ Land Rover จึงเปรียบเหมือนกับสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของที่ี่ราบสูงแห่งนี้    


รถ Land Rover จึงเปรียบเหมือนกับสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของที่ี่ราบสูงแห่งนี้

ที่ราบสูงคาเมรอน ครอบคลุมพื้นที่ว่า 712 ตร.กม.อยู่บริเวณทางปลายสุดฝังตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐปาหัง ระดับความสูงในพื้นที่ อยู่ในช่วงจาก 1,100 เมตร ถึง 1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล  อุณภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียล ปัจจุบัน เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ และเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุดอกไม้และผลไม้เมืองหนาว หลากหลายสายพันธ์ุ 


เมื่อรถบัส เริ่มวิ่งเข้าเขตที่ราบสูงคาเมรอน สองข้างทางจะเต็มไปด้วยเรือนโรงยาว หลังคาโค้งบุด้วยพลาสติคใสสีขาว เพื่อป้องกันไอหมอกและน้ำค้าง แก่พืชผักที่ปลูก เรือนโรงปลูกเรียงรายเป็นระเบียบและลดหลั่นกันไปตามไหล่เขาแลดูสวยงาม ในยามค่ำคืน จะมีการเปิดไฟให้แสงสว่างแก่พืชผักและผลไม้บางชนิดเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ที่ราบสูงจึงแลดูเสมือนกำลังมีงานรื่นเริง ประดับไฟแพรวพราวไปทั่วทั้งหุบเขา 


ที่ราบสูงคาเมรอน มีโรงแรมเยอะมาก ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งคูหาเดียว ไปถึงขนาดตึกสูงกว่า 20 ชั้น ตั้งอยู่ตามตำบลต่างๆ บนที่ราบสูง  โรงแรมที่เรานอน อยู่ใน ต.บรินชาง (Brinchang) ก่อนเขานอน พวกเราเดินจากโรงแรมไปชมในเขตชุมชน ระยะทางประมาณ 500 เมตร อากาศเย็นสบายๆ ไม่ถึงกับหนาว ยามค่ำคืนที่นี่ก็มีจะร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม ขนมท้องถิ่น ร้านขายของที่ระลึก ผลไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะสตรอว์เบอร์รี่ มีให้เห็นดาดดื่น นอกนั้นก็ยังมีร้านขายสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดทั้งปลีก-ส่ง เสื้อผ้าอาภรณ์ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ทั้งเก่าทั้งใหม่  เปิดให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวมาหาซื้อกัน คล้ายกับตลาดนัดบ้านเรา

เดินเล่นก่อนอน
สตรอว์เบอร์รี่มีขายอยู่ดาดดื่น


ที่มาเลเซียนี้ หาซื้อเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอร์
กินยากมาก ต้องหมั่นสังเกตว่ามีร้านไหนขายบ้าง
ไม่งั้นอดกินครับ 
โรงแรมบนที่ราบสูงคาเมรอนนี้ ไม่มีแอร์ ใช้เปิดหน้าต่างนอน เอาอากาศจากธรรมชาติมาเป็นแอร์แทน ไม่มียุง คืนนี้ผมหลับสบาย อากาศไม่หนาวจนเกินไป  

โรงแรมติติวังสา (Titiwangsa)
เช้าวันรุ่งขึ้น (วันเสาร์ที่ 29 ธ.ค.2561) พวกเราออกจากโรงแรมเวลา 08.00 น.ไปแวะชอปปิ้งที่ ตลาดเช้าของ Cameron Highland ที่นี่จะขายพวกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาวที่ผลิตได้ มากมายหลายชนิด รวมทั้งต้นไม้เมืองหนาวด้วย เดินชมตลาดประมาณ 40 นาที ก็เดินทางต่อไปแวะถ่ายรูปและชอปปิ้งที่ Castus Point  ต่อด้วย ไร่สตรอว์เบอร์รี่ และ Avant Chocolate & Ice cream

ตลาดเช้าของ Cameron Highland
ตลาดเช้าของ Cameron Highland
ตลาดเช้าของ Cameron Highland
ตลาดเช้าของ Cameron Highland

ตลาดเช้าของ Cameron Highland
ตลาดเช้าของ Cameron Highland
ตลาดเช้าของ Cameron Highland

Cactus Point
Cactus Point
Cactus Point

Cactus Point

Cactus Point
Cactus Point
ไร่สตรอว์เบอร์รี่ 
Avant Chocolate & Ice cream


หลังจากลงจากที่ราบสูงคาเมรอน พวกเราก็นั่งรถยาวอีกครั้งครับ จุดมุ่งหมายคือด่านจังโหลน เพื่อกลับเข้าสู่ประเทศไทย

**********************************
อ่านต่อ ตอนที่ 5 (จบ) ด่านจังโหลน-ด่านสะเดา-หาดใหญ่-ราชบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย ตอนที่ 3 ลังกาวี : อัญมณีแห่งไทรบุรี

ต่อจากตอนที่ 2 หาดใหญ่-ตำมะลัง

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธ.ค.2562 พวกเราเดินทางถึงด้วยเรือเฟอรี่ถึงท่าเรือ Terminal Feri Penumpang Kuah เมืองกัวห์ เกาะลังกาวี รัฐเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 10.30 น. กว่าจะผ่านกรรมวิธีตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย ก็ล่วงเข้าไปเกือบ 11.00 น. ที่มาเลเซียนี้ เวลาเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง ผมเลยหมุนนาฬิกาใหม่ เป็น 12.00 น.


ท่าเรือ Penumpang เป็นท่าเรือสำหรับเรือที่เดินทางมา ทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศ  อย่างพวกเรามาจากประเทศไทยต้องเข้าเทียบท่าเรือสำหรับต่างประเทศ เพื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเสียก่อน

สตูล-ลังกาวี
ชื่อของเกาะลังกาวี คำว่า "ลัง" ย่อมาจากคำว่า "ฮลัง" ที่แปลว่า "นกอินทรีสีน้ำตาลแดง" ส่วนนาม "ลังกาวี อัญมณีแห่งไทรบุรี" ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุล ฮาลิม อันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกส่วนพระองค์ โดยตั้งนามเพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวว่า "ลังกาวีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทรบุรี" 


ด้านหลังที่เห็นคือ รูปปั้นนกอินทรีย์สีน้ำตาลแดง
สัญลักษณ์ของเกาะลังกาวี ที่สร้างไว้บริเวณท่าเรือ
เสียดาย ไม่ได้เข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ

อินทรีย์น้ำตาลแดง บริเวณ Eagle square

ลังกาวีก็คล้ายเกาะภูเก็ตบ้านเรานี่เอง แต่ทางวัตถุเจริญน้อยกว่า ส่วนทรัพยากรธรรมชาติน่าจะสมบูรณ์กว่าเรา  วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตึกรามบ้านช่อง ก็คล้ายกับจังหวัดทางภาคใต้ของเราโดยทั่วไป แถมอากาศจะค่อนข้างร้อนกว่า


พิพิธภัณฑ์มหาเธร์
หลังจากรับประทานมื้อกลางกลางวันแบบไทยๆ ที่ ร้านวันไทย เรียบร้อย พวกเราเดินทางไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์จัดแสดงของที่ระลึกของมหาเธร์ บิน โม ฮามัด ที่ท่านได้รับในสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย คนที่ 4 (พ.ศ.2524-2546) สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ ก็คือ บ้านเดิมที่ท่านเคยอาศัยอยู่นั่นเอง ตระการตามาก มีของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ ที่มอบให้ท่าน นำมาจัดแสดงไว้อย่างเป็นระบบ ได้รับการออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม ชมแล้วสามารถจินตนาการผ่านของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเก่งของท่าน ความมีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่สามารถนำพาประเทศมาเลเซียไปสู่ความเจริญทัดเทียมกับนานาประเทศ จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ


บริเวณโถงของพิพิธภัณฑ์



ภายในพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์


ทางขึ้นชั้น 2


บริเวณโถงทางเดิน



ถอนคำสาบ
เหตุเพราะท่านมหาเธร์ เกิดที่ลังกาวี ท่านจึงพยายามได้พยายามสร้างเกาะลังกาวีให้เจริญและกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากมีความเชื่อที่ว่า เมื่อ 200 ปีก่อน เกาะลังกาวีต้องคำสาปของพระนางมัสสุหรี ให้เกาะลังกาวีพบกับภัยพิบัติ ความหายนะ ความอดอยากยากแค้น ไปเจ็ดชั่วอายุคน หลังจากที่พระนางฯ ได้ถูกเจ้าเมืองลงโทษประหารชีวิต โดยกล่าวหาว่าพระนางคบชู้ ทั้งที่พระนางไม่ได้กระทำ ก่อนที่พระนางฯ จะถูกประหารชีวิต พระนางฯ ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากพระนางฯ ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ขอให้เลือดของพระนางฯ ที่หลั่งออกมาเป็นสีขาว พร้อมกับให้เกาะลังกาวีเป็นไปตามคำสาปแช่งของพระนางฯ



หลังจากที่เพชรฆาตฝังกริชเข้าไปในร่างพระนางฯ ปรากฎว่าเลือดของพระนางฯ ที่หลั่งออกมาเป็น "สีขาว" จริงๆ หลังจากนั้นมาเกาะลังกาวีก็ไม่เคยมีความสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองบนเกาะแห่งนี้อีกเลย ต่อมาเกาะลังกาวีถูกถอนคำสาปจาก น.ส.ศิรินทรา ยายี ชาว จ.ภูเก็ต ทายาทรุ่นที่ 7 ของ พระนางมัสสุหรี หลังจากถอนคำสาปเรียบร้อย มหาเธร์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้พัฒนาเกาะลังกาวี ให้เป็นเกาะที่ขายสินค้าปลอดภาษีแทนเกาะปีนัง โดยตั้งใจจะให้คล้ายเกาะฮ่องกง นอกจากนั้นยังเปิดความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้ และทะเล ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ อวดโฉมท้าทายให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมชม



หลังจากมหาเธร์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกาะลังกาวีก็ไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ อีกเลย ขณะที่พวกเราเดินทางภายในเกาะ ก็ยังแลเห็นสภาพอาคารบ้านเรือน และตึกที่รกร้างอยู่ทั่วไป ธุรกิจหลายอย่างซบเซา ปัจจุบัน ชาวลังกาวีกำลังรอคอยการพัฒนาอีกครั้ง หลังจากที่ มหาเธร์ ชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 10 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา



สุสานพระนางมัสสุหรี

พวกเราเดินทางต่อไปยัง "สุสานพระนางมัสสุหรี"  เมื่อมาลังกาวีแล้ว ทุกคนควรมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะเป็นตำนานและความเชื่อของชาวลังกาวีทุกคน ที่นี่ คือ บ้าน และที่ฝังศพของพระนางมัสสุหรี มีการจัดแสดงวิดีทัศน์ โมเดลจำลองเหตุการณ์ และสิ่งของเครื่องใช้ของพระนาง มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตอนที่เกาะลังกาวีแห้งแล้งตามคำสาป  แต่บ่อน้ำแห่งนี้เป็นเพียงบ่อเดียวที่มีน้ำอยู่เสมอไม่เคยเหือดแห้ง ใช้เลี้ยงชีวิตทุกคนบนลังกาวี

สุสานพระนางมัสสุหรี

บ้านของพระนางมัสสุหรี


บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

แวะชิมช็อกโกแลต
ต่อจากนั้น พวกเราแวะที่ Chocoffee ซึ่งเป็นโรงงานผลิตช็อกโกแลตครบวงจรของลังกาวี ที่นี่เปิดโอกาสให้ได้ชิมทุกผลิตภัณฑ์  ทุกยี่ห้อ ที่ผลิตออกมา ผมชิมมากมายหลายรสชาด เลยไม่รู้ว่าชิ้นไหนอร่อยบ้าง เพราะมันผสมกลมกลืนไปหมด  แต่พวกเราก็ช่วยกันอุดหนุน ซื้อกันมาหลายกล่องพอสมควร   



เคเบิลคาร์ ไฮไลน์ลังกาวี

ใครไปลังกาวีแล้ว ต้องนั่งเคเบิลคาร์ " Langkawi SkyCab" ขึ้นจุดชมวิวบนยอดเขาคุนุงมัต-จิงจั้ง ระดับความสูง 709 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นกิจกรรมไฮไลน์ของลังกาวีเลยทีเดียว ถ้ามาแล้วไม่ได้นั่ง ถือว่าพลาดโอกาสอย่างแรง ค่าตั๋วคนละ 55 RM (ริงกิตมาเลเซีย ประมาณ 430 บาท)

SkyCab เป็นกิจกรรมหนึ่งในสวนสนุก เป็นเคเบิลคาร์ที่ค่อนข้างชันกว่าที่อื่นๆ หลังจากขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วไม่ผิดหวังครับ ได้ชมวิวแบบ 360 องศารอบเกาะลังกาวี สูดอากาศบริสุทธิ์ ภายใต้สายหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งผ่านตัวเราไป  กับอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็น   

สะพานทางเข้าสวนสนุก

กิจกรรมต่างๆ ภายในสวนสนุก
ทางเข้า SkyCab เคเบิลคาร์

ตั๋วขึ้นเคเบิลคาร์



นั่งเคเบิลคาร์ขึ้นสู่ยอดเขา

ขึ้นจุดชมวิวบนยอดเขาคุนุงมัต-จิงจั้ง


จุดชมวิว 360 อวศา บนยอดเขาคุนุงมัต-จิงจั้ง




สะพานเชื่อมบนยอดเขาคุนุงมัต-จิงจั๊ง

บนจุดชมวิว
ด้านหลังคือสะพานลังกาวีสกาย (พื้นเป็นกระจก)
แต่พวกเราเดินไปไม่ถึงเกรงว่าจะมืดเสียก่อน
ชอบปิ้งตลาดกัวห์

ก่อนเข้าที่พัก พวกเราแวะชอบปิ้งกันก่อนที่ตลาดเมืองกัวห์ ซึ่งมีร้านขายสินค้าปลอดภาษีให้เลือกซื้อจำนวนหลายร้าน มีสินค้ายอดนิยมเกือบทุกชนิดให้ซื้อ อาทิ กระเป๋าเดินทาง เครื่องแก้ว ถ้วยชาม เครื่องครัว เหล้า เบียร์ บุหรี่ เสื้อผ้า และสินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ เป็นต้น 



ผมยังไม่พลาดเลย เสียเงินช๊อป เหมือนกัน

อาหารมื้อเย็นเรารับประทานกัน ณ โรงแรมที่พัก ชื่อโรงแรม Nagoya ก่อนเข้านอน พวกเรายังชวนกันไปเดินชอปปิ้งต่อยังห้างใกล้ๆ โรงแรม อีกสักพักใหญ่ เสียเงินช๊อปอีกเล็กน้อย ไม่งั้นนอนไม่หลับ

NAGOYA INN โรงแรมที่พัก ใจกลางเมืองกัว

ชอบปิ้งก่อนนอน ห้างใกล้โรงแรม
เช้า เก็บกระเป๋าเตรียมออกเดินทางต่อไป

สำหรับท่านใด ที่หวังว่าจะใข้ WiFi ของโรงแรม เล่นเฟส เล่นไลน์ ขอบอกครับ อย่าได้หวัง เพราะระบบที่นี่แย่เอามากๆ 

************************************    
อ่านต่อตอนที่ 4 คาเมรอนไฮแลนด์