บทความนี้ เขียนขึ้นตามความคิดและความเข้าใจของผมเอง
ในสังคมปัจจุบันทุกคนคงต้องยอมรับว่า "โลกไซเบอร์" เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การส่งผ่านข้อมูล การค้นหาข้อมูล การเผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมความรู้ การเชื่อมโยงผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ ทางด้านการเงิน การพาณิชย์ และธุรกิจการค้า มีข้อมูลความรู้จำนวนมากมายมหาศาลปลิวว่อนอยู่ในโลกไซเบอร์ ทั้งลับเฉพาะบุคคล ลับเฉพาะองค์กร หรือเป็นสาธารณะ
การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ (Cyber Knowledge Management) ของปัจเจกบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะสามารถนำไปสู่การแข่งขัน และนำไปสู่ความสำเร็จ ตามคำนิยามที่ว่า "ความรู้คืออำนาจ" (Knowledge is Power)
พลเมืองในโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน หากต้องการหาข้อมูลใดๆ เพื่อมาตอบโจทย์หรือคำถามของตนเอง คงหนีไม่พ้น การใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ (Search Engine) เช่น Google, MSN, Yahoo, Bing, Ask เป็นต้น จนกระทั่งเกิดคำกล่าวที่ว่า "หากค้นหาใน Google ไม่พบ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่มีในโลกนี้"
ปัจจุบัน การจัดการความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ (Tacit Knowledge) นักจัดการความรู้ก็พยายามแปลงมันให้ออกมาเป็นความรู้ที่แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ในรูปแบบของหนังสือ นิตยสาร วารสาร แผ่นพับ สิ่งตีพิมพ์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ สื่อมัลติมีเดีย เว็บไซต์ Blog ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ บางรูปแบบไม่สามารถนำไปใช้ในโลกไซเบอร์ได้ ดังนั้น กระบวนการในนำรูปแบบเหล่านี้ไปเผยแพร่ในโลกไซเบอร์ ผมจึงเข้าใจว่ามันคือ "การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์" (Cyber Knowledge Management-CKM) นั่นเอง ดังนั้นกระบวนการก็น่าจะเป็นดังนี้
Tacit Knowledge ---> Explicit Knowledge ----> Cyber Knowledge
ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าพิมพ์หนังสือฉบับหนึ่ง จำนวน 1,000 เล่ม แล้วแจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่างๆ ความรู้ในหนังสือฉบับนั้นก็คงมีอยู่ 1,000 แห่งเท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถจัดการความรู้ในหนังสือเล่มนั้นให้อยู่ในรูปแบบของ Cyber Knowledge เช่น ทำเป็น E-book หรือ จัดทำเป็นรูปแบบ PDF, Word แล้วดำเนินการเผยแพร่ไปในเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์แล้ว ความรู้ในหนังสือฉบับนั้นก็จะสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้คนได้อย่างมหาศาล
ปัจจุบัน การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ หรือการพยายามที่จะสร้างความรู้ในรูปของ Cyber Knowledge ของคนไทย ในความคิดเห็นของผม คิดว่ามีจำนวนน้อยมาก เท่าที่สังเกตเป็นการส่วนตัวพบว่าอาจจะมาจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้
- คนไทยชอบถ่ายทอดความรู้แบบเล่าต่อๆ กันมา ไม่ค่อยชอบเขียน ไม่ค่อยชอบบันทึก
- คนไทยไม่กล้าเขียน กลัวจะอายในสำนวน ถ้อยคำ และชอบคิดว่า "ตัวเองไม่มีภูมิปัญญาพอที่จะเขียน"
- คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบันทึกต่างๆ ในโลกของไซเบอร์ และยังกลัวที่จะเรียนรู้มันอีกด้วย
- ฯลฯ
เครื่องมือในโลกไซเบอร์ทุกวันนี้ มันทันสมัยมากและมันติดตัวอยู่กับคนตลอดเวลา อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถทำได้สารพัดเรื่อง เช่น รับ-ส่งอีเมล์ ข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายคลิบวีดีโอ เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) จัดการสื่อต่างๆ (Social Media) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากเรามองในสังคมส่วนใหญ่ของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่บรรดา เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และวัยรุ่น แล้ว ลองสังเกตว่าข้อมูลที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ ส่วนใหญ่ เด็กเหล่านั้นนำความรู้มาใช้ หรือ นำความไร้สาระมาใช้ และ ใครจะตอบได้ว่า ความรู้ที่ปลิวว่อนอยู่ในโลกไซเบอร์นั้น มีความรู้หรือความไร้สาระมากกว่ากัน ดังนั้น การจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะสร้างความรู้ให้มากกว่าความไร้สาระ
"ทำอย่างไรจะให้เด็กและเยาวชนของเรา รู้จักไช้ FaceBook , Hi5, Twitter, MSN อย่างมีสาระมากกว่าความไร้สาระ" นี่ก็คือส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะมีการจัดการความรู้ในโลกไซเบอร์ (Cyber Knowledge Management-CKM) แต่จะทำอย่างไรนั้น...ก็คงต้องคิดกันต่อไปละครับ...
จุฑาคเชน
19 ต.ค.2553
ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 378 ประจำเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 หน้า 3