วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ขอตอบคำถาม 4 ข้อด้วยคน แค่ 3 คำ : Let it be

ตอนนี้ ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดต่างๆ เชิญชวนประชาชนตอบคำถาม 4 ข้อ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ในตอนเริ่มแรกผมไม่ค่อยกล้าตอบเพราะเป็นแค่กระแสข่าว แต่ตอนนี้มีการเชิญชวนอย่างเป็นทางการ ผมจึงขอตอบด้วยคน ซึ่งคำตอบของผมถือเป็นทัศนะส่วนตัว คิดว่าคงไม่น่ามีผลกระทบต่อหน้าที่การงานใดๆ 


ผมเข้าไปดูแบบฟอร์มการตอบคำถามที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ โพสต์ไว้  รู้สึกไม่กล้าตอบเลย โดยเฉพาะคำตอบ ข้อ 1 ให้เลือกแค่ ได้ หรือ ไม่ได้ ส่วนข้อ 3 ให้เลือกว่า ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง หลายคนอาจเห็นว่าเรื่องแค่นี้ไม่สลักสำคัญใดๆ แต่ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าคำตอบเหล่านี้ หากมีการสรุปผลเป็นเชิงสถิติออกมาแล้วล่อแหลมต่อการชี้นำสังคมได้  เช่น   
  • ข้อ 1 ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ได้ ร้อยละ 80
  • ข้อ 3 ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 70
หากคำตอบเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อสังคมทั้งทางด้านบวกและลบ ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ที่สูญเสียประโยชน์จากข้อคำถามนั้นๆ ผมจึงคิดว่าการตอบคำถามในแบบฟอร์มควรเป็นปลายเปิดทั้งหมด ให้ประชาชนเขียนพรรณาได้เอง เช่น ได้หรือไม่ได้ เพราะสาเหตุอะไร เป็นต้น อย่างนี้น่าจะมีความเหมาะสมกว่า ซึ่งรัฐบาลอาจจะได้แนวคิดหรือข้อสังเกตของประชาชนเพื่อไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย
 


ขอตอบด้วยคน
คำถามทั้ง 4 ข้อนั้น  หากวิเคราะห์ "ผู้ที่คิดคำถาม" ในภาพรวมแล้วเห็นว่า ผู้คิดคำถามมีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี มองโลกในแง่ลบและเชื่อว่าประเทศไทยจะมีปัญหาในอนาคต ไม่มีใครดีพอที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้   

แต่หากมองในทางที่ดี คำถามเหล่านี้ "ก็สามารถช่วยสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ให้หันมาเลือกตั้งคนที่ดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง" ได้เช่นกัน

ผมขอตอบคำถามทั้ง 4 ข้อ สั้นๆ เพียง 2 บรรทัด ว่า 

ทุกอย่างมันมีทางของมันเอง อย่าไปพะวงมาก ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีของมัน หรือ 3 คำสั้นๆ คือ "Let it be"    

ประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ผ่านมาล้วนมีการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้ง ก็เพราะมันเป็นไปตามวิถีของมัน  เมื่อถึงเวลานั้น มันจะมีทางออกของมันเอง 
  • ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลจะไม่มีธรรมาภิบาล 
  • ไม่ต้องกลัวว่าประชาชนจะเลือกตั้งนักการเมืองเลวๆ เข้ามาอีก  
  • ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลใหม่ จะไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์หรือการปฏิรูป  เขาย่อมมีวิถีในการบริหารจัดการประเทศของเขาเอง
และเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลมีอยู่ ซึ่งท่านสร้างเอาไว้เอง ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ท่านกล่าวว่า "เป็นฉบับปราบโกง" ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ดังนั้น ท่านจึงไม่ต้องกลัวในสิ่งที่ท่านได้ตั้งคำถามมาหรอกครับ  น่าจะสบายใจได้ 




ท่านใด อยากตอบคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี  ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดของท่านได้ สำหรับชาวราชบุรี ไปได้ตามภาพด้านล่างนี้ครับ 




อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีของมัน 
Let it be and Let it go.

**********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 มิ.ย.2560

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จิตอาสา..รับบินโดรนเพื่อประโยชน์ทางสังคม

เมื่อปลายเดือน พ.ค.2560 ผมได้ตัดสินใจซื้อโดรน รุ่น Phantom 3 standard ซึ่งผลิตโดย DJI ราคาเกือบ 20,000 บาท (ตามเงินที่พอจะเก็บออมไว้ได้) หลังจากนั้นก็ซื้อแบตเตอรี่และอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เพิ่มเติมอีก ตอนนี้รวมแล้วเกือบ 30,000 บาท เหตุผลที่ผมซื้อก็คือ ผมอยากบิน และอยากถ่ายภาพทางอากาศ 

ความฝันที่ผมอยากบิน มีมาแต่ตั้งเด็กๆ พอจบโรงเรียนเตรียมทหาร ผมตั้งใจอยากไปเป็นนักบินทหารอากาศ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปเพราะห่วงบ้านที่ราชบุรีจึงตัดสินใจเป็นทหารบก  พอผมจบโรงเรียนนายร้อย ผมก็สมัครเป็นนักบินทหารบกอีกครั้ง แต่ผู้บังคับบัญชาสมัยนั้นไม่ให้ไป เนื่องจากขาดคนทำงาน อดครับ...

ต่อมาประมาณปี 2539 ผมสานต่อความฝัน ผมฝึกเล่นร่มบิน (Paramotor) ซึ่งเท้าลอยพ้นพื้น ชีวิตแขวนอยู่กับร่มและเครื่องยนต์ เล่นอยู่สักพักต้องเลิกเพราะตอนนั้น ผมมีลูกแล้ว 2 คน หากผมเป็นอะไรขึ้นมา พวกเขาคงลำบาก ต่อจากนั้น ผมก็หันมาเล่นเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุทั้งเครื่องบินปีกและเฮลิคอปเตอร์  จนพังเสียหายไปหลายลำอีกเช่นกัน



ซาก ฮ.บังคับ ลำหนึ่งในเครื่องบินบังคับอีกหลายลำ
ที่ผมเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์

โดรน เติมฝันให้เป็นจริง
ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมด้านการออกแบบอากาศยานที่ทันสมัย ทำให้ "เจ้าโดรน" สามารถเติมความฝันของผมให้สมบูรณ์ ด้วยวิธีการบังคับที่ง่ายและถ่ายภาพได้สวยงาม โดรนจึงเป็นฝันของผู้รักการบินหลายคน หลายคนซื้อมาเพื่อบินเป็นงานอดิเรก  หลายคนก็ซื้อมาบินเพื่อประกอบอาชีพรับจ้างถ่ายภาพมุมสูง 

การใช้โดรนในประเทศไทยเชิงธุรกิจ
การถ่ายภาพมุมสูงเชิงธุรกิจเกิดขึ้นจากสื่อมวลชน  โดยสื่อมวลชนเจ้าแรกๆ จะใช้เฮลิคอปเตอร์บินเพื่อถ่ายภาพประกอบข่าว โดยเอานักข่าวและช่างภาพขึ้นไปนั่ง บน ฮ. เช่น Sky report ของช่อง 3 และเหยี่ยวข่าว 7 สี  ส่วนใหญ่ใช้รายงานข่าวเกี่ยวกับการเกิดอุทกภัย การเกิดไฟไหม้ป่า การบุกรุกป่าสงวน เป็นต้น แต่วิธีนี้สิ้นเปลืองทรัพยากรจำนวนมาก ต่อมาจึงมีสื่อมวลชนที่มีงบประมาณน้อย เริ่มนำโดรนเข้ามาใช้ ซึ่งประหยัดกว่า แต่สามารถถ่ายภาพมุมสูงที่มีคุณภาพพอๆ กัน ตั้งแต่นั้นมาเจ้าโดรนก็มีบทบาทสำคัญแพร่กระจายเข้าไปสู่การใช้ประโยชน์ในเกือบทุกวงการ 

ต่อมาการถ่ายภาพมุมสูงด้วยโดรน  มาเป็นที่นิยมมากๆ อีกครั้งเมื่อปลายปี 2559 โดยใช้ในการถ่ายภาพมุมสูงการแปลอักษรของพสกนิกรชาวไทยเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณฯ ของรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเสด็จสวรรคต 

ปัจจุบัน โดรนใช้ถ่ายภาพมุมสูงในงานกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ การถ่ายทำ Landscape เพื่อโฆษณา การบันทึกภาพมุมสูงในงานพิธีต่างๆ งานเปิดตัวสินค้า งานคอนเสิร์ต งานรับจ้างถ่ายภาพ รวมไปถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ 

อาชีพรับจ้างถ่ายภาพด้วยโดรน ปัจจุบันถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้อย่างงาม แต่ก็ไม่รู้จะอยู่กันได้นานหรือไม่ เพราะโดรนตอนนี้ มีราคาถูกลง ผู้คนเริ่มแห่ซื้อโดรนมารับจ้างทำมาหากินกันมากขึ้น เกิดอาการธุรกิจแบบเดิมๆ คือ แย่งลูกค้าและตัดราคากันเอง     

โดรน..เพื่อประโยชน์แก่สังคม
เมื่อปี พ.ศ.2555-2559 ผมทำงานเกี่ยวกับการค้นหาทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในสมัยก่อน ซึ่งมันยังคงฝังอยู่ในแผ่นดินไทยตามแนวชายแดนทั่วประเทศกว่า 17 จังหวัด  ตอนนั้นผมอยากได้โดรนมาก ซึ่งมันจะทำให้พวกเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดของทางราชการหลายอย่าง ลองอ่านรายละเอียดดูได้ใน "อยากได้จริงๆ ครับ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี"   ครับ


โดรน สามารถช่วยให้การปฏิบัติภารกิจในงานด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ
  1. การบินสำรวจสถานการณ์อุทกภัย ไฟไหม้ป่า หรือภัยพิบัติต่างๆ 
  2. การบินช่วยค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีบริเวณกว้าง
  3. การบินสำรวจแหล่งทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ป่า พืชพรรณไม้ แนวปะการัง ฯลฯ 
  4. การบินสำรวจการทำประมงที่ผิดกฏหมาย    
  5. การบินสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ หรือที่ราชพัสดุ
  6. การบินช่วยติดตามและค้นหาเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ผู้ร้ายหลบหนีไปในพื้นที่ป่าหรือทุ่งนาที่มีบริเวณกว้าง
  7. ช่วยในงานวิจัยต่างๆ ที่จำเป็นต้องถ่ายภาพมุมสูง หรือสถานที่สูงๆ
  8. ช่วยถ่ายภาพทางอากาศเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่ให้แก่องค์กร 
  9. ฯลฯ
จิตอาสา รับบินโดรน
เมื่อก่อนผมต้องการโดรน แต่ผมก็ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาซื้อใช้ หรือจ้างเขามาบินฯ 
แต่วันนี้ ผมมีโดรนแล้ว ผมจึงอยากที่จะแบ่งปัน ผมยินดีอาสาที่บินโดรนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แก่หน่วยงาน องค์กร สถาบัน มูลนิธิ กลุ่ม หรือชมรมใดๆ ก็ตามที่มีความจำเป็นต้องใช้โดรนช่วยเหลือในงานเป็นครั้งคราว แต่ขาดงบประมาณในการจ้าง โดยขอให้เป็นภารกิจเพื่อสังคมและสาธารณะ ขอได้โปรดติดต่อมายังผมโดยตรง หรือส่งหนังสือมาที่ 

สถาบันราชบุรีศึกษา 
20/24 ถ.สมบูรณ์กุล ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000 

แต่ต้องเป็นภารกิจเพื่อสังคมส่วนรวมนะครับ 
ค่าใช้จ่ายที่อาจมีก็คือค่าน้ำมันรถที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ปฏิบัติงานนั้นๆ ตามที่เกิดขึ้นจริง 

แต่หากท่านใดต้องการบินโดรนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว โปรดติดต่อผู้ที่มีอาชีพรับบินโดรนโดยตรง ซึ่งทางสถาบันฯ ขอสงวนสิทธิในการพิจารณาภารกิจที่ขอมาว่าเป็นไปเพื่อสังคมหรือไม่ โดยการพิจารณาของสถาบันฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด


******************************   
ผลงานผมครับ : มือใหม่หัดบิน
วัดมหาธาตุวรวิหาร@ราชบุรี มุมสูง