วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

แนะนำวิธีอ่านหนังสือเร็ว

เนื่องจากในปัจจุบัน มีข้อมูลข่าวสารอยู่มากมาย ทั้งในโลกแห่งความจริง และในโลกออนไลน์ ผู้เขียนเพียรพยายามที่จะหาวิธีอ่านข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ ให้เร็วขึ้นและมีเงื่อนไขว่าต้องเข้าใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสือ เอกสาร วารสาร และแม้แต่ อี-บุ๊ค ในอินเตอร์เน็ต มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้คิดค้นเทคนิคและวิธีการอ่านหนังสือให้เร็ว ไว้จำนวนมากมายหลายวิธีการ
s463368@hotmail.com แล้วผู้เขียนจะพยายามค้นหาคำตอบจากหนังสือเล่มดังกล่าวดู และตอบให้ท่านทราบต่อไป

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2550 ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมทางวิชาการ เรื่อง ICT เพื่อการศึกษาไทย ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เขียนได้ซื้อหนังสือที่สำนักพิมพ์บิสคิตมาวางจำหน่ายอยู่หน้าห้องประชุม ชื่อเรื่องว่า “Speed Reading in a week” (อ่านไวใน 7 วัน) ซึ่งเขียนโดย Tina Konstant แปลโดย โอฬาร สุนทรภูษิต จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2550 นี้เอง หลังจากผู้เขียนได้อ่านแล้ว คิดว่าน่าจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทราบกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก ได้บ้างไม่มากก็น้อย
Konstant เธอได้แนะนำวิธีการอ่านหนังสือให้ไว ว่ามีเทคนิคการอ่านหลักๆ อยู่ 5 ขั้นตอน กล่าวคือ
1. Prepare (การเตรียมตัวอ่าน)
2. Preview (การอ่านแบบผ่าน)
3. Passive Reading (การอ่านแบบข้าม)
4. Active Reading (การอ่านแบบสรุป)
5. Selective Reading (การเลือกอ่าน)


Prepare (การเตรียมตัวอ่าน) ขั้นตอนแรกนี้ ผู้อ่านต้องพยายามถามคำถามที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ทำไมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้? อะไรบ้างที่ผู้อ่านรู้อยู่แล้วในหนังสือเล่มนี้? และอะไรบ้างที่ผู้อ่านต้องการจะรู้จากหนังสือเล่มนี้? เมื่อได้คำตอบแล้ว ผู้อ่านต้องตั้งปณิธานให้แนวแน่ ไม่อยากนั้นอาจจะหลงทาง ต่อจากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้เลย

Preview (การอ่านแบบผ่าน) ขั้นตอนที่ 2 นี้ก็เพื่อทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างของหนังสือที่อ่าน ซึ่งอาจใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้นเอง โดยหลักการอ่านแบบผ่านที่สำคัญ คือ
-สิ่งที่ต้องอ่าน : ปกหน้า ปกหลัง ปกด้านใน สารบัญ ดัชนี และบรรณานุกรม
-สังเกต : โครงสร้างของหนังสือ เช่น ชื่อบท หัวข้อหลัก หัวข้อรอง รูปภาพ กราฟ การ์ตูน และรูปถ่าย
-กำจัด : เนื้อหาในหนังสือที่ผู้อ่านมั่นใจ ว่าไม่ต้องอ่าน
-เน้น : เนื้อในหนังสือที่ผู้อ่านต้องการ
-ถามย้ำ : ถามตัวเองอีกครั้งว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้อ่านต้องการจากหนังสือเล่มนี้

Passive Reading (การอ่านแบบข้าม) การอ่านแบบนี้ Konstant บอกว่าหนังสือหนา 300 หน้า จะใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที เท่านั้นเอง โดยต้องพยายามสแกนแต่ละหน้าอย่างรวดเร็ว หาคำศัพท์ที่โดดเด่น สังเกตข้อความที่หนังสือ โดยเฉพาะข้อความที่เน้นตัวหนา ตัวเอียง พยายามทำความเข้าใจกับคำศัพท์ที่ใช้ในหนังสือ หากผู้อ่านยังไม่คุ้นเคย

Active Reading (การอ่านแบบสรุป) หมายถึง การอ่านย่อหน้าแรกของแต่ละบท อ่านประโยคแรกของทุกๆ ย่อหน้า (และประโยคท้ายสุด ถ้าย่อหน้านั้นมีความยาวมาก) ขณะที่อ่านให้ใช้ปากกาเน้นข้อความ ขีดเส้นใต้ วงกลมใจความสำคัญ หรือจดสรุปความเข้าใจ หรือเขียนเป็นแผนที่ความคิด (Mind map) ก็ได้

Selective Reading (การเลือกอ่าน) อ่านเฉพาะในสิ่งที่ผู้อ่านต้องการอ่าน อ่านเพื่อหาคำตอบที่ผู้อ่านค้นหา และหัวข้อต่างๆ ที่ผู้อ่านสนใจ (ตามปณิธานที่ผู้อ่านตั้งเอาไว้)

เทคนิคการอ่าน 5 ขั้นตอน นี้ หากจะทำให้การอ่านเร็วเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีเทคนิคต่างๆ ที่ผู้อ่านต้องฝึกเพื่อประกอบเพิ่มเติมด้วย เช่น เทคนิคการอ่านเร็ว เทคนิคการจำสิ่งที่อ่าน เทคนิคการใช้สายตาเพิ่มประสิทธิผลในการอ่าน เทคนิคการกำจัดสิ่งรบกวนในการอ่าน เทคนิคการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ

Konstant ได้คิดเทคนิคประกอบดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้โดยไม่ยากเย็น แต่เราคิดไม่ถึง เช่น การใช้เครื่องมือช่วยในการอ่าน การอ่านแบบกวาด (Skimming) การอ่านแบบค้นหา (Scanning) เป็นต้น

การอ่านแบบ Skimming กับการอ่านแบบ Scanning หลายคนอาจสงสัยว่าแตกต่างกันอย่างไร อธิบายง่ายนิดเดียว อ่านแบบ Scanning คือ เมื่อเจอข้อมูลที่ต้องการก็เลิกอ่าน อ่านแบบ Skimming คือ เมื่อเจอข้อมูลแล้วจะยังไม่หยุดอ่าน จนกว่าผู้อ่านอยากจะหยุดอ่านเอง

ที่เขียนมานี้เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วน ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบและเข้าใจเทคนิคการอ่านเร็วในเบื้องต้น แต่หากผู้อ่านท่านใดต้องการทราบในรายละเอียดเพื่อฝึกฝนตนเองก็คงต้องหาซื้อหนังสืออ่านเอง หรือถ้าไม่อยากซื้อหนังสือ ก็ลองอีเมล์ในสิ่งที่ท่านต้องการทราบเพิ่มเติมมาได้ที่ผู้เขียน

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

อาชีพนักการเมืองกับอาชีพรับราชการ

ไฟที่เคยแรง ก็เริ่มมอดและมอดสนิทในที่สุด นักการเมืองที่เคยพึ่งพาและพินอบพิเทาก็หันไปหาข้าราชการคนใหม่ที่มีประโยชน์กว่า

ข้าพเจ้าได้อ่านข่าวและฟังข่าวที่เกี่ยวข้องกับ การเมืองและบรรดาผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส. ที่จะมีการเลือกตั้งที่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้ แล้วรู้สึกเบื่อหน่ายมากจนกระทั่งข้าพเจ้าไม่อยากดู ไม่อยากอ่าน และไม่อยากได้ยิน แต่ก็จนใจ เพราะอยู่ในชีวิตข้าราชการ เขาสั่งให้ต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารของบ้านเมืองอยู่เสม

พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ เช่น การแบ่งก๊ก แบ่งกลุ่ม แบ่งพวก การตั้งพรรค การย้ายพรรค การวางแผนแข่งขันเพื่อรับเลือกตั้ง หวังจะได้ ส.ส.จำนวนมาก เพื่อเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นก็จะได้แบ่งเค้กแห่งอำนาจและทรัพย์สิน แย่งกันเป็น รมต.กระทรวง ทบวงกรมต่างๆ แบ่งสรรกันไป พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมของคน ที่ประกอบอาชีพ “นักการเมือง” ในปัจจุบันทั้งสิ้น ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นข้าราชการ ข้าพเจ้าลองพยายามเปรียบเทียบวิถีทางของอาชีพรับราชการกับวิถีทางของอาชีพนักการเมืองดู แล้วรู้สึกว่า อาชีพนักการเมือง จะเอาเปรียบกันมากเกินไป นักการเมืองไม่มีอะไรเก่งกว่าเราเลย แต่ทำไม วันหนึ่งเขาจึงมีอำนาจเหนือกว่าและสั่งการเราได้ คิดไปคิดมา.. เหตุก็เพราะเขาเลือกที่จะประกอบอาชีพนักการเมือง นั่นเอง ผมลองพยายามสร้างภาพปิรามิดเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและนักการเมือง ดูดังที่แสดง


จากภาพดังกล่าว พออธิบายได้ดังนี้

อาชีพราชการ : ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้เก่ง เพื่อสอบแข่งขันบรรจุเข้ารับราชการหลังจากนั้นพยายามที่จะไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารในแต่ละระดับ ช่วงต้นๆ พวกอาชีพนักการเมืองก็ยังต้องพึ่งพาและพินอบพิเทา แต่เมื่อถึงคราข้าราชการคนนั้นต้องหลุดจากตำแหน่งต่างๆ ไปแล้ว ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ไฟที่เคยแรง ก็เริ่มมอดและมอดสนิทในที่สุด นักการเมืองที่เคยพึ่งพาและพินอบพิเทาก็หันไปหาข้าราชการคนใหม่ที่มีประโยชน์กว่า แต่ในทางกลับกัน พวกอาชีพนักการเมืองกลับยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด พวกข้าราชการที่ต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงต้องหันกลับมาพึ่งพาและอาศัยนักการเมืองแทน แต่สุดท้ายนักการเมืองก็จะมาเป็นเจ้านายของข้าราชการในที่สุด

อาชีพนักการเมือง : เรียนไม่ต้องเก่งนักพอให้ผ่าน จบปริญญาต่างประเทศมายิ่งดี หลังจากจบแล้วมาทำงานในกงสี โตขึ้นหน่อยก็เริ่มรับมรดกทางธุรกิจ ช่วงนี้ยังต้องพึ่งพาและพินอบพิเทาพวกข้าราชการอยู่ พอมีประสบการณ์ มีชื่อเสียงและมีเงินทุนมากขึ้น ก็เริ่มรับมรดกทางการเมือง รอเวลาลงเลือกตั้ง เป็นทายาททางการเมืองสืบต่อ ใช้กลยุทธ์เลือกตั้งที่ได้รับการสั่งสอนต่อต่อกันมา จนได้เป็น ส.ส. และหากได้เป็นหัวหน้า ส.ส. ก็จะได้อำนาจเป็นเจ้านายเหนือพวกข้าราชการ และที่สำคัญคือได้รับรางวัลชิ้นใหญ่ คือ สามารถที่จะถอนทุนต่างๆ กลับคืนมา ทำกำไรได้สูงสุด

สุดท้าย ข้าพเจ้าต้องขออภัย นักการเมืองและข้าราชการที่มีอุดมการณ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะบทความข้าพเจ้าเขียนนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ใครเสียหาย แต่เป็นประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมา ขอให้ท่านผู้อ่านลองศึกษาพฤติกรรมของข้าราชการและนักการเมืองในปัจจุบันดูเอาเองว่า เป็นดั่งที่ข้าพเจ้าได้เขียนหรือไม่

ข้อคิดส่งท้าย
หากข้าราชการท่านใด ต้องการจะใหญ่จะโต ต้องพยากรณ์และทำนายให้แม่นว่า นักการเมืองคนใดจะมีอำนาจ จงเกาะติดนักการเมืองคนนั้นไว้ อย่าปล่อย! ส่วนนักการเมืองเอง ก็ต้องรู้ทิศทางลมเช่นกันว่า ณ วันนี้ ควรจะเกาะนักการเมืองคนใด กลุ่มใด แต่อย่าเกาะแน่น ต้องลื่นไหลไว้เสมอ

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Banana Teacher


คำกล่าวของอาจารย์ ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 4
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เวลาประมาณ 09.30 น. ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “การวิจัยในชั้นเรียน” ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสำนักเลขาธิการคุรุสภา ศ.ดร.เสริมศักดิ์ วิสาลาภรณ์ ราชบัณฑิตและประธานกรรมการคุรุสภา (อาจารย์ผมเอง) เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมี ดร.จักรพรรดิ วะทา เลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้กล่าวรายงาน
ศ.ดร.เสริมศักดิ์ฯ ได้ให้ข้อคิดแก่ ผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา ที่มาจากทั่วประเทศกว่า 1,500 คน ในพิธีเปิดการประชุม พอสรุป โดยสังเขปได้ ดังนี้

ท่านบอกว่าในต่างประเทศมีคำว่า “Banana Professor” แล้วท่านก็โยงมาถึง “Banana Teacher” ซึ่งพอจะอธิบายได้ความหมายได้คล้ายกัน คือ ต้นกล้วย (Banana) เวลาออกลูกออกผลแล้ว ต้นกล้วยก็ตาย โดยนัยยะของท่านแล้ว ท่านหมายถึง ไม่อยากให้คุณครูทุกคนเป็นอย่างต้นกล้วย เมื่อผลิตผลงานเพียงแค่ชิ้นสองชิ้นแล้วก็ตายไปจากความเป็นครู เช่น ผลงานวิจัยเพื่อเลื่อนฐานะ พอได้เลื่อนแล้ว แล้วก็หยุดนิ่ง ไม่ทำอะไรต่อเลย ครูต้องมั่นพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้อยู่เสมอ.....
ท่านกล่าวต่อว่า ครูในปัจจุบันมักจะมุ่งพัฒนาผู้อื่น จนลืมพัฒนาตัวเอง ครูควรตระหนักและต้องพัฒนาตัวเองบ้าง ก็เพราะว่า เด็กที่เข้ามาเรียนกับเราจะมีกองทุนติดตัวมาด้วยทุกคนแต่ไม่เท่ากัน กองทุนที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่หมายถึง กองทุนความรู้ ซึ่งแต่ละคนจะมีกองทุนความรู้ที่แตกต่างกันไป เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ วิธีการอบรมสอนสั่งของพ่อแม่ สภาวะแวดล้อมทางครอบครัว สังคมที่แตกต่างกัน ฯลฯ ดังนั้น ครูจึงต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตัวเองเพื่อหาวิธีการสั่งสอนลูกศิษย์ที่มีกองทุนแตกต่างกันเหล่านี้ อยู่เสมอ.....
ขอให้คุณครูเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คือ อย่าคิดแบบแยกส่วน ขอให้คิดแบบเรื่องเดียวกัน เช่น เด็กในห้องเรียนของเรา คนดี คือ ดีมาก/เลวน้อย คนไม่ดี คือ เลวมาก/ดีน้อย แล้วถามต่อว่า คนดีนั้น คือ ดีเรื่องอะไร? ไม่ว่าครูจะคิดอย่างไร ดีมากเลวน้อยหรือดีน้อยเลวมาก นั้น ล้วนแล้วขึ้นอยู่กับวิธีคิดและมุมมองของครู ว่าจะเอาอะไรมาวัดว่า “เป็นคนดี”

ในยุคสังคมที่ค่อนข้างสับสนเสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ ฝากให้คุณครูสอนเด็ก ใน 3 เรื่อง คือ
1. สอนให้เด็กรู้จักตนเอง คนที่ไม่ค่อยรู้จักตนเอง มักเป็นคนที่ชอบสร้างปัญหาเสมอ
2. สอนให้เด็กรู้จักพอเสียบ้าง รู้จักว่าจะอุปโภคและบริโภคขนาดไหนที่พอดี อะไรคือความอยาก อะไรคือความจำเป็น
3. สอนให้เด็กรู้จักบุญคุณ แต่บุญคุณนี้ให้คิดในทางกลับกัน เช่น เมื่อเราให้เขา อย่าคิดว่าเรามีบุญคุณต่อเขา และเขาต้องตอบแทนบุญคุณให้เรา ต้องคิดใหม่ว่า หากไม่มีเขา เราจะให้ใคร นับเป็นบุญคุณอย่างยิ่งที่มีเขา

เรื่องสุดท้ายขอให้ครูทุกคน มองโลกในแง่ดีไว้เสมอแล้วเราจะดีเอง เช่น ทำไมมีน้ำให้ผมดื่มแค่ครึ่งแก้ว แล้วเกิดอารมณ์เสีย โมโห แต่หากเราคิดใหม่ว่า “ยังมีน้ำเหลืออยู่ให้ผมดื่มอีกตั้งครึ่งแก้ว นับเป็นโชคดีของผมเสียเหลือเกิน”