วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอนุรักษ์ควรควบคู่ไปกับการพัฒนา

การอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนชาติตนเอง  นับว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ก็ไม่ควร เน้นแต่การอนุรักษ์ จนไม่พยายามพัฒนาปรับปรุงหรือสร้างเสริมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม  งบประมาณโครงการต่างๆ ของส่วนราชการ ส่วนใหญ่จะทุ่มเทลงไปด้านการอนุรักษ์ฯ  แม้แต่ในแวดวงการศึกษาเองก็ตาม ก็มักจะเน้นให้เด็กนักเรียนต้องอนุรักษ์เอาไว้ จนลืมที่จะเน้นให้มีการปรับปรุงและพัฒนาควบคู่กันไป ให้ทันยุคทันสมัย จะได้ไม่สูญหายไปจากสังคมไทย เหมือนกับประเพณีหลายอย่าง ก็ได้สูญหายไปแล้ว  

ลองสังเกตุดูในปัจจุบัน ใครๆ ก็อยากแต่จะสร้าง ตลาดเก่า ตลาดน้ำ ตลาดโบราณ กาแฟโบราณ วิถีชีวิตโบราณ การแสดงโบราณ การละเล่นโบราณ รื้อฟื้นประเพณีเก่าๆ ของคนโบราณ มาสร้างจัดฉาก แล้วขายให้นักท่องเที่ยวได้ชม  แล้วบอกว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฯ  หรือบางทีก็เติมคำว่า ฟื้นฟู ลงไปด้วย บางแห่งที่จะสร้างนั้น ไม่มีอะไรโบราณเลย สร้างขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น 

คนไทยไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ มาขายแล้วหรือ  จึงต้องขุดเอาของเก่า ของโบราณ มาขาย ในมุมมองส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก  เพียงแต่การนำของเก่า ของโบราณมาขาย ก็น่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงของเก่า ของโบราณเหล่านั้น ให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย

เราอย่านึกว่าของเก่า ของโบราณจะไม่มีวันสูญหายจากเราไป ลองดูการต่อสู่้วัวกระทิงในสเปนเป็นตัวอย่าง  คนสเปนออกมาช่วยกันรณรงค์ให้รัฐออกกฏหมายเลิกการต่อสู้นี้เสีย ทั้งๆที่เป็นประเพณีที่ต่อเนื่องสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และยังเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย ทำไม ? ชาวสเปนจึงไม่อนุรักษ์ไว้

หากเราพยายามพาคนของเราไปในอดีตเรื่อยๆ เขาก็จะไม่คิดถึงการสร้างในอนาคต

ทำไม ?
ทำไม? เราต้องขี่มอเตอร์ไซต์ที่ทำจากประเทศญี่ปุ่น
ทำไม? เราต้องขับรถยนต์ยี่ห้อที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
ทำไม? เราต้องซื้อทีวี โทรศัพท์มือถือของเกาหลี
ทำไม? เราผลิตคอมพิวเตอร์เองไม่ได้
ทำไม? เราต้องไปซื้อของที่เทสโก้โลตัส แทนที่จะซื้อที่ร้านค้าใกล้บ้าน
ทำไม? โรงแรม รีสอร์ท ในประเทศไทยที่เรานอน จึงมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
ตอบ :  เหตุผลอย่างเดียวคือ เขามีการพัฒนาปรับปรุงนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ คนเหล่านี้ "คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้ และขายเป็น" 

น่าสงสาร !
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุต้องขึ้นเวทีมาแสดงการละเล่นพื้นบ้าน โดยไม่มีคนดู
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุต้องแต่งกายตามประเพณีและเผ่าพันธ์ของตน ออกมาร่วมขบวนแห่เดินไปตามท้องถนนในหน้าเทศกาล แต่ลูกหลานกลับไม่สนใจที่จะสวมใส่มัน
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุที่ต้องออกมาสาธิตการทอผ้าให้ดู แต่คนกลับแห่ไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปยี่ห้อดังมาใส่
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุมาแสดงการทำอาหาร ทำขนมโบราณให้ดู แต่น้องหนูกลับไปซื้อไก่ KFC มากินแทน
น่าสงสาร! ที่วัดมีแต่คนแก่ๆ ฟังเทศน์ ทำบุญ แต่เด็กๆ กลับไปอยู่ร้านเกมส์และโรงหนัง
น่าสงสาร! ที่ลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง ไม่มีคนจะดู
น่าสงสาร! ที่รำวงย้อนยุคมีแต่คนแก่ๆ มาเต้นกัน
น่าสงสาร! ที่เด็กๆ ถูกบังคับให้แสดงการรำพื้นบ้าน โดยผู้ใหญ่บอกว่าเป็นการสืบสานประเพณี แต่พอแสดงจบ เด็กๆ ก็รีบไปเปิด MV จาก IPOD
น่าสงสาร! ที่เราพยายามรณรงค์ให้ทุกคนแต่งกายตามประเพณีไทย  แต่ไฉนวัยรุ่นจึงเลือกที่จะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น กันหมด
ตอบ : เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาแต่จะอนุรักษ์อย่างเดียว ไม่พยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันต่อโลกและยุคสมัย   

ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมา "เรามักจะเน้นการอนุรักษ์ แต่ไม่เน้นการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย" ตัวอย่างเช่น ลิเก ละครชาตรี หนังตะลุง ตอนนี้แทบจะสูญพันธ์ไปจากประเทศไทยแล้ว  เพราะแสดงแล้วไม่มีคนดู   

คำถามก็คือ แล้วทำอย่างไร ถึงจะให้คนหันมาชอบดูลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง
คำตอบ ก็คือ เราต้องพัฒนาการแสดงของลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย 
  
ดังนั้น การสร้างให้คนไทยรู้จัก "คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้ และขายเป็น"  เป็นเรื่องที่สำคัญ  เน้นว่าต้องมีคำว่า "ขายเป็น" ด้วยนะ ลองดูตัวอย่างสินค้า OTOP คนไทยเก่งมาก คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้  แต่ขายไม่เป็น

หากเราไม่ช่วยกันสร้างแล้ว คนไทยก็จะ "คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น พัฒนาไม่ได้ ซื้อเป็นอย่างเดียว"   

เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 31 ก.ค.2553
ที่มาของภาพ
ภาพบน :
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=384

ภาพล่าง : http://modernine.mcot.net/inside.php?modid=2174?modtype=3

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ครั้งแรกที่เข้าร่วมหล่อพระฯ


เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2553 มีญาติมาบอกว่า วันนี้มีพิธีเททองหล่อพระใหญ่ ชื่อ "พระพุทธศรีสุวรรณภูมิ"  ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี  ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เวลาประมาณ 15:09 น. ซึ่งผมไม่เคยร่วมพิธีหล่อพระเลย จึงตัดสินใจพาครอบครัวไปร่วมเป็นครั้งแรก

เมื่อไปถึงวัด มีผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธามาร่วมพิธีในครั้งนี้กันจำนวนมาก   ผมและครอบครัวทำบุญ 500 บาท แล้วเขียนข้อความอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ และบรรพบุรษที่ล่วงลับไปแล้ว ลงในทองแท่ง และเขียนชื่อ-สกุล  วันเกิดตนเอง ลงในแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม  จากนั้น นำไปใส่ในจานและธูปเทียนดอกไม้ ที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ พร้อมใส่เงินค่าครูจำนวน 108 บาทลงไปในจาน (จริงๆ แล้วจำนวนเงินให้เป็นไปตามวันเกิดแต่ผมจำไม่ได้ และพระที่เป็นพิธีกรก็แนะว่า หากโยมจำไม่ได้ก็ใสไป 108 บาทเลย) ต่อจากนั้นถือจานเข้าไปนั่งเก้าอี้ในเต็นท์ที่สร้างเป็นปะรำพิธี มีเชือกสายสิญจน์ ขึงเป็นตารางสี่เหลี่ยมบริเวณด้านบนเพดานเต็นท์  และมีเชือกสายสิญจน์โยงลงมาเป็นเส้นๆ ตามเก้าอี้นั่ง เชือกสายสิญจน์ นี้ผูกเชื่อมโยงมาจากองค์พระที่จะหล่อ ล้อมรอบบริเวณพิธีหล่อ  บริเวณพิธีสงฆ์  และแท่นบูชาพระเคราะห์ของพิธีพราหมณ์   และตลอดการกระทำพิธี  ให้ทุกคนเอาสายสิญจน์มาพันรอบศีรษะเอาไว้ ห้ามเอาออก  พิธีนี้เรียกว่า "พิธีสวดนพเคราะห์"  ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั้วโมง

ผมลองเข้าไปค้นหาจากอินเตอร์เน็ต ได้พบว่า พิธีนพเคราะห์นั้น เป็นพิธีเสริมดวงชะตาด้วยการบูชาเทวดาซึ่งเข้ามาเสวยอายุ เทวดาแต่ละวันย่อมให้คุณให้โทษต่างกันตามวาระแห่งกำลังที่เสวยอายุตามกำลังแห่งวัน เดือน ปี ที่พระเคราะห์เข้านั้นให้คุณกับเจ้าชะตา ก็จะมีความเจริญ มีลาภ มียศ มีสุข มีสรรเสริญ ปราศจากศัตรูและโรคภัยเบียดเบียน ถ้าพระเคราะห์ใดเข้ามาเสวยอายุแล้วให้โทษ ก็จะมีแต่ทุกข์ร้อน เสียทรัพย์สินเงินทองต่างๆ นานา  ดังนั้น โบราณจารย์ท่านจึงให้บูชา "พระเคราะห์" เพื่อบำบัดความชั่วร้ายและส่งเสริมเจ้าชะตาให้ดีขึ้น เสมือนผ่อนหนักให้เป็นเบา ท่านที่ดีอยู่แล้ว ก็ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ในสมัยโบราณนิยมทำกันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น โดยเริ่มกำเนิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ซึ่งพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางโหราศาสตร์และดาราศาสตร์อีกด้วย พระองค์ท่านนำพิธีระหว่างพุทธและพราหมณ์มาผสมผสานกัน หมายถึง ต้องมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และมีโหรอ่านโองการบวงสรวงเทพยดาประจำวันเกิด สลับกันไปซึ่งเป็นการยุ่งยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เนื่องด้วยต้องมีสถานที่ เครื่องสังเวย บัตรพลีให้ถูกต้องตามตำราด้วย

ในขั้นตอนพิธี จะต้องมีตัวแทนผู้ที่เข้าร่วมพิธี ที่เกิดในวันนั้นๆ ไปจุดเทียนและธูปบูชาเทวดาประจำในแต่ละวันด้วย เริ่มต้นจากวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัส พุธกลางคืน และศุกร์ ผมเองเผอิญได้เป็นตัวแทนผู้เข้าร่วมพิธีที่เกิดวันศุกร์ ไปจุดเทียนธูปสีฟ้า (แต่ละวันจะมีสีของเทียนและธูปตามสีของวันนั้นๆ) สุดท้ายเจ้าภาพ ก็คือเจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรรณคิรีจะเป็นผู้จุดเทียนธูปบูชาพระเกตุ เรื่องชื่อเทวดาและพระต่างๆ นั้นผมก็จำไม่ค่อยได้นัก ท่านผู้อ่านคงต้องไปศึกษาเอาเอง 

หลังจากจบพิธีสวดนพเคราะห์แล้วก็เป็นพิธีการหล่อพระ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารับทองแท่งและแผ่นทองคำสี่เหลี่ยมนำไปใส่ในเบ้าหลอมเพื่อเทองค์พระ  เงินค่าครูก็จะรวบรวมใส่บาตรเพื่อทำบุญให้วัดเป็นส่วนรวม สำหรับดอกไม้ธูปเทียนให้เรานำไปไหว้ที่เบ้าหล่อองค์พระเมื่อเสร็จพิธี ส่วนสายสิญจน์ที่พันรอบศีรษะในขณะทำพิธีนั้น ให้แต่ละคนนำติดตัวกลับบ้านไปเพื่อเป็นสิริมงคลได้

พิธีเททองหล่อพระนี้ เป็นพิธีที่ผมรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีพระสงฆ์ที่มีวิชาคาถาอาคมนั่งปรกในบริเวณพิธีทั้งสี่ทิศ บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงสวดมนต์ของพระ เสียงการบวงสรวงเทพยดาของพราหมณ์ในพิธี  โดยเฉพาะเสียงของฆ้อง สังข์ และแตร ยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้ชวนขนลุกและน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาการทำพิธีอยู่นั้น ผมได้คิดย้อนหลังไปถึงพิธีหล่อพระในสมัยโบราณ ว่าผู้ที่ช่วยกันหล่อพระสมัยนั้น คงมีจิตศรัทธาเลื่อมใสอย่างแนวแน่ในความเชื่อแห่งบุญกุศล และความเชื่อในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำให้นึกต่อไปอีกว่า พระพุทธรูปที่งดงามหลายองค์ ที่เราเห็นทุกวันนี้  ไม่ว่าจะหล่อในสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือช่วงต้นรัตนโกสินทร์  ล้วนแล้วเริ่มต้นมาจากพิธีที่น่าเลื่อมใส มีความศักดิ์สิทธิ์ อย่างนี้แทบทั้งสิ้น..เป็นพิธีที่มีกุศโลบายหลายอย่างที่สอนให้คน มีความละอายใจและเกรงกลัวต่อการทำบาป ได้อย่างแยบยล...



ผมคิดว่า..หากทุกท่านมีโอกาส ก็ควรจะไปร่วมพิธีหล่อพระให้ได้สักครั้ง ก็จะเป็นสิริมงคลกับชีวิตสืบไป...

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สำนึกตัวเมื่อถึงพื้นแล้ว

เมื่อวานนี้ น้องบัว เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้ Forward Mail เรื่องกระโดดตึก นี้มาให้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ชวนคิดดี เลยนำมาเผยแพร่ไว้ในบล็อกนี้  ลองอ่านดูนะครับ ค่อยๆ ดูเรื่อยไปจากชั้น 10 ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง...สุดท้ายได้ไม่ต้องสำนึกตัวเมื่อถึงพื้นแล้ว

เมื่อกระโดดตึก 10 ชั้น ฆ่าตัวตาย

ที่ชั้น 10 ฉันเห็นคู่ผัวเมียที่ใครๆ ต่างชมว่ารักกันนักหนา กำลังตบตีกัน










บรรดาคนที่ถูกฉันพบเห็นเมื่อครู่ ตอนนี้ ต่างกำลังมองดูฉัน




ฉันว่า..หลังจากที่พวกเขาเห็นฉันแล้ว คงพากันคิดว่า..ที่จริงแล้ว..
ปัญหาชีวิตของพวกเขาก็ยังไม่เลวร้ายอะไรนักหนา


หากเปรียบตัวเรา กับคนที่พร้อมกว่าเรา..
เราจะรู้สึกว่า...ทำไม? เราช่างโชคร้ายเช่นนี้
หากเปรียบตัวเรา กับคนที่แย่กว่าเรา...
เราจะรู้สึกว่า..ทำไม? เราช่างโชคดีเช่นนี้

ขอขอบคุณ : ผู้ที่จัดทำข้อมูลนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ลดช่วงอายุผู้บริหาร ประเทศไทยอาจจะดีกว่านี้

วันนี้หลายคนกำลังออกมาพูดจากันเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย" ผมก็อยากเสนอสักประเด็นในเรื่อง "การลดช่วงอายุของผู้บริหารภาคราชการ" ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยดีกว่าปัจจุบันนี้ก็ได้

เหตุที่ผมเสนอก็เพราะประสบการณ์ในการรับราชการของผมนั่นเอง  ตำแหน่งสำคัญๆ ในภาคราชการ ควรจะได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์  ไฟแรง กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าต้าน กล้าหาญ กล้าต่อสู้ในสิ่งที่ผิด หากได้ผู้บริหารเช่นนี้แล้ว จะส่งผลให้การปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นๆ มีประสิทธิมากกว่านี้ 

แต่ในภาคราชการ ตำแหน่งที่สำคัญส่วนใหญ่  ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง มักจะเป็นคนที่ใกล้เกษียณอายุราชการ  ทำงานก็เพียงเพื่อรักษาและปกป้องตนเอง ยกการ์ดป้องกันตัวอย่างเดียว ไม่ยอมชกใคร แต่ก็ไม่ให้ใครมาชก ตัวอย่างตำแหน่งสำคัญ ที่ผมมักได้พบเห็น อาทิ

ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาภาคตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ แม่ทัพ ผู้บัญชาการกองพล หัวหน้าส่วนราชการ  อธิการบดี  ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นต้น  ตำแหน่งเหล่านี้ หลายคนวิ่งเต้นและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้  อย่างน้อยก่อนเกษียณก็ยังดี เพื่อเป็นเกียรติประวัติอันสวยงามของชีวิตรับราชการ  ดังนั้น งานต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบและที่ได้รับมอบหมายตามตำแหน่งนั้น มันจึงเป็นอย่างที่พวกเราเห็นเห็นอยู่ทุกวันนี้แหละ ทำกันแบบขอไปที เพราะหมดไฟ ใกล้เกษียณ

ผมลองตั้งคำถามกับตัวเองและตอบแบบความรู้สึก (ไม่ไช่เชิงวิชาการ) ว่า  

"ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ควรจะมีช่วงอายุเท่าใหร่ ?"

ตอบ : ผมคิดว่า น่าจะอายุระหว่าง 50-55 ปี หากผลงานดีจะได้พิจารณขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญสูงขึ้นในกระทรวงฯ ในช่วงอายุ 56 จนกระทั่งเกษียณ  แต่ปัจจุบันกลับกัน ข้าราชการหลายคนอยากจะเกษียณในตำแหน่งผู้ว่าฯ  มากกว่าที่จะอยู่ในกระทรวง  เพราะระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง  มันมีอำนาจที่หอมหวล เย้ายวนกว่า และประวัติการรับราชการก็จะดูดีหากได้เกษียณในตำแหน่งผู้ว่าฯ นี้

ผมมักจะได้ยินคำบ่นบ่อยๆ ว่า  ผู้ว่าฯ เกียร์ว่าง ไม่ทำอะไรแล้ว  ทำอะไรก็สักแต่ว่าทำให้ผ่านๆ ไป ไม่มุ่งมั่นพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  แถมผู้ว่าฯ  บางคนเดินสายไปเปิดงานโน้นงานนี้ เพื่อสร้างฐานเสียงเตรียมการลงสมัครรับเลือกตั้งก็มี หลายคนบอกว่า "ตำแหน่งรอเกษียณนี้เป็นตำแหน่ง เพื่อเก็บหอมรอมริบในชีวิตราชการบั้นปลาย  บางคนก็มีบ้านหลังใหญ่โต ราคาหลายล้านก็ในช่วงนี้เอง เขาบอกว่าถือการตอบแทนที่เหนื่อยยากในราชการมานาน"

เมื่อพ่อเมืองทำงานอย่างนี้แล้ว...จังหวัดจะได้รับการพัฒนาและแก้ปัญหาให้ดีขึ้นอย่างไร... หลายท่านที่อยู่ในวงการทหาร ตำรวจ วงการศึกษา หรือภาคราชการอื่นๆ  ก็ลองจินตนาการดูเองว่า  ในหน่วยงานของท่านมีลักษณะเป็นเช่นนี้หรือไม่

เราอยากได้คนหนุ่ม  เป็นนักพัฒนา และมีไฟในการทำงาน
ผู้ว่าราชการจังหวัด ควรมีอายุระหว่าง 50-55  ปี ดังนั้น นายอำเภอ  จึงควรมีอายุระหว่าง 45-50   ปี ปลัดอำเภอ ก็น่าจะ 40-45 ปี ฯลฯ

ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ควรมีอายุระหว่าง 50-55 ปี ดังนั้น แม่ทัพภาค ควรมีอายุระหว่าง 45-50 ปี ผู้บัญชาการกองพล ควรมีอายุ ระหว่าง 40-45 ปี ฯลฯ

ผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษา ควรมีอายุ 45-50 ปี ดังนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียน ควรมีอายุ 40-45 ปี ฯลฯ

ตัวเลขอายุที่ผมหยิบยกมานี้ แค่เป็นเพียงตัวเลขสมมติ เพื่อให้มองเห็นภาพว่า การลดช่วงอายุของผู้บริหาร น่าจะเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ประเทศชาติจะได้คนหนุ่มไฟแรง มาช่วยกันทำงาน เพื่อการแก้ไขและพัฒนาประเทศด้านต่างๆ  ไม่ใช่ให้คนแก่รอเกษียณอายุมารับผิดชอบในตำแหน่งสำคัญๆ เหล่านี้

ลองดูบริษัท ห้างร้าน และภาคเอกชน ที่ประสบความสำเร็จ ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน  ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มไฟแรง อายุประมาณ 30-40 ปีแทบทั้งสิ้น  คงมีภาคราชการไทยนี่แหละ  ที่ไม่ค่อยพัฒนาไปถึงไหน เพราะมีแต่ "คนแก่ ไฟมอด"  

แต่ผมว่าเรื่อง "การลดช่วงอายุของผู้บริหารภาคราชการ" นี้ คงทำได้ยากมาก  เพราะข้าราชการไทยล้วนชอบกำหนดคุณสมบัติในตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และแนวทางรับราชการของตนเองและพวกพ้อง  และมักชอบอ้างถึงคนที่อ่อนกว่าตัวเองว่า "อายุยังน้อย ยังขาดประสบการณ์"


ผมว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป  ก็ลองดูในวันนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง นักการเมือง  ทั้งในสภา นอกสภา ทั้ง ส.ส.,ส.ว. ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแล้วอวดอ้างตนเอง ว่า "เป็นผู้อาวุโส ผ่านประสบการณ์มามาก"  แล้วตอนนี้ประเทศชาติ เป็นยังไง?  ที่วุ่นวายกันอยู่ขณะนี้  เป็นเพราะพวกท่าน ใช่หรือไม่...

การลดช่วงของอายุของผู้บริหารในภาคราชการ คงไม่ใช่เรื่องที่กระทำกันง่ายๆ อาจต้องวางแผนกันระยะยาว ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบการรับเข้าทำงาน ระบบการฝึกอบรม โครงสร้างของตำแหน่ง โครงสร้างของการบริหารงาน โครงสร้างของความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ระบบความเป็นธรรมในโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงระบบการบริหารจัดการหลังเกษียณ ฯลฯ คงต้องคิดกันอีกหลายยก....

แต่วันนี้ ตัวอย่างจริงที่มีให้เราเห็นแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี อายุเพียง 44 ปี นี่คือ ตัวอย่างการลดช่วงอายุของนายกรัฐมนตรี  แล้วการลดช่วงของอายุของผู้บริหารในภาคราชการ จะกระทำไม่ได้เชียวหรือ.. 

แม้ว่ามันจะยาก...แต่เราก็ต้องเริ่มทำ...

***********************************

เขียนโดย : ชาติชาย คเชนชล 11 ก.ค.2553
ที่มาของภาพ : http://hilight.kapook.com/view/31942

ถึงเวลาเปลี่ยนคำขวัญ จ.ราชบุรีหรือยัง?

“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี”
 
คำขวัญจังหวัดราชบุรี นี้แต่งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532  ในโอกาสที่จังหวัดราชบุรีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี มาถึงปัจจุบันนี้ก็ 21 ปี แล้ว (อ่านรายละเอียดที่มา) 

และก็ไม่มีใครรู้ว่าจะใช้คำขวัญนี้ไปอีกนานเท่าใด? เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น ปลายี่สก เป็นต้น ก็ไม่มีจะให้จับ ให้ชม ให้รับประทาน ได้แต่ให้เด็กนักเรียนท่องจำไปวันๆ   และถึงวันนี้ คำที่กำลังเป็นที่นิยมและชอบยกกันขึ้นมาพูดเสมอ คือคำว่า "เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์" (creative economy) ยิ่งทำให้ผมเห็นว่าหลายคำที่ประกอบกันเป็นคำขวัญราชบุรี อาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะไม่ได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจหรือตัวตนของจังหวัดราชบุรีแต่อย่างใด อย่างเช่น คำว่า

"คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง"  ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นอะไรเลยที่ประจักษ์ว่ามันเป็นเช่นนั้น เพราะมันเป็นเพียงแค่คำที่ชื่นชมในสมัยก่อน หากพูดถึงเชิงเศรษฐกิจแล้ว โพธาราม อาจต้องเปลี่ยนเอาคำว่า "ไชโป้วหวาน"  "ตุ๊กตาผ้า"  มาแทน ส่วนบ้านโป่ง อาจเอาคำว่า "แหล่งต่อรถบัส" มาแทน เป็นต้น

ส่วนที่ อ.บางแพ ก็เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกราม  อ.ปากท่อ เป็นแหล่งเลี้ยงสุกร ที่มากที่สุดในประเทศไทย ก็แทบจะไม่มีอยู่ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีเลย  ทั้งๆ ที่คำพูดเหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม และแสดงความเป็นตัวตนให้จังหวัดราชบุรีอย่างเห็นเด่นชัด นี่ยังไม่รวมถึง สัปปะรดหวานบ้านคา และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สำคัญอีกเช่น ตะนาวศรี สวนผึ้ง   

การเปลี่ยนคำขวัญไม่ใช่เรื่องที่กระทำไม่ได้  หลายบริษัทฯ หลายองค์กร ก็มักเปลี่ยนกันอยู่บ่อยๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้ตนเอง  การเปลี่ยนคำขวัญของจังหวัดนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดให้รอบด้านและรอบคอบว่า จะเปลี่ยนเป็นคำว่าอะไร? ถึงจะแสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของจังหวัดราชบุรี และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน...

เขียนโดย : จุฑาคเชน 11 ก.ค.2553

อ่านเพิ่มเติม
ย่านยี่สกปลาดี คำขวัญราชบุรีที่กำลังถูกลบทิ้ง
คำขวัญจังหวัดราชบุรี

ที่มาของภาพ : http://gotoknow.org/file/suthi94/100_3342.jpg

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปาหี่พิธีเปิดกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 39 รอบคัดเลือกภาค 2 ที่ราชบุรี

จ.ราชบุรี ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 39 รอบคัดเลือกนักกีฬาระดับภาค 2 ในวันที่ 6-16 ก.ค.2553 ด้วยการชิงชัยกว่า 30 ชนิดกีฬาจากนักกีฬา 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ ประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี และราชบุรี  หลังจากนั้น ผู้ชนะจึงจะได้ไปแข่งขันในระดับประเทศ ที่จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 9-19 ธันวาคม 2553 ปลายปีนี้


ปาหี่พิธีเปิดการแข่งขันฯ
จ.ราชบุรีจัดให้มีพิธีเปิดขึ้นในวันที่ 2 ก.ค.2553 ณ โรงยิมเนเซี่ยม จ.ราชบุรี 4,000 ที่นั่ง โดย นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าฯ ราชบุรี เป็นประธาน ทำไมถึงอยากเรียกว่า "ปาหี่"
  • ที่หลายคนเห็นนักกีฬา และผู้ชมที่เต็มโรงยิมเนเซี่ยมนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ถูกจัดตั้งมาทั่้งหมด นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของ 14 จังหวัด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยและไม่ได้มีส่วนร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย
  • ทั้งคนถือป้าย คนถือธง นักกีฬา ผู้ชมบนอัฒจันทร์  ล้วนเป็นเด็กนักเรียนของ รร.เบญจมราชูทิศ และ รร.ราชบุรีบริหารธุรกิจ ที่ถูกเกณฑ์มาทั้งสิ้น
  • จริงๆ แล้วในพิธีเปิดการแข่งขันฯ คนที่น่าจะอยู่ในสนามจริง ควรจะเป็นนักกีฬาตัวจริง เพราะเขาได้รู้สึกภาคภูมิใจ   นี่แม้แต่นักกีฬา จ.ราชบุรีเอง ที่เป็นเจ้าภาพ ก็ยังไม่ได้ลงไปยืนในสนามพิธีเปิดเลย
  • ที่เกี่ยวข้องกับ 14 จังหวัด เห็นจะเป็นเพียงผู้แทนที่ได้รับเชิญมาร่วมเป็นแขกเพียงจังหวัดละคนสองคนเท่านั้น
  • พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาฯ ที่ขาดวัฒนธรรมบางอย่างของกีฬาไป เช่น การเชิญธงชาติ การเชิญธงกีฬาของแต่ละจังหวัด  การจุดไฟในกระถางคบเพลิง การปฎิญาณตนของนักกีฬาสมัครเล่น เป็นต้น  (หรือว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย เขาจะเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ก็ไม่ทราบได้)
  • เปิดกันเอง ชมกันเอง ถ่ายภาพกันเอง  การแสดงที่ รร.ราชบุรีบริหารธุรกิจ อุตส่าห์เตรียมมาอย่างดี ก็ไม่มีใครหน้าไหนจากจังหวัดอื่นๆ ได้ชม (เพราะไม่ได้มาร่วม)  จะมีที่ได้ชมก็เฉพาะ แขกในราชบุรี  หัวหน้าส่วนราชการ และ นักเรียน รร.เบญจมราชูทิศ ที่ถูกเกณฑ์มานั่งชม เสียดายความตั้งใจของผู้แสดง การแสดงที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ น่าจะให้คนจากจังหวัดอื่นๆ เขาได้ชมด้วย
  • หากกระทำพิธีเปิดในวันที่ 6 ก.ค.53 น่าจะดีกว่านี้ เพราะอย่างน้อยนักกีฬาจากจังหวัดต่างๆ ก็ทยอยมาถึง จ.ราชบุรีแล้ว ขอความร่วมมือให้ส่งตัวแทนนักกีฬา (จริงๆ ของจังหวัดนั้น) มายืนในสนามก็ได้ แต่ทำไมต้องเปิดวันที่ 2 และไปเริ่มแข่งขันวันที่ 6 ก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก 

กระแสการชมกีฬาของชาวราชบุรี
การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ฯ ระดับคัดเลือกภาคนี้  เป็นกีฬาที่น่าชมอย่างยิ่ง เพราะมีตัวแทนจังหวัดถึง 14 จังหวัดมาร่วมการแข่งขันชิงชัยกัน  และกีฬาแต่ละชนิดก็น่าสนใจเกือบทั้งสิ้น แต่แทบไม่เห็นกระแสของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนชาวราชบุรี  ที่อยากจะไปร่วมชมและเชียร์ในครั้งนี้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่น่าจะช่วยรณรงค์ให้มากๆ ก็คือ  สพท.รบ.1 และ 2, สถาบันอาชีวภาคกลาง และสถาบันในระดับอุดมศึกษา ของ จ.ราชบุรี ควรจะช่วยสร้างกระแสให้นักเรียน นักศึกษา (ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ) ไปร่วมชมและร่วมเชียร์ ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สมกับที่ จ.ราชบุรีเป็นเจ้าภาพ

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ก็จะเริ่มการแข่งขันแล้ว คงมีแต่นักกีฬาตัวสำรอง ผู้ฝึกสอน ของชนิดกีฬานั้นๆ นั่งชมและเชียร์กันเอง....

กระแสการเป็นเจ้าภาพที่ดี
อันนี้ไม่ต้องพุดถึงมากเลย เพราะชาวราชบุรีอีกหลายคนยังไม่ทราบเลยว่า เขามีกีฬาอะไรกัน นักกีฬาและผู้ฝึกสอนที่มาจาก 14 จังหวัดมี่มาเข้าร่วมการแข่งขันฯ ครั้งนี้ มีมากถึง 4,919 คน ป้ายประชาสัมพันธ์ที่เห็นๆ ก็มีอยู่ป้ายเดียว แถวราวสะพานรถไฟในเมืองราชบุรี  นอกจากนั้นไม่ต้องพูดถึง แม้แต่สถานที่พักนักกีฬา และสนามแข่งขัน ยังไม่มีป้ายยินดีต้อนรับนักกีฬาจากจังหวัดต่างๆ ติดให้เห็นสักป้ายนึงเลย 

เห็นเขาบอกว่ามีงบประมาณที่ใช้ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ถึง 8 ล้านบาท ใช้จัดการแข่งขันกีฬาไปประมาณ 4 ล้านบาทเศษ  แล้วไหนจะงบประมาณจากการบริจาคของหน่วยงานในราชบุรีอีก อย่างน้อยคงน่าจะมีเหลือเพียงพอ ที่จะทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนรณรงค์ให้ชาวราชบุรีมาชม เชียร์ และเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับฯ ในครั้งนี้...แต่นี่ทราบข่าวว่า แม้แต่สื่อมวลชนยังไม่ให้ความร่วมมือเลย..(ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด)....  

หลายท่านอาจจะจำได้...จังหวัดราชบุรี เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 18-28 ธันวาคม 2547 ใช้ชื่อเกมส์ว่า "ราชบุรีเกมส์" มาแล้ว ซึ่งขณะนั้น มีนายพลวัต ชยานุวัตร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี...วันนั้น "ราชบุรีเราก็ถือว่าจัดได้ดี"

แต่วันนี้ สมัยนี้ นายสุเทพ โกมลภมร  เป็นผู้ว่าฯ และมี นายปราโมทย์ สุขพลอย ผู้อำนวย กกท.จ.ราชบุรี เป็นเจ้าของเกมส์  ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการแข่งขันรอบคัดเลือกก็ตาม แต่ก็มีนักกีฬาที่มาจากจังหวัดต่างๆ ถึง 14 จังหวัด จำนวนเกือบ 5,000 คน...หากสถานการณ์การชม เชียร์ การมีส่วนร่วมและการต้อนรับของชาวราชบุรีเป็นเช่นนี้แล้ว...จังหวัดอื่นๆ เขาจะมีความทรงจำกับชาวราชบุรีเราอย่างไร

...แต่ถึงเวลานั้น ท่านผู้ว่าฯ และ ผอ.กกท.ราชบุรี ก็คงไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวอะไรนัก  เพราะท่านคงจะเกษียณหรือไม่ก็ย้ายไปแล้ว...คนราชบุรีถึงมีกรรม....




เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 4 ก.ค.2553