วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทบรรยาย การแสดง แสง สี เสียง เรื่อง “ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์”


บทบรรยายการแสดงแสงสีเสียง เรื่อง ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี นี้ ผมได้จัดทำไว้เมื่อกลางปี พ.ศ.2548 เนื่องจาก จังหวัดราชบุรี ดำริจะจัดให้มีการแสดงในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้แสดง..เพราะถึงเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจริง...ได้แต่พูดกันไป..เพื่อป้องกันการสูญหาย จึงได้นำมาไว้ใน Blog แห่งนี้ เพื่อว่าจะมีใครนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต เนื้อความที่เขียนยังไม่ได้มีการประชุมเพื่อปรับแต่ง อาจจะฟังยังไม่รื่นหูมากนัก



ฉากที่ 1 แม่กลอง…..สายน้ำแห่งชีวิต

กว่าหนึ่งพันปี ที่ลำน้ำสายใหญ่เบื้องหน้าทุกท่านในขณะนี้ ได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนบนแผ่นดินสองฟากฝั่งให้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ ผลาหาร การค้า พาณิชย์ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญของแผ่นดินนี้มาแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน แม่น้ำสายนี้ยังคงเป็นเส้นเลือดแห่งวิถีชีวิตของชาวราชบุรี แม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่แม่น้ำแม่กลองก็ยังคงคุณค่าไม่เคยเปลี่ยนแปลง


เมืองราชบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาแต่ครั้งสมัยทวารวดี เรื่อยมาจนกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนกระทั่วถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในกาลปัจจุบัน ราชบุรีเป็นเมืองที่สุขสงบ วิถีชีวิตของผู้คนเรียบง่าย เอื้ออารี ผืนแผ่นดินอุดมไปด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม จึงเป็นจุดหมายของผู้แสวงหาแผ่นดินที่อยู่อาศัย เพื่อความสงบสุขร่มเย็น จนกลายเป็นบ้านของกลุ่มชนถึง ๘ เผ่า จากต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม แต่ก็ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นคนไทยภาคกลางพื้นถิ่น ชาวไทยจีน ชาวไทยญวน ชาวไทยมอญ ไทยกะเหรี่ยง ไทยลาวโซ่ง ไทยลาวตี้และไทยเขมร ที่คงอยู่อาศัยร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้


แต่ใครจะรู้บ้างว่า สายน้ำที่ไหลเรื่อย สวยงาม และใสเย็นแห่งนี้ เคยผ่านความโชคร้ายทั้งจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์มามากมายเพียงไร หากแม่น้ำแม่กลองเอื้อนเอ่ยวาจาได้ คงอยากที่จะบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายที่เกิดขึ้น ให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้


ห้วงเวลานับจากนี้…………เราจะขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนของลำน้ำแม่กลอง บอกเล่าหนึ่งในเรื่องราวที่หลากหลาย ความทุกข์ยาก และความสูญเสียจากสงคราม ซึ่งมนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะมิใช่คู่สงคราม แต่เราก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น จะได้พยายามอย่างดีที่สุด เพื่อรักษาเอกราช และอธิปไตยของชาติไว้ แต่ก็ต้องแลกด้วยความหายนะ และความสูญเสียของคนไทยในหลายๆ พื้นที่ ที่กองทหารญี่ปุ่นเข้าไปตั้งอยู่ ซึ่งจังหวัดราชบุรีก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น
ฉากที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพา
เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 กองทัพแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ บุกเข้า โจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ หมู่เกาะฮาวาย……นั่นหมายถึงสัญญาณการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2


สงครามแห่งความหายนะของมวลมนุษยชาติได้เปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆ กับสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เริ่มอุบัติขึ้น ด้วยการที่กองทหารญี่ปุ่นจำนวนมาก บุกเข้าสู่หลายประเทศในเอเซีย รวมถึงประเทศไทยของเราก็ตกเป็นเป้าหมาย กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าสู่ประเทศไทย 2 เส้นทาง โดยทางบกผ่านทางจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงครามของกัมพูชา และทางทะเล กองทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทางฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี พร้อมๆ กัน ในคืนเดียว แม้ว่าประเทศฯไทย่จะผนึกกำลังต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ จนเปิดเป็นวีรกรรมเล่าขานของยุวชนทหารผู้กล้า แต่ก็หาทัดทานกำลังของทหารญี่ปุ่นได้ไม่……สงครามแผ่ขยายไปเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก


กองทัพญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ขอส่งทหารผ่านดินแดนไทยไปประเทศพม่า เพื่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย ได้มีการเจรจาต่อรองกันหลายครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตกลงยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น ยินยอมให้ใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปประเทศมลายู และพม่า เพื่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย ด้วยเหตุผลที่ประชาชนชาวไทยในขณะนั้นไม่สามารถแข็งขืนได้ นั่นก็คือ เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงไว้


ในสงครามครั้งนั้น จังหวัดราชบุรี ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการเดินทัพของญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการลำเลียงเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์
ฉากที่ 3 ทางรถไฟสายยุทธศาสตร์

กองทัพญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย – พม่า ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2485 โดยใช้เชลยศึกของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นแรงงาน เริ่มต้นจากสถานีรถไฟบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มุ่งสู่ทิศตะวันตก เลียบลำน้ำแม่กลอง ตัดผ่านแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านเขตแดนไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ สุดทางที่สถานีธันบีอูซายิต ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองมะละแหม่งกับเมืองตองยี ประเทศพม่า ระยะทาง 415 กิโลเมตร


ทางรถไฟสายนี้จะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสำหรับใช้ในการลำเลียงพลอาวุธยุทโธปกรณ์ สัมภาระและเสบียงอาหารของกองทัพญี่ปุ่น จากภาคใต้ของประเทศไทยมุ่งเข้าโจมตีต่อประเทศพม่า และประเทศอินเดีย

ฉากที่ 4 วิถีชีวิตชาวราชบุรีในช่วงสงครามเมื่อชาวราชบุรีต้องเผชิญกับสภาวะของสงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในเมืองที่เต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟราชบุรี ผู้คนมักจะได้พบเห็นภาพของการขนย้ายเชลยศึกจำนวนมากมายใส่ตู้รถไฟ มาจากทางภาคใต้ เพื่อนำไปเป็นแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายไทย – พม่า เนื่องจากรถไฟทุกขบวนจะต้องแวะเติมน้ำ เติมฟืนที่สถานีแห่งนี้ก่อนที่จะเดินทางต่อไป จนเกิดเป็นอาชีพของคนราชบุรีในครั้งนั้น คือการนำผลไม้ อาหารการกินไปแลกกับของใช้ที่เชลยศึกนำติดตัวมา เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา และชาวราชบุรีบางคนก็ถูกจ้างให้เข้าไปทำงานให้กับค่ายทหารญี่ปุ่น บางส่วนก็อพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น


ในภาวะสงคราม ความอดอยากยากแค้น ความขาดแคลนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทำให้เกิดการลักขโมย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขโมยของจากค่ายทหารญี่ปุ่น อาทิเช่น น้ำมัน และยุทธปัจจัยต่างๆ เมื่อถูกจับได้ ญี่ปุ่นก็จะใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ขโมยน้ำมัน ก็จะให้กินน้ำมันด้วยการกรอกปาก ทุกฝ่ายต่างต้องอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางกลิ่นไอสงคราม


จนในที่สุด ลางแห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะก็เริ่มขึ้น สงครามดำเนินไปจนถึงปลายปีพุทธศักราช 2487 กองทัพแห่งพระเจ้าจักรพรรติ เริ่มปราชัยในประเทศพม่า จำต้องถอยร่น กลับเข้าทางประเทศไทย กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนในการทิ้งระเบิดตามเส้นทางคมนาคมและสะพานที่สำคัญๆ ในเขตประเทศไทย เพื่อสร้างความระส่ำระสาย และปิดเส้นทางการถอยทัพหนีของกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นสะพานจุฬาลงกรณ์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่งที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทำลาย
ฉากที่ 5 อวสานสะพานจุฬาลงกรณ์เมื่อ 104 ปีล่วงแล้ว คือ พุทธศักราช 2444 สะพานจุฬาลงกรณ์ที่โดดเด่น สวยงาม ปรากฏต่อสายตาทุกท่านในขณะนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้น จากพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณรของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งลำน้ำแม่กลองเข้าหากัน เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีเส้นทางคมนาคมที่ทันสมัย เทียบเทียมนานาอารยประเทศ พร้อมกับพระราชทานพระนามของพระองค์ท่านเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ด้วย สะพานจุฬาลงกรณ์นอกจากจะเป็นหัวใจของการคมนาคมของจังหวัดราชบุรีแล้ว ยังเป็นเส้นทางหลักของทางรถไฟสายใต้ของไทยอีกด้วย จึงตกเป็นเป้าการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร


จากบันทึกและคำบอกเล่าของผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เล่าว่า ชาวราชบุรีต้องอกสั่นขวัญผวาและอพยพหนีภัยกันทุกครั้ง เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย เสียงเครื่องบินที่ดังกระหึ่มอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองราชบุรี และเสียงระเบิดที่ดังกึกก้องในเขตเมืองราชบุรี


มีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานจุฬาลงกรณ์หลายครั้ง แต่พลาดเป้าไปทุกครั้ง จนในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการผูกลูกระเบิดด้วยโซ่ให้เป็นพวง เพื่อทิ้งให้ลงไปคล้องบริเวณสะพานไว้และตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลาต่อมา


ในการทิ้งระเบิดโจมตีแต่ละครั้ง ความรู้สึกของชาวราชบุรีที่ต้องเผชิญ และไม่ลืมไปจากความทรงจำ นี่คือ............เริ่มต้นจากการได้ยินเสียงเครื่องบินแหวกอากาศมาจากทางด้านทิศตะวันตก แล้วก็ผ่านหายไป ต่อมาก็จะได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ทุกคนก็จะพากันอพยพหลบหนีออกจากบ้านเรือนไปหลบอยู่ตามทุ่งนานอกเมือง จากนั้นไม่นานเสียงกระหึ่มของเครื่องบิน บี 24 กลับมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการปล่อยพลุไฟร่มชูชีพ ส่องสว่างเต็มท้องฟ้า ทำให้เมืองราชบุรีสว่างไสวราวกับเป็นเวลากลางวัน ต่อมาฝูงเครื่องบิน บี 24 จำนวน 5 ถึง 6 เครื่อง บินพุ่งเฉียดทิวไม้ กราดกระสุนปืนกลใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นและปล่อยลูกระเบิดออกจากใต้ท้องเครื่องบินลงมาเป็นสายไม่ขาดระยะ เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงกว่าการโจมตีจะสิ้นสุดลง สัญญาณปลอดภัยดังขึ้น ความสงบกลับมาอีกครั้ง


การทิ้งระเบิดครั้งสุดท้าย ในคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2488 เป็นการทิ้งระเบิดโดยการร้อยโซ่เป็นพวง และเป็นระเบิดชนิดกำหนดเวลา นับเป็นความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเสียงระเบิดดังกึกก้องขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2488 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา 30 นาที พร้อมๆ กับอวสานของสะพานจุฬาลงกรณ์
ฉากที่ 6 ตำนานหัวรถจักรไอน้ำเมื่อเส้นทางคมนาคมที่สำคัญถูกตัดขาด กองทัพญี่ปุ่นยังคงใช้ความพยายามในการสร้างสะพานไม้เป็นสะพานเบี่ยง เพื่อให้สามารถลำเลียงพลและสัมภาระข้ามแม่น้ำแม่กลองให้จงได้ แต่เนื่องจากไม้ที่ใช้ในการสร้างสะพานนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงไม่สามารถรองรับน้ำหนักของยวดยานต่างๆ ได้ ในที่สุดสะพานไม้นั้นก็หักลง จนทำให้หัวรถจักรไอน้ำตกลงไปนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องน้ำอันเยือกเย็นแห่งนี้ มาจนกระทั่งถึงบัดนี้
ฉากที่ 7 อวสานสงครามโลกครั้งที่ 2ในที่สุดฉากสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาถึง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส มีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะ คือ เยอรมันนี ญี่ปุ่น อิตาลี มหันตภัยสงครามครั้งสุดท้าย คือการที่กองทัพสหรัฐ ตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู ถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ของญี่ปุ่น สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ต่อกองทัพสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลก ครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ยาวนานมาถึง 4 ปี


วิถีชีวิตของชาวราชบุรี กลับสู่ความสงบสุขดังเดิมอีกครั้ง พร้อมๆ กับการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของอาคารสถานที่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ


น้ำตาแห่งความระทมทุกข์และสูญเสียต่างๆ ค่อยๆ เหือดแห้งไป คงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำ เพื่อเป็นบทเรียนให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม เพื่อช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก


ในวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2488 สะพานจุฬาลงกรณ์ได้ถูกซ่อมแซมบูรณะขึ้นใหม่ โดยกองทหารจากประเทศอินเดีย ใช้แรงงานของทหารญี่ปุ่น ผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นกรรมการทำการซ่อมสร้างกันทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงเปิดใช้การได้อีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2488
ฉากที่ 8 บทสรุปท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ การแสดงแสง สี เสียง “ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์” ที่ผ่านสายตาทุกท่านไปแล้วนั้น เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองราชบุรี เพื่อเตือนใจให้ชาวราชบุรีและอนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า ใต้ท้องน้ำเบื้องหน้าของทุกท่าน ณ ที่นี้ มีซากประวัติศาสตร์ครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 นอนสงบนิ่งอยู่ สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ถูกกำหนดจุดแสดงตำแหน่งที่อยู่ไว้ด้วยทุ่นสัญญาณลูกยาวสีแสดที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งประกอบด้วย หัวรถจักรไอน้ำ ลูกระเบิดที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ จำนวน 3 ลูก เศษวงล้อ กระจังหน้า และรางรถไฟ
เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความเลวร้ายของสงคราม “ ประวัติศาสตร์ราชบุรีจะคงคุณค่า.....เมื่อชาวราชบุรีเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ”

ไม่มีความคิดเห็น: