วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

การปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) แท้จริง คือการโกหก ใช่หรือไม่

ขณะนี้มีการนำการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IOs) มาใช้กันเป็นจำนวนมาก ทั้งในหน่วยงานด้านทหาร ตำรวจ พลเรือน องกรค์เอกชน และภาคธุรกิจ และที่เห็นชัดเจนในขณะนี้คือ การนำมาใช้ในการต่อสูุ้ระหว่างระบอบทักษิณ,ฝ่ายรัฐบาลรักษาการ และพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายมวลมหาประชาชนที่ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปปส.) อย่างชัดเจน

ที่มาของภาพ : ASTVผู้จัดการ
ความหมายของ IOs ค่อนข้างมีความหลากหลาย บางตำราอ่านแล้วแปลความยาก แต่ความหมายที่ผมเลือกนำมาเขียนนี้ค่อนข้างสั้น ชัดเจนและเข้าใจง่ายซึ่งเป็นของเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (2554) ได้ให้ความหมายไว้ว่า "IOs คือ การกระทำต่อความคิดของผู้มีอำนาจเพื่อให้ตัดสินใจตามที่ฝ่ายเราต้องการ และเป้าหมายที่แท้จริงมิใช่เอาชนะกำลังทหารฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการเอาชนะความเชื่อและการตัดสินใจของผู้นำ"

เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ(2554) ยังกล่าวต่อว่า "IOs นั้น เป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ อเมริกาในปี 2003 อนุมัติหลักการโดย นายโดนัล รัมเฟล (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯและต่อมาเป็นเอกสารที่เปิดเผย (Declassified) ในเดือนมกราคม 2006 ซึ่งเป็นการขยายผลจากหลักการที่เกี่ยวข้องกับสงครามข้อมูลข่าวสาร (Information Warfare) 

อย่างไรก็ตามหลักการ IOs ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้นั้น หากนำมาใช้กับกองทัพของประเทศต่างๆ โดยตรงนั้นอาจจะไม่เหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วัฒนธรรมองค์กร ความพร้อมของบุคคลากรและกระบวนการปฏิบัติงาน มีความแตกต่างกัน ซึ่งการนำมาใช้โดยไม่มีการเตรียมการและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกองทัพนั้นๆ อาจไม่เกิดประสิทธิผล"

IOs การต่อสู้ระหว่างระบอบทักษิณ กับ กปปส.
ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ จะพบว่า มีการนำ IOs ตามความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมาใช้ โดยแต่ละฝ่ายต่างมีความมุ่งหมายดังนี้
  • ความมุ่งหมายของระบอบทักษิณ : ทำให้ประชาชนตัดสินใจสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้เป็นรัฐบาลต่อไป
  • ความมุ่งหมายของ กปปส. : ทำให้ประชาชนตัดสินใจร่วมกันขับไล่รัฐบาล(รักษาการณ์) และร่วมกันโค่นล้มระบอบทักษิณ เกิดการปฏิรูปประเทศไทยใหม่
ในการปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) หากคำนึงถึงพละกำลังระหว่างระบอบทักษิณและ กปปส. แล้ว เห็นได้ว่าระบอบทักษิณ ค่อนข้างได้เปรียบกว่า กปปส. มาก อาทิ
  1. ระบอบทักษิณยังกุมอำนาจในการบริหารประเทศ และรัฐบาลรักษาการณ์ยังสามารถสั่งให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ปฏิบัติตามคำสั่งตนเองได้ ข้าราชการในตำแหน่งสำคัญและบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างยังเป็นพวกเดียวกันกับทักษิณ 
  2. ระบอบทักษิณมีเครื่องมือในการควบคุมมวลมหาประชาชน ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุุกเฉิน, ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ,ดีเอสไอ และกองกำลังลังตำรวจ ในขณะที่ กปปส.มีแค่การ์ดอาสาและคำพิพากษาคุ้มครองการชุมนุมที่ศาลตัดสิน
  3. ระบอบทักษิณสามารถนำเงินงบประมาณจากทางราชการ มาใช้ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ภาพลักษณ์และความชอบธรรมของตนเองผ่านช่องทางต่างๆ 
  4. ระบอบทักษิณสามารถใช้สื่อของรัฐ (สทท.11, MCOT, สวท.) สื่อที่สร้างขึ้นเอง (ทีวีดาวเทียม,วิทยุชุมชน) และสื่อที่เป็นบริวารว่านเครือ (โทรทัศน์ฟรีทีวี, หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายฉบับ) ในการสร้างข่าวลวงบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า
  5. ระบอบทักษิณมีเงินจำนวนมากที่สามารถใช้เป็นสินบน จ้างวาน สร้างสถานการณ์ ให้ใครๆ ทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องระบอบของตนเอง
  6. ฯลฯ
ตัวอย่าง IOs ระหว่างรัฐบาล (ระบอบทักษิณ) กับ กปปส.(มวลมหาประชาชน)
รัฐบาล (ระบอบทักษิณ)
  1. การสร้างสถานการณ์ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก สนับสนุนให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกคนออกมาเลือกตั้ง 
  2. การตั้งข้อหาและออกหมายจับแกนนำ กปปส. ในข้อหาต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลว่าทำตามกฏหมายเพื่อรักษาความสงบของประเทศ และให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อ กปปส.
  3. สร้างสถานการณ์เพื่อให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ตามลำดับ เพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุมของมวลมหาประชาชน
  4. สร้างสถานการณ์ว่าการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ เพราะการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งพยายามขัดขวางการกู้เงินต่างๆ ของรัฐบาล และโทษคนสังคมว่าไม่มีใครสงสารและเห็นใจชาวนาจริง แม้แต่นายธนาคาร ขอให้ชาวนาเชื่อว่ารัฐบาลเท่านั้นที่มีความจริงใจต่อชาวนาจริง
  5. สร้างสถานการณ์ว่า ชาวนาถูกหลอก ถูก กปปส.จับเป็นตัวประกันเพื่อเป็นข้อต่อรองในการประท้วงขับไล่รัฐบาล และชาวนาที่มาชุมนุมเป็นชาวนาตัวปลอม ไม่ใช่ชาวนาตัวจริง ชาวนาตัวจริงยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่
  6. สร้างสถานการณ์ปลุกระดมให้คนเสื้อแดงเข้าใจว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง "ระบอบประชาธิปไตยกับพวกอำมาตย์"
  7. สร้างความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อโยนความผิดให้ กปปส.ว่ามีกองกำลังติดอาวุธคอยสนับสนุนและเป็นผู้สร้างสถานการณ์เสียเองเพื่อหวังให้ทหารออกมาช่วยเหลือ กปปส.ไม่มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง และนอกจากนั้นยังหวังผลเพื่อที่จะสร้างความกลัวให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมกับ กปปส.ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด
  8. สร้างสถานการณ์ว่าทั้งศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ต่างจ้องรุมทำลายและต้องการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นประชาธิปไตย เหตุเพราะมีพวกอำมาตย์ชักใยอยู่เบื้องหลัง
  9. สร้างความเชื่อว่า การเลือกตั้งคือความเป็นประชาธิปไตย การที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ ต้องเสียสละและไม่ยอมลาออกก็เพราะต้องการรักษาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย เป็นวีรสตรีที่ต้องคอยขัดขวางพวกอำมาตย์
  10. ฯลฯ
กปปส. (มวลมหาประชาชน)
  1. สร้างความเชื่อที่ว่า รัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมือง 
  2. สร้างความเชื่อที่ว่า ระบอบทักษิณเป็นระบอบที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างมหาศาล ควรโค่นล้มถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
  3. สร้างความเชื่อที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ถึงจะมีการเลือกตั้งใหม่
  4. สร้างความเชื่อที่ว่า รัฐบาลว่าจ้างกองกำลังติดอาวุธจากต่างชาติ เข้ามาก่อความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนชาวไทยกันเอง ต้องการข่มขู่มวลมหาประชานที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม
  5. สร้างความเชื่อให้มวลมหาประชาชนที่เข้าร่วมการชุุมนุมต้องยึดหลักสันติ สงบ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ไม่ใช่ความรุนแรง
  6. สร้างความเชื่อว่า กปปส.ไม่ได้ชุมนุมเพื่อหวังผลในด้านการเมือง แต่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ที่ต้องการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง
  7. ฯลฯ
การฏิบัติการข่าวสาร (IOs) แท้จริง คือการโกหก ใช่หรือไม่
จากการยกตัวอย่างที่กล่าวมาเห็นได้ว่า IOs จำเป็นต้องมีการสร้างหรือจัดทำข่าวสารขึ้นมา เพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ มันจึงมีทั้งความจริงและความเท็จ ในตัวของมันเอง วิธีการที่เราจะไม่หลงเชื่อในการปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) แล้วตัดสินใจใดๆ ลงไป จึงแนะนำว่าเราควรปฏิบัติดังนี้
  • เสพข่าวสารจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายคู่กรณีทั้งสอง และฝ่ายที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการต่อสู้ครั้งนี้(ที่มีความน่าเชื่อถือได้) เช่น สำนักข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและมีจรรยาบรรณ
  • เปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของผู้ที่ออกมาสนับสนุนของแต่ละฝ่าย เช่น ความน่าเชื่อถือของบุคคล นักวิชาการ กลุ่มวิชาชีพ สมาคม ชมรมต่างๆ เป็นต้น
  • นำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาพิจารณาประกอบเพื่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะคำตัดสินของศาล หรือองค์กรอิสระ
การตัดสินใจในครั้งนี้ ประชาชนคนไทยต้องเลือกตัดสินใจให้ถูก  
เพราะมันชี้ชะตาว่าประเทศไทยของเรา...จะเดินหน้าไปทางไหน?

อ้างอิง
เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ. (2554). การปฏิบัติการข่าวสาร (INFORMATION OPERATIONS).
http://www.vcharkarn.com/varticle/42857 [2557 ก.พ.24]

************************
ชาติชาย คเชนชล : 27 ก.พ.2557

ไม่มีความคิดเห็น: