ปัจจุบันการสร้างสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่จำนวนมาก ส่วนความเห็นต่างกลับถูกปิดกั้น ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น หน่วยงานภาคราชการและกองทัพล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการปฏิบัติการครั้งนี้
วันนี้ (5 ส.ค.2559) เหลืออีก 2 วันจะถึงวันออกเสียงประชามติ คือในวันที่ 7 ส.ค.2559 ผมได้พยายามติดตามข่าวสารทั้งฝ่ายเห็นชอบและที่ไม่เห็นชอบ ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลใด หลังจากนั่งคิดไตร่ตรองด้วยความรู้อันน้อยนิดที่มี ผมตัดสินใจจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เหตุผลประการสำคัญที่สนับสนุนการตัดสินใจของผมในครั้งนี้ คือ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ปี พ.ศ.2535 ที่เรียกว่า "พฤษภาทมิฬ"
บางครั้ง การค้นหาอดีต อาจช่วยให้เราแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ |
สาเหตุสำคัญที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในครั้งนั้น มาจากการที่ผู้ยึดอำนาจไม่รักษาสัจจะวาจา และไม่มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ผ่านรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
"ที่พูดกันว่า สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญนั้น เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญ โดยสมาชิก สภา รสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งแล้ว สภา รสช. ก็หมดไปเองโดยอัตโนมัติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะกลับไปทำหน้าที่ในกองทัพอย่างเดียว"
" และที่พูดกันว่า พลเอกสุจินดาฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกเกษตรฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ขอยืนยันในที่นี้ว่า ทั้งพลเอกสุจินดาฯ และพลอากาศเอกเกษตรฯ จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี "
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534
สภา รสช. ประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534" เมื่อ 9 ธ.ค.2534 สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เช่น การให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของประธานสภา รสช. นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. การให้อำนาจที่มากเกินไปแก่สมาชิกวุฒิสภา และอีกหลายประเด็น
5 พรรคการเมืองร่วมกับ รสช. สืบทอดอำนาจ
พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคชาติไทย พรรคราษฎร และพรรคสามัคคีธรรม รวมกลุ่มกันก่อนการเลือกตั้ง โดยหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคประกาศว่าตนเองพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
- 22 มี.ค.2535 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และในวันเดียวกันนี้ สภา รสช.ก็ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 270 คน และช่วงกลางคืนมีการประชุมระหว่าง 5 พรรคการเมืองร่วมกับ สภา รสช. เตรียมเสนอ ชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
- 7 เม.ย.2535 สภา รสช. ร่วมกับพรรคการเมือง 5 พรรค กลับเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขี้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ พลเอกสุจินดาฯ แถลงว่ามีความจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
- เดือน พ.ค.2535 จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ ดังที่ทุกคนได้ทราบ
ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
อาจเป็นความวิตกจริตหรือความคิดฟุ้งซ่านของผมเอง ผมเชื่อว่าหากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 และคำถามพ่วง ในครั้งนี้แล้ว เหตุการณ์ดังเช่น พฤษภาทมิฬ 2535 อาจจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย เพราะสถานการณ์ทุกอย่างมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และมีวาระถึง 5 ปี การร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกได้ เกิดการรวมกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็ก กับกลุ่ม คสช. (ผ่านทางสมาชิกวุฒิสภา) ประเทศไทยจะถูกกลุ่มคณะผู้ยึดอำนาจ (คสช.) สืบทอดอำนาจการบริหารประเทศไปอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่อำนาจที่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นชนวนเหตุจูงใจให้ประชาชนผู้รักชาติและรักประชาธิปไตยลุกฮือขึ้นต่อต้านอีกครั้ง
ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์นองเลือดที่อาจเกิดขึ้นอีก ผมจึงเลือกที่จะไม่เห็นชอบ เพื่อมุ่งหวังให้รัฐบาลและ คสช. จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ขึ้นมา โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง การจัดร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่นี้ ไม่ควรเป็นคณะบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น เพื่อจัดทำร่างฯ เหมือนแต่เดิมอีก หากจำเป็นต้องเกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกครั้งก็ต้องทำ
ผมไม่อยากให้เกิดการนองเลือดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย
ผมจึงเลือก "ไม่เห็นชอบ" กับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในครั้งนี้
*****************************
ชาติชยา ศึกษิต : 5 ส.ค.2559
(ที่มาข้อมูล พฤษภาทมิฬ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น