วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทำความเข้าใจเรื่อง "โดรน" ไม่ต้องขึ้นทะเบียนก็บินได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ซื้อ "โดรน" ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอในมุมสูง เพื่อประกอบการผลิตวิดีโอรายการต่างๆ ของ "สถาบันราชบุรีศึกษา" ซึ่งเป็นสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร ทำหน้าที่ในจัดการความรู้ของราชบุรี เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไป   แต่ตอนนี้ รู้สึกว่าไปที่ไหน ก็มีแต่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายสั่งห้ามไม่ให้บิน โดยไม่มีเหตุผลสมควรว่าเพราะอะไร 
จึงก่อให้เกิดคำถามขึ้นในใจของผมมากมายหลายเรื่อง  



ใครต้องขึ้นทะเบียนบ้าง
สรุปสาระสำคัญของ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศที่ไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 ที่นักบินโดรนทั้งหลายควรทราบ มีดังนี้

โดรน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. ประเภทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา แบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือ
    1. มีน้ำหนัก ไม่เกิน 2 กิโลกรัม
    2. มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม 
  2. ประเภทที่มีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังนี้
    1. เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือรายงานการจราจร (สื่อมวลชน)
    2. เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์
    3. เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน
    4. เพื่อการอื่นๆ
โดรนที่ น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก. มีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก บันเทิง และการกีฬา สามารถบินได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ผู้ควบคุมการบินต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  

โดรนที่มี น.น.เกินกว่า 2 ก.ก.แต่ไม่เกิน 25 ก.ก.   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก บันเทิง และการกีฬา สามารถบินได้โดยต้องขึ้นทะเบียน ผู้ควบคุมการบินต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  

หากใครใช้โดรนไม่ว่าจะมี น.น.เท่าใดก็ตาม  (แต่ไม่เกิน 25 กก.) แต่มีวัตุประสงค์เพื่อรายงานเหตุการณ์ การจราจร ถ่ายภาพภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์  วิจัยและพัฒนาอากาศยาน และเพื่อการอื่นๆ ต้องขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น โดยแยกดังนี้
  1. เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือการจราจร (สื่อมวลชน) ผู้ขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคล
  2. เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนสามารถเป็นบุคคลธรรมดา (อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี)  หรือนิติบุคคล ก็ได้
  3. เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน ผู้ขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคล
  4. เพื่อการอื่นๆ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนสามารถเป็นบุคคลธรรมดา (อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี) หรือนิติบุคคล ก็ได้
สำหรับเงื่อนไขการบินที่กำหนด ก็คือข้อปฏิบัติก่อนทำการบิน ระหว่างทำการบิน รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ซึ่งผู้ที่บินโดรน ควรศึกษาให้ดี 

ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ก็บินได้
ผมอายุ 56 ปี ใช้โดรน ยี่ห้อ DJI รุ่น Phantom3 Standard น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ 1.216 ก.ก. บินเพื่อการบันเทิง เช่น เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินที่กำหนด  และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทำการบินเสียก่อน เช่น
  • หากจะถ่ายภาพมุมสูงในอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ เสียก่อน
  • หากจะถ่ายภาพมุมสูงของวัดวาราอาราม ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสฯ เสียก่อน
  • ฯลฯ
แต่หากจะบินถ่ายภาพความสวยงามของบ้านเมือง ตึกรามบ้านช่อง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ ต้องไม่บินเหนือสิ่งเหล่านี้  เพราะเป็นข้อห้าม (หากบินถ่ายภาพจากด้านข้าง ผมว่าน่าจะได้ครับ แต่ต้องห่างมากกว่า 30 เมตร และต้องไม่สูงเกิน 90 เมตร) 

บินงานกิจกรรมได้หรือไม่
กิจกรรมบางกิจกรรม สมควรที่จะมีการบันทึกภาพมุมสูงไว้ เช่น การเดิน-วิ่ง การขี่จักรยาน แข่งรถ แข่งเรือ ฯลฯ   ผมว่าสามารถบินได้นะครับ เพราะเป็นเรื่องของการกีฬา แต่ต้องขอนุญาตจากผู้จัดกิจกรรมเสียก่อน  ส่วนงานบวช งานแต่งงาน หรืองานประเพณีต่างๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เจ้าภาพคงให้บินอยู่แล้ว  โดยผู้ที่มีโดรน น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก. สามารถบินได้เลย (ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน)  แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการบินและข้อห้ามที่กำหนดไว้ในกฏหมาย     
   
ประกันภัยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนต่างๆ ผมพอที่จะทำได้อยู่ครับ แต่มีอยู่ข้อหนึ่งคือ กรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคุ้มครองความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลที่สาม วงเงินประกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อครั้ง นี่แหละที่ทำให้ผมมีปัญหา  

รู้สึกแย่จัง ผมไม่ได้ซื้อโดรนเพื่อมาทำธุรกิจ เงินซื้อโดรนก็เงินของผมเอง ไหนจะต้องมาจ่ายค่าเบี้ยประกันอีกอย่างน้อยก็หลายพันบาทต่อปี แล้วก็ไม่รู้ว่า บริษัทประกันภัยใกล้บ้านเขาจะยอมทำประกันให้หรือปล่าว (เห็นเขาว่าต้องทำประกันกับบริษัทฯ ตามที่ทางราชการกำหนดไว้เท่านั้น ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน)



ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนวัตถุประสงค์การบินโดรน จากการถ่ายภาพประกอบการผลิตรายการเป็นการบินเพื่อการบันเทิงแทน เพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพราะโดรนของผม น.น.ไม่เกิน 2 ก.ก.

ที่ผมเขียนมายืดยาวนี้ มุ่งประสงค์เพื่อให้บรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฏหมายได้ทราบว่า  การบินโดรนนั้น สามารถบินได้ เจตนารมย์ของกฏหมายไม่ได้ริดรอนสิทธิของการบินโดรน ไม่ใช่เอะอะก็สั่ง "ห้ามบิน" อย่างเดียว โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร     
  

***************************
จุฑาคเชน 9 พ.ย.2560

อ่านเพิ่มเติม จิตอาสา..รับบินโดรนเพื่อประโยชน์ทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น: