วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

อาการของคนหมดไฟในการทำงาน

สองวันมานี้ ผมรู้สึกมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบ ๆ ตัว เบื่อกับงานที่กองสุมรอให้ทำ  คิดสงสัยว่าจะเป็นอาการเริ่มแรกของ "โรคซึมเศร้า" หรือปล่าว เลยลองค้นหาอาการดูจาก Google  ค้นไปค้นมา กลับพบว่าอาจเป็นอาการเริ่มแรกของ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" หรือ "Burnout syndrome"  ก็ได้ จึงพยายามค้นหาเรื่องราวมาปะติดปะต่อกัน พอสรุปได้ ดังนี้ 

ที่มาของภาพ https://social.tvpoolonline.com/news/113896


ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (2562 : ออนไลน์) กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่ 
  1. มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ
  2. มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ 
  3. มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า
ลักษณะงานที่อาจทำให้คนรู้สึกหมดไฟในการทำงานของตน มีดังนี้ 
  • ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
  • ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป
  • รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
  • ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
หากผู้บริหารองค์กรหรือเจ้านาย ปล่อยให้เกิดลักษณะงานอย่างนี้แก่ลูกน้อง อาจเสี่ยงต่อการทำให้ลูกน้องหมดไฟในการทำงานได้ 



หมดไฟเต็มที่ (Full scale of  Burnout) 
ระยะต่าง ๆ ในการทำงานซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) แบ่งได้ดังนี้
  1. ระยะฮันนีมูน (The honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร
  2. ระยะรู้สึกตัว (The awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า
  3. ระยะไฟตก (brownout) คนที่งานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง
  4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่
  5. ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเอง และความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย
หากเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน จะส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
  • ผลด้านร่างกาย อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
  • ผลด้านจิตใจ บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์
  • ผลต่อการทำงาน  อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
สัญญาณเตือนว่าเริ่มเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
  • อาการทางอารมณ์ หดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ
  • อาการทางความคิด เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา
  • อาการทางพฤติกรรม หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง
หากเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรจัดการอย่างไร
  • พัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง การยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง
  • ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น
  • แสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษา (coach and mentor)
  • ร่วมกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
เคล็ดลับแก้อาการหมดไฟในการทำงาน
  1. ค้นหาเหตุผลให้เจอ แล้วหาวิธีแก้
  2. สนุกไปกับเป้าหมายใหม่ๆ แม้จะทำงานเดิม ๆ
  3. นอนหลับให้เพียงพอ ชาร์ตพลังให้เต็มที่ แล้วมาสู้งานต่อไปในวันต่อไป
  4. หาเวลาเบรกระหว่างวัน  ผละออกจากงาน ไปคุยเล่น ๆ กับเพื่อนร่วมงานบ้าง 
  5. เปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ ๆ หาประสบการณ์ใหม่ หารสชาดใหม่ ๆ ให้ชีวิต
ทางด้าน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ทำการวิจัยด้านการตลาดในหัวข้อเรื่อง “BURNOUT IN THE CITY” โดยทำการสำรวจของคนวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,280 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 34% และผู้หญิง 66% ทำการศึกษาคนที่อยู่ในทุก Generation ตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z  จากผลวิจัยดังกล่าว พบว่า คนกรุงเทพ 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน 57% อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำงาน และ 31% ไม่อยู่ในภาวะหมดไฟ  สาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟมาจากสาเหตุหลัก 4 อย่าง ได้แก่ (Pang. 2563 : ออนไลน์)
  1. ปริมาณงานไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนทำงาน
  2. การทำงานในยุคปัจจุบัน คนหนึ่งคนอาจจะต้องแบกภาระงานมากถึง 4 – 5 อย่างในตำแหน่งเดียว ทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้
  3. ขาดอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ การขาดอุปกรณ์ที่ช่วยให้งานสำเร็จได้ง่ายขึ้นหรือช่วยลดกระบวนการในการทำงาน ทำให้คนทำงานในยุคนี้ต้องใช้เวลาทำงานนานจนท้อ และรวมถึงเพื่อนร่วมงาน งานวิจัยพบว่า ถ้าคนทำงานยุคนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานก็ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟได้
  4. โครงสร้างองค์กรที่ยุ่งเหยิง และหัวหน้าที่ไม่ดีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการหมดไฟในที่ทำงานคือ หากองค์กรขาดความยืดหยุ่นในเชิงโครงสร้างการจัดการ รวมถึงหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ มากกว่านั้นหากมีการเลือกที่รักมักที่ชัง ก็จะส่งผลให้คนที่ทำงานเกิดปัญหาหมดพลังหรือหมดไฟในการทำงานได้ง่ายๆ
ที่มาของภาพ https://brandinside.asia/burnout-in-the-city/

ผลการวิจัยยังพบวิธีการคลายเครียดที่คนทำงานในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเลือกใช้มีดังนี้ เล่น Social media พูดคุยกับครอบครัว พูดคุยกับเพื่อน ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นเกม ทานอาหาร สวดมนต์ ดูภาพยนตร์

FRESH strategy 
งานวิจัยเรื่อง BURNOUT IN THE CITY ได้เสนอแนะกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่จะตอบโจทย์คนหมดไฟในการทำงานโดยเรียกชื่อกลยุทธ์ว่า “FRESH strategy” ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีความสดใหม่และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างปัญหาของคนหมดไฟ โดยแบ่งได้ดังนี้
  • F = Fulfil Friend and Family การทำธุรกิจจะต้องเข้าถึงกลุ่มเพื่อน และครอบครัว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้เช่น คอร์สสอนทำอาหารเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนกันเป็นครอบครัว หรือเรียนกับกลุ่มเพื่อน
  • R = Recharge your energy  ธุรกิจที่พร้อมเยียวยาคนหมดไฟอย่างเร่งด่วน เช่น คาเฟ่สุนัข เพื่อช่วยในการบำบัดความเครียด
  • E = Entertainment แน่นอนว่าคนที่เครียดก็ต้องการสิ่งบันเทิงในการบรรเทาความเครียด ธุรกิจอย่างภาพยนตร์ สตรีมมิ่ง หรือแอปพลิชันใช้ฟังเพลงจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตในยุคนี้
  • S = start something new เพราะการทำงานแบบเดิมๆ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ ธุรกิจที่พาไปเปิดโลกใหม่จึงเป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงสมบุกสมบันออกแนวผจญภัย หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • H= heal your health  แน่นอนว่าภาวะหมดไฟ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ดังนั้นเทรนด์ธุรกิจสุขภาพที่จะช่วยบำบัดจิตใจจึงน่าสนใจ อย่างในต่างประเทศมีบริการ chatbot ที่จะช่วยให้คนหมดไฟมาระบายปัญหา ความเครียด เพราะถึงที่สุดแล้ว หนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ คือการได้ระบายความในใจออกไป ไม่ว่าจะได้พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือเทคโนโลยีที่เข้าใจอาการเหล่านี้ก็ตาม
ICD-11
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้บรรจุ ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ เบิร์นเอาต์ (burnout) ลงในบัญชีโรค และอาการผิดปกติต่างๆ ในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ ฉบับ 11 (International Classification of Diseases : ICD-11) มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2565 โดยให้คำจำกัดความของ ภาวะหมดไฟในการทำงานว่า เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดในการทำงานเรื้อรัง และไม่ได้รับการดูแล แบ่งลักษณะอาการได้สามกลุ่ม ได้แก่ (Patta.pond. 2562 : ออนไลน์)
  1. รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีพลัง
  2. มีทัศนคติที่ไม่ดีต่องาน มีอาการต่อต้านการทำงาน
  3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

***************************************
ที่มาข้อมูล
  • ภาควิชาจิตเวชศาสตร์. (2562). ภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout syndrome).คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. [Online]. Available: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1385. [2564 มีนาคม 2]
  • Pang. (2563). รู้หรือไม่ คนกรุงเทพ 7 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ ผลวิจัยเผย ธุรกิจอะไรที่จะตอบโจทย์คนเหล่านี้.Brandinside. [Online]. Available: https://brandinside.asia/burnout-in-the-city/.[2564 มีนาคม 2]
  • Patta.pond. (2562). องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" เป็นภาวะทางการแพทย์. MangoZero. [Online]. Available: https://www.mangozero.com/burntout-as-a-disease/. [2564 มีนาคม 2]

ไม่มีความคิดเห็น: