วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

สามเหลี่ยมมุมฉากของ ศ.ดร.เสริมศักดิ์


เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2550 ผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิด ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ราชบัณฑิตและประธานกรรมการคุรุสภา ณ โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งพวกเราชาวศิษย์เก่า มศว. ในเขตพื้นที่ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคิรีขันธ์ และสุพรรณบุรี ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสถานที่จัดงานจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตามศักยภาพของพวกเราแต่ละคน จริงๆ แล้ว วันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์ คือวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ที่ต้องมาเลี้ยงในวันนี้ เนื่องจากท่านอาจารย์พึ่งมีเวลาว่าง


ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ เป็นอาจารย์ของผม ตอนเรียนปริญญาโท ที่ มศว. ทุกครั้งที่เลี้ยงวันเกิดให้ท่าน ท่านจะมีสิ่งดีๆ มาคอยสั่งสอนให้พวกเราฟังอยู่เสมอ อย่างเช่นในวันนี้ ท่านได้มอบหนังสือ “ความเป็นครูมืออาชีพ” ให้ 1 เล่ม ซึ่งเป็นคำบรรยายและบทความของท่านอาจารย์เอง และ ดร.จักรพรรดิ วะทา เลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้จัดพิมพ์ให้เมื่อเดือนสิงหาคม 2550

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงอยากจะนำแนวคิดสามเหลี่ยมมุมฉากของท่าน ซึ่งเป็นบางส่วนในหนังสือเล่มนี้ มาแลกเปลี่ยนรู้ให้ทุกคนได้อ่าน แนวคิดของท่านอาจารย์ คือ (ดูรูป 1 ประกอบ) สามเหลี่ยมมุมฉากมี 3 ด้าน ด้านตรงข้ามมุมฉากคือด้านยาวที่สุด (ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ยาวที่สุด) ซึ่งท่านอาจารย์แทนด้านยาวที่สุดนี้ว่าเป็น “วิธีสอน” ส่วนด้านตั้ง คือ “ผู้เรียน” และด้านนอนคือ “เนื้อหา” ซึ่งท่านเชื่อว่า ครูที่ดีต้องรู้ทั้งสามเรื่อง คือ ต้องรู้จักวิธีสอน ต้องรู้จักเนื้อหาที่จะสอน และต้องรู้จักผู้เรียนด้วย



วิธีสอน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (เหมือนด้านที่ยาวที่สุด) วิธีสอนต้องเหมาะสมกับผู้เรียน และต้องสอดคล้องกับการเนื้อหา


หากลองดูรูปที่ 2 หากเราเปรียบด้านตั้งเป็นนักเรียน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะมีข้อแตกต่างและความไม่เท่ากัน (ด้านทั้งสองจึงมีความยาวไม่เท่ากัน) แต่เนื้อหา (ด้านนอน) ยังคงเท่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ด้านตรงข้ามมุมฉาก ซึ่งหมายถึงวิธีการสอนนั่นเอง
หลังจากได้อ่านแล้ว ผู้ที่เป็นครูลองคิดไตร่ตรองดูว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่คุณครูต้องพยายามพัฒนาตนเอง วันนี้..คุณครูรู้จักเด็กนักเรียนในห้องเรียนของคุณครูดีมากน้อยแค่ไหน? และหากแต่ละคนมีข้อแตกต่างและความไม่เท่ากันแล้ว วิธีการสอนของคุณครูจะเป็นอย่างไร?

ไม่มีความคิดเห็น: