การแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา จังหวัดราชบุรี ประจำปี 2553 ในครั้งนี้ ได้รับทราบข่าวดีว่าทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี จัดสรรงบประมาณให้ถึง 1,500,000 บาท และมีงบประมาณของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาอีก 200,000 บาท รวมเป็น 1,700,000 บาท ดูท่าว่าการกีฬาของนักเรียน นักศึกษาของ จ.ราชบุรี ปีนี้น่าจะสามารถจัดให้ยิ่งใหญ่ เป็นที่ภาคภูมิใจได้ หลังจากที่กร่อยมาเป็นเวลานาน จัดกันแบบพอผ่านไปที แบบที่เรียกว่า จัดให้มันเสร็จๆ ไป...
แต่หลังจากดูผลการประชุมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อ 2 มิ.ย.2553 ที่ผ่านมา ดูท่าทางจะเหมือนเดิมกับปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่อุตส่าห์ส่งผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาดูงาน เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.2552 ที่ผ่านมา ในการจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ประจำปี 2552 ของจังหวัดพัทลุง แต่กลับไม่ได้เอาเยี่ยงและเอาอย่างของเขามาเลย (อ่านรายละเอียดการดูงานที่พัทลุง)
สิ่งที่สำคัญของ "กีฬานักเรียน นักศึกษา" จะต้องเป็นเกมส์ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายในจังหวัดจะต้องช่วยกันระดมทรัพยากรและความคิด สร้างเกมส์ของพวกเขาให้ยิ่งใหญ่ ให้เป็นที่ภาคภูมิใจ จนกลายเป็นกิจกรรมที่นักเรียน นักศึกษา ทุกคน เฝ้ารอคอยที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันอันมีเกียรติในทุกๆ ปี
หลายคนอาจบอกว่า หากจะทำให้เหมือนพัทลุง มันต้องใช้เวลา, ใช้เงิน, ใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คำพูดเช่นนี้ จ.พัทลุงเขาพูดมาตั้งแต่ 61 ปีที่แล้ว แต่เขาก็พยายามก้าวเดินไม่ได้หยุดนิ่ง หาก จ.ราชบุรีของเรา ไม่เริ่มก้าวเดินและคิดริเริ่มใหม่ ก็คงเดินไปไหนไม่ได้สักที "เราย่ำเท้า ขณะที่คนอื่นเขาก้าวเดิน" แล้วยิ่งปีนี้มีเงินที่ อบจ.สนับสนุนให้ ถึง 1,500,000 บาท จึงรู้สึกเสียดาย
กลยุทธ์ที่จะจัดกีฬานักเรียน นักศึกษา ของ จ.ราชบุรี ให้ยิ่งใหญ่ ผมได้เคยเขียนไปแล้ว พอจะนำมาสรุปเพื่อทบทวนอีกครั้งโดยสังเขป และอาจเพิ่มเติมในบางประเด็น ดังนี้
- กลยุทธ์จับเข่าคุยกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ต้องเป็นผู้นำการประชุมหารือ และถือเป็นวาระของจังหวัด (อย่างจริงใจและมีความตั้งใจแนวแน่ที่จะทำเพื่อนักเรียน นักศึกษาของจังหวัดราชบุรี) ควรมีการกำหนดนโยบายการจัดการแข่งขันให้ชัดเจน และอาจขอความร่วมมือจากองค์กรจากภาครัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ให้ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันบริจาคหรือระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันกีฬาฯ ในครั้งนี้ (เพิ่มเติมจากงบประมาณที่มีอยู่)
- กลยุทธ์ Put the right man on the light job. พยายามแต่งตั้งคณะทำงานต่างๆ ให้ตรงตามอำนาจและบทบาทหน้าที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถอำนวยการให้การจัดการแข่งขันเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่สับสน ทุกคนมีเอกภาพในการทำงาน ผู้มีอำนาจมอบอำนาจให้ผู้ขับเคลื่อนและผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน
- เปลี่ยนช่องทางการจัดการแข่งขัน จากเดิมที่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 และ 2 และเครือข่ายโรงเรียนต่าง ๆ (ซึ่งมีบทเรียนของความล้มเหลวมาแล้วในปีที่ผ่านมา) เปลี่ยนเป็นช่องทางจัดการแข่งขันผ่าน ท่านนายอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ โดยในแต่ละอำเภอสามารถเสนอกิจกรรมเป็น 3 หน่วยกิจกรรม คือ หน่วยกีฬา หน่วยเชียร์ และหน่วยขบวนพาเหรด โดยให้นายอำเภอเป็นผู้ประชุมสถานศึกษาในเขตอำเภอของตนเอง ในแต่ละอำเภอจะจัดกี่หน่วยกิจกรรมก็ได้ ตามศักยภาพที่มี และทางจังหวัดจะจัดสรรงบประมาณให้ตามหน่วยกิจกรรมนั้นๆ เช่น
1.ในโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้ครบทั้ง 3 หน่วย คือ หน่วยกีฬา หน่วยเชียร์ และหน่วยขบวนพาเหรด ก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้ง 3 หน่วยกิจกรรม
2.ในโรงเรียนขนาดกลาง อาจจะจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้เพียง 2 หน่วย คือ หน่วยกีฬา และหน่วยขบวนพาเหรด ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียง 2 หน่วยกิจกรรม
3.ในโรงเรียนขนาดเล็ก หากไม่สามารถจัดตั้งหน่วยกิจกรรมได้ ให้ไปรวมกันจัดหน่วยกิจกรรมในระดับ เทศบาล หรือ อบต. ของตนเอง - จัดให้เป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษา ประจำปี ของจังหวัด อาจใช้เวลาสัก 5-7 วัน (กีฬาชนิดใดมีทีมเข้าแข่งขันมากอาจจัดการแข่งขันล่วงหน้าก่อน) โดยหยุดการจัดการเรียนการสอนทั้งจังหวัด เพื่อให้ผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองมาเข้าร่วมกิจกรรม จัดให้มีพิธีเปิดและปิดที่ยิ่งใหญ่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี มีขบวนพาเหรดจากโรงเรียนของอำเภอต่างๆ มาเข้าร่วม พร้อมกองเชียร์ โดยพร้อมเพรียงกัน พร้อมกันนั้นก็จัดให้มีกิจกรรมทางวิชาการ งานสัปดาห์หนังสือ งานนิทรรศการทางการศึกษา หรือการแสดงผลงานของนักเรียน ควบคู่กับงานมหกรรมการแข่งขันฯ ไปด้วย
หากมีการจัดการแข่งขันเช่นนี้แล้ว กุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับคนอย่างน้อยเพียง 11 คน ก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั้ง 10 ท่าน แต่หากจัดการแข่งขันแบบเดิมๆ แล้ว กุญแจแห่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 , เขต 2 และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ทำหน้าที่เป็นประธานเครือข่ายอีก 23 คน ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่สำเร็จ..มันเป็นเบี้ยหัวแตก และไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับนักเรียน นักศึกษาของ จ.ราชบุรีเลย...
ผมไม่รู้ว่า เจ้าของเงิน คือ อบจ.ราชบุรี และ เจ้าของเกมส์ คือ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ราชบุรี คิดอะไรกันอยู่...น่าเสียดาย..
อ่านเพิ่มเติม : จ.ราชบุรี จะสร้างกีฬานักเรียนอย่างไร? ให้เหมือนพัทลุง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น