วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การอนุรักษ์ควรควบคู่ไปกับการพัฒนา

การอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนชาติตนเอง  นับว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ก็ไม่ควร เน้นแต่การอนุรักษ์ จนไม่พยายามพัฒนาปรับปรุงหรือสร้างเสริมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม  งบประมาณโครงการต่างๆ ของส่วนราชการ ส่วนใหญ่จะทุ่มเทลงไปด้านการอนุรักษ์ฯ  แม้แต่ในแวดวงการศึกษาเองก็ตาม ก็มักจะเน้นให้เด็กนักเรียนต้องอนุรักษ์เอาไว้ จนลืมที่จะเน้นให้มีการปรับปรุงและพัฒนาควบคู่กันไป ให้ทันยุคทันสมัย จะได้ไม่สูญหายไปจากสังคมไทย เหมือนกับประเพณีหลายอย่าง ก็ได้สูญหายไปแล้ว  

ลองสังเกตุดูในปัจจุบัน ใครๆ ก็อยากแต่จะสร้าง ตลาดเก่า ตลาดน้ำ ตลาดโบราณ กาแฟโบราณ วิถีชีวิตโบราณ การแสดงโบราณ การละเล่นโบราณ รื้อฟื้นประเพณีเก่าๆ ของคนโบราณ มาสร้างจัดฉาก แล้วขายให้นักท่องเที่ยวได้ชม  แล้วบอกว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฯ  หรือบางทีก็เติมคำว่า ฟื้นฟู ลงไปด้วย บางแห่งที่จะสร้างนั้น ไม่มีอะไรโบราณเลย สร้างขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น 

คนไทยไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ มาขายแล้วหรือ  จึงต้องขุดเอาของเก่า ของโบราณ มาขาย ในมุมมองส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก  เพียงแต่การนำของเก่า ของโบราณมาขาย ก็น่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงของเก่า ของโบราณเหล่านั้น ให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย

เราอย่านึกว่าของเก่า ของโบราณจะไม่มีวันสูญหายจากเราไป ลองดูการต่อสู่้วัวกระทิงในสเปนเป็นตัวอย่าง  คนสเปนออกมาช่วยกันรณรงค์ให้รัฐออกกฏหมายเลิกการต่อสู้นี้เสีย ทั้งๆที่เป็นประเพณีที่ต่อเนื่องสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และยังเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย ทำไม ? ชาวสเปนจึงไม่อนุรักษ์ไว้

หากเราพยายามพาคนของเราไปในอดีตเรื่อยๆ เขาก็จะไม่คิดถึงการสร้างในอนาคต

ทำไม ?
ทำไม? เราต้องขี่มอเตอร์ไซต์ที่ทำจากประเทศญี่ปุ่น
ทำไม? เราต้องขับรถยนต์ยี่ห้อที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
ทำไม? เราต้องซื้อทีวี โทรศัพท์มือถือของเกาหลี
ทำไม? เราผลิตคอมพิวเตอร์เองไม่ได้
ทำไม? เราต้องไปซื้อของที่เทสโก้โลตัส แทนที่จะซื้อที่ร้านค้าใกล้บ้าน
ทำไม? โรงแรม รีสอร์ท ในประเทศไทยที่เรานอน จึงมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
ตอบ :  เหตุผลอย่างเดียวคือ เขามีการพัฒนาปรับปรุงนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ คนเหล่านี้ "คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้ และขายเป็น" 

น่าสงสาร !
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุต้องขึ้นเวทีมาแสดงการละเล่นพื้นบ้าน โดยไม่มีคนดู
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุต้องแต่งกายตามประเพณีและเผ่าพันธ์ของตน ออกมาร่วมขบวนแห่เดินไปตามท้องถนนในหน้าเทศกาล แต่ลูกหลานกลับไม่สนใจที่จะสวมใส่มัน
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุที่ต้องออกมาสาธิตการทอผ้าให้ดู แต่คนกลับแห่ไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปยี่ห้อดังมาใส่
น่าสงสาร! ที่ผู้สูงอายุมาแสดงการทำอาหาร ทำขนมโบราณให้ดู แต่น้องหนูกลับไปซื้อไก่ KFC มากินแทน
น่าสงสาร! ที่วัดมีแต่คนแก่ๆ ฟังเทศน์ ทำบุญ แต่เด็กๆ กลับไปอยู่ร้านเกมส์และโรงหนัง
น่าสงสาร! ที่ลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง ไม่มีคนจะดู
น่าสงสาร! ที่รำวงย้อนยุคมีแต่คนแก่ๆ มาเต้นกัน
น่าสงสาร! ที่เด็กๆ ถูกบังคับให้แสดงการรำพื้นบ้าน โดยผู้ใหญ่บอกว่าเป็นการสืบสานประเพณี แต่พอแสดงจบ เด็กๆ ก็รีบไปเปิด MV จาก IPOD
น่าสงสาร! ที่เราพยายามรณรงค์ให้ทุกคนแต่งกายตามประเพณีไทย  แต่ไฉนวัยรุ่นจึงเลือกที่จะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น กันหมด
ตอบ : เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาแต่จะอนุรักษ์อย่างเดียว ไม่พยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันต่อโลกและยุคสมัย   

ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมา "เรามักจะเน้นการอนุรักษ์ แต่ไม่เน้นการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย" ตัวอย่างเช่น ลิเก ละครชาตรี หนังตะลุง ตอนนี้แทบจะสูญพันธ์ไปจากประเทศไทยแล้ว  เพราะแสดงแล้วไม่มีคนดู   

คำถามก็คือ แล้วทำอย่างไร ถึงจะให้คนหันมาชอบดูลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง
คำตอบ ก็คือ เราต้องพัฒนาการแสดงของลิเก ละครชาตรี และหนังตะลุง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย 
  
ดังนั้น การสร้างให้คนไทยรู้จัก "คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้ และขายเป็น"  เป็นเรื่องที่สำคัญ  เน้นว่าต้องมีคำว่า "ขายเป็น" ด้วยนะ ลองดูตัวอย่างสินค้า OTOP คนไทยเก่งมาก คิดเป็น ทำเป็น พัฒนาได้  แต่ขายไม่เป็น

หากเราไม่ช่วยกันสร้างแล้ว คนไทยก็จะ "คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น พัฒนาไม่ได้ ซื้อเป็นอย่างเดียว"   

เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 31 ก.ค.2553
ที่มาของภาพ
ภาพบน :
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=384

ภาพล่าง : http://modernine.mcot.net/inside.php?modid=2174?modtype=3

ไม่มีความคิดเห็น: