วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและอบรม

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "บันทึกศรีทอง"  เล่ม 2 ของนายแพทย์พนัส  พฤกษ์สุนันท์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ซึ่งท่านพิมพ์แจกในโอกาสเกษียณอายุราชการ  ท่านได้เขียนคำจำกัดความของศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและอบรม ไว้สั้นๆ เข้าใจง่าย ผมจึงถือโอกาสคัดลอกนำมาไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเผยแพร่ต่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย ลองอ่านดูนะครับ

คำระบุกรอบแนวคิดการประชุม (Words emphasize concept of meeting)
  1. Assembly  หมายถึง กลุ่มคน ชมรม สมัชชา หรือสมาคม ที่มาร่วมประชุมกันเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องเดียวเท่านั้น เช่น การฟังบรรยายเฉพาะประเด็นจากผู้เชียวชาญ (Speaker) การประชุมเรื่องสุขภาพแห่งชาติเป็นต้น
  2. Caucus หมายถึง การประชุมของสภาผู้แทน หรือพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการท้องถิ่นระดับหัวหน้า เพื่อกำหนดนโยบายหรือคัดเลือกผู้สมัครแข่งขัน คำนี้ใช้เฉพาะกับการเมืองและเป็นการประชุมปิดเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
  3. Congress หมายถึงการประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้แทนองค์กรต่างๆ เช่น การประชุมองค์กรแพทย์นานาชาติ ซึ่งอาจมีการประชุมหลายครั้งต่อเนื่องกันไป และคำนี้ยังใช้กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของชาติด้วย
  4. Conferrence หมายถึง การประชุมที่มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง หรือประสบการณ์เป็นหลัก ไม่เน้นทฤษฎี ผู้เข้าร่วมประชุมมีได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึงหลายพันคน โดยมีประเด็นที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน รวมถึงการประชุมปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเพื่อเตรียมจัดประชุมที่เป็นทางการ
  5. Convention หมายถึง การประชุมของกลุ่มวิชาชีพเดี่ยวกันเท่านั้นคนอื่นไม่เกี่ยว (A conferrence of members of profession.) หรือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของนักการเมือง (A large formal assembly ; "political convention".) และยังหมายถึงข้อตกลงทางการทูตระหว่างประเทศ (An international diplomacy agreement)
  6. Summit หมายถึง การประชุมระหว่างผู้นำประเทศ หรือระหว่างผู้บริหารขององค์กรตั้งแต่ 2 ประเทศ หรือ 2 องค์กรขึ้นไป

Conferrence
ที่มาของภาพ
http://www.devoxx.com/display/JV08/Conference
 คำที่ระบุประเด็นในการเรียนรู้ (Words emphasize the idea of learning)
  1. Course หรือ ชุดการเรียน หมายถึง ชุดการบรรยายหรือบทเรียนที่มีความต่อเนื่อง
  2. Consortium หมายถึง การประชุมเฉพาะกิจ ชั่วครั้งชั่วคราว ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมมีหลายวิชาชีพ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ มาพูดคุยกัน และยังหมายถึงการรวมตัวของหน่วยงานเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างเป็นการเฉพาะ
  3. Seminar หมายถึง การประชุมกลุ่มเล็กๆ เพื่ออภิปรายในประเด็นเฉพาะ ทั้งนี้ต้องมีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมการประชุมและนำผลการประชุมไปใช้ เช่น การประชุมของนักศึกษาร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานหรือวิทยานิพนธ์ เป็นต้น
  4. Training หมายถึง กระบวนการเตรียมคนเข้าสู่งาน หรือสร้างพฤติกรรม หรือทักษะที่ต้องการตามมาตรฐาน โดยการสั่งสอน การฝึกปฏิบัติ และการประเมินผล
  5. Tutorial หมายถึง การสอนงานอย่างเข้มข้นให้กับบุคคลหรือนักศึกษา 1-2 คน หรือกลุ่มเล็กๆ ในห้วงเวลาหนึ่ง
  6. Workshop หมายถึง การอภิปรายและฝึกปฏิบัติในหัวเรื่องเฉพาะ หรือ สมาชิกกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเจตคติต่อหัวเรื่องนั้นๆ หรือการประชุมที่สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างเข้มข้นและเน้นการแก้ปัญหา

Seminar
ที่มาของภาพ
http://www.ccagr.com/content/view/56/143/

คำที่ระบุรูปแบบของการแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้ (Words emphasize the style of information exchange)
  1. Forum หมายถึง การประชุม การเสวนา หรือบรรยายที่ผู้ฟังมีส่วนร่วม กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 20 คน แต่บางครั้งอาจมีจำนวนมาก รวมถึงเวทีสาธารณะที่เปิดสำหรับคนทั่วไปเข้าร่วมอภิปราย
  2. Panel หมายถึง กลุ่มของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ให้มาอภิปรายต่อหน้าผู้ฟัง ผู้ฟังไม่มีส่วนร่วม จนกว่าผู้อภิปรายทุกคนจะได้พูดหมดแล้ว จึงเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามหรือร่วมอภิปราย นอกจากนั้นยังหมายถึงกลุ่มคณะกรรมการตัดสินการประกวด
  3. Symposium หมายถึง กลุ่มของผู้รู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เสนอมุมมองในหัวข้อที่กำหนดหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้องตามลำดับทีละคน โดยทั่วไปมักเกี่ยวกับการวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในงานวิจัยที่ผู้วิจัยนำเสนอ
  4. Focus group discussion หมายถึง การอภิปรายกลุ่มเล็กๆ 6-8 คน มักใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัย มีเกณฑ์การเลือกคนเข้ากลุ่ม ใช้คำถามเป็นแนวทางอภิปราย โดยมี Moderator เป็นผู้ยิงคำถาม มีเทคนิคให้กลุ่มออกความเห็น มีคนบันทึกเทป หรือจดบันทึก อาจมีการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม อาหารว่าง ของชำร่วย

Symposium
ที่มาของภาพ
http://web.sma.nus.edu.sg/smaconnect/issue0401/Symposium%20Extravaganza.asp
ที่มาข้อมูล
พนัส  พฤกษ์สุนันท์. (2553). บันทึกศรีทอง เล่ม 2 : ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี. แจกจ่ายเมื่อ 9 ก.ย.2553 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ. (หน้า 28-30)

ไม่มีความคิดเห็น: