วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

กองทุนครูของแผ่นดิน : เหตุเกิดที่ราชบุรี (ทำไมต้องมีการบังคับ)

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคเพื่อเป็นทุนประเดิมการจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา" ซึ่งจะขอพระราชทานชื่อเป็น "กองทุนครูของแผ่นดิน"  โดยการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เผยแพร่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน รวมทั้งการระดมทุนเพื่อสมทบทุนกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยผู้ร่วมบริจาคสามารถนำเงินที่บริจาคหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้

ซึ่งการจัดตั้งกองทุนนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 52 ให้มีกองทุนในการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดกิจกรรม "ร่วมบริจาคเพื่อเป็นทุนประเดิม เพื่อจัดตั้ง กองทุนครูของแผ่นดิน" ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ในระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.2554

การจัดตั้งกองทุนฯ นี้ แนวคิดก็เหมือนกับกองทุนฯ "สสส." แต่กองทุน สสส. เป็นกองทุนที่ซึ่งรัฐนำเงินจากภาษีในอัตราร้อยละ 2 จากผู้ผลิตนำเข้า สุราและยาสูบมาสมทบ  ซึ่งทำให้กองทุน "สสส" นี้เป็นกองทุนที่ยั่งยืน  แต่ "กองทุนครูของแผ่นดิน" นี้ ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากส่วนไหนดี ที่จะให้เป็นกองทุนที่ยั่งยืนอย่าง "สสส."  แต่ผมคิดว่ารัฐบาลคงมีแนวทางเหล่านี้เอาไว้แล้วละครับ... 

เจตนารมณ์สำคัญของการระดมทุนเพื่อจัดตั้ง "กองทุนครูของแผ่นดิน" ในครั้งนี้ อยู่ที่คำว่า
 "การบริจาคตามศรัทธา" 

แต่ทว่าที่ราชบุรีของผมมีเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือ
"ขอหักเงินเดือนจากคุณครูในโรงเรียนเพื่อสมทบกองทุน" 

บางโรงเรียนก็คนละ 100 บาท บางโรงเรียนก็คนละ 200 บาท  แถมบางโรงเรียนแต่ยังมีวลีนำหน้าเอาไว้ด้วย ว่า "ไม่ต่ำกว่า XXX บาท"  ผมไม่ทราบว่า ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการโรงเรียน   เหล่านี้  กำลังคิดอะไรอยู่  เริ่มแรกก็ผิดเจตนารมย์ของ ศธ. เสียแล้ว  หรือ คนเหล่านี้ต้องการยอดเงินบริจาคเพื่อหน้าตาของใครสักคน ก็ไม่ทราบได้....  

การบริจาคเงินสมทบกองทุนฯ ในครั้งนี้ "ครูบางคนก็อาจไม่คิดอะไรมาก" แต่ในความเห็นของผมแล้ว มันน่าจะเกิดจากความสมัครใจของคุณครูเอง มากกว่าการบังคับ ร่วมบริจาคตามกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาที่มี ใครมีน้อย ก็บริจาคน้อย ใครมีมากก็บริจาคมาก ใครไม่มีก็ไม่เป็นไร  แต่นี้กลับกลายเป็นการกระทำเชิงบังคับครูเช่นนี้  ผมคิดว่า "ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง"

ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการโรงเรียน ใน จ.ราชบุรี ควรที่จะไปรณรงค์ เผยแพร่ ขอการสนับสนุน และระดมเงินจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ  และองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ให้เห็นความสำคัญและช่วยเหลือสมทบกองทุนฯ ในครั้งนี้  มากกว่าวิธีคิดง่ายๆ คือการบังคับหักเงินเดือนครู ด้วยกันเอง...  

ผมไม่รู้ว่าการหักเงินครูเพื่อสมทบกองทุนฯ เป็น "ใบสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการ" หรือเป็น "ใบสั่งจากผู้บริหารการศึกษาในราชบุรีด้วยกันเอง"

หากหัวหน้าครอบครัวบอกว่า จะหาเงินสักก้อนหนึ่งมาช่วยพัฒนาคนในครอบครัว...แต่กลับหักเงินจากคนในครอบครัวกันเอง..แล้วหัวหน้าครอบครัว...ก็เอาเงินไปถือไว้...และคนในครอบครัวที่ถูกหักเงินไป ก็ยังไม่รู้ว่า หัวหน้าครอบครัวจะเอาเงินไปทำอะไร...อย่างนี้ ศธ.ต้องอธิบายให้ชัดเจนครับ...

ผมไม่รู้ว่า  ครูในจังหวัดอื่นๆ ถูกหักเงินเดือนเช่นนี้หรือปล่าว...แต่ที่ราชบุรีมันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ ครับ ในสิ้นเดือนนี้.... 

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยครับ แต่รู้สึกว่าจะไม่บังคับ แต่มีการกำหนดยอดเงินมาให้นะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่าสงสารครูไทย ต้องพัฒนาโดยอาศัยเงินบริจาค คิดได้ไง ยุคนี้การศึกษาไทยเพี้ยนไปแล้ว ผู้บริหารระดับสูงชอบใช้วาทกรรม แล้วอย่างนี้ปฏิรูปการศึกษารอบสองก็คงมืดมนมองไม่เห็นฝั่งเหมือนรอบแรก แค่ปฏิรูปโครงสร้างก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ(ประถม-มัธยม)
คุณภาพนักเรียนไม่ต้องพูดถึงเด็ก ม1 อ่านหนังสือไม่ออก ทั้งทีครูมีเงินวิทยฐานะทุกคน..น่าเศร้า