วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

งานวิจัย กับ การพัฒนาครู คณาจารย์เพื่อคุณภาพการศึกษา


เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 13 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ประเด็นหลักคือ “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา”
ในวันเปิดการประชุมช่วงเช้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ต่อจากนั้น รศ.ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การวิจัยกับการพัฒนาครู คณาจารย์ เพื่อคุณภาพการศึกษา” ซึ่งเป็นการบรรยายที่น่าสนใจมาก ผมจึงนำเอาสาระตามที่จำได้ และบางส่วนที่จดบันทึกไว้มาเขียนตามความเข้าใจของผม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งสาระบางส่วนอาจขาดหายเพราะจดไม่ทัน จำไม่ได้ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ความหมายของการวิจัยการวิจัย ซึ่งภาษาอังกฤษ เขียนว่า “research” นั้น อ.วราภรณ์ฯ ได้แยกคำออกจากกัน โดยคำว่า re เมื่อไปเติมนำหน้าคำใด จะหมายถึง นำกลับมาใหม่ ทำซ้ำอีกครั้ง ทบทวน หรือย้อนกลับ ส่วน search หมายถึงการค้นหา ดังนั้น research จึงน่าจะหมายความถึง การค้นหาใหม่ การค้นหาความจริง จนพบความจริง (Truth) แต่นักวิจัยต้องพึงระลึกเสมอว่า ความจริง(Truth) กับข้อเท็จจริง (Fact) นั้น มีความหมายแตกต่างกัน ดังนั้น นักวิจัยต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน
การวิจัย คือการนำข้อมูล (Data) ที่มีอยู่มาจัดทำเป็นสารสนเทศ (Information) เพื่อให้ได้ความรู้ (Knowledge) หลังจากได้ความรู้แล้วก็จะก่อให้เกิด ปัญญา (Wisdom) แก่ผู้วิจัย นอกจากนั้น การวิจัย อาจหมายถึง การค้นหาข้อมูลจำนวนมากที่มีอยู่ในโลกใบนี้ มาตอบคำถามในสิ่งที่นักวิจัยกำลังค้นหา อาจเทียบได้กับการทำเหมืองข้อมูล (Data mining) นั่นเอง

งานวิจัยเกี่ยวพันกับอะไรบ้างงานวิจัยเกี่ยวพันกับกระบวนการค้นหาความจริง (Truth) เป็นการกระทำให้ความจริงปรากฏแจ่มชัดขึ้น หรืออาจเป็นการคาดการหรือพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกี่ยวพันกับเรื่องราวรอบตัวเรา งานวิจัยมีทั้งเชิงคุณภาพ (Qualitative) และเชิงปริมาณ (Quantitative) งานวิจัยเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์
มีงานวิจัยที่ดีมากมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของไทย แต่มักไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ในการร่างนโยบาย แผน หรือยุทธศาสตร์ รวมถึงนำสู่การปฏิบัติ การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ผ่านมา เริ่มต้นค่อนข้างจะดูดี แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับลงเอยเหมือนเดิม ดังคำพังเพยที่กล่าวว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม่ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”

คนกลัวงานวิจัยเพราะมีมายาคติที่ผิดพอกล่าวถึงงานวิจัย คนทั่วไปส่วนใหญ่มักมีมายาคติ เช่น
1. งานวิจัยต้องยาก ซับซ้อน และใหญ่โต
2. งานวิจัยต้องใช้ตัวเลขและมีโมเดล
3. เฉพาะ “คนที่เหาะได้” เท่านั้น จึงจะทำงานวิจัยได้
4. งานวิจัยต้องใช้ทรัพยากรมาก
5. งานวิจัยต้องตอบคำถามสำคัญเท่านั้น
เหล่านี้เป็นมายาคติที่ผิดเพี้ยนทั้งสิ้น จึงทำให้คนไม่ชอบการวิจัย โดยเฉพาะคุณครูของพวกเรา จริงจริงแล้ว งานวิจัยไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก ซับซ้อน งานวิจัยบางเรื่องแค่ชื่อเรื่องก็อ่านไม่เข้าใจแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่ งานวิจัยต้องเขียนให้คนทั่วไปอ่านและเข้าใจได้ อาจไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขหรือมีโมเดลที่ซับซ้อน เพียงแต่ให้เป็นกระบวนการค้นหาความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลมีขั้นตอน และมีตรรกะรองรับ ใครๆ ก็ทำงานวิจัยได้ เพราะเป็นการค้นหาความจริงเพื่อตอบคำถามที่อยากรู้ คำถามไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามที่สำคัญ แต่ขอให้เป็นคำถามที่มีประโยชน์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานของตนเอง เช่น (ผมยกตัวอย่างเอง) คุณครูอนุบาลท่านหนึ่งอยากจะทราบว่า ทำไม? เด็กนักเรียนในห้องถึงไม่ชอบรับประทานผักคะน้า เมื่อทำการวิจัยหาคำตอบได้แล้วก็สามารถนำไปแก้ไขหรือหาวิธีให้เด็กนักเรียนรับประทานผักคะน้าได้ ประโยชน์ที่ได้รับก็คือ นักเรียนจะได้รับประทานอาหารครบหมู่ งานวิจัยของคุณครูอนุบาลชิ้นนี้ ไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือใช้ทฤษฎีอะไรมากมายเลย เงินทองหรือทรัพยากรก็แทบไม่ได้ใช้
บางครั้ง คนเราพอตั้งท่าจะทำงานอะไรสักที ก็มักบอกว่าต้องมีเงิน แต่ อ.วราภรณ์ฯ บอกว่า อย่ามาอ้างเรื่อง ไม่มีเงิน ต้องบอกว่า ไม่มีสติปัญญามากกว่า เพราะหากมีสติปัญญาก็สามารถหาเงินและทรัพยากรได้
ผมคิดว่าจริงอย่างอาจารย์ว่า ผู้อ่านคงรู้จัก “ง งู” แต่อย่าสะกด “ง=เงิน” ก่อน แล้วจึง “ง=งาน” ควรสะกด “ง=งาน” ก่อน แล้วค่อย “ง=เงิน” หมายความถึง “จงคิดถึงงานก่อน แล้วเงินจะตามมาเอง”
ทำไม ครู อาจารย์ ควรทำวิจัยการทำวิจัยมีประโยชน์ต่อคุณครู อาจารย์ ดังนี้
1. คุณครูจะได้ความจริง (Truth) ที่ต้องการเพื่อตอบคำถามของตนเอง ยกเว้น ว่าคุณครูจะไม่เคยตั้งคำถามอะไรเลย คำถามที่ดี ควรจะถามว่า ทำไม (Why) อย่างไร (How) มากกว่า อะไร (What) หากตั้งคำถามที่มีประโยชน์ ก็จะได้รับคำตอบที่มีประโยชน์เช่นกัน นักเรียนก็เช่นเดียวกัน คุณครูควรสอนให้เขารู้จักตั้งคำถามที่ดี เช่น (ผมยกตัวอย่างเอง) การพาไปทัศศึกษาที่อนุสาวรีย์แห่งหนึ่งแล้วให้เด็กจดบันทึกมาส่งครู ครูควรสั่งให้เด็กนักเรียน ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีอนุสาวรีย์? และทำไมต้องมาอยู่ ณ ที่ตรงนี้? แล้วทำการค้นหา เป็นต้น หากคุณครูยังใส่แว่นตาอันเดิม แล้วมองอย่างเดิม ก็เป็นอย่างเดิม คนที่ประสบความล้มเหลว มักจะตั้งคำถามว่า “จะโทษใครดี” คนที่ประสบความสำเร็จ มักจะตั้งคำถามว่า “จะแก้ไขอย่างไรดี”
2. ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำวิจัย เช่น หากเป็นครูอาจารย์ ก็สามารถใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน ผู้สอนมีความมั่นใจในเนื้อหาการสอนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อถือของผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนสนุกมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาของวิชาลึกซึ้งขึ้น ผู้สอนมีตัวอย่างของจริง และมีความคิดที่ใกล้โลกความเป็นจริงมากขึ้น
3. มีผลทางบวกต่อความเชื่อมั่นในความสำคัญของตนเอง (Self-Esteem) ของตัวผู้วิจัย มีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นและคิดได้ชัดเจนมากขึ้น
4.การทำวิจัยจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในศาสตร์หรืออนุศาสตร์นั้นๆ ผลการวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และธุรกิจ สามารถแปรเปลี่ยนความจริงที่พบเป็นนโยบายและการปฏิบัติต่อไป

การวิจัยก่อให้เกิดการพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษาการวิจัยทำให้
1. ผู้สอน “องอาจ” ยิ่งขึ้น
2. ผู้สอนมีเนื้อหาการสอนแน่น และครบถ้วนยิ่งขึ้น
3. ผู้สอนได้มีโอกาสเป็นนักเรียน
4. ผู้สอนสนุกมากยิ่งขึ้นกับกระบวนการเรียนการสอน
5. ผู้สอนเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ยิ่งขึ้น
6. ผู้สอนเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management)

รศ.ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ได้สรุปไว้ตอนท้ายการบรรยายว่า การวิจัย คือ “การเขย่าไว้ ไม่ให้นอนก้น” การคิดอะไรเหมือนเดิมเดิม จะไม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใดเลย ดังนั้น ต้องเขย่าไว้เรื่อยเรื่อย อย่าให้วิชาความรู้ที่มีอยู่เดิมตกตะกอนนอนก้นลงไปข้างล่าง หมั่นเติมองค์ความรู้ใหม่และเขย่าองค์ความรู้เดิมอยู่เสมอ ผสมคละเคล้าให้เข้ากันจนได้ที่ เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรมใหม่ใหม่ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ของพวกเราต่อไป


จุฑาคเชน : 13 ก.ย.2552

ไม่มีความคิดเห็น: