คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
คดีระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับพวก รวม 22 คน ผู้คัดค้าน เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัยติดต่อกัน สมัยแรกตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และสมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 และมีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 88, 211 และ 212 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในฝ่ายบริหาร ตระเตรียมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารกำหนด
ส่วนบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่าบริษัทชินคอร์ป เดิมจดทะเบียนนิติบุคคล ใช้ชื่อว่าบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด และบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ตามลำดับ ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 5 พันล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท เป็นบริษัทได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐโดยตรง ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2534 และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า บริษัท เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า ทศท นอกจากนี้ บริษัท เอไอเอส ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนกว่าร้อยละ 90 ในบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือที่เรียกโดยย่อว่า บริษัท ดีพีซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า กสท และบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2535 ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่าบริษัท ไทยคม โดยบริษัทไทยคม ร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาด้วย บริษัท ชินคอร์ป ประกอบธุรกิจโดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียม และธุรกิจต่างประเทศ สายธุรกิจสื่อและโฆษณา สายธุรกิจอี-บิซิเนส และอื่นๆ
ผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป และบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2541 ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 32,920,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา ถือหุ้นจำนวน 34,650,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 6,847,395 หุ้น รวม 74,417,395 หุ้น
ในปี 2542 บริษัท ชินคอร์ป มีการเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 15 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตน ซื้อเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 จำนวน 3 ฉบับ ชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามตนเอง 34,650,000 หุ้น เป็นเงิน 519,750,000 บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 32,920,000 หุ้น เป็นเงิน 493,800,000 บาท และในนามผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 6,809,015 หุ้น เป็นเงิน 102,135,225 บาท
ดังนั้นในวันที่ 12 เมษายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 65,840,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 69,300,000 หุ้น รวมเป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 135,140,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48.75 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 โอนหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ให้บุคคลต่างๆ ถือแทน ดังนี้
วันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นจำนวน 32,920,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด หรือที่เรียกโดยย่อว่าบริษัท แอมเพิลริช
วันที่ 1 กันยายน 2543 ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรชาย จำนวน 30,920,000 หุ้น และโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นน้องสาว จำนวน 2 ล้านหุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 โอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 42,475,000 หุ้น และโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 26,825,000 หุ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเมื่อปี 2542 ผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้น 33,634,150 หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง
ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2544 บริษัท ชินคอร์ป จดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เมื่อปี 2542
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2546 ผู้คัดค้านที่ 2 โอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้ถูกกล่าวหา ถือแทน จำนวน 440 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้นที่ถือแทนในนามของผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 293,950,000 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น ผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 20 ล้านหุ้น และบริษัท แอมเพิลริช จำนวน 329,200,000 หุ้น ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัท แอมเพิลริช ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่ ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 164,600,000 หุ้น และผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 164,600,000 หุ้น รวมหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ให้บุคคลต่างๆ ดังกล่าวถือหุ้นแทนทั้งหมด มีจำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดที่จำหน่ายได้ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ในนามบริษัท วินมาร์ค จำกัด อีกด้วย
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงรายการหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ดังกล่าวของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือที่เรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 110, 208, 209, 291 และ 292 พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4, 5 และ 6 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33, 100, 119 และ 122
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัท ซีดาร์ โฮดิ้ง จำกัด และบริษัท เอสเอ็น โฮดิ้ง จำกัด เป็นเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายรวม 69,722,880,932 บาท 5 สตางค์ และตั้งแต่ปี 2546-2548 บริษัท ชินคอร์ป จ่ายเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านถืออยู่ เป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว 76,621,603,061 บาท 5 สตางค์ อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือ รวม 5 กรณี ดังต่อไปนี้ 1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้ถูกกล่าวหา เริ่มกระบวนการตรากฎหมายแก้ไขพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 และออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 68 ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 โดยให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากอัตราร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 10 ตามบัญชีท้ายประกาศ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 เห็นชอบด้วยกับแนวทางการดำเนินการเพื่อหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาจะต้องนำส่งให้แก่คู่สัญญาภาครัฐ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำแนวทางการแปรสัญญาร่วมการงานโดยการแปลงส่วนแบ่งรายได้ให้อยู่ในรูปแบบของภาษีสรรพสามิต โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจให้นำภาษีสรรพสามิตดังกล่าวมาหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งผู้ประกอบการมีภาระต้องชำระค่าสัมปทานให้แก่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้รับเงินค่าสัมปทานลดน้อยลงจากข้อตกลงตามสัญญา ทั้งเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้ประกอบการ ในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส นอกจากนี้ การไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต ซึ่งเมื่อนำภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทานที่บริษัท เอไอเอส บริษัท ทรูมูฟ จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกโดยย่อว่า บริษัท แทค ต้องชำระให้แก่ ทศท และ กสท ในอัตราร้อยละ 10 ทำให้รายได้ของ ทศท และ กสท ลดลง ทั้งผู้ถูกกล่าวหายังเสนอแก้ไขกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถขายหุ้นของตนเองกับพวกพ้องให้แก่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติได้อีกด้วย
2.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือพรี-เพด (pre-paid) ให้แก่ บริษัทเอไอเอส เดิมเมื่อปี 2542 บริษัท เอไอเอส ได้เริ่มบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด โดยใช้ชื่อในทางการค้าว่า วัน-ทู-คอล โดยคณะกรรมการบริหารงาน หรือเรียกโดยย่อว่า กบง. กำหนดให้ บริษัทเอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท ตามข้อกำหนดในสัญญาหลักจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ซึ่งในขณะนั้น บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ในปีสัมปทานที่ 16 คือเดือนตุลาคม 2548 ถึงกันยายน 2549 แต่ในวันที่ 22 มกราคม 2544 บริษัท เอไอเอส มีหนังสือขอให้ ทศท พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบพรีเพด ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2544 ได้มีการนำเรื่องที่บริษัทเอไอเอส ขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ทศท และได้มีการลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป ส่งผลให้ บริษัทเอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ให้แก่ ทศท ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป อันเป็นการมิทราบ เพราะการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญครั้งที่ 6 เพื่อปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 291/2550 แล้ว ว่าสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แม้สัญญาดังกล่าวจะได้ดำเนินการไปก่อนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ใช้บังคับ แต่การทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 ดังกล่าว มิได้เสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 พิจารณา และมิได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในกรณีที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของโครงการแต่อย่างใด ทั้งที่ในขณะนั้น ทศท ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานกำกับดูแลดำเนินงานตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามคำสั่งคณะกรรมการ ทศท.ที่ 24/2541 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน แล้ว และเหตุผลในการขอลดส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทเอไอเอส ที่ว่า บริษัท แทค ขอลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด จากเดิมอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้น ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ทศท เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผล เนื่องจาก บริษัท เอไอเอส มิได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และบริษัทแทค ยังมีความสามารถด้อยกว่าบริษัทเอไอเอส เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าบริษัท เอไอเอส เหตุผลที่บริษัท เอไอเอส อ้างต่อ ทศท เพื่อขอให้ ทศท พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าว ไม่อาจรับฟังได้ และเป็นการสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจให้แก่ บริษัทเอไอเอส ไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้มีการลดค่าใช้บริการให้แก่ประชาชน ไม่ใช่ผลโดยตรงที่จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น และทำให้ ทศท มีรายได้มากขึ้น เป็นการลดที่มากเกินไป หากเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ 30 ตามสัญญาหลัก ซึ่งจะทำให้ ทศท เสียประโยชน์ สูญเสียรายได้ที่ควรได้รับ 14,213,750,000 บาท ปี พ.ศ.2544-2549 และความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต 56,658,280,000 บาท ในเดือนตุลาคม 2549 ถึงกันยายน 2559 ส่งผลโดยตรงให้ บริษัทเอไอเอส สามารถที่จะทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนเนื่องจากต้นทุนค่าสัมปทานลดลง และสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งในทางธุรกิจ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทเอไอเอส มีราคาสูงขึ้น และเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน เป็นการดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทเอไอเอส ได้รับประโยชน์แล้ว ตั้งแต่มีการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 ถึงเดือนกันยายน 2549 เป็นเงิน 14,000,213,700 เศษ และได้รับประโยชน์ในอนาคตถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีก 56,658,280,000 บาท รวมประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอส ได้รับจากการจัดทำข้อตกลงท้ายสัญญาครั้งที่ 6 เป็นเงิน 72,300,000,000 ล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ทศท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 การเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทเอไอเอส ที่มี บริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ คิดเป็นร้อยละ 42.90 ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ชินคอร์ป ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ ทศท สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับประมาณ 70,872,030,000 บาท
3.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส แยกได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 7 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2533 บริษัท เอไอเอส เข้าร่วมดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับ ทศท มีกำหนดอายุสัญญา 20 ปี โดยบริษัทเอไอเอส จะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือในอัตราร้อยละ โดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า และจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาหลัก ครั้งที่ 4 ลงวันที่ 20 กันยายน 2539 ขยายระยะเวลาสัญญาเป็น 25 ปี และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 บริษัท เอไอเอส มีหนังสือขอเปิดการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปให้ผู้อื่นร่วมใช้กับบริษัทดีพีซี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 ต่อ ทศท โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท ตามอัตราร้อยละ ในสัญญาหลัก มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2544 ขอเปิดเนชั่นแนลโรมมิ่ง (National Roaming) กับบริษัท เอเซีย พรีชาแนล เซอร์วิส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 โดยคิดค่าใช้เครือข่ายร่วมในอัตราพื้นที่เดียวกัน 6 บาทต่อนาที และต่างพื้นที่ 12 บาทต่อนาที โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท ตามอัตราในสัญญาหลัก และมีหนังสือลงวันที่ 21 สิงหาคม 2545 เสนอหลักการการใช้เครือข่ายร่วมกัน ทั้งกรณีที่ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอส และบริษัทเอไอเอสไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น โดยขอหักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมออกจากรายรับก่อนนำส่ง ทศท เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ทศท ครั้งที่ 2/2545 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ว่า รายได้จากผู้ให้บริการรายอื่น มาใช้เครือข่ายของบริษัท เอไอเอส ยังต้องนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก ส่วนรายจ่ายของบริษัทเอไอเอส จากการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นถือเป็นภาระหน้าที่ สำหรับรายจ่ายของบริษัทเอไอเอส ที่จะต้องขยายเครือข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ ต่อมาบริษัท เอไอเอส มีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2545 เสนอขอปรับหลักการใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอส และกรณีบริษัทเอไอเอสเข้าไปใช้โครงข่ายร่วมของผู้ให้บริการรายอื่น วันที่ 5 กันยายน 2545 คณะกรรมการ ทศท อนุมัติให้บริษัท เอไอเอส ดำเนินการตามที่ขอได้ ในอัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท ทั่วประเทศ ในกรณีที่บริษัท เอไอเอส ให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้โครงข่ายร่วมกัน บริษัทเอไอเอสจะนำมาใช้คำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท กรณีที่บริษัทเอไอเอส ไปใช้โครงข่ายกับเครือข่ายผู้ให้บริการรายอื่น บริษัท เอไอเอส จะนำรายได้จากค่าใช้บริการที่บริษัท เอไอเอส เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการหลัก หักด้วยค่าใช้โครงข่ายร่วมกันที่บริษัทเอไอเอสจ่ายให้แก่เจ้าของเครือข่ายก่อน จึงจะนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท ต่อไป ทศท และบริษัท เอไอเอส ได้ลงนามในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 7 ลงวันที่ 20 กันยายน 2545 โดยนายสุธรรม มะลิลา ในฐานะผู้แทนฝ่าย ทศท และนายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะผู้แทนฝ่ายบริษัทเอไอเอส มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป กรณีที่ 2 กรณีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท กับบริษัท ดีพีซี ตามสัญญา ให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมเซลลูลาร์ ดิจิตอล พีซีเอ็น 1800 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 กับ กสท รวมระยะเวลา 17 ปี ซึ่งบริษัท ดีพีซี จะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ กสท เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือในอัตราร้อยละ โดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า ต่อมาในเดือนธันวาคม 2544 บริษัท เอไอเอส เข้าถือหุ้นในบริษัท ดีพีซี เกินกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกัน วันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 กสท มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 อนุมัติให้บริษัท ดีพีซี ใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัท เอไอเอส นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 โดยมีเงื่อนไขว่า กสท จะคิดผลตอบแทนรายได้ที่บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วมกับเครือข่ายของบริษัท ดีพีซี ในอัตรานาทีละ 2.10 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป และบริษัท ดีพีซี จะต้องจัดส่งแผ่นบันทึกข้อมูลซีดีอาร์การใช้งาน ให้ กสท ตรวจสอบทุกไตรมาส บริษัท ดีพีซี มีหนังสือลงวันที่ 26 ตุลาคม 2548 ถึง กสท แจ้งขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม จากนาทีละ 2.10 บาท เหลือนาทีละ 1.10 บาท และมีหนังสือวันที่ 9 มกราคม 2549 ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม จากนาทีละ 2.10 บาท เหลือนาทีละ 1.10 บาท กับมีหนังสือลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ขอให้ทบทวนเพื่อให้ กสท อนุมัติคำขอของบริษัท ดีพีซี วันที่ 28 มิถุนายน 2549 นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ได้อนุมัติปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม แก่บริษัท ดีพีซี ซึ่งบริษัท ดีพีซี นำส่งรายได้แก่ กสท ในอัตราที่ปรับลด 1-1.10 บาทต่อนาที ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ กสท จากการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมดังกล่าว เป็นเงิน 796,223,110 บาท จนกระทั่งต่อมา วันที่ 24 มีนาคม 2551 กสท จึงมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 แจ้งให้ บริษัท ดีพีซี ดำเนินการคำนวณค่าใช้บริการเครือข่ายร่วม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 จนถึงปัจจุบัน ในอัตรานาทีละ 2.10 บาท และให้นำส่งผลตอบแทนแก่ กสท ต่อไป การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้ดำเนินกิจการบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 7 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่าย ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ เรื่องเศษที่ 291/2550 ขัดต่อข้อกำหนดสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับ... ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ข้อ 9 ข้อ 16 และข้อ 30 ปรากฏว่าจากเดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนเมษายน 2551 ที่มีการยินยอมให้หักค่าใช้เครือข่ายร่วม พบว่ามีการเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมระหว่างบริษัท เอไอเอส กับบริษัท ดีพีซี 13,283,420,483 นาที กสท ขาดรายได้กว่า 6,960,359,401 บาท และ กสท จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจนสิ้นอายุสัญญาสัมปทาน ไม่น้อยกว่า 18,175,359,401 บาท และกรณีที่บริษัท ดีพีซี ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายที่บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมมาก คิดเป็นปริมาณ 13,283,400,220 นาทีเศษ บริษัท เอไอเอส สามารถหักค่าใช้จ่ายต่อ กสท จากการใช้เครือข่ายดังกล่าวได้ ในทางกลับกัน บริษัท ดีพีซี เข้าไปใช้เครือข่ายของบริษัท เอไอเอส ในปริมาณ 384,323,146 นาที ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ กสท แต่อย่างใดทั้งที่เป็นกรณีเดียวกัน และจากการตรวจสอบทางทะเบียนผู้ถือหุ้น ปรากฏว่า เมื่อปี 2544 บริษัท เอไอเอส เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ดีพีซี สัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 90 และมีการถือหุ้นดังกล่าวต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ในสัดส่วนร้อยละ 98.55 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ประกอบกับผู้บริหารบริษัท ดีพีซี เป็นผู้บริหารที่มาจากบริษัท เอไอเอส ร้อยละ 90 จึงถือได้ว่าบริษัททั้งสองเป็นบริษัทเดียวกัน และบริษัท เอไอเอส มีเจตนาที่จะใช้เครือข่ายของบริษัทตนเองโดยที่บริษัท เอไอเอส ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายดังกล่าวตามข้อกำหนดในสัญญาหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามสัญญาหลักข้อ 16 เนื่องจากต้องมีการลงทุนสูง และต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สร้างขึ้น ให้แก่ กสท โดยผู้บริหารระดับสูง กสท ดำเนินการปรับแก้มติการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง จากร่างวาระเดิม ซึ่งฝ่ายบริหารผลประโยชน์มีความเห็นว่า ไม่อนุญาตให้บริษัท เอไอเอส หักค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายของบริษัท ดีพีซี ปรับแก้ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าว ก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ กสท ได้ตามข้อเสนอของบริษัท เอไอเอส และมีการนำร่างแก้ไขดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ กสท เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยมีพฤติการที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอไอเอส ทั้งที่ขัดต่อสัญญาหลักข้อ 4 ข้อ 9 ข้อ 16 และข้อ 30 ส่งผลให้ ทศท และ กสท ต้องสูญเสียประโยชน์ที่พึงจะได้รับ รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส ที่มีบริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 1,263,712,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 43.06 ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ชินคอร์ป ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา การที่ ทศท และ กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส มีความได้เปรียบคู่แข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เป็นเหตุให้หุ้นของบริษัท ชินคอร์ป มีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั่งมีการขายหุ้นดังกล่าว เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสได้จากการขายหุ้น จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ 4.กรณีละเว้นอนุมัติ ส่งเสริมธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทไทยคม แยกได้ 3 กรณีดังนี้ (1) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ กำหนดให้มีดาวเทียมหลัก และระบบดาวเทียมสำรอง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะประธานบริษัท ชินคอร์ป ได้เข้าแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่นๆ และมีการเสนอเพิ่มเติมว่า จะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศ ระยะเวลาห่างจากดาวเทียมดวงหลักไม่เกิน 12 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 2 มกราคม 2534 ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท ชินคอร์ป ได้รับสัมปทานและมีการลงนามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 กันยายน 2534 โดยการระบุการดำเนินการตามแผนงานคุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง การเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงาน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมก่อน เฉพาะแผนดำเนินการนั้นระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี จะส่งดาวเทียมหลัก และดาวเทียมสำรอง จำนวน 2 ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม 2 ดวง รวมมีดาวเทียมทั้งหมด 4 ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศมีระยะห่างจากดาวเทียมหลัก ไม่เกิน 12 เดือน มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นตามสัญญาสัมปทาน คือ บริษัท ไทยคม เพื่อบริหารโครงการ ได้ส่งดาวเทียมไทยคม 1 ขึ้นสู่อวกาศในปี 2536 ดาวเทียมไทยคม 2 ในปี 2537 ตามแผนงานแนบท้ายสัญญาสัมปทาน และได้รับอนุมัติให้ส่งดาวเทียมไทยคม 3 เร็วขึ้นกว่ากำหนด ตามแผนงานที่บริษัทไทยคมร้องขอ โดยส่งดาวเทียมไทยคม 3 ขึ้นสู่อวกาศ ในปี 2540 และมีกำหนดส่งดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรอง ในปี 2541 ทั้งนี้ ตามแผนงานใหม่ที่ได้รับอนุมัตินั้นจะมีดาวเทียมชุดที่ 3 ด้วย เนื่องจากส่งชุดที่ 2 เร็วขึ้น บริษัท ไทยคม ขอนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2551 เมื่อถึงกำหนดได้ขอเลื่อนการส่งดาวเทียมท 2 ครั้ง และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ตามหนังสือลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 แต่มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 3 ต่อมากระทรวงคมนาคมมอบให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาข้อเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ซึ่งผลการศึกษา กรมไปรษณีย์โทรเลขได้พิจารณาจากข้อเทคนิคแล้วเห็นว่า เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง ซึ่งจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม 4 และนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าประชุมในคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ครั้งที่ 1/2545 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ที่ประชุมมีมติว่า เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน ครั้งที่ 2/2545 ลงวันที่ 10 กันยายน 2545 ปรากฏว่า มีการแก้ไขมติครั้งที่ 1/2545 โดยมีการเปลี่ยนแปลงและอนุมัติให้เป็นดาวเทียมสำรอง ตามที่บริษัทร้องขอ และให้เสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 2/2545 แต่มีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือลงวันที่ 18 กันยายน 2545 ซึ่งได้มีการอนุมัติในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน ได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานตามหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2545 เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 2/2545 พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทไทยคม ว่า ได้รับอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 บริษัทไทยคมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่า 16,000 ล้านบาท ระบุว่าได้สร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมต่อกับภาคพื้นดิน สำหรับใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ 18 แห่ง มากกว่า 14 ประเทศ โดยมีแผนการตลาดจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 6 ต่างประเทศร้อยละ 94 และส่งขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 (2) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ 5 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัท ไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2546 บริษัทไทยคมร้องขออนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยให้เหตุผลใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์สูงมาก ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุน จึงทำให้ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับโอนจากกระทรวงคมนาคม ตามกฎหมายปฏิรูปราชการ ระบบราชการ ซึ่งมีการหารือกรณีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่า กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนจะลงนามสัญญา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยเห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งได้ตอบหนังสือหารือว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี ดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ ต่อมา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 (3) กรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 ที่ได้รับความเสียหาย 6,700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสำรอง ตามหนังสือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2545 นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมร้องขอ และอนุมัติให้นำค่าสินไหมทดแทนอีกส่วนหนึ่งจำนวน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ชื่อว่าดาวเทียมไทยคม 5 ... โดยหากค่าสร้างสูงกว่า ก็ให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่ม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 ตามหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 จึงมีประเด็นเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ รวม 3 กรณี ดังนี้ (1) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถใช้เป็นดาวเทียมสำรองดาวเทียมไทยคม 3 ได้ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณความถี่ซีแบนด์ จำนวน 25 ทรานส์พอนเดอร์ และเคยูแบนด์ 14 ทรานส์พอนเดอร์ แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น คุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลก ซึ่งมีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ความถี่เคยูแบนด์ รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอตบีม จำนวน 84 บีม เซพบีม จำนวน 3 บีม และบรอดคาสต์บีม จำนวน 7 บีม และใช้ความถี่เคเอแบนด์ ในการสื่อใช้ความถี่เคเอแบนด์ในการสื่อสาร รับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีความถี่ซีแบนด์แต่อย่างใด จึงทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ดวงต่อดวง ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน ซึ่งแตกต่างจากดาวเทียมดวงอื่นๆ และไม่สามารถสำรองดาวเทียมไทยคม 3 ได้ เพราะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ความเห็นว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ประกอบกับการที่คณะกรรมการประสานงาน ครั้งที่ 1/2545 วันที่ 29 สิงหาคม 2545 ได้มีมติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมดวงใหม่ แต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุม และอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรอง ตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ 2/2545 วันที่ 10 กันยายน 2545 ซึ่งขัดแย้งกัน นอกจากนี้ยังมีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการประสานงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมทั้ง 2 ครั้งแต่อย่างใด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ ให้เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เสนอเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 โดยจัดทำหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 ให้คณะกรรมการประสานงานรับรองรายงานการประชุมทั้ง 2 ครั้ง เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ตามสัญญาสัมปทาน ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหาย ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อเป็นสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ทั้งดวง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การอนุมัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัมปทาน โดยไม่มีภาระกู้ยืมเงิน หรือเพิ่มทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียม ดาวเทียม 4 เป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท และรัฐต้องเสียหายจากการไม่ได้รับมอบทรัพย์สินจากโครงการดาวเทียมไทยคม 4 มูลค่า 4,000 ล้านบาท การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นโครงการใหม่ที่ยอู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน จึงไม่ได้สร้างเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ต้องดำเนินการให้มีการแข่งขันใหม่อย่างเป็นธรรม ทั้งด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือการดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ดังนั้นการอนุมัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว เป็นการอนุมัติโดยไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ต้องมีการแข่งขัน เพื่อยื่นข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงใหม่ อย่างเป็นธรรม มูลค่าโครงการ 16,000 ล้านบาท (2) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัท ไทยคม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นั้น สัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม ระบุเงื่อนไขต่างๆ ไว้ในสัญญา โดขในข้อ 4 ของสัญญาสัมปทานกำหนดให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยบริษัทชินคอร์ปต้องเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัทใหม่ที่เป็นผู้ดำเนินบริหารโครงการ แต่ข้อเท็จจริงในการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งที่เงื่อนไขในข้อ 4 ของสัญญาสัมปทานอันเป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานจึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหา เพราะในกรณีบริษัทไทยคมทำการเพิมทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะในกรณีบริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า 16,000 ล้านบาทนั้น บริษัท ชินคอร์ป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยคม ไม่ต้องระดมทุน หรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง และมีผลเป็นการลดทนความเชื่อมั่นและมั่นคงในการดำเนินโครงการของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารกิจการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัท ไทยคม ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง (3) กรณีการอนุมัติให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6,700,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศนั้น สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระบุเงื่อนไขให้มีดาวเทียมสำรองไว้ในข้อ 5.1.4 ข้อ 6 และข้อ 7 ให้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินทุกชนิดไว้ในข้อ 25 และการจัดการทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหายไว้ในข้อ 37 ของสัญญาสัมปทาน กล่าวคือ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจะต้องรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหาย หรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที โดยกระทรวงคมนาคมจะมอบค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย ให้บริษัทไทยคมเพื่อจัดการดังกล่าว เมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้ว จะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทาน มิได้กำหนดให้มีการเช่าดาวเทียมใช้เป็นระบบสำรองไว้ ในปี 2546 เกิดเหตุการณ์ดาวเทียมไทยคม 3 เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บริษัทไทยคมได้ร้องขอให้นำเงินบางส่วนที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศ ประมาณ 6,700,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ทดแทนช่องสัญญาณเดิม และใช้เป็นสำรอง ซึ่งเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากบริษัทไทยคมทำผิดสัญญา ไม่มีดาวเทียมสำรองดาวเทียมไทยคม 3 มาโดยตลอด จึงต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการให้มีดาวเทียมใช้อย่างพอเพียงและต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสิทธิ์นำเงินค่าสินไหมทดแทนไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ แต่ต้องนำเงินค่าสินไหมทดแทน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับทั้งหมดไปสร้างดวงใหม่ทดแทน ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลควบคุม ตรวจสอบ ของผู้ถูกกล่าวหา กลับอนุมัติตามที่ร้องขอ อันเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคม เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัท ไทยคม ไม่ต้องระดมทุนของตนเอง หรือกู้ยืมเงิน ช่วงเวลาไปเช่าดาวเทียมจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ 268,000,000 ล้านบาท หรือ 6,700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ค่าเงินบาท 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เนื่องจากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยเป็นของรัฐ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวรัฐต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลและคงไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง กรณีไม่สามารถซ่อมแซมหรือหาทรัพย์สินทดแทนเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้ โดยต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ตามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จก่อน ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีเหตุเชื่อได้ว่า หน่วยงานของรัฐได้ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายสัญญาสัมปทาน และไม่สมเหตุผล ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้กล่าวหา การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบทั้ง 3 กรณีนั้น เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ไทยคม ข้อ 5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะนั้น ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2546 ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ไม่มีการหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่สหภาพพม่า แต่หลังจากประชุมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่า มีหนังสือลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย อ้างการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่สหภาพพม่า แต่หลังจากประชุมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย อ้างการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ถูกกล่าวหา กับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ว่าผู้ถูกกล่าวหาแสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สหภาพพม่า ขอวงเงินสินเชื่ออย่างน้อย 3,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์จากประเทศไทย ใช้ในการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน และระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2546 ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมเดินทางเป็นคณะเดินทางในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างกัมพูชา-ลาว-พม่า และไทย ที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคม 8 คน และบริษัท เอไอเอส 2 คน เข้าสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม ผ่านดาวเทียม ก่อนการประชุมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าต้องการให้มีความช่วยเหลือด้านโทรคมนาคมกับประเทศไทย แต่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในปฏิญญาพุกามจึงไม่มีความร่วมมือด้านโทรคมนาคม ระหว่างนั้น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้หารือกับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว นายสุรเกียรติแจ้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพพม่า ว่าไม่ขัดข้องที่จะให้สหภาพพม่ากู้เงิน 3,000 ล้านบาท หลังจากประชุมผู้นำที่กรุงย่างกุ้ง และเมืองพุกาม สหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม 2547 ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่า เสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกล ของกระทรวงการสื่อสารพม่า และขอรับความช่วยเหลือจากไทยมูลค่า 24,050,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหาพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมได้เข้าพบเอกอัครราชทูตไทย และผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งดำเนินการธุรกิจตามโครงการดังกล่าวของสหภาพพม่าด้วย ต่อมาฝ่ายพม่ามีหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 ขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท และมีหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ติดตามผล รวมทั้งขอลดดอกเบี้ย ผู้ถูกกล่าวหาสั่งการต่อนายสุรเกียรติ์ว่า ให้เพิ่มวงเงินกู้เป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งนายสุรเกียรติ์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่า แจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยพร้อมจะเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท โดยจะให้การอุดหนุนในส่วนอัตราดอกเบี้ยด้วย และกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ขัดข้องที่จะให้เงินกู้สกุลบาทแก่สหภาพพม่า ในลักษณะเครดิตไลน์ ตามที่สหภาพพม่าขอ ในวงเงินกู้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้น 2 ปี คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อนุมัติวงเงิน 4,000 ล้านบาท แก่สหภาพพม่าตามเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสหภาพพม่าได้ขอปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น 5 ปี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็เห็นชอบ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จึงมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป็นระยะเวลากู้ 12 ปี โดย 5 ปีแรกชำระเฉพาะดอกเบี้ย สำหรับ 7 ปีที่เหลือ ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โดยการอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อมูลค่า 4,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามการบริหารสั่งการของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคาร ตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ธนาคารฯ จึงขอคุ้มครองความเสียหาย ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมประชุมด้วย มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยแก่ธนาคาร ตามจำนวนที่เสียหาย และให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยตามที่ได้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่า ร้อยละ 3 ต่อปี กับต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคาร แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หลังจากนั้น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้ลงนามสัญญากู้เพื่อการส่งออกกับธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่า (ผู้กู้) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ซึ่งประมาณความเสียหายจากดอกเบี้ยส่วนต่างที่จะต้องขอชดเชยจากงบประมาณรายจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ถึงปี 2549 เป็นเวลา 12 ปี เป็นเงิน 670,436,201 บาทเศษ และงบประมาณชดเชยความเสียหายในปีงบประมาณ 2549 และปี 2550 จำนวน 140,349,600 บาท หลังจากมีการลงนามในสัญญากู้การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกดังกล่าวแล้ว ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่า ได้ยื่นคำขอให้อนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระหว่างบริษัทไทยคม กับกระทรวงสื่อสารสหภาพพม่า เพื่อส่งมอบอุปกรณ์ไอพีสตาร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เกี่ยวข้อง สำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท จำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบตามสัญญาดังกล่าว และได้จ่ายเงินกู้โดยตรงให้แก่บริษัทไทยคม กับบริษัท ฮาตาริ ที่ได้รับโอนสิทธิบางส่วน รวมเป็นเงิน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจ่ายเป็นเงินบาทจำนวนทั้งสิ้น 593,492,815 บาทเศษ ครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ในระหว่างนั้น บริษัทไทยคม มีบริษัทชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 222,435,467 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 51.48 ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถูกกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทไทยคม ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตร กับพวก มีผลประโยชน์ ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคม จากรัฐบาลสหภาพพม่า โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย การที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และบริษัทแอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทน และได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่สั่งการ มอบนโยบายร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแล ของผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทในเครือทั้ง 5 กรณีดังกล่าว และตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 8 วรรค 3(1) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องไม่ใช่คนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 25 แต่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และออกเป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 แก้ไขมาตรา 8 วรรค 3(1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคม สามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ 50 โดย พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 ปรากฏว่า ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นแทนให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม 6,9722 ล้านบาทเศษ และในระหว่างปี 2546 - 2548 บริษัท ชินคอร์ป ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมแล้วเป็นเงินทั้งหมด 6,898 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว ทั้งหมด 76,621 ล้านบาทเศษ
ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028148
ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028148
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น