ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเป็นบุตรคนเดียวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ในราคาพาร์ 10 บาท จำนวน 30,900,000 หุ้น และ 42,475,000 หุ้น ตามลำดับ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งรับโอนหุ้นไว้รวม 73,395,000 หุ้น ได้รายงานตามแบบ 246-2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 และรายงานแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 ว่า จำนวนหุ้นที่รับโอนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24.99 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า หากผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 จะโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 มากกว่านี้ ก็จะทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 ขึ้นไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 247 บัญญัติ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้ เชื่อว่าด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 จึงต้องโอนหุ้นที่เหลืออีก 2 ล้านหุ้น และ 26,825,000 หุ้น ตามลำดับ ให้แก่บุคคลใกล้ชิดที่ตนไว้วางใจ คือผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ผู้คัดค้านที่ 5 เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เมตตา ขายหุ้นจำนวน 26,825,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 5 มีหุ้นรวม กับหุ้นที่มีอยู่เดิมแล้ว เป็น 40 ล้านหุ้น แต่ผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเบิกความรับ ว่าในปี 2543 ผู้คัดค้านที่ 5 และคู่สมรส มีทรัพย์สินอาจจะถึง 1,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้ชำระค่าหุ้นในราคาพาร์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 268,250,000 บาท สัญญาจะใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่าชำระหนี้เงินยืมไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่วนผู้คัดค้านที่ 4 เบิกความว่า ขอซื้อหุ้นจากผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2 ล้านหุ้น เพื่อเก็บไว้เป็นทุนในอนาคต โดยซื้อตามกำลังเงินที่มีอยู่ แต่ผู้คัดค้านที่ 4 ก็ไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นในราคาพาร์ ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา คงออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เช่นเดียวกัน นอกจากหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 10 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 โอนหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 9,445,900 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท หุ้นบริษัทไทยคม จำนวน 3,713,398 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท หุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 150 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นจำนวน 300 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 ใบ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 4,621,590,000 บาท สัญญาจะใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2545 หลังจากที่บริษัทชินคอร์ปเปลี่ยนมูลค่าหุ้น เป็นพาร์ 1 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่า และผู้คัดค้านที่ 3 บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 367 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 1 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 โดยผู้คัดค้านที่ 3 ใช้เงินที่อ้างว่าได้รับในโอกาสวันเกิดจากผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 จนเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลของบริษัทชินคอร์ป โดยได้ความจากนายอเนก พนาอภิชน ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงินและบัญชี ว่า ภายหลังปี 2540 บริษัทชินคอร์ป งดจ่ายเงินปันผล มาเริ่มจ่ายเงินปันผลในปี 2546 ปีละ 2 งวด เงินปันผลงวดแรก เดือนพฤษภาคม 2546 จากหุ้นที่โอนมาจากผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 5 ซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 และบริษัทแอมเพิลริช เป็นเงิน 165,127,500 บาท 165,650,000 บาท 9,000,000 บาท 151,353,067 บาท และ 148,140,000 บาท ตามลำดับ เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรก ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ก็เริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ตามรายการชำระเงินค่าหุ้นเอกสารหมาย ค 150 และ ค 143 ตามลำดับ ในเดือนพฤษภาคม 2546 ผู้คัดค้านที่ 2 โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 73 ล้านหุ้น โดยผู้คัดค้านที่ 3 ใช้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทชินคอร์ป จ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยังใช้เงินปันผลที่รับมาจำนวน 485,829,800 บาท ไปจ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 5 บริษัท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ขายให้แก่บริษัทวินมาร์ค จำกัด คืนมาจากบริษัทวินมาร์ค จำกัด สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ก่อนที่จะได้รับเงินปันผลในเดือนพฤษภาคม 2546 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ก็เบิกความรับว่า นำเงินที่ได้จากการขายหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่รับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ 1 มาชำระ และเมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ยังทยอยโอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จนเดือนมกราคม 2549 ปรากฏตามรายการชำระเงินเอกสารหมาย ค 143 สำหรับผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม 6 งวด เป็นเงิน 97,200,000 บาท เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน 9 ล้านบาท ได้สั่งจ่ายเช็กชำระให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ 2 จำนวน 13,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็กชำระหนี้ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็กผิด จึงแก้ไขไปจาก 13,500,000 บาท เป็น 11,000,000 บาท เงินปันผลงวดที่ 2 ที่เหลืออีก 2,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็กให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นการคืนเงินที่ฝากผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สั่งจ่ายเช็กรวม 44 ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท เช็กอีก 42 ฉบับ เป็นเช็กเบิกจ่ายเบิกเงินสด รวม 68 ล้านบาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำแท่ง 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท และสำรองไว้ที่บ้าน 8 ล้านบาท โดยมิได้ส่งเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง 68 ล้านบาท มาแสดง ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 4 จึงรับฟังไม่ได้ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ดังได้วินิจฉัยมา เป็นเหตุผลประการหนึ่งให้เชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 5 ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ซื้อหุ้นชินคอร์ป ที่ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านโอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไว้แทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 และรับเงินปันผลในหุ้นดังกล่าวจากบริษัทชินคอร์ปไว้แทนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า คตส.ดำเนินการ 2 มาตรฐาน นอกจากให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 แล้ว กลับกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหายังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในหุ้นจำนวนเดียวกัน เป็นคดีนี้อีก เห็นว่าการให้เรียกเก็บภาษีอากรจากผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จากบริษัทแอมเพิลริช เป็นการดำเนินกานรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด นอกจากนี้ มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ก็บัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ว่า บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใดๆ แสดงว่า (1) เป็นเจ้าของทรัพย์สิน อันจะระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ (2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมิน โดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมด จากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้ การดำเนินการทางภาษีอากรกับผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นการดำเนินการตามหลักการแห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติในคดีนี้ เป็นการดำเนินการกับเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรับผิดทางภาษีอากร โดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น สำหรับบริษัทแอมเพิลริช ซึ่งมีสถานที่ติดต่ออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำนวน 12,920,000 หุ้น โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ชำระแทนบริษัทแอมเพิลริช ในวันเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาได้ให้นางกาญจนาภา หงส์เหิน เข้าเป็นกรรมการในบริษัทแอมเพิลริช ร่วมกับนายเลา วี เตียง ซึ่งเป็นกรรมการอยู่เดิม และในวันดังกล่าว บริษัทแอมเพิลริช โดยนายเลา วี เตียง และนางกาญจนาภา ในฐานะกรรมการบริษัท ได้เปิดบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส เอจี ที่ประเทศสิงคโปร์ บัญชีเลขที่ 119449 โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้มีอำนาจเบิกถอนแต่ผู้เดียวคือ ดร.ที (T) ชินวัตร จากการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวน ปรากฏว่า นับตั้งแต่วันเปิดบัญชีจนถึงเดือนเมษายน 2546 ก่อนที่บริษัทแอมเพิลริช จะได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ป มีเงินโอนเข้าบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชหลายครั้ง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,200,000 บาท แต่นางกาญจนาภาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบว่า จำไม่ได้ว่าเป็นเงินของใครที่นำมาชำระค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทแอมเพิลริชไม่ได้ประกอบกิจการใด จึงไม่มีการทำบัญชี แต่บริษัทแอมเพิลริช ได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ป ในปี 2546 ปี 2547 และงวดแรกของปี 2548 ในเดือนเมษายน 2548 รวม 5 งวด รวมเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีอำนาจเบิกถอนเงินของบริษัทแอมเพิลริชแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริช เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในในบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชในเดือนมิถุนายน 2548 เป็นผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง 4 ปี ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเรียกเก็บค่าหุ้น 1 หุ้น ทั้งที่การขายหุ้นดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซื้อหุ้นของบริษัทชินคอร์ป จำนวนหุ้นปี 2543 ถึง 32,920,000 หุ้น โดยชำระเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง สำหรับบริษัทวินมาร์คนั้น คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน ใช้ชื่อผู้อื่นถือไว้แทน มีจำนวน 1,419,490,150 หุ้น แยกเป็นหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัทแอมเพิลริช รวม 458,550,000 หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 3 รับโอนจากผู้คัดค้านที่ 2 และบริษัทแอมเพิลริช รวม 604,600,000 หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 20 ล้านหุ้น และหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 5 ซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 กับหุ้นที่รับโอนจากผู้คัดค้านที่ 1 รวม 336,340,150 หุ้น กับมีคำขอให้ริบเงินที่ได้จากการขายหุ้น และเงินปันผลตามหุ้น จำนวน 1,449,490,150 หุ้น ดังกล่าว ส่วนที่ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า ผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ก.ล.ต. รับฟังได้ว่า บริษัทวินมาร์ค เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 นั้น จำนวนหุ้นที่บรรยายไว้ ไม่รวมอยู่ในยอดรวมของหุ้นที่มีคำขอให้ริบคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยในคดีนี้ว่า บริษัทวินมาร์ค เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ สำหรับการบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ป ภายหลังจากผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแถลงปิดคดีว่า บริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง และมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นกรรมการบริษัทชินคอร์ป จึงไม่จำเป็นต้องเข้าบริหารจัดการด้วยตนเอง แต่ได้มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนทุกครั้งนั้น ตามรายงานประจำปี 2543 บริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวม 37,879,096,318 บาท บริษัทประกอบธุรกิจโดยการเข้าไปลงทุนและมีส่วนร่วมในการบริหารในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม โดยในสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย บริษัทที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทเอไอเอส ประกอบธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ โดยได้รับสัมปทานจาก ทศท. มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 2,700 ล้านบาท และบริษัทชินคอร์ป ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40.50 บริษัทดีพีซี ผู้ให้บริการเคลื่อนที่ดิจิตัล จีเอสเอ็ม 1800 โดยได้รับสัมปทานจาก กสท. มีทุนจดทะเบียน 8,621 ล้านบาท เรียกเก็บชำระแล้ว 8,516 ล้านบาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 47.55 เทเลคอมมาเลเซีย ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49.99 ในสายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ บริษัทที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทไทยคม ประกอบธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทชินคอร์ป กับกระทรวงคมนาคม มีทุนจดทะเบียน 5,500 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 4,375 ล้านบาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสัดส่วนร้อยละ 51.53 ตามเอกสาร สรุปการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป หมาย ค 144 ปรากฏว่า หลังจากบริษัทชินคอร์ปเพิ่มทุนในปี 2542 และก่อนโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปยังบริษัทแอมเพิลริช ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 65,840,000 หุ้น (ร้อยละ 25) และ 69,300,000 หุ้น (ร้อยละ 23.75) ตามลำดับ รวมกันเป็นสัดส่วนของหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียง ร้อยละ 48.75 เมื่อรวมกับหุ้นจำนวน 6,809,015 หุ้น ซึ่งผู้คัดค้านที่ 5 ใช้เงินจากบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิ์ออกเสียงรวมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เกินกว่ากึ่งหนึ่งของหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียง ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมนโยบาย และการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ป รวมทั้งอำนาจในการแต่งตั้ง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ตามรายงานประจำปี 2543 ของบริษัทชินคอร์ป ปรากฏว่าคณะกรรมการของบริษัท มีกรรมการ 8 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ 6 คน ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย ในคณะกรรมการทั้ง 8 คน มีผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นประธานกรรมการเท่านั้นที่ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป ส่วนรองประธานกรรมการ และกรรมการอีก 6 คน ไม่มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป แสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ป ผ่านทางคณะกรรมการที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 แต่งตั้ง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการไว้ ในปี 2544 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามรายงานประจำปี 2544 ของบริษัทชินคอร์ป ก็ปรากฏว่ารายชื่อคณะกรรมการของบริษัท 9 คน โดยกรรมการในปี 2543 พ้นจากตำแหน่ง 1 คน แต่งตั้งใหม่ในปี 2544 อีก 2 คน กรรมการที่แต่งตั้งใหม่มีผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปคนเดียว คือนายนิวัฒน์ บุญทรง โดยถือหุ้นในสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.0047 แสดงว่าการควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ป ยังคงอยู่ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านทางคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งเป็นผู้รับนโยบายตลอดมา ตามรายงานประจำปี 2544-2549 ของบริษัทชินคอร์ป ปรากฏว่าบริษัทชินคอร์ปมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ เช่น ปี 2544 ได้จัดโครงสร้างการถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมไร้สาย โดยการซื้อหุ้นให้บริษัทเอไอเอสเข้าถือหุ้นในบริษัทดีพีซีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.17 บริษัทชินคอร์ป ซื้อหุ้นบริษัทไอทีวีจำกัด เพิ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ปเพิ่มเป็นร้อยละ 77.48 ปี 2545 บริษัทไอทีวีจำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยออกหุ้นสามัญขายให้นักลงทุนทั่วไป และบริษัทชินคอร์ปนำหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) บางส่วนออกขาย ทำให้สัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือร้อยละ 55.53 ปี 2546 บริษัทชินคอร์ป ร่วมกับบริษัทแอร์เอชีย จำกัด จากประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 50 และ 49 ตามลำดับ และร่วมกับธนาคารดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งบริษัทแคปิตอลโอเค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ ปี 2548 บริษัทไทยคมเพิ่มทุน โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่นักลงทุน สถาบันและนักลงทุนรายย่อย รวม 208 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 15.30 บาท ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ป ในบริษัทไทยคม ลดลงเหลือ 41.34 การจัดโครงสร้างการถือหุ้น การซื้อหุ้นเพิ่ม และการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ย่อมไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมการ ซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในความเสี่ยงนั้นด้วย ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดว่าได้ร่วมบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ป ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนมาก การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ของบริษัทชินคอร์ป ประจำปี 2545 ปีละครั้ง ตามเอกสารหมาย ค 28 ไม่เป็นข้อสนับสนุนว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนการรวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 เบิกความว่าตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กด้วยตนเอง ในฐานะเจ้าของหุ้น โดยผู้คัดค้านที่ 5 เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2548 ตัวแทนของกลุ่มเทมาเส็กมาติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากกลุ่มชินวัตร และดามาพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อจะมีอำนาจบริหารจัดการบริษัมชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ 5ตัดสินใจจะขาย จึงแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ทราบ และแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ทราบ เมื่อกลางเดือนมกราคม 2549 เหตุที่ผู้คัดค้านที่ 5 ต้องการจะขายหุ้น เพราะอายุมากแล้ว และการบริหารงานบริษัทชินคอร์ปต่อไปจะลำบาก เพราะจะต้องลงทุนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี เกือบแสนล้านบาทนั้น เห็นว่าตามเอกสารสรุปการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป หมาย ค 144 ปรากฏว่ากลุ่มดามาพงศ์มีผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ร้อยละ 13.77 ส่วนผู้คัดค้านที่ 6 ถือหุ้นอยู่เพียง 159,600 หุ้น หากกลุ่มเทมาเส็กต้องการซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปเพื่อจะมีอำนาจจัดการ บริษัทก็น่าที่จะต้องติดต่อซื้อจากกลุ่มชินวัตร ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ถือหุ้นอยู่รวมกันถึงร้อยละ 35.44 การลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานประจำปี 2546 ของบริษัทชินคอร์ป ในสายธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายว่า บริษัทเอไอเอส มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตัล จีเอสเอ็ม ในปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับกับเทคโนโลยี 3จี โดยการปรับปรุงระบบชุมสาย และระบบสื่อสัญญาณเดิมที่มีอยู่ และรายงานประจำปี 2548 ของบริษัทชินคอร์ป เรื่องแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2549 ว่า บริษัทเอไอเอส เห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3จี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งบริษัทเอไอเอสมีความสนใจและความพร้อม ทั้งในด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาไปสู่การให้บริการ 3จี ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย ข้ออ้างในการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 จึงรับฟังไม่ได้ ทั้งในข้อเท็จจริงเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนยันไว้ในเอกสารท้ายคำร้องพิสูจน์ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหา หมาย ค 32 แผ่นที่ 428-430 เรื่องขายหุ้นชินคอร์ป ไม่ได้ขายชาติ ไม่ได้ขายดาวเทียม ว่า ในส่วนของบริษัทชินคอร์ป มีการเตรียมการขายหุ้น และการเจรจาขายหุ้นต่อเนื่องมานานนับปีและมีกลุ่มผู้สนใจเสนอซื้อหลายราย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขายในวันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นพิรุธว่าผู้ที่เจรจาและตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก คือผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ผู้คัดค้านที่ 5 องค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 1,449,490,150 หุ้น ตามคำร้อง ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 2 วาระ ปัญหาต่อไปมีว่า การที่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2547 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 สำหรับกิจการโทรคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวมีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 เห็นชอบให้คู่สัญญาภาคเอกชนที่ทำสัญญาสัมปทานในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา ต้องชำระภาษีสรรพสามิต ให้กับกรมสรรพสามิต ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตที่เสียให้แก่กรมสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้นั้น เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้ถูกกล่าวหา กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับผู้บริหารระดับสูงของ ทศท.และ กสท. ได้ประชุมหารือร่วมกับ โดยมีแนวคิดที่จะแปรสภาพ ทศท.และ กสท.เป็นบริษัทโทรคมนาคมจำกัด บริษัทบริหารสัญญาร่วมการงานจำกัด บริษัทไปรษณีย์ จำกัด และกำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว รวมทั้งหาแนวทางในการนำภาษีสรรพสามิตมาใช้กับธุรกิจโทรคมนาคมด้วย ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้าขึ้นเพื่อพิจารณาทรัพย์สิน หนี้สิน และภาระผูกพัน ที่ ทศท.และ กสท.มีอยู่ทั้งหมด คณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้า มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นเพื่อพิจารณาโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และภาระผูกพัน ของ ทศท.และ กสท. ที่จะโอนไปยังบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำระบบภาษีสรรพสามิตมาใช้กับกิจการโทรคมนาคม ในที่สุดคณะกรรมการชุดนั้นเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้าว่า ในการแปลงส่วนแบ่งรายได้ของหน่วยงานภาครัฐเป็นภาษีสรรพสามิต จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนหลักเกณฑ์และผลกระทบจากการแปรรูป ทศท.และ กสท.ต้องเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หลังจากนั้นจึงมีการตรา พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับดังกล่าวออกมาใช้บังคับ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว รวมถึงการออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่หน่วยงานภาคเอกชนต้องเสียให้แก่กรมสรรพสามิต และการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ภาคเอกชนที่ทำสัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐต้องชำระภาษีสรรพสามิตให้แก่กรมสรรพสามิต แต่ให้นำภาษีที่ชำระแล้วตลอดทั้งปีไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ เป็นการกีดกัน ริดลอนอำนาจของ กทช.มิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม ทั้งยังเป็นการขัดขวางมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมรายใหม่เข้าแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือเป็นอย่างมาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเห็นสมคววินิจฉัยปัญหาทั้งสองดังกล่าวไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือเรียกโดยย่อว่า ทีดีอาร์ไอ ว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นมีมติเห็นชอบกับแผนแม่บทของการพัฒนากิจการโทรคมนาคม รวมทั้งการแปรรูป ทศท.และ กสท. โดยจัดตั้งองค์กรขึ้นกำกับดูแล ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2541 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนในการแปรรูป ทศท.และ กสท. โดยกำหนดโครงสร้างการแปรรูปสัญญาร่วมการงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเสรี ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ในวันนั้นเอง กระทรวงคมนาคมได้ว่าบริษัท 3 บริษัทศึกษาแนวทางในการแปรรูป ทศท.และ กสท.เพื่อเสนอความเห็นต่อกระทรวงคมนาคม ในระยะนั้นเอง คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ประชุมและมีมติครั้งที่ 1/2541 ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าความเห็นของบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 3 บริษัท กับความเห็นของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวแตกต่างกันบางส่วน คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจจึงมีมติให้ว่าจ้างทีดีอาร์ไอ ศึกษาและเสนอความเห็นต่อกระทรวงการคลัง พยาน กับนายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ และนักวิชาการอีก 10 กว่าคน ได้ร่วมกันศึกษาอยู่หลายเดือนแล้ว มีความเห็นว่า การแปรหรือไม่แปรสัญญาสัมปทาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทาน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากการแปร หรือไม่แปร สัญญาสัมปทานว่าแตกต่างกันหรือไม่ เพราะไม่มีเหตุผลที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นจากการแปรสัญญาสัมปทาน ส่วนการที่คณะรัฐมนตรีชุดที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตรา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว รวมทั้งออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจในด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเสียภาษีสรรพสามิตให้แก่กรมสรรพสามิต นำภาษีดังกล่าวไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ พยานปากนี้เบิกความว่า หลักการและเหตุผลที่ผู้ถูกกล่าวหา กับคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวดำเนินการ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะการที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นตรา พ.ร.ก.เพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ย่อมเป็นเหตุผลที่แสดงว่า ประสงค์จะหารายได้เข้ารัฐ แต่การที่คณะรัฐมนตรีชุดนั้นยอมให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจในด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเสียภาษีสรรพสามิต สามารถนำภาษีที่ชำระให้แก่กรมสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการตรา พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวอย่างชัดเจน พยานปากนี้ยังเบิกความต่อไปอีกว่า กิจการโทรคมนาคมถือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก นอกจากไม่ควรเก็บภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังควรสนับสนุนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ กทช.มีมติจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เพื่อนำเงินไปอุดหนุนให้มีการบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลให้เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย คำเบิกความของพยานปากนี้เจือสมกับคำเบิกความของนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นพยานของผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน ยอมรับว่า การใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน หรือการติดต่อระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐสมควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาหากันด้วย นายสถิตย์ยังให้ความเห็นตรงกับความเห็นของนายสมเกียรติว่า หากเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าหรือธุรกิจประเภทใด ย่อมเป็นการผลักภาระในเรื่องภาษีสรรพสามิตให้ตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคสินค้า หรือผู้ใช้ธุรกิจนั้นๆ นับว่าพยานทั้งสองเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องภาษีสรรพสามิต เพราะนายสถิตย์เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตมาก่อน ส่วนนายสมเกียรติเป็นผู้ทำงานวิจัย ทั้งส่วนบุคคลและร่วมกับกลุ่มนักวิชาการมาเป็นเวลาถึง 14 ปี มีผลงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่อง น่าเชื่อว่าพยานมีความรู้ในการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นอย่างดี ในการตรา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะหากรัฐประสงค์จะเก็บภาษีสรรพสามิตจากการให้บริการโทรศัพท์เพื่อหารายได้เข้าสู่ประเทศจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ยอมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ทำสัญญาสัมปทานกับ ทศท. หรือ กสท. นำภาษีที่เสีย ไปหักออกจากค่าสัมปทานได้ ตรงกันข้าม การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ ทศท ซึ่งทำสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทเอไอเอส อ่อนแอลง เพราะนอกจาก ทศท.จะได้รับค่าสัมปทานจากบริษัทเอไอเอสน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากต้องหักค่าสัมปทานบางส่วนไปชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทเอไอเอสเสียไปแล้ว หาก ทศท.ไปขอรับใบอนุญาตจาก กทช.เป็นผู้รับสัมปทาน ที่ถือใบอนุญาต ทศท.ก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับนั้นด้วย ทั้งที่ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง ทศท.กับเอไอเอส ตามเอกสารหมาย ร 264 ให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทเอไอเอส หลายประการ ทั้งในเรื่องการใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นของ ทศท.ได้ตลอดระยะเวลาในสัญญา รวมไปถึงการประกอบธุรกิจในลักษณะที่ผูกขาดแต่ผู้เดียวด้วย ในสัญญาฉบับนั้นจึงระบุไว้ในข้อที่ 30 ให้บริษัทเอไอเอส เสียค่าสัมปทานให้แก่ ทศท.ในอัตราก้าวหน้า โดยปรับเพิ่มค่าสัมปทานทุกรอบระยะเวลา 4 ปี ขณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นผลให้บริษัทเอไอเอสสามารถหักค่าภาษีสรรพสามิต ออกจากค่าสัมปทานได้ เป็นช่วงเวลาที่บริษัทเอไอเอสต้องชำระค่าสัมปทานให้แก่ ทศท.ในอัตราร้อยละ 25 ก่อนหักค่าใช้จ่าย หรือภาษี เมื่อบริษัทเอไอเอส ต้องเสียภาษีให้กรมสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 10 หลังจากนำไปหักออกจากค่าสัมปทานแล้ว ทำให้ ทศท.ได้รับค่าสัมปทานจากบริษัทเอไอเอสในอัตราร้อยละ 15 เท่านั้น นอกจากนี้ หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลังเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 25 บริษัทเอไอเอส ซึ่งเสียภาษีแล้ว ก็สามารถนำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระแก่ ทศท.ได้ แต่ ทศท.จะไม่ได้รับประโยชน์จากค่าสัมปทานเลย เพราะต้องนำไปหักเป็นค่าภาษีสรรพสามิตจนหมดสิ้น หากกรณีเป็นเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทเอไอเอสไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเลย เพราะเอาค่าสัมปทานที่ ทศท.ได้รับไปหักออกจากภาษีจนครบถ้วน แต่ถ้า ทศท.ประสงค์จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช. ทศท.ย่อมต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 25 มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงของ ทศท.อย่างรุนแรง ส่วนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์รายใหม่ ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมให้แก่ กทช.แล้ว ยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีกด้วย ทั้งที่ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ยังไม่มีลูกค้าเลย หรือมีลูกค้าน้อยกว่าบริษัทเอไอเอส ซึ่งครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต กับค่าธรรมเนียม และค่าบริการ ในกิจการโทรคมนาคมให้แก่ กทช. ซึ่งเป็นต้นทุนในการดำเนินการที่สูงกว่าบริษัท เอไอเอส อย่างมาก ทั้งที่ยังไม่มีลูกค้าเลย หรือมีลูกค้าน้อยกว่าบริษัทเอไอเอส จึงเป็นการยากที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งปรากฏจากรายงานประจำปี 2544 ของบริษัทชินคอร์ป ในหัวข้อความเสี่ยงจากการที่มีคู่แข่งจากผู้ประกอบการรายใหม่ ว่า ในปี 2545 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด และบริษัท ฮัทชินสัน ซีเอทีไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด รวมทั้งระบบโทรศัพท์พีซีที ของบริษัทเทเลคอมเอเชีย จำกัด(มหาชน) ซึ่งอาจจะมาทดแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากผู้ให้บริการรายใหม่ และบริการทดแทนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า อาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเอไอเอสมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด เช่น การสร้างฐานลูกค้า และเงินลงทุน การพัฒนาระบบเครือข่ายและช่องทางการตลาด การดำเนินการของคณะรัฐมนตรีที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายหลังการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เบิกความว่า พยานคิดคำนวณแล้ว ปรากฏว่าภาษีสรรพสามิตขาดหายไปรวมเป็นเงินถึง 60,000 ล้านบาทเศษ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี และมีมติดังกล่าว ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทชินคอร์ป ซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอไอเอสถึงร้อยละ 42.90 องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตรา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ และ ออกประกาศกระทรวงการคลัง รวมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ การกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ รูปคดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการลิดรอนอำนาจของ กทช.หรือไม่ อีกต่อไป กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 6 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่บริษัท เอไอเอส ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท เอไอเอส ได้รับสัญญาให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก กสท. เป็นเวลา 25 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 อันเป็นวันแรกที่เปิดกิจการ ในการนี้บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทสท.ตามอัตราที่คิดจากรายได้ และผลประโยชน์อื่นใดที่บริษัท เอไอเอส พึงได้รับในรอบปี ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดๆ ทั้งสิ้น แต่จำนวนเงินดังกล่าวต้องไม่น้อยไปกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญา สำหรับเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่คิดจากเงินรายได้นี้ กำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าตามช่วงเวลาของปีสัมปทาน ในปีที่ 1-5 เป็นอัตราร้อยละ 15 ปีที่ 6-10 ร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25 และปีที่ 16-25 ร้อยละ 30 ในระยะเริ่มแรกนั้นบริษัท เอไอเอส ได้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายเงินหลังจากใช้บริการแล้ว หรือที่เรียกว่า โพสต์เพด ต่อมาปี 2542 บริษัท เอไอเอส ได้รับอนุมัติจาก ทสท. ให้เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือ พรีเพด โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า วันทูคอล และยังคงต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทสท. ตามจำนวนและอัตราที่กำหนดในสัญญาร่วมการงาน ต่อมา วันที่ 22 มกราคม 2544 บริษัท เอไอเอส มีหนังสือขอให้ ทสท.พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ให้แก่บริษัท เอไอเอส เมื่อ ทสท.พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด เป็นอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าของราคาหน้าบัตรคงที่ตลอดอายุสัญญา และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญา อนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ทสท.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานกำกับดูแลการดำเนินงานตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคณะกรรมการประสานงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงดำเนินการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดตามข้อกล่าวหา เป็นคณะกรรมการประสานงานที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งที่ 24/2541 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2541 คำสั่งที่ 11/2544 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2544 แต่การดำเนินการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด และการแก้ไขสัญญาโดยทำเป็นบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาในกรณีนี้ ไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการประสานงานดังกล่าวพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบเสียก่อน จึงมีข้อจะต้องวินิจฉัยว่า การอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด ให้แก่บริษัท เอไอเอส เป็นการดำเนินการไปโดยชอบหรือไม่ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอไอเอส ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ปรากฏถึงความเป็นมาว่า การดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากบริษัท เอไอเอสแล้ว ยังมีผู้ให้บริการที่ได้รับสัญญาให้ดำเนินการในทำนองเดียวกันนี้อีก คือ บริษัท แทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายหนึ่ง โดยบริษัท แทค ได้รับสัญญาให้ดำเนินการบริการวิทยุโทรคมนาคม จาก กสท. เป๊นเวลา 27 ปี นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2534 อันเป็นวันแรกที่เปิดให้บริการ บริษัท แทค ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนแก่ กสท.เป็นรายปี คิดเป็นอัตราร้อยละของรายได้จากการให้บริการก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ในอัตราก้าวหน้า โดยปีที่ 1-4 เป็นร้อยละ 12 ปีที่ 5 ร้อยละ 15 ปีที่ 6-15 ร้อยละ 20 ปีที่ 16-20 ร้อยละ 25 และปีที่ 21-27 ร้อยละ 30 ทั้งนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญา แต่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนของบริษัท แทค มีข้อขัดข้องเนื่องจาก กสท.ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์จึงต้องขอใช่หมายเลขโทรศัพท์จาก ทสท. ซึ่งการให้บริการโดยบริษัท แทค ผ่านเข้าไปยังเครือข่ายโทรคมนาคมของ ทสท.นั้น บริษัท แทค ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่ ทสท.เจ้าของโครงข่าย ในอัตรา 200 บาทต่อเดือนต่อ 1 ลูกค้า การให้บริการของบริษัท แทค ในระยะเริ่มแรก เป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสต์เพด ต่อมาได้เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด เช่นเดียวกับของเอไอเอส โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า พร้อมพ์ ซึ่งบริษัท แทค ยังคงจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ กสท. และยังต้องจ่ายเงินค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่ ทสท.ตามจำนวนและอัตราที่กำหนดในสัญญา บริษัท แทค ได้ขอลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ไปยัง ทสท.เจ้าของโครงข่าย เพราะเห็นว่า การกำหนดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในอัตราเดียวกับแบบโพสต์เพดนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการพิจารณาปรับลดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ให้เหลือเพียงอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า การที่ ทสท.ปรับลดอัตราเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่บริษัท แทค ในครั้งนี้ เป็นเหตุให้บริษัท เอไอเอส ยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการขอให้ ทสท.ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ส่วนของบริการที่ใช้ชื่อว่า วันทูคอล เห็นว่าการที่บริษัท เอไอเอส ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามสัญญาที่ทำกับ ทสท.นั้น สิทธิและหน้าที่ระหว่างบริษัท เอไอเอส กับ ทสท.ซึ่งเป็นคู่สัญญา จะมีอยู่ต่อกันอย่างไรย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่กำหนดไว้ในข้อ 30 ซึ่งได้ความในเรื่อง ที่บริษัท เอไอเอส ขอให้ ทสท.พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้กรณีนี้ว่า การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท เอไอเอส และบริษัท แทค มีข้อแตกต่างกันในด้านองค์ประกอบ และความพร้อมของระบบที่ตนเป็นผู้ให้บริการ เพราะ กสท.ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัท แทค ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่จะให้บริษัท แทค นำไปให้บริการแก่ลูกค้า จนต้องไปขอใช้หมายเลขโทรศัพท์โดยจ่ายเงินค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่ ทสท. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่าย ทั้งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสต์เพด และพรีเพด ยังมีวิธีการจ่ายค่าใช้บริการที่แตกต่างกัน โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสต์เพด ต้องจ่ายค่าหมายเลขรายเดือน และจ่ายค่าใช้บริการอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่เป็นการเรียกเก็บหลังจากการใช้บริการแล้ว ส่วนแบบพรีเพดนั้น ผู้ที่ใช้บริการจะจ่ายเฉพาะค่าใช้บริการ และต้องจ่ายโดยซื้อบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า จึงจะสามารถใช้บริการได้ ซึ่งบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าจะมีราคาแตกต่างกัน รายได้จากการให้บริการแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า จึงอยู่กับว่าผู้ใช้บริการจะใช้บริการด้วยการซื้อบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนที่มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้นการที่จะให้บริษัท แทค จ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายในอัตรา 200 บาทต่อเดือนต่อ 1 ลูกค้า ในบริการแบบพรีเพด ย่อมไม่เป็นธรรมต่อบริษัท แทค เพราะหากเดือนใดมีลูกค้าใช้บริการโดยมีค่าใช้บริการต่ำกว่า 200 บาท หรือมากกว่าเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ จะเป็นผลให้บริษัท แทค ขาดทุนหรือสูญเสียรายได้ การที่ ทสท.พิจารณาปรับลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่บริษัท แทค จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท เอไอเอส ไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แก่ ทสท. เช่นเดียวกับบริษัท แทค ดังนั้น บริษัท เอไอเอส จึงไม่อาจนำเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ ทสท.ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัท เอไอเอส หาก ทสท.ปฏิเสธไม่ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัท เอไอเอส เป็นการชอบด้วยเหตุผลแล้ว แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กลับปรากฏในเอกสารหมาย ร 260 หน้า 11283-11285 ว่า นอกจาก ทสท.จะชี้แจงเหตุผลในชั้นแรกที่ไม่อาจปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้บริษัท เอไอเอส ได้แล้ว นายวิเชียรติ นาคศรีนวล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ของ ทสท. ในขณะนั้น ยังแจ้งแก้ เอไอเอสด้วยว่า หากบริษัท เอไอเอส ประสบภาวะขาดทุนจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของบริการวันทูคอล และสามารถชี้แจงตัวเลขประกอบการพิจารณาได้ ทสท.จะพิจารณาให้ ซึ่งความจริงแล้วคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้รับเงินส่วนแบ่งตามสัญญา ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องแจ้งเช่นนั้น แต่การที่แจ้งเช่นนั้นเท่ากับว่า ทสท.เปิดช่องให้บริษัท เอไอเอส เสนอเรื่องเพื่อขอให้ ทสท.พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัท เอไอเอส ได้อีก และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการปรับลดลงตามที่ร้องขอ ซึ่งต่อมาปรากฏว่า บริษัท เอไอเอส ได้ดำเนินการไปตามที่ ทสท.แจ้งไปดังกล่าว โดยบริษัท เอไอเอส มีหนังสือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างรายได้ และต้นทุน ต่อ ทสท.เพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏตามเอกสาร หมาย ร 231 หน้า 9483-9487 และ ร 260 หน้า 11286-11288 โดยข้อที่บริษัท เอไอเอส ยกขึ้นอ้างประกอบข้อมูลที่เสนอต่อ ทสท.ในครั้งนี้ เป็นไปในทำนองที่ว่า ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด บริษัท เอไอเอส ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อัตราส่วนแบ่งรายได้ที่กำหนดตามสัญญาหลัก จะทำให้เกิดการขาดทุน อันเป็นเหตุผลที่ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง เนื่องจากในการประกอบธุรกิจนั้น ย่อมมีการลงทุนในระยะเริ่มแรก การตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่อย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณา และการตัดสินใจของผู้ประกอบการนั้นๆ เอง บริษัท เอไอเอส รับทราบถึงข้อผูกพันตามสัญญาหลักที่ทำกับ ทสท.ดี และพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงตัดสินใจเข้าร่วมการงานกับ ทสท.ตามเงื่อนไขสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ ปรากฏจากเอกสารหมาย ร 260 หน้า 1184-11281 ว่าบริษัท เอไอเอส ได้ลงทุนและเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด มาตั้งแต่ปี 2541 โดยในช่วงนั้น บริษัท เอไอเอส มีข้ออ้างต่อ ทสท.ว่า เป็นเพียงแต่มาตรการส่งเสริมการขายของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งบริษัท เอไอเอส ให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ส่งเสริมการขาย ตามที่ ทสท.อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว บริษัท เอไอเอส ยังขอขยายกำหนดเวลาการดำเนินการต่อไปอีก จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทสท. ตามอัตราที่กำหนดในสัญญาหลักตลอดมา แสดงให้เห็นว่า ผลประกอบการในการให้บริการส่งเสริมการขายในส่วนนี้ เป็นที่พอใจของบริษัท เอไอเอส มิเช่นนั้นแล้ว บริษัท เอไอเอส คงไม่ขอขยายกำหนดเวลาในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องกันเกินกว่า 3 ปี สำหรับโครงสร้างรายได้ของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ซึ่งไม่มีเงินค่าประกันเลขหมาย และค่าเลขหมายรายเดือน แตกต่างจากแบบโพสต์เพด ซึ่งดูเหมือนว่า อาจทำให้บริษัท เอไอเอส ต้องขายรายได้บางส่วน ได้ความจาก นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท เอไอเอส ว่า การกำหนดอัตราค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด เป็นการรวมเอาค่าเลขหมายรายเดือนในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสต์เพด และค่าใช้โทรศัพท์เข้าด้วยกัน จึงเท่ากับว่ารายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 แบบ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ส่วนรายได้ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 แบบ ในภาพรวมของแต่ละปีที่มีความแตกต่างกัน น่าจะอยู่ที่จำนวนลูกค้าและปริมาณการใช้บริการของแต่ละแบบ ซึ่งเป็นไปตามความนิยมของผู้ใช้บริการมากกว่า นอกจากนี้ยังได้ความจาก นายธนา เทียนอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แทค และนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัท แทค ประกอบเอกสารหมาย ร 225 และ ร 226 อีกว่า บริษัท แทค ซึ่งลงทุนเริ่มให้บริการโทรศัพท์แบบพรีเพดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้รับการปรับลดเฉพาะค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจาก ทสท. ส่วนเงินผลประโยชน์ตอบแทน ยังคงต้องจ่ายให้แก่ กสท. ตามอัตราที่กำหนดในสัญญาหลัก โดยไม่ได้รับการปรับลดเช่นเดียวกับบริษัท เอไอเอส แต่อย่างใด แต่บริษัท แทค ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ แสดงว่า กิจการใดจะมีผลประกอบการกำไรหรือขาดทุนย่อมขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและการบริหารจัดการเป็นสำคัญ การได้รับสัญญาสัมปทานอนุญาตให้ดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงระยะเวลาตามที่กำหนด ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า ต้นทุนของการดำเนินการจะลดลงเป็นลำดับ ตามระยะเวลาของอายุสัมปทานที่จะได้รับ และในขณะเดียวกัน ย่อมเป็นผลให้ได้มาซึ่งกำไรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน โดยเฉพาะในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างที่เอไอเอสดำเนินกิจการอยู่นี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า บริษัท เอไอเอส มีความเจริญเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และเป็นผู้ให้บริการที่ครองตลาดที่มีผู้ใช้บริการซึ่งเป็นลูกค้าชั้นดีเป็นจำนวนมากที่สุด การที่กำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาภาครัฐแบบอัตราก้าวหน้า หรือแบบขั้นบันได จึงเป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญา ภาครัฐผู้ให้สัญญา โดยจะต้องกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่คู่สัญญาภาครัฐ ตามสัดส่วนรายได้ที่คู่สัญญาภาคเอกชนผู้รับสัญญาจะได้รับจากกิจการและเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะเวลาของอายุสัมปทาน ซึ่งสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่าง ทสท.กับบริษัท เอไอเอส ก็กำหนดหลักเกณฑ์ค่าผลประโยชน์ตอบแทนในหลักการเช่นนี้ แต่หลังจากได้รับหนังสือชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนจากบริษัท เอไอเอส ดังกล่าว ได้ความว่า นายวิเชียรได้บันทึกเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานพิจารณา คณะกรรมการบริหารงานจึงมีคำสั่งให้ฝ่ายการเงิน และงบประมาณ พิจารณาความเหมาะสม ของข้อมูลต้นทุนที่บริษัท เอไอเอส เสนอมา ทั้งให้ประสานงานกับฝ่ายบริหารผลประโยชน์เพื่อเชิญบริษัท เอไอเอส มาร่วมหารือ เมื่อได้ข้อมูลสมบูรณ์แล้วให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายการเงินและงบประมาณ ได้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารงาน โดยประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารผลประโยชน์และบริษัท เอไอเอส ได้มีการชี้แจงรายละเอียดและวิธีการคำนวนต้นทุนโครงข่ายและค่าใช้จ่าย แล้วใช้ข้อมูลที่ได้มาประกอบการศึกษาวิเคราะห์การกำหนดส่วนแบ่งรายได้ และได้จัดทำเป็นกรณีศึกษากับเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุม ของคณะกรรมการ ทสท. โดยกรณีศึกษาที่เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระ ได้ความจากนายสายัณ ถิ่นสำราญ กรรมการฝ่ายการเงินและงบประมาณ และนางปรียา ด่านชัยวิจิตร ผู้อำนวยการส่วนวางแผนการเงิน กลับนางสาวประภาศรี กาญจนากรณ์ หัวหน้าหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนางสุรัสวดี เมฆาพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์เศรษฐกิจ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ว่า ได้อาศัยข้อมูลที่ได้จากเอไอเอส ข้อมูลที่เกี่ยวกับประมาณการเลขหมาย และประมาณการรายได้ต่อเลขหมาย ตามรายงานวิจัยของบริษัท ซีเอส เฟิร์สบอสตัน และข้อมูลจากบริษัท อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของ ทสท.ในการแปรสัญญาสัมปทานมาประกอบการศึกษาวิเคราะห์ แม้จะมีลักษณะเป็นวิชาการ โดยมีข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิเคราะห์ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ในการกำหนดอัตราส่วนแบ่งได้แบบคงที่ ซึ่งไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาของสัญญาแต่อย่างใด การที่คณะกรรมการ กสท.พิจารณาแล้ว มีมติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นแบบคงที่ ในอัตราร้อยละ 20 แล้วแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยไม่มีกำหนดให้เพิ่มอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามระยะเวลาของสัญญา จึงไม่เป็นไปตามหลักการที่กล่าวมา ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาในสาระสำคัญ ทำให้ ทสท.จะต้องขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญาหลักอยู่แล้ว แต่กลับเป็นผลให้บริษัท เอไอเอส ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมสัญญาหลักในครั้งที่ 6 หากนับถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาหลัก เป็นเวลาเกินกว่า 14 ปี ในการมีมติในเรื่องการลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ คณะกรรมการ ทสท.กำหนดเงื่อนไข ให้ ทสท.เจรจากับบริษัท เอไอเอส ให้ได้ข้อยุติในเรื่องการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทสท.เป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับในครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ทั้งให้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาที่จะจัดทำขึ้น ให้ ทสท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ทั้งของวันทูคอล และพร็อมพ์ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาความเหมาะสมของการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ ในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นไปในทำนองว่า ทสท. มุ่งถึงผลประโยชน์ของ ทสท.ที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดตามสัญญาหลัก ข้อ 30.2 ไว้ว่า ให้ชำระผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำทุก 3 เดือน เมื่อครบรอบปีแล้วหากปรากฏว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่คำนวณจากอัตราร้อยละของรายได้ มากกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็ให้ชำระเพิ่มให้ครบภายใน 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดในรอบปีนั้น และมุ่งถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายบริการถูกลง โดยมีพยาน ไม่ว่าจะเป็น นายอนันต์ วรธิติพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอไอเอส หรือที่เป็นกรรมการ ทสท. และพนักงาน ทสท. เช่น พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนพร นายโอฬาร เพียรธรรม นายศุภชัย พิสิฐวานิช นายสุธรรม มะลิลา ให้การและเบิกความในทำนองเดียวกันว่า หลังจากได้รับการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แล้ว บริษัท เอไอเอส ได้ปรับลดค่าใช้บริการให้แก่ผู้ใช้บริการ มากกว่าอัตราที่กำหนดในสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ ทสท.มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า การดำเนินการในกรณีนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แล้วนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความตามนั้นก็ตาม แต่ผลของการดำเนินการทำให้ภาระต้นทุนของบริษัท เอไอเอส ลดน้อยลง ที่สำคัญก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท เอไอเอส ในด้านจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ทำให้รายได้จากค่าใช้บริการที่ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2544 - 2549 บริษัท เอไอเอส มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยจากที่มีจำนวน 297,000 ราย ในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,288,500 รายในปีถัดมา และทวีจำนวนขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปี 2549 มีผู้ใช้บริการถึง 17,279,100 ราย กับมีรายได้จริงสำหรับค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยจากที่มีรายได้ในปีสัมปทานที่ 11 ในช่วงเดือนตุลาคม 2543 ถึงกันยายน 2544 จำนวน 2,225,560,000 บาท เพิ่มเป็น 17,098,890,000 บาท ในปีสัมปทานที่ 12 ในช่วงเดือนตุลาคม 2544 ถึงเดือนกันยายน 2545 และทวีจำนวนขึ้นในแต่ละปีสัมปทาน จนกระทั่งในปีสัมปทานที่ 16 ช่วงเดือนตุลาคม 2548 ถึงกันยายน 2549 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 57,375,880,000 บาท แต่รายได้ในส่วนที่ให้บริการแบบโพสต์เพดกลับลดลงจากที่เคยได้รับในปีสัมปทานที่ 11 จำนวน 34,752,080,000 บาท เป็น 37,767,710,000 บาท ในปีสัมปทานที่ 12 แล้วลดลงเป็นลำดับในแต่ละปีสัมปทาน จนกระทั่งลดลงเหลือ 21,171,390,000 บาท ในปีสัมปทานที่ 16 แม้รายได้ในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลให้ ทสท.ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่หากปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้เป็นจำนวนที่เหมาะสม และเป็นแบบอัตราก้าวหน้าแล้ว ผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้แก่ ทสท.ย่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ไปด้วย ส่วนการปรับลดค่าใช้บริการให้แก่ลูกค้านั้น ปรากฏว่า บริษัท เอไอเอส และบริษัท แทค ได้จัดรายการส่งเสริมการขายสำหรับบริการโทรศัพท์แบบพรีเพด ในหลายรูปแบบต่อเนื่องกันมา ในบางรูปแบบมีการปรับลดค่าใช้บริการลงเป็นจำนวนมาก เพื่อจูงใจให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการตลาดในการแข่งขันกันทางด้านการค้า ดังนั้นการที่บริษัท เอไอเอส ปรับลดค่าใช้บริการให้แก่ลูกค้า จึงเป็นไปตามกลไกตลาด หาใช่เป็นผลจากการที่บริษัท เอไอเอส ได้รับการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จาก ทสท. และที่ผู้กล่าวหาอ้างว่า บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด เป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนกันไว้ การที่กำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าผลประโยชน์ ไม่ใช่การปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่กำหนดในสัญญาหลักนั้น เห็นว่า การที่บริษัท เอไอเอส ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาหลักที่ทำกับ ทสท. สิทธิและหน้าที่จะมีอย่างไร ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา แม้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด จะไม่มีรายได้จากค่าเลขหมายรายเดือนก็ตาม แต่การกำหนดค่าใช้บริการได้รวมค่าโทรศัพท์และค่าเลขหมายรายเดือนเข้าด้วยแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 แบบคงแตกต่างกันเฉพาะวิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าใช้บริการเท่านั้น ทั้งปรากฏว่า ก่อนจะเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในครั้งแรกนั้น บริษัท เอไอเอส ได้มีหนังสือชี้แจงไปยัง ทสท.ว่า มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามปกติ โดยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่า โทรศัพท์ทั้ง 2 แบบ เป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อที่ตามสัญญาหลักที่ทำกันไว้นั่นเอง
ที่มา : โดยทีมงาน “Breaking News” ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028171
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น