วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปลาหมึกเปลี่ยนสียังดีกว่าจิ้งจก

ในโลกของสัตว์ ปลาหมึก จัดว่าเป็นสุดยอดแห่งนักปลอมตัว เซลล์สีในผิวหนังของพวกมันสามารถปรับเปลี่ยนได้เกือบจะทันทีเพื่ออำพรางพวกมันจากเหล่านักล่า

ส่วน " จิ้งจกเปลี่ยนสี " เป็นคำที่แสดงถึงความหมายสองอย่าง อย่างแรกมีความหมายที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจิ้งจกนั้นเปลี่ยนสีได้ ซึ่งเป็นความจริงทางชีววิทยาที่จิ้งจกสามารถเปลี่ยนสีให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้ สภาพแวดล้อมสีเทา สีจิ้งจกก็จะเปลี่ยนเป็นสีเทา แต่พอสภาพแวดล้อมเป็นสีน้ำตาลจิ้งจกก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือถ้าสภาพแวดล้อมเป็นสีดำจิ้งจกก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำอีก

อย่างที่สอง เป็นการเปรียบเทียบคนที่เปลี่ยนความคิดจิตใจและท่าทีไปตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ พูดให้ชัดก็คือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับผู้มีอำนาจหรือผู้ที่จะให้ผลประโยชน์แก่ตนได้ จากคนที่ดูเหมือนดีก็สามารถทำเรื่องเลวทรามต่ำช้าได้ คนจำพวกนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นพวกจิ้งจกเปลี่ยนสี

การเปลี่ยนสีของปลาหมึกและจิ้งจก ล้วนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ปลาหมึก เปลี่ยนสีเพื่อป้องกันตนเอง แต่จิ้งจก เปลี่ยนสีเพื่อจะไปกินแมลงตามเพดานห้อง

การทำงานแบบจิ้งจกเปลี่ยนสี ถือว่าเป็นวิธีทำงานอีกแบบหนึ่งที่อันตราย เพราะคนเช่นนี้ พร้อมที่จะกัดกินใครก็ได้ ขอให้ตัวเขาได้ผลประโยชน์

วันนี้ นักการเมืองหลายคน กำลังทำงานแบบจิ้งจกเปลี่ยนสี เปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนพรรค เปลี่ยนผลประโยชน์!

วันนี้ ใกล้ที่จะปรับย้ายตำแหน่งข้าราชการ เพราะมีข้าราชการหลายคนต้องเกษียณอายุไปเลี้ยงหลาน ข้าราชการหลายคนที่เหลือกำลังเลือกว่า จะเปลี่ยนเป็นจิ้งจกสีอะไรดี...!

สิ่งที่จะป้องกัน คนที่ทำงานแบบจิ้งจกเปลี่ยนสีได้ ก็คือ ระบบขององค์กร และอุดมการณ์ของแต่ละคนในองค์กร

ระบบองค์กรที่เข้มแข็ง สามารถป้องกันการทุจริตและคอรัปชั่นได้ สามารถป้องกันนโยบายโง่โง่ ของนายที่โง่โง่ได้ ไม่ว่านายคนไหนจะย้ายมา อยู่ปีหนึ่ง สองปี แล้วก็ไป

อุดมการณ์ของคนในองค์กร นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะป้องกัน
ข้าราชการ ต้องยืนหยัดอยู่บนความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
กองทัพ ต้องทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ และรักษาราชบัลลังก์
ตำรวจ ต้องหน้าที่พิทักษ์ประชาชน
ครู ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กนักเรียน
ฯลฯ

คนที่ทำงานแบบปลาหมึกเปลี่ยนสี คือ คนที่ทำงานไปวันๆ ตามหน้าที่ที่มี  นายคนไหนสั่งมาอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น ป้องกันเพียงไม่ให้เกิดข้อบกพร่องกับตนเอง ไม่คิดร้ายใคร ไม่แก่งแช่งชิงดีกับใคร

แต่คนที่ทำงานแบบจิ้งจกเปลี่ยนสี คือ คนที่ทำงานกับใครก็ได้ที่มาเป็นนาย  ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง นายโง่ก็ชมว่าฉลาด  ทำงานแบบปากกัดพี่ เท้า(ตีน)ถีบน้อง ว่างๆ ก็ฟ้องนาย หากจำเป็นก็ขายเพื่อนได้  แก่งแย่งชิงตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

การทำงานอย่างคนทั้งสองจำพวก ผมคิดว่าทำงานแบบ "ปลาหมึกเปลี่ยนสีจึงยังดีกว่าจิ้งจก" เพราะปลาหมึกทำเพื่อป้องกันตนเอง แต่จิ้งจกทำเพื่อทำร้ายคนอื่น

เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 7 ส.ค.2553

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ.สู่ชนบท ปีที่ 21 ฉบับที่ 376 ประจำเดือนกันยายน พุทธศักราช 2553 หน้า 3

ไม่มีความคิดเห็น: